วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

"วิษณุ" ชี้ "กรุณา" เป็น “ซอฟท์พาวเวอร์ ทางพุทธศาสนาที่คนไทยยอมรับเป็นศาสนาประจำชาติ ช่วยแก้วิกฤติโลกได้



เมื่อวันที่ 13 พ.ค. ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก มีงานเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ครั้งที่ 17 ประจำปี 2565 และจัดประชุมวิชาการผู้นำชาวพุทธนานาชาติหัวข้อ “กรุณาธรรมในยามวิกฤต : หลักปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาเพื่อเยียวยาสังคมโลก” โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาเปิดการประชุมว่า หลักธรรมที่นำไปสู่สันติสุข ไม่เบียดเบียน คือ หลักว่าด้วยความกรุณา ในความกรุณามี 2 มิติ คือ มิติของอริยสัจ เข้าใจความทุกข์ในขันธ์ 5 และมิติแห่งความเป็นมนุษย์ โดยมนุษย์จะพึงปฏิบัติร่วมกัน เพราะกินอิ่มเพียงคนเดียวไม่สุข โดยมุ่งหวังให้มีการแบ่งปันต่อเพื่อนมนุษย์ องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้เคยระบุไว้ว่าโลกจะประสบวิกฤติ 6 ประการ คือ 1.การแปรปรวนของสภาพอากาศ 2.สังคมผู้สูงอายุ 3.ความหิวโหย 4.การก่อการร้าย และการต่อสู้ 5.เทคโนโลยี ที่สามารถใช้ได้ทั้งในทางสร้างสรรค์และทำลาย 6.โรคระบาด ซึ่งวิกฤติทั้ง 6 ประการดังกล่าว สามารถแก้ไขได้หลายวิธี แต่วิธีหนึ่งที่จะนำมาใช้แก้วิกฤติได้เป็นอย่างดี คือ คุณธรรมในทางพระพุทธศาสนาว่าด้วย ความกรุณา เพราะความกรุณาจะทำให้เกิดความช่วยเหลือ การให้ การให้ความรู้ ให้ธรรมะ ให้อภัย การพูดให้กำลังใจกัน

นายวิษณุ กล่าวต่อไปว่า คนไทยยอมรับว่ามีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แม้ไม่มีการประกาศให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยอย่างเป็นทางการ และความกรุณายังถือเป็นฐานสำคัญของคนไทย เช่นช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เราจะเห็นตู้ปันสุข วัดจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม จัดตั้งโรงทาน พระสงฆ์สวมชุด PPE เผาศพที่ติดเชื้อโควิด โดยที่รัฐไม่ต้องร้องขอ นอกจากนี้ยังมีวัดที่จัดตั้งเป็นสถานที่ช่วยเหลือประชาชนจากโรคต่างๆอีก เช่น โรคเอดส์ โรคเรื้อน เป็นต้น และรัฐจะทำการส่งเสริมให้มีวัดในลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้เรายังจะกล่าวได้ว่า ความกรุณา ยังถือว่าเป็น Soft Power ทางพระพุทธศาสนา ที่จะช่วยให้มีคนมาสนใจพระพุทธศาสนามากขึ้นได้ด้วย



ด้านพระพรหมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) ในฐานะประธานกรรมการบริหารสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก ประธานบริหารสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้ยังมีการหารือแนวทางในการแปลพระไตรปิฎกภาษาบาลี ฉบับสยามรัฐ เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยกำหนดแล้วเสร็จใน 3 ปี ซึ่งประมุขสงฆ์ ผู้นำชาวพุทธจากทั่วโลก ที่ได้รับทราบถึงโครงการดังกล่าว ต่างอนุโมทนา แสดงความยินดี ที่มีการจัดโครงการนี้ขึ้น สำหรับการจัดประชุมในครั้งนี้ดำเนินการทั้งในรูปแบบออนไลน์ และออนไซต์ โดยกำหนดผู้เข้าร่วมประชุมที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติเพียง 250 รูป/คน เท่านั้น เพื่อเป็นการปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันโรคโควิด-19  


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผลักดันหมอลำขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ต่อยูเนสโก

การผลักดันหมอลำให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ต่อยูเนสโกเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสในการรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของไ...