วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์ "มจร" มรณภาพ สิริอายุ 62 ปี



วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระครูโสภณพุทธิศาสตร์ (เชี่ยว ชิตินฺทฺริโย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา กรุงเทพฯ รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ได้มรณภาพลงอย่างสงบแล้วเนื่องจากเกิดอาการวูบและล้มในห้องน้ำ  สิริอายุ 62 ปี โดยทางวัด และมจร จะมีการแจ้งรายละเอียดการจัดพิธีสวดอภิธรรม และสาเหตุการมรณภาพต่อไป

พระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มจร กล่าวว่า อาตมาได้รับมอบหมายจากอธิการบดี มจร เป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ให้เดินทางไปที่วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร (คณะ4 )เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ เพื่อดูแลประสานงาน กรณี ได้รับแจ้งว่า พระครูโสภณพุทธิศาสตร์,ผศ.ดร.(เชี่ยว ชิตินฺทริโย ,ตอทองหลาง)มรณภาพ ไปถึงกุฏิ คณะ 4 เวลาประมาณเที่ยงได้พบหลวงพ่อ พระมหาเสงี่ยม อายุ81 ปี เจ้าคณะ น้องสาว ของพระครูโสภณพุทธิศาสตร์ คณะสงฆ์ ญาติโยม และมูลนิธิปอเต๊กตึ๊ง หลวงพ่อพระมหาเสงี่ยม เจ้าคณะ4 เล่าว่า ปกติคณะนี้อยู่ด้วยกัน 3 รูป เจ้าคณะอายุ 81 ปี พระครูโสภณพุทธิศาสตร์(เชี่ยว ชิตินฺทริโย) อายุ 61 ปีและพระอีก 1 รูป 

พระเมธีธรรมาจารย์ ได้ทราบจากหลวงพ่อพระมหาเสงี่ยมต่อว่า เช้าวันที่ 15 ก่อนเวลา 07:00 น. ยังพบพระครูโสภณพุทธิศาสตร์ เดินอยู่บนคณะและหลังจากนั้นก็ไม่ได้พบกันอีกเลย จนเช้าวันนี้ (17 พค.) เดินมาดูที่ห้องเห็นไฟเปิด ประตูห้องเปิดแต่ไม่พบท่านพระครูฯไปดูที่ห้องน้ำด้านล่าง ซึ่งเป็นห้องน้ำส่วนตัวท่าน ล๊อคกลอนข้างใน เปิดไฟ และมีกลิ่นเน่าเหม็นรุนแรง จึงเรียกให้คนพังประตูเข้าไปดู ก็เห็นสภาพเป็นศพอยู่ในห้องน้ำ นี่คือคำบอกเล่าจากเจ้าคณะที่เห็นเหตุการณ์ท่านแรก

"หลังจากนั้น อาตมาก็ได้คุยร่วมกันกับเจ้าคณะ ญาติ และฝ่ายมหาจุฬาฯ ก็ได้มอบหมายให้ติดตามเรื่องและรับศพจากสถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อนำมาประกอบพิธี ณ วัดปทุมคงคาราชวรวิหารต่อไป ส่วนพิธีจะเริ่มวันไหน กี่วัน พระเดชพระคุณเจ้าอาวาส คณะสงฆ์ จะแจ้งให้ทราบต่อไป" พระเมธีธรรมาจารย์  กล่าวและว่า 

เบื้องต้นจึงแจ้งให้ทุกคนทราบว่า พระครูโสภณพุทธิศาสตร์,ผศ.ดร.( เชี่ยว ชิตินฺทริโย/ตอทองลาง) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา ราชวรวิหาร รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มจร ได้มรณภาพแล้ว ส่วนสาเหตุของการมรณภาพต้องรอผลการพิสูจน์จากสถาบันนิติเวช ต่อไป ซึ่งก็ได้แต่ทราบว่าท่านมีโรคส่วนตัวอยู่หลายโรค

พระครูโสภณพุทธิศาสตร์ วิสาขบูชา: วันแห่งการกล่าวคำอำลาครั้งสุดท้าย

ทางด้าน พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์,ศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก  Hansa Dhammahaso ว่า  พระครูโสภณพุทธิศาสตร์ วิสาขบูชา: วันแห่งการกล่าวคำอำลาครั้งสุดท้าย



"มาให้กำลังใจทีมงานประชาสัมพันธ์ก่อนเสร็จหรือ??ท่านรองอธิการบดี"  หลวงพ่อพรหมบัณฑิต (กรรมการมหาเถรสมาคม อดีตอธิการบดี มจร) กล่าวทักทายพระครูโสภณพุทธิศาสตร์ หรือ อ.เชี่ยว รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์ มจร คำตอบที่ได้คือ รอยยิ้ม พร้อมกับการน้อมกายไหว้ อันเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวคือ พูดน้อย นิ่งขลึม และอ่อนน้อมถ่อมตน

อาจารย์เชี่ยว เป็นอดีตเลขานุการคณะพุทธศาสตร์ มจร ที่คอยทำหน้าที่จับปูใส่กระด้ง ตอนที่ผู้เขียนเป็นอดีตนิสิตคณะพุทธศาสตร์  ท่านคอยตามเก็บพวกเราที่ออกจากเรือนกรรมฐาน แล้วออกไปพักข้างนอกนานเกินไป ท่านก็จะคอยถามให้เข้ามาปฏิบัติกรรมฐาน หลักจากนั้น ท่านไปเรียนต่อที่อินเดีย กลับมาเป็นทำงานที่คณะครุศาสตร์จนเจริญเติบโตเป็นคณบดี และต่อเนื่องมาจนถึงรองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์ มจร

13 พฤษภาคม 2565 ท่านอาจารย์ได้เดินทางไปศูนย์ประชุมสหประชาชาติช่วงเวลา 15:00 น. เพื่อมาให้กำลังใจช่วงท้ายก่อนที่หลวงพ่อพระพรหมบัณฑิตจะกล่าวปิดงานช่วงเวลา 17:00 น.   ช่วงท้ายหลังจากถ่ายรูปหมู่ด้วยกันแล้ว และก่อนจะแยกย้ายจากกัน ผู้เขียนได้เข้าไปกราบขอบคุณ และกราบลาท่าน ท่านอาจารย์ได้บีบมือผู้เขียนและพูดกับผู้เขียนครั้งสุดท้ายก่อนออกจากห้องประชุมด้วยเสียงที่ค่อนข้างจะนิ่งเงียบว่า ทำดีแล้ว... ช่วยกัน!! ช่วยกัน!!

เหตุผลเบื้องลึกของการจากลา ยากที่จะพรรณาและอรรถาธิบาย แต่ตลอดเวลาของการรู้จักและทำงานกับท่านอาจารย์นั้น เราได้เห็นพลังของการทุ่มเท และเสียสละ อุทิศตนทำงานรับใช้มหาจุฬาฯ และพระพุทธศาสนามาอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันวิสาขบูชา.วันสำคัญสากลของโลก ปี 2565 

ขอบุญบารมีที่เพียรสร้าง ได้โปรดนำทางให้ท่านอาจารย์อยู่เย็นเป็นสุขในร่มธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกภพทุกชาติ ตราบจนบรรลุมรรค ผล นิพพาน จงทุกประการ ด้วยเทอญฯ


ทั้งนี้พระครูโสภณพุทธิศาสตร์ เป็นบุคลากรสำคัญของมจร ทำงานในมจร มาตั้งแต่พ.ศ. 2533 เป็นนิสิตทดลองปฏิบัติงานคณะพุทธศาสตร์ พ.ศ. 2534 เป็นพนักงานพิมพ์ดีด คณะพุทธศาสตร์ พ.ศ. 2535 เป็นเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป คณะพุทธศาสตร์ พ.ศ. 2535 เป็นรักษาการเลขานุการคณะพุทธศาสตร์ พ.ศ. 2537 เป็นเลขานุการคณะพุทธศาสตร์ พ.ศ. 2555 เป็นผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการวิทยาเขต พ.ศ. 2548 เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาหลักสูตรและการสอนสังคม พ.ศ. 2548 เป็นผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการวิทยาเขต พ.ศ.2553 เป็นรักษาการผู้อำนวยการกองแผนงาน พ.ศ. 2553 เป็นผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการวิทยาเขต พ.ศ. 2557 เป็นรักษาการผู้อำนวยการกองกิจการวิทยาเขต พ.ศ.2557 เป็นผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายบริหาร พ.ศ.2557 เป็นคณบดี คณะครุศาสตร์ พ.ศ.2561 ถึงปัจจุบัน เป็นรองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...