วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

"อนุชา" เผยผลสอบหมอปลาพร้อมคณะผิด สั่งการ "พศ." เดินหน้าเอาผิดตามกฎหมาย



วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม 2565 นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณี นายจีรพันธ์ เพชรขาว หรือ “หมอปลา” กับพวกนําคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่วัดต่าง ๆ อ้างว่าเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมของพระภิกษุ โดยนำคณะเข้าบุกรุกวัด ที่พักสงฆ์ และกุฏิที่อยู่อาศัยหลายพื้นที่ ว่า จากการหารือของคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม พบว่าการกระทำดังกล่าวละเมิดข้อกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง และมติที่เกี่ยวข้องหลายข้อ ดังนี้  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 ประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 และข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ.2553 

ในส่วนของการดำเนินการของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ การลงโทษพระภิกษุสงฆ์กรณีที่ละเมิดพระธรรมวินัย เป็นไปตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 หลักเกณฑ์การลงนิคหกรรมนั้นต้องเป็นไปตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 11 ออกตามความมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ซึ่งตามกฎมหาเถรสมาคม ผู้มีอำนาจ คือ ผู้พิจารณากับคณะผู้พิจารณาชั้นต้น คณะผู้พิจารณาชั้นอุทธรณ์และคณะผู้พิจารณาชั้นฎีกา ซึ่งเป็นตำแหน่งพระสังฆาธิการทั้งหมด ผู้ที่ไม่ใช่บุคคลดังกล่าวไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบพระภิกษุได้ การกระทำของหมอปลาและพวกจึงไม่เหมาะสม และส่งผลให้พระภิกษุไม่ได้รับความเป็นธรรม

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กำชับและสั่งการให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบและติดตามอย่างใกล้ชิด โดยย้ำให้ประสานความร่วมมือกับพระสังฆาธิการในพื้นที่ปกครอง สอดส่อง ดูแลผู้ที่มีความประพฤติไม่เหมาะสมดังเช่นกรณีดังกล่าว เพื่อป้องกันกลุ่มผู้ไม่ประสงค์ดีที่คิดร้ายต่อพระพุทธศาสนา ในส่วนของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของคณะสงฆ์ เป็นอำนาจตามกฎมหาเถรสมาคมที่จะพิจารณาความผิดและบทลงโทษ การที่ฆราวาสจะเข้าไปก้าวก่ายและเอาผิดเรื่องของสงฆ์ไม่สามารถทำได้ ซึ่งสิ่งนี้ถือปฏิบัติมากว่า 2,500 ปีแล้ว การกระทำของหมอปลาและพวกจึงถือเป็นการทำให้พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาหลักของชาติเสื่อมเสีย และไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง หากพุทธศาสนิกชนท่านใดพบเห็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว ขอให้รีบแจ้งไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเพื่อดำเนินการตรวจสอบต่อไป 

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...