วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

"อนุชา" ยัน "พศ." ไม่มีหน้าที่จัดการลัทธิประหลาด "มส." มอบ "สมเด็จพุฒาจารย์" สร้างปมอดีตพระกาโตะ



วันที่ 9 พฤษภาคม 2565 เวลา 13.20 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) พร้อมด้วยนายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้อำนวยการสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ร่วมกันแถลงข่าวถึงประเด็นพระสงฆ์ในปัจจุบันว่า ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา เกิดกรณีความเสื่อมเสียของพระสงฆ์ที่ไม่เอื้อต่อธรรมวินัย ทางมหาเถรสมาคม (มส.) และพศ. ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมของมส. ซึ่งปัจจุบันได้มีมติที่ 391/2565 เรื่อง พระภิษุกมีจริยวัตรไม่เหมาะสมประพฤติตนไม่เอื้อต่อพระธรรมวินัย ดังนี้ 

1.กำชับให้พระอุปัชณาย์ปฏิบัติตามกฎมหาเถระสมาคมและต้องเข้มงวดในการคัดกรองบุคคลที่จะเข้ามาบรรพชาอุปสมบทอย่างเคร่งครัด 2.กำชับให้เจ้าอาวาส ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดควบคุมพระภิกษุ สามเณรในปกครองพฤติตามพระธรรมวินัย กฎหมาย และกฎมหาเถรสมาคมอย่างเคร่งครัด และ 3.กำชับให้เจ้าคณะผู้ปกครองในแต่ละระดับตรวจตราพระภิกษุผู้อยู่ในปกครองให้เป็นให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย หากพบเห็นหรือทราบข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมให้ดำเนินการแก้ปัญหาให้ยุติโดยเร็วโดยไม่ต้องรอรับรองรายงานการประชุม

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ กำหนดโทษพระภิกษุที่ประพฤติไม่เหมาะสม รวมถึงเจ้าคณะผู้ปกครองที่ปล่อยปละละเลยไม่เข้มงวดกวดขันและตรวจตราพระภิกษุในปกครอง ปล่อยปละละเลยให้ภิกษุประพฤติไม่เหมาะสม ไม่เอื้อต่อพระธรรมวินัย ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง ประกาศ และมติมหาเถรสมาคม มีจริยวัตรไม่เหมาะสมกับสมณสารูป โดยมติมหาเถรสมาคมได้แต่งตั้งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นผู้ยกร่างแนวทางการลงโทษพระภิกษุที่ปฏิบัติไม่เหมาะสม รวมถึงเจ้าคณะผู้ปกครองที่ปล่อยให้ในสังกัดประพฤติปฏิบัติก็ให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ 

“จากการหารือกับพระกากัน อโสโก (มาลิค) นักแสดงชาวอินเดีย  ผู้รับบทเจ้าชายสิทธัตถะ ในเรื่อง Sri Siddhartha Gautama ที่เดินทางมาบรรพชาอุปสมบทในไทย ท่านกล่าวชื่นชมประเทศไทย พร้อมให้ความร่วมมือนำคำสั่งสอนและความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ไปเผยแพร่ต่อที่ประเทศอินเดีย ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมาก ขอให้คนไทยทุกคนร่วมกันปกป้องพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นอีกหนึ่งเสาหลักที่สำคัญของประเทศไทยให้เจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นไป” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

เมื่อถามถึงกรณีลัทธิพิลึก พศ.สามารถเข้าไปตรวจสอบได้หรือไม่ นายอนุชา กล่าวว่า ทางพศ. ไม่เกี่ยวข้องกับลัทธิที่มีอยู่ หรือความเชื่อของคนที่ปฏิบัติตามความเชื่อนั้นๆ ส่วนตัวมองว่าเกี่ยวข้องกับฝ่ายปกครองที่จะตรวจสอบ โดยลัทธิสามารถตั้งเป็นมูลนิธิ หรือสมาคมเพื่อทำคุณงามความดีให้กับสังคมได้ แต่หากตั้งขึ้นมาแล้วสร้างความเดือดร้อนก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครอง ส่วนในเรื่องของศาสนาและความเชื่อ หากผู้ใดอยากจดแจ้งสามารถยื่นเรื่องไปที่กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรมได้


หลังจากนี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด จะประชุมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสอดส่องร่วมกับผู้ปกครอง เพื่อเข้มงวดกวดขัน และเป็นหูเป็นตา ทำให้การปกครองของพระภิกษุนั้นเป็นไปด้วยความราบรื่นและถูกต้อง นอกจากนี้ ในปัจจุบันเป็นโลกของการสื่อสาร โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่เกิดขึ้นมากมาย เราจึงต้องเข้มงวดและควบคุมในสิ่งที่ผิดมากขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่า


เมื่อถามถึงความคืบหน้าการสืบสวนอดีตพระกาโตะ เป็นอย่างไร นายอนุชา กล่าวว่า ทางมหาเถรสมาคมนั้นได้มีมติมอบหมายให้ประธานฝ่ายปกครองของมหาเถรสมาคม คือ สมเด็จพุฒาจารย์วัดไตรมิตร ได้ตั้งคณะกรรการกำหนดหลักเกณฑ์และกำหนดโทษแก่พระที่ปฏิบัติไม่เหมาะสม และเจ้าคณะผู้ปกครองที่ได้ปล่อยปละละเลยให้มีการประพฤติไม่เหมาะสมเกิดขึ้นขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาในเรื่องของบทลงโทษ แต่ในส่วนของอดีตพระกาโตะนั้น ได้ดำเนินการตรวจสอบอยู่ทั้งในส่วนของธรรมและทางโลก ยืนยันว่าตรวจสอบอย่างเข้มงวดไม่มีการช่วยเหลืออย่างแน่นอน และสอบไปจนถึงการปาราชิกก่อนที่พระกาโตะจะสึกในภายหลัง ทั้งนี้ ความเป็นสงฆ์จะขาดความเป็นพระตั้งกระทำผิดพระวินัย และไม่สามารถกลับมาบวชได้อีก


ด้าน นายสิปป์บวร กล่าวถึงอดีตพระกาโตะว่า มีการรับสารภาพว่าได้เสพเมถุน ซึ่งตามหลักศาสนา ถ้าพระเสพเมถุนเป็นหนึ่งในความผิดปาราชิกทันที และถ้าปาราชิกจะพ้นจากการเป็นพระสงฆ์โดยอัตโนมัติไม่ต้องลาสิกขา ซึ่งพ้นตั้งแต่ที่ลงมือเสพเมถุนแล้ว


เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่ามีผลต้ังแต่บนสันเขื่อนแล้วใช่หรือไม่ นายสิปป์บวร กล่าวว่า ใช่ และจะกลับมาบวชในพระพุทธศาสนาไม่ได้ เพราะถือเป็นบุคคลต้องห้าม


นอกจากนี้ นายสิปป์บวร กล่าวถึงกรณีการตรวจสอบเส้นทางการเงินของแต่ละวัดมีการดำเนินการอย่างไร ว่า ในเรื่องการจัดทำบัญชีของวัด ปัจจุบันทุกวัดเป็นลักษณะบัญชีพื้นฐานรายรับรายจ่าย ส่วนวัดที่มีความพร้อมก็ได้จัดทำบัญชีเต็มรูปแบบ ซึ่งเรามีการประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเจ้าคณะปกครองในการให้วัดต่างๆ ต้องรายงานสถานะการเงินของวัดมายัง พศ. อีกส่วนหนึ่งแต่ละวัดก็ต้องรายงานเจ้าคณะผู้ปกครองตามลำดับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...