วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

"บิ๊กป๊อก" รายงาน "บิ๊กตู่"! มท.ตั้งเป้าแก้จน 619,111 ครัวเรือนทั่วไทย ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง



"บิ๊กป๊อก" รายงาน "บิ๊กตู่"! มท.ตั้งเป้าแก้จน 619,111 ครัวเรือนทั่วไทย ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลัง มท.1 ประชุมขับเคลื่อนภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เน้นย้ำขับเคลื่อนและกำกับการทำงานข้าราชการในพื้นที่ตามหลักธรรมาภิบาล ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง สร้างความผาสุกให้เกิดขึ้นในพื้นที่ 

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ติดตามการดำเนินงานขจัดความยากจน โดยให้เร่งทำทันทีและต้องทำอย่างต่อเนื่องใน 5 ด้าน ได้แก่ 1.สุขภาพ 2.ความเป็นอยู่ 3.การศึกษา 4.รายได้ และ 5.การเข้าถึงบริการของภาครัฐ รวมถึงจะต้องมีการช่วยเหลือแบบพุ่งเป้า เพราะปัญหาของประชาชนไม่ได้และไม่เพียงประชาชนจะทุกข์ แต่ปัญหาจะพอกพูนขึ้นด้วย

ทั้งนี้ รมว.มหาดไทย ได้รายงานแผนการดำเนินงาน โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะดูแลประชาชนกลุ่มนี้ 619,111 ครัวเรือนทั่วประเทศ ซึ่งนายกฯ ได้มอบหมายให้ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจน และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

มท.1 ประชุมขับเคลื่อนภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ 

โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม 2565 เวลา 10.00 น. ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมรามาการ์เด้นท์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (เดือนพฤษภาคม 2565) โดยมี นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารระดับสูงฝ่ายข้าราชการการเมือง 


นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร นายชยาวุธ จันทร นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย คณะผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ร้อยตำรวจโท ภพชนก ชลานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการปกครอง หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ที่ปรึกษา ผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด นายบรรจบ จันทรัตน์ นางสาวปาณิสรา กาญจนะจิตรา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุม


พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เป็นพระมหากรุณาธิคุณในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทาน “พระพลังแผ่นดิน” ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด และโปรดเกล้าฯ ให้เชิญไปมอบให้แก่รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และนายอำเภอ ทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นมงคลยิ่งของชีวิตข้าราชการฝ่ายปกครองที่ได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขพี่น้องประชาชน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ เป็นกำลังสำคัญยิ่งของรัฐบาลมิใช่เพียงของกระทรวงมหาดไทย ในการแปลงนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่โดยกลไกท้องที่ และการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงการบริหารราชการทุกกระทรวงเพื่อดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ เมื่อในพื้นที่จังหวัดมีประเด็นหรือเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนหรือความมั่นคงของประเทศ 


ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องลงไปบริหารจัดการสถานการณ์ สั่งการ หรือบูรณาการแก้ไขปัญหา ด้วยการกำหนดแนวทาง มอบนโยบาย และกำกับติดตามการขับเคลื่อนตามแนวทางหรือนโยบายที่ได้สั่งการ มอบหมายไป อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ผอ.รมน.จังหวัด) ต้องสั่งการและบูรณาการกลไกฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทหาร ตำรวจ เฝ้าระวังการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ต้องเน้นย้ำแนวทางการทำงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance) ให้กับข้าราชการทุกสังกัดในพื้นที่ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ทั้งหลักนิติธรรม คุณธรรม โปร่งใส มีส่วนร่วม รับผิดชอบ และคุ้มค่า ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง


จากนั้น พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายและแนวทางการทำงาน ได้แก่ 1) การขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องกำชับนายอำเภอนำข้อมูลจากระบบ TPMAP บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสภาพปัญหาลงไปพุ่งเป้าร่วมแก้ปัญหากับครัวเรือนเป้าหมาย ตามหลัก 4 ท ทัศนคติ ทักษะ ทรัพยากร และทางออก ทำให้ประชาชนรู้จักการพึ่งพาตนเอง ลดรายจ่าย เพื่อให้ใช้ชีวิตอย่างอยู่รอด พอเพียง อย่างยั่งยืน รวมทั้งให้ประมวลผลรายงานความก้าวหน้าของการขับเคลื่อน และจำแนกแนวทางการแก้ปัญหาที่ต้องให้หน่วยงานตามอำนาจหน้าที่เข้าไปแก้ปัญหาให้ตรงจุด ทันเวลา เพื่อกราบเรียนนายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบในการประชุมคณะรัฐมนตรีให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป 


2) การเตรียมการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ขอให้กรุงเทพมหานคร ได้รวบรวมปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาจากนโยบายของผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นประโยชน์ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชน เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน 3) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ต้องไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอย่างเด็ดขาด ซึ่งกรมการปกครอง ทำให้ผลงานส่งผลต่อการปรับระดับ TIP Report โดยเมื่อเราได้รับข่าวจากองค์กรสากล เราสามารถทำได้ทันที ขอให้ทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประเทศชาติ 4) การจัดการที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเน้นย้ำ คทช. จังหวัด จัดสรรที่ดินทำกินทุกประเภทให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล 


5) การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ด้วยการสร้างการรับรู้ความเข้าใจในด้านการจัดเก็บภาษีและมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับพี่น้องประชาชน 6) การบูรณาการสร้างการรับรู้สู่ชุมชน ถือเป็นนโยบายสำคัญที่ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องใช้กลไกที่ใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ ทั้งนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงสื่อในความรับผิดชอบ เช่น หอกระจายข่าว เสียงตามสาย สื่อสารสร้างความเข้าใจ พูด ประกาศ ย้ำให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้และเข้าใจข้อมูลข่าวสารภาครัฐและมีความรู้ที่ถูกต้องในการพัฒนาชีวิต โดยใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายและกระชับ 


7) การป้องกันและลดอุบัติภัยทางถนน ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น สร้างจิตสำนึก วัฒนธรรมการใช้รถใช้ถนนที่ถูกต้อง และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปรับปรุงด้านกายภาพของถนนให้มีสัญลักษณ์ เครื่องหมายที่ชัดเจน 8) การจัดการสาธารณภัยในพื้นที่ ด้วยการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบวาตภัยหรือพายุฤดูร้อน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องน้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บูรณาการทุกภาคส่วนแก้ไขฟื้นฟูที่อยู่อาศัยของพี่น้องประชาชนให้มีบ้านเรือนอาศัยที่มั่นคง แข็งแรง กลับมาใช้ชีวิตโดยปกติสุขได้โดยเร็ว รวมถึงกำกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปรับปรุงถนนสาธารณะที่ได้รับความเสียหายจากสาธารณภัย และในด้านการจัดการภัยแล้ง ให้นำข้อมูลสภาวการณ์ด้านภัยแล้ง มาใช้ในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ทั้งการเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำในฤดูฝน ด้วยการเตรียมพื้นที่รองรับน้ำ และระบายน้ำไปจัดเก็บในพื้นที่รองรับน้ำ เพื่อกักเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้งต่อไป 


9) การบริหารสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งในขณะนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้กำหนดให้พื้นที่จังหวัดทั่วประเทศเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) 65 จังหวัด และพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว (สีฟ้า) 12 จังหวัด และมี 16จังหวัดเป็นพื้นที่สีฟ้าบางพื้นที่ โดยให้เน้นย้ำมาตรการการป้องกันโรคส่วนบุคคล DMHTA ได้แก่ D Distancing เว้นระยะห่างระหว่างกัน M Mask wearing สวมใส่หน้ากากอนามัย H Hand washing ล้างมือบ่อย ๆ T Temperature ,Testing ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และหมั่นตรวจหาเชื้อโควิด-19 และ A Application ใช้แอปพลิเคชัน "ไทยชนะ” หรือ "ไทยเซฟไทย” ก่อนเข้า-ออก สถานที่ต่าง ๆ ทุกครั้ง และกำชับผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรการ COVID-FREE Setting รวมทั้งบริหารจัดการการรักษาแบบ Home Isolation (HI) หรือ Community Isolation (CI) สำหรับผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว หากมีอาการหนักขึ้นต้องส่งต่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที 


10) การพัฒนาบริหารจัดการภาครัฐสู่รัฐบาลดิจิทัล ด้วยการพัฒนางานบริการเข้าสู่ระบบดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน 11) การบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ต้องจัดทำประกาศ/แนวทางการบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดต่าง ๆ เพื่อให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีแนวทางในการบริหารจัดการขยะที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และใช้ประโยชน์จากขยะในด้านต่าง ๆ 


12) การจัดการน้ำเสีย ด้วยการกำกับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอสภาท้องถิ่นออกข้อบัญญัติ กำหนดให้ทุกบ้านต้องติดตั้งบ่อดักไขมัน และบำบัดน้ำเสียขั้นต้นจากต้นทาง (ครัวเรือน) ให้มากที่สุด ก่อนปล่อยลงสู่ท่อระบายน้ำ/แหล่งน้ำสาธารณะ 13) การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นวาระแห่งชาติที่ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องใช้อำนาจหน้าที่บูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลด demand และ Supply ยาเสพติดในพื้นที่ เพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน 


และ 14) โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้าตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ด้วยการกำกับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติเกี่ยวกับการดูแลสุนัขจรจัดและแมวจรจัด ดำเนินการฉีดวัคซีน/ทำหมันสุนัขและแมว และจัดทำศูนย์พักพิงสุนัข/แมวจรจัดในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า


นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวถึง การแก้ไขปัญหาความยากจนตามนโยบายรัฐบาลตามกรอบเวลา โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องให้ความสำคัญในการบูรณาการบุคลากรที่มีองค์ความรู้ มีความเข้าใจ และมีจิตวิญญาณในการแก้ไขปัญหาประชาชนลงไปแก้ปัญหาให้กับประชาชนครัวเรือนเป้าหมาย และได้กล่าวถึงการดำเนินการขุดลอกพื้นที่รองรับปริมาณน้ำให้พร้อมในการรองรับน้ำฝนในช่วงฤดูฝน ด้วยการบริหารจัดการน้ำด้วยวิธีการ “ขุดดินแลกน้ำ” เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย และกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง 


นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุ่มเทการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความยากจนซึ่งเป็นงานที่ท้าทาย ให้บรรลุผลตามนโยบายรัฐบาล และกล่าวถึงในด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดยย้ำให้ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด/อำเภอ พิจารณาแก้ไขปรับปรุงจุดเสี่ยงบริเวณถนน โดยเฉพาะถนนในกำกับดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 600,000 กิโลเมตร ให้มีสัญลักษณ์ เครื่องหมายเตือน ด้วยการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบรรจุเรื่องความปลอดภัยทางถนนลงไปในแผนพัฒนาท้องถิ่น 


นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง และกรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ตามนโยบายและแนวทางของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ได้ซักซ้อมจากการประชุมมอบนโยบาย 4 ภาค ซึ่งคำว่าความยากจน หมายถึง ปัญหาความเดือดร้อนทุกเรื่องที่พี่น้องประชาชนประสบและไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง และมอบแนวทางในด้านการบูรณาการหน่วยงานตามอำนาจหน้าที่ในพื้นที่พุ่งเป้าแก้ไขปัญหาครัวเรือนเป้าหมายร่วมกับนายอำเภอ โดยกำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีหนังสือแจ้งไปยังปลัดกระทรวงต้นสังกัดของหน่วยงานในพื้นที่เพื่อนำเรียนรัฐมนตรีเจ้าสังกัดทราบ ควบคู่กับการรายงานมายังกระทรวงมหาดไทยในฐานะฝ่ายเลขานุการ ศจพ. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไป X-Ray นอกจากนี้ ในด้านการแก้ไขปัญหาหมู่บ้านน้ำแล้งซ้ำซาก 1,000 หมู่บ้าน กระทรวงมหาดไทยได้ประสานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำข้อมูลดังกล่าวมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งได้กำชับหัวหน้าสำนักงานจังหวัดนำรายชื่อหมู่บ้านน้ำแล้งซ้ำซากนำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความสำคัญและบรรจุในแผนพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและแผนพัฒนาจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...