วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

"ดร.สุวิทย์"ย้ำปรัชญาตั้งกระทรวง "อว." สร้างปัญญาอนาคตก้าวข้ามกับดักขัดแย้ง


"ดร.สุวิทย์" ย้ำปรัชญาตั้งกระทรวง"อว." มุ่งกระตุ้นสถานศึกษาสร้างปัญญา พาประเทศก้าวข้ามกับดัก"รายได้ปานกลาง-เหลื่อมล้ำ-ขัดแย้ง"

เมื่อวันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม 2565 เฟซบุ๊ก ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ Dr. Suvit Maesincee (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว.) ได้โพสต์ข้อความว่า 

เมื่อวันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ผมได้รับเกียรติในการกล่าวปาฐกถาเกียรติยศผู้ร่วมก่อตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ว่าด้วย “อว. กระทรวงแห่งอนาคต” โดยมีรายละเอียดดังนี้: 

หากต้องการให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. เป็น “กระทรวงแห่งอนาคต” เราต้องหันกลับมามองว่าอนาคตของประเทศไทยและอนาคตของโลกเป็นอย่างไร

อย่างที่เราทราบกันดีว่าอนาคตของประเทศไทยนั้นไม่ได้สดใสมากนัก ดังนั้นประเด็นที่สำคัญ คือ อว. จะเป็นหนึ่งในกำลังหลักที่จะทำให้อนาคตของประเทศไทยดีขึ้นภายใต้บริบทของกระทรวงแห่งอนาคต กระทรวงแห่งปัญญา และกระทรวงแห่งโอกาสได้อย่างไร

ในปัจจุบันมีประเด็นท้าทายที่เกิดจากโลกภายนอกมากมาย เรียกว่าเป็น “One World, One Destiny” หรือหนึ่งโลกหนึ่งชะตากรรมร่วม ไม่ว่าจะเป็นโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือภัยคุกคามทางไซเบอร์ ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องอาศัย “ปัญญา” ทั้งสิ้น ดังนั้นกระทรวง อว. จึงถือเป็นกระทรวงหลักที่จะต้องรับมือกับ Global Dynamics และ Global Commons

พร้อมกันนั้นกระทรวง อว. ยังถือเป็นกระทรวงหลักอีกกระทรวงหนึ่ง ที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามกับดักที่กำลังเผชิญอยู่ ทั้งกับดักรายได้ปานกลาง กับดักของความเหลื่อมล้ำ และกับดักของความขัดแย้ง เนื่องจากกระทรวง อว. เป็นกระทรวงที่มีบูรณาการเป็นองค์รวม ทั้งสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องไม่ยากนักที่จะหาคำตอบเพื่อก้าวข้ามกับดักเหล่านี้ไปได้

หนึ่งในเหตุผลของการก่อตั้งกระทรวง อว. ขึ้นมานั้น ก็เพื่อแยกในส่วนของอุดมศึกษาออกมาจากกระทรวงศึกษา แต่อีกเหตุผลสำคัญก็คือเพื่อสร้าง “โครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา” ในการผลักดันประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 ดังนั้นกระทรวง อว. จึงมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งยวด เนื่องจากนับจากนี้ไปในศตวรรษที่ 21 การพัฒนาจะถูกขับเคลื่อนด้วย 2 ปัจจัยสำคัญ คือ Talents และ Science, Technology and Innovation (STI)

ในการสร้างทุนมนุษย์ของกระทรวง อว. จะต้องประกอบด้วย 2 ส่วน คือการสร้างกำลังคน (Manpower) ควบคู่ไปกับการสร้างพลังสมอง (Brainpower) เพื่อที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า สร้างคนไทยให้เป็นพลเมืองที่สมบูรณ์ พร้อม ๆ กับการสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศบนฐานของความเท่าเทียมและความยั่งยืน

ในอนาคตวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จะเป็นหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลกและการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย STI Paradigm กำลังค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับพลวัตโลก จาก "Science for Modernity" เป็น "Science for Sustainability" ปรับเปลี่ยนจาก "Technology for Productivity" เป็น "Technology for Humanity" และจาก "Exclusive Innovation" เป็น "Inclusive Innovation" ดังนั้นความสามารถในการบูรณาการข้ามศาสตร์ระหว่าง Natural Science, Social Science และ Humanity จึงเป็นหัวใจที่สำคัญยิ่ง

การที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นจริงขึ้นมาได้ จำเป็นต้องอาศัยการผนึกกำลังกันของมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยราชมงคล มหาวิทยาลัยวิจัย รวมถึงสถาบันวิจัยต่าง ๆ จึงจะเกิดพลังของการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัย

ในห้วง 3 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่เรากำลังมองไปข้างหน้า ซึ่งเป็นโลกที่มีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง มี 3 ประเด็นท้าทายที่เราทุกคนต้องช่วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวง อว. ที่จะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ ซึ่งประกอบด้วย

1) “The Second Great Reform” คือการปฏิรูปครั้งใหญ่ เพื่อรับมือกับพลวัตโลกและประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างภายใน เนื่องจากประเทศไทยมี The First Great Reform เพียงครั้งเดียวในสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 และแม้ว่าในปัจจุบันเราจะมีการปฏิรูปมาแล้วในระดับหนึ่ง แต่นั่นถือว่ายังไม่เพียงพอ

2) “New Frontiers of Science, Technology & Innovation” ที่จะตอบโจทย์การสร้างความมั่งคั่งบนฐานของความเท่าเทียมและความยั่งยืน ที่จะสามารถพัฒนาไปเป็น Soft Power ของประเทศในอนาคต ผ่าน 3 วาระสำคัญ คือ Climate Action, Commons Reinvention และ Circular Economy ทั้ง 3 วาระอยู่ภายใต้ BCG Economy Model และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยการบูรณาการข้ามศาสตร์ เพื่อขับเคลื่อนวาระดังกล่าวให้ประสบผลสัมฤทธิ์

3) “Lost Generation” นอกเหนือจากการต้องเผชิญกับหลากทศวรรษแห่งความสูญเปล่า (Thailand’s Lost Decades)แล้ว ประเทศไทยกำลังเผชิญกับ Lost Generation โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "Lockdown Generation" ในช่วงโควิด-19 ที่ทำให้เยาวชนของเราต้องเรียนออนไลน์ ซึ่งมีประสิทธิภาพบ้าง ไม่มีประสิทธิภาพบ้าง หรือต้องออกจากระบบการศึกษาเพราะพ่อแม่ตกงานบ้าง ดังนั้นจึงเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวง อว. ที่จะต้องซ่อม เสริม สร้าง เยาวชนเหล่านี้ ที่มีตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้ที่จะเป็นบัณฑิตต่อไปให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ เนื่องจากพวกเขาคือกำลังหลักของประเทศในอนาคต

ต้องถือว่ากระทรวง อว. เป็นกระทรวงต้นแบบของ “ระบบราชการแห่งอนาคต” เป็นกระทรวงต้นแบบของ “การลดความเป็นระบบราชการ” (Debureaucratization)  เนื่องจากกระทรวง อว. เน้นทำงานเป็นเครือข่าย ไม่ได้ทำงานแบบกระทรวง ทบวง กรม ไม่ได้เป็นโครงสร้างตามลำดับขั้นแบบรวมศูนย์ (Centralized Hierarchical Structure) แต่เป็นโครงสร้างการทำงานที่เปิดกว้าง กระจายศูนย์อำนาจ และเชื่อมโยงประสานกันเป็นเครือข่าย (Multilayer Polycentric Network) 

ที่สำคัญ อว. เป็นกระทรวงที่ครอบคลุมมิติทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และภูมิปัญญามนุษย์ อว. จึงเป็นกระทรวงที่สามารถผสมผสานภารกิจเชิง Agenda, เชิงพื้นที่ และเชิงฟังชั่นได้อย่างลงตัว

และประเด็นสำคัญสุดท้าย คือไม่ว่าภารกิจจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่ปรัชญาของกระทรวง อว. จะยังคงอยู่ นั่นคือ “กระทรวงแห่งการสร้างปัญญา เพื่อกำหนดอนาคต” นอกจากนี้ ยังเป็นกระทรวงแห่งการมองไปข้างหน้า และเป็น Forefront ของการขับเคลื่อนไปสู่ Thailand 4.0 ทดลองทดสอบผ่าน Sandbox ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ Education Sandbox, Regulatory Sandbox, Social Sandbox และ Governance Sandbox

ดังนั้นกระทรวง อว. จะมีแค่เพียง “Ability to Support” ไม่ได้ แต่ต้องมี “Power to Lead” ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศ เนื่องจากถือเป็นกระทรวงต้นน้ำที่จะสามารถบูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมกระทรวง อว. จึงได้รับความไว้วางใจให้เป็นกระทรวงหลักในการขับเคลื่อน Thailand 4.0 และ BCG Economy Model ซึ่งจะเป็น Growth Engine ของประเทศไทยในโลกหลังโควิด-19

อว.จัดตั้ง "ธัชวิทย์" เชื่อมโยงนักวิจัย-มหาลัย เป็นคลังสมองประเทศ 

วันนี้(6พ.ค.) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิด "ธัชวิทย์" วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences : TAS) เพื่อให้เป็นศูนย์กลาง (Hub) ในการเชื่อมโยงเครือข่ายนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยมาทำงานร่วมกัน และใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ความก้าวหน้าของการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดนับเป็นกุญแจสำคัญต่อการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพราะโลกปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูงขึ้น จึงมีนโยบายให้จัดตั้งวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences : TAS) หรือเรียกว่า "ธัชวิทย์" คู่ไปกับวิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย

ที่ผ่านมามีการก่อตั้ง "ธัชชา" เพื่อทำให้คนไทยเห็นคุณค่าเรื่องราวในอดีต ศึกษา วิจัยและพัฒนาด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดีและวัฒนธรรม ยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศเพื่อกระจายสู่สายตาประชาคมโลก ส่วน "ธัชวิทย์" จะเป็นเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงเครือข่ายนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยมาทำงานร่วมกัน

รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอยู่ เพื่อสร้างประเทศให้มีฐานวิทยาศาสตร์ที่ดี ฐานการพัฒนาคนไทยให้ได้ดี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก

โดยให้มีรูปแบบการดำเนินงานใน 3 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 การสร้างเครือข่ายคลังสมองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ (Frontier Think Tank) มิติที่ 2 กลุ่มริเริ่มงานวิจัยชั้นนำ (Frontier Science Alliances) และมิติที่ 3 ผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีศักยภาพสูงเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก (Future Graduates Platform)

"เป้าหมายสำคัญคือการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งต้องอุดมไปด้วยสรรพวิทยาและศาสตร์ในทุกๆ แขนงเป็นส่วนประกอบ และกระทรวง อว. คือสถานที่รวบรวมสิ่งเหล่านั้นไว้มากมาย ทั้งด้านการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพสูง "ธัชวิทย์" จะเป็นศูนย์กลางของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยเพื่อรวบรวมและใช้อย่างสร้างสรรค์ กระทรวง อว. จะเป็นกระทรวงที่พัฒนาแล้วในปี 2570 และจะพาประเทศไทยก้าวสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2580 ได้อย่างแน่นอน"

ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า ธัชวิทย์ หรือ TAS ต้องเป็นที่พึ่งได้ของประเทศ ให้คำตอบได้ในเรื่องสำคัญแก่ประเทศได้ เป็นคำตอบทางปัญญาของประเทศ ที่มีความถูกต้อง แม่นยำและรวดเร็ว และต้องทำให้อันดับของมหาวิทยาลัยไทยดีขึ้น

โดยการ repackage งานวิจัยที่มีอยู่ และ new package เลือกเรื่องที่ดีที่สุดและสิ่งที่ดีที่สุดให้มีผลงานออกมาหลากหลายและมีคุณภาพสู่การไต่อันดับที่สูงขึ้น มุ่งสร้างผลงาน contribute และพุ่งเป้าในโจทย์ที่ประเทศกำลังให้ความสำคัญ สร้างองค์ความรู้ใหม่ สิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่ม Ranking มหาวิทยาลัยของไทยได้อย่างแน่นอน และที่สำคัญเรื่องการผลิตกำลังคนระดับสูงแบบมุ่งเป้า

ของประเทศ โดยการใช้สถาบันวิจัยที่มีเครื่องมือดีมากๆ ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยที่มีบุคลากรคุณภาพสูงจำนวนมากแต่ขาดเครื่องมืองานวิจัยระดับสูง ธัชวิทย์ จะเป็นกลไกที่ทำให้สถาบันวิจัยทำหน้าที่ผลิตกำลังคนได้เป็น Academic Institution เสมือนเป็นบัณฑิตวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่มอบปริญญาบัตรได้ เพื่อสร้างทรัพยากรบุคคลสมรรถนะสูงในสาขาที่มีความสำคัญเร่งด่วนของประเทศ

เป็นบัณฑิตที่จบแล้วมีงานทำทันที หรือทำกิจการของตนเองก็ได้ มีคุณสมบัติโดดเด่นเป็นที่ยอมรับ ที่สำคัญ ธัชวิทย์ จะทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศ หน่วยงานด้านนโยบาย และหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัย ตลอดจนเครือข่ายต่าง ๆ ในต่างประเทศอย่างมุ่งมั่นและตั้งใจ เพื่อประเทศก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอนาคต


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รวม 4 สุดยอดเหรียญเจ้าสัวมนต์นาคราช หลวงปู่คีบ ธีรปัญโญ วัดป่าสุทธาวาส จ.นครพนม อายุ109 ปี

เหรียญเจ้าสัวมนต์นาคราช  หลวงปู่คีบ ธีรปัญโญ วัดป่าสุทธาวาส อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม อายุ 109 ปี รวมความเป็นสุดยอดดังนี้ สุดยอดพุทธศิลป์ สุดยอดม...