วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

กมธ.ศาสนาฯ สภาฯ ตั้ง "ณพลเดช" เป็น อนุฯกมธ.พุทธศาสนาฯแทน "เจ้าคุณประสาร"



เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม 2565 เวลา 11.00 น. ที่ห้อง CA303 อาคารรัฐสภาเกียกกาย ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธานกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า จากการที่มีกระแสถึงการที่มีพระภิกษุสงฆ์ ได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาในชั้นคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ ส่งผลให้มีการประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 มีมติห้าม พระภิกษุไปเกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมือง จนเป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่สงฆ์อย่างกว้างขวาง ที่มีพระเมธีธรรมาจารย์ หรือ "เจ้าคุณประสาร"  พระครูปลัดสุวัฒนสัจจคุณ (ธีรวิทย์) รวมถึง พระสุธีวีรบัณฑิต (โชว์ ทสฺสนีโย) ที่ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอยู่นั้น ซึ่งล่าสุดพระภิกษุสงฆ์ดังกล่าวได้ลาออกทั้งคณะ

ดร.เพชรวรรต กล่าวต่อไปว่า จากกรณีดังกล่าวในวันนี้ในชั้นกรรมาธิการฯ ได้มีมติแต่งตั้ง ดร.ณพลเดช มณีลังกา เป็นอนุกรรมาธิการฯพุทธศาสนาฯ แทนตำแหน่งที่ว่างลง จากที่ ดร.ณพลเดช เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ จบปริญญาเอกในหลายแขนงถึง 3 ใบ ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถมาทำงานให้กับกรรมาธิการได้อย่างดี ซึ่งก่อนหน้านี้ ดร.ณพลเดช ได้ดำรงตำแหน่งอนุกรรมาธิการฯนี้อยู่แล้ว และได้ลาออกเพื่อไปสมัครรับเลือกตั้ง ส.ก. ขณะนี้ได้กลับมาทำงานต่อ ตนมั่นใจว่าจะสามารถใช้ความรู้ความสามารถในการสืบสานต่องานในชั้นอนุกรรมาธิการฯ ได้เป็นอย่างดี

ดร.เพชรวรรต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีประเด็นที่มีการประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ว่ามีมติห้าม พระภิกษุไปเกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมือง นั้นตนคิดว่า เป็นเรื่องเข้าใจผิดเพราะในคณะกรรมาธิการฯ ไม่มีการเมือง ทุกคนที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน และจะมีการกลั่นกรองอย่างรอบด้านในบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน ทั้งนี้ก็มีพี่น้องมุสลิม พี่น้องจากศาสนาคริสต์ ซึ่งถือเป็นตัวแทนจากประชาชนของตน ก็ต่างส่งตัวแทนเข้ามาเป็นที่ปรึกษาในชั้นกรรมาธิการฯ และชั้นอนุกรรมาธิการฯ เช่นกัน อย่างไรก็ตามตนจะเข้าไปกราบหารือกับ "สมเด็จพระพุฒาจารย์" กรรมการมหาเถรสมาคม ที่มหาเถรสมาคมได้แต่งตั้งให้เป็นประธานฝ่ายปกครอง เรื่องขอให้เปิดช่องให้พระสงฆ์เข้ามาเป็นที่ปรึกษาในชั้นกรรมาธิการได้ เพราะจะช่วยให้คำปรึกษาต่อคณะกรรมาธิการในมิติของวงการพุทธศาสนา ซึ่งมิได้เป็นการเกี่ยวโยงต่อการเมืองแต่อย่างใด เพื่อให้เป็นไปตามหลักความเสมอภาคตามกรอบรัฐธรรมนูญ 2560 ตามหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ต่อไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผลักดันหมอลำขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ต่อยูเนสโก

การผลักดันหมอลำให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ต่อยูเนสโกเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสในการรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของไ...