วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร เปิดเผยว่า มีการประชุมทบทวนกระบวนการทำงานด้านสันติภาพภายใต้ MOU ระหว่าง สำนักงานศาลยุติธรรม สถาบันพระปกเกล้า และหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่ ห้องพุทธปัญญา วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร โดยมีพระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์ ศาสตราจารย์ ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร เป็นประธานกล่าวเปิดการทบทวนกระบวนการทำงานด้านสันติภาพ
พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์ สะท้อนว่า เรามีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมกันระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรม สถาบันพระปกเกล้า และหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยมีการบันทึกข้อตกลง 10 ข้อ ประกอบด้วย 1)สร้างองค์ความรู้ด้านสันติศึกษา การไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาท 2)พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมด้านสันติศึกษา การไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อพิพาทสำหรับประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีคุณภาพ 3)ส่งเสริมการให้บริการทางวิชาการด้านสันติศึกษา การไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อพิพาท 4)สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพผู้ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทในทุกภาคส่วนให้มีความรู้ ความสามารถทักษะการไกล่เกลี่ยปละประนอมข้อพิพาท 5)จัดให้มีโครงการวิจัยและพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาร่วมกัน 6)จัดให้มีโครงการบริการวิชาการเพื่อสังคมร่วมกัน 7)จัดให้มีโครงการแลกเปลี่ยนอาจารย์ 8)จัดให้มีการแลกเปลี่ยนนิสิตนักศึกษาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกัน 9)จัดให้มีโครงการพัฒนาบุคลากรร่วมกัน 10)ดำเนินโครงการการร่วมมืออื่นในอนาคตที่เห็นร่วมกันเพื่อให้เกิดข้อตกลงความร่วมมือฉบับอื่นที่แยกจากบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้
โดยการบันทึกข้อตกลงเป็นความร่วมมือที่ไม่มีวันสิ้นสุด ซึ่งสามสถาบันมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นมายาวนาน มีการแลกเปลี่ยนการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเรียนและการสอน โดยสถาบันพระปกเกล้ามีรัชกาลที่ 7 ซึ่งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีรัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนา สำนักงานศาลยุติธรรมมีบุคลากรมาฝึกอบรมในหลักสูตรไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอย่างต่อเนื่อง ซึ่งชาติบ้านเมืองเรามีความขัดแย้งจึงเป็นที่มาของการความร่วมมือในการขับเคลื่อนจึงนำสมรรถนะแต่ละสถาบันมาหลวมรวมกันเพื่อออกไปรับใช้งานชาติบ้านเมือง พร้อมสามสถาบันแนะนำบุคลากรในการทบทวนกระบวนการทำงานด้านสันติภาพ
ศาสตราจารย์ นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ กรรมการสมานฉันท์ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิด้านสันติวิธีและแก้ปัญหาความขัดแย้งกล่าวนำว่า เราควรเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นอย่างจริงจัง โดยใกล้วันวิสาขบูชาจะต้องสร้างความตระหนักไม่ให้เกิดความรุนแรง จึงต้องเข้าใจความทุกข์ของคนอื่น เช่น การเกิดสงคราม โรคภัยต่างๆ ทำอย่างไรจะนำแนวทางหลักการทางพระพุทธศาสนาไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง การทำ MOU จึงต้องไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง รวมถึงการทำโครงการนิพนธ์ ด้วยการลงไปทำจริงๆ ในพื้นที่ของชุมชน สังคม มิใช่แค่เพียงศึกษาเอกสารเท่านั้น ความร่วมมือจะต้องนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การสร้างการไกล่เกลี่ยในชุมชน ถึงปัจจุบันมีการขับเคลื่อนความสุจริตทางวิชาการทั้งคณาจารย์และนิสิตในการทำวิทยานิพนธ์ ทั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์และมหาวิทยาลัยภายนอก จึงต้องป้องกันการทุจริตทุกมิติ การทบทวนกระบวนการทำงานด้านสันติภาพจะต้องมองให้กว้าง โดยมองการให้อภัยซึ่งกันและกันในการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม เราจะสามารถให้อภัยคนที่กระทำผิดพลาดได้หรือไม่อย่างไร ? เวลาเราจะพัฒนาองค์กรหรือหลักสูตรจะต้องมองอนาคตร่วมกันว่าเราจะทำอะไรร่วมกัน โดยมองไปข้างหน้าว่าเราจะทำอะไรร่วมมือผ่านการสนทนาหาทางออกร่วมกัน
พระมหาดวงเด่น ฐิตญาโณ ผศ.ดร. สะท้อนว่า ทางหลักสูตรสันติศึกษา มจร ขอความร่วมมือจากสถาบันพระปกเกล้าและสำนักงานศาลยุติธรรม เข้ามาสอนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก รวมศึกษาดูงานด้านสันติวิธีและกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท รวมถึงส่งคณาจารย์ไปเรียนรู้ในหลักสูตรต่างๆ ของสถาบันพระปกเกล้าและสำนักงานศาลยุติธรรมเพื่อพัฒนาคณาจารย์แบบบูรณาการ ซึ่งนิสิตระดับปริญญาโทเอกหลักสูตรสันติศึกษาจะมีการฝึกภาคปฏิบัติในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในสำนักงานศาลยุติธรรม รวมการวิจัยในการพัฒนาผู้ประนีประนอม
พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์ กล่าวย้ำว่า งานสันติภาพอยากให้ลงการปฏิบัติลงไปทำให้เห็นอย่างจริงจัง เอาธรรมไปทำเอาธรรมไปปฏิบัติ โดยนิสิตจะต้องลงไปทำอย่างจริงจังจึงมองแผนที่ความขัดแย้ง 4 ด้าน คือ พัฒนากายภาพ พัฒนาพฤติภาพ พัฒนาจิตตภาพ พัฒนาปัญญาภาพ โดยจะร่วมมือกันอย่างไรในการขับเคลื่อนการสร้างสันติภาพร่วมกันผ่านรายวิชา หรือ โครงการ และการทำงานวิจัยร่วมกันทั้งสำนักงานศาลยุติธรรมและสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งในศาลเราส่งนิสิตไปเป็นผู้ประนีประนอมเป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ซึ่งมองว่าควรมีหลักสูตรวุฒิบัตรระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวร่วมกันในการพัฒนา แต่สิ่งที่สำคัญคือ ผู้ที่เรียนจบหลักสูตรระดับสูงของสถาบันพระปกเกล้าและสำนักงานศาลยุติธรรม แม้จบในระดับปริญญาตรีสามารถมาเรียนต่อในระดับปริญญาเอก หลักสูตรสันติศึกษา มจร ได้เลย ซึ่งเราจะพัฒนาหลักสูตรในระดับภาคอินเตอร์ด้วยเพื่อการขับเคลื่อนต่อไป โดยทางหลักสูตรสันติศึกษา มจร มีมติให้ทุนการศึกษาเรียนระดับปริญญาเอกของบุคลากรสถาบันพระปกเกล้าและสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งปีหน้าจะเตรียมงบวิจัยเพื่อขับเคลื่อนงานร่วมกัน
ผอ.ศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า สะท้อนว่า มีความสบายใจดีใจอย่างยิ่งในการความร่วมมือซึ่งเราจะทำงานด้านสันติวิธีซึ่งจะแก้ปัญหาความขัดแย้ง จะต้องใช้พลังความร่วมมือทุกภาคีเครือข่าย จึงแสดงความคิดเห็น 2 ส่วนคือ 1)ส่วนที่ผ่านมาแล้วซึ่งเป็นอดีต โดยขอชื่นชมMOU ถือว่าเป็นเนื้อหาความร่วมมือที่ทันสมัยและได้ทำทุกข้อแล้ว อาจจะมากบ้างน้อยบ้าง คำถามเราจะทำงานร่วมมือกันอย่างไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยส่วนรวมได้ประโยชน์ ซึ่ง 9 ปีที่ผ่านมาเราสะสมองค์ความรู้ในการวิจัย ร่วมแลกเปลี่ยนคณาจารย์อันเป็นที่ประจักษ์ต่อที่สาธารณะรับรู้รับทราบ โดยสถาบันพระปกเกล้ามีหลักสูตรฝึกอบรมต่างๆ มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างคณาจารย์ ถือว่าทำงานกันอย่างต่อเนื่องมีการจัดเวทีร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เรามีความเข้มแข็งของแต่ละสถาบัน
2)ส่วนที่จะพัฒนาร่วมกันคืออนาคตร่วมกัน เรามีความพร้อมแล้วสำหรับการสะสมประสบการณ์เพื่อขยายไปสู่ภายนอก โดยการนำองค์ความรู้ ทักษะไปสู่สาธารณะเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม โดยให้น้ำหนักไปสู่สาธารณะในการทำงานในเชิงลึกลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม สามารถแก้ปัญหาได้จริงสามารถจับต้องได้ผ่านการลงมือทำ สรุปคือต้องลงมือทำอย่างจริงจัง แต่ในเชิงแนวกว้างจะต้องทำด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจของคนในสังคม แต่การกำหนดพื้นที่หรือประเด็นในการทำงานร่วมกันภายใต้กลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยมิติต่างๆ ความแตกต่างระหว่างวัย จะต้องทำให้ทันกับสถานการณ์ การมีงานวิจัยร่วมของสามสถาบันภายใต้ความร่วมมือ MOU ซึ่งหมดเวลาดีแต่พูด ซึ่งผู้ที่เรียนหลักสูตรระดับสูงของสถาบันพระปกเกล้า แม้จบปริญญาตรีสามารถเรียนต่อปริญญาเอก สันติศึกษาได้เลย หรือเชื่อมโยงหลักสูตรระยะสั้นจากพระปกเกล้าส่งต่อมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยมีการออกแบบหลักสูตรร่วมกันอย่างจริงจังระหว่าง มจร สถาบันปกเกล้า และสำนักงานศาลยุติธรรม
ดร.ชลัท ประเทืองรัตนา สถาบันพระปกเกล้า กล่าวนำเสนอว่า มองจุดแข็งของสามสถาบันคือ มจร คือสันติภายใน สถาบันพระปกเกล้าคือ เครื่องมือในการจัดการความขัดแย้ง สำนักงานศาลยุติธรรมคือการระงับข้อพิพาท เมื่อมารวมกันจึงทำให้เกิดพลังสันติภายในภายนอกและการระงับข้อพิพาท จึงมองว่าเป็น “ยุติธรรมกับการระงับข้อพิพาท” ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นยุติธรรมกระแสหลักเป็นฐานรวมกระยุติธรรมกระแสทางเลือก โดยมีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเพื่อสังคม โดย มจร มีกระบวนการไกล่เกลี่ยผ่านการให้อภัย การขอโทษ จึงมีการรวมกันในการทำหลักสูตร
ดร.อภิญญา ดิสสะมาน สถาบันพระปกเกล้า กล่าวนำเสนอว่า หลักสูตรระดับสูงสามารถไปเทียบโอนในการเรียนต่อปริญญาเอกสันติศึกษาถือว่าดีมาก โดย มจร เน้นสันติภายใน สถาบันพระปกเกล้ามีสันติภายนอก ส่วนสำนักงานศาลยุติธรรมมีการระงับข้อพิพาท ต้องออกแบบหลักสูตรร่วมกันทั้งระยะสั้น กลาง ยาว สำหรับการวิจัยจะต้องเอาธรรมไปทำผ่านการปฏิบัติลงมือทำอย่างแท้จริง ซึ่งมีการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ ปัจจุบันมีการจัดฝึกอบรมหลักสูตรภาคระดับสากลหลายหลักสูตร จึงสามารถมีความลื่นไหลทางวิชาการและการนำไปสู่การปฏิบัติ เราพัฒนานักสันติภาพจำนวนมากแต่ประเด็นความขัดแย้งยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นางสาวเพชรรัตน์ สพรั่งผล ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา ซึ่งเป็นผู้แทนจากสำนักงานศาลยุติธรรมภายใต้กระบวนการทำงานด้านสันติภาพ MOU นำเสนอว่า สำนักงานศาลยุติธรรมขอชื่นชมความร่วมมือ MOU ที่ไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งประเด็นการฝึกงานของนิสิตระดับปริญญาโท-เอก ในมิติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทควรมีหนังสือนำไปถึงสำนักงานศาลยุติธรรมโดยตรง ซึ่งในอนาคตควรมีการทำหลักสูตรร่วมกันและการพัฒนาผู้ประนีประนอมจะต้องนำมิติทางศาสนาเข้าไปพัฒนาด้วย ซึ่งควรมีการพัฒนาผู้ประนีประนอมผ่านหลักศาสนาซึ่งเป็นหลักสูตรของสำนักงานศาลยุติธรรม
นายสุทธิธรรม รัตนแสนยานุภาพ เลขานุการศาลอาญาพระโขนง นำเสนอว่า โดยผู้พิพากษามีประสบการณ์มากถ้าต้องการมาเรียนระดับปริญญาโทเอก สามารถขอใบรับรองจากสำนักงานศาลยุติธรรมเพื่อเข้ามาเรียนต่อในระดับปริญญาโท-เอก จึงต้องประสานไปถึงส่วนกลางเพื่อรับรู้รับทราบ
ดร.ขันทอง วัฒนะประดิษฐ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษา นำเสนอว่า การทำหลักสูตรร่วมกันมีความเห็นด้วยอย่างยิ่ง สิ่งสำคัญการพัฒนาผู้ประนีประนอมโดยมุ่งสันติภายในสามารถทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ สร้างภาพลักษณ์ผู้ประนีประนอมเป็นต้นแบบ นายพงศธร แทบทาบ จากสำนักศาลยุติธรรม นำเสนในหัวข้อในการพัฒนาผู้ประนีประนอมของสำนักงานศาลยุติธรรมจะโดยมุ่งเน้นจากภายใน
ดังนั้น ทาง มจร ได้มอบหมายให้พระปราโมทย์ วาทโกวิโท ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มจร และ ผศ.ดร.ขันทอง วัฒนะประดิษฐ์ อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มจร ประสานงานกับสถาบันพระปกเกล้าและสำนักงานศาลยุติธรรม โดยในช่วงท้ายศาสตราจารย์ นพ.วันชัย ให้กำลังใจทุกท่านในการขับเคลื่อนงานสันติภาพต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น