วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

พระสงฆ์นานาชาติ-พุทธศาสนิกชนชาวเวียดนามจัดวิสาขบูชายิ่งใหญ่



วันที่ 9 พฤษภาคม 2565 หลวงพ่อ ทีก เถือง เติม รองประธานสมัชชาสงฆ์เวียดนาม, รองประธานกำกับดูแลพระธรรมทูตต่างประเทศ สายเถรวาท เป็นประธานสงฆ์ พิธีตักบาตรคณะสงฆ์เถรวาทนานาชาติ จากประเทศไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา บังคลาเทศ ศรีลังกา และเวียดนาม ในภาคค่ำเป็นพิธีอัญเชิญพระพุทธรูป ขบวนพาเหรด และจุดวิสาขประทีป ที่วัดบาหว่าง จังหวัดกวางนิญ ประเทศเวียดนาม  โดยมี คณะสงฆ์ พุทธศาสนิกชน เรือนแสนร่วมงาน



ขณะที่ นายยุทธศักดิ์ แก้วพระพาน ผู้ช่วยโฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ครั้งที่ 11/2565 เห็นชอบการจัดกิจกรรมวิสาขบูชานานาชาติครั้งที่ 17 เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี 2565 ตามที่ พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส กรรมการมหาเถรฯ ประธานคณะอนุกรรมการจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษ มีมติให้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษ (Tipitaka English Version) เป็นกิจกรรมหนึ่งของการจัดกิจกรรมนานาชาติเนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ครั้งที่ 17 ประจำปี 2565 ซึ่งสำนักพุทธฯ กรมการศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) และสมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลกร่วมกันจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 11-13 พ.ค.2565

ผู้ช่วยโฆษกสำนักพุทธฯ กล่าวต่อไปว่า สำหรับกิจกรรมมีดังนี้ 1.การประชุมทางวิชาการ เรื่อง "ธรรมะดิสรัปชั่น และการป้องกัน : มิติและการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาต่อโควิด-19 วันที่ 11 พ.ค. ที่มมร. ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 2.การประชุมทางวิชาการ เรื่อง "หลักปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพและความสามัคคีในยามเกิดความขัดแย้ง" วันที่ 12 พ.ค.2565 ที่ มจร. อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา 3.การประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "แนวทางการจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษ วันที่ 12 พ.ค.2565 ที่วัดประยุรวงศาวาส เขตธนบุรี กรุงเทพฯ และ 4.การจัดกิจกรรมวิสาขบูชานานาชาติ เรื่อง กรุณาธรรมในยามวิกฤต : หลักปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาเพื่อเยียวยาสังคมโลก วันที่ 13 พ.ค.2565 ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ นอกจากนี้ มหาเถรฯ ยังเห็นชอบให้ จัดงานวันอัฏฐมีบูชา ซึ่งเป็นวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อเป็นการน้อมระลึกถึงพระพุทธองค์ ในวันที่ 23 พ.ค.2565 ที่พุทธมณฑล จ.นครปฐม

องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญของโลก    

องค์การสหประชาติ (United Nations : UN) มีสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ ระบบสหประชาชาติอยู่บนพื้นฐานของ 6 องค์กรหลัก ได้แก่ สมัชชาใหญ่ คณะมนตรีความมั่นคง คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานเลขาธิการ และศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ รวมถึงคณะมนตรีภาวะทรัสตีที่ปัจจุบันยุติการทำงานแล้ว นอกจากนี้ยังมีองค์กรอื่น ๆ อีกเช่น องค์การอนามัยโลก ยูเนสโก และยูนิเซฟ  ตำแหน่งที่โดดเด่นที่สุดของสหประชาชาติ คือ เลขาธิการสหประชาชาติ  

เนื่องจากคณะกรรมมาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ร่วมพิจารณา  และมีมติเห็นพ้องต้องกันประกาศให้วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของโลกทั้งนี้ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวลมนุษย์ทั้งหลายในโลก จะเห็นได้จากการยกเลิกแบ่งชนชั้นวรรณะ ซึ่งเท่ากับเป็นการเลิกทาสโดยไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นนักอนุรักษ์สัตว์ป่าอีกด้วย กล่าวคือ ทรงสอนให้ไม่ฆ่าสัตว์ ให้รู้จักช่วยเหลือสัตว์ เหตุผลสำคัญ อีกประการหนึ่งคือ พระองค์ ทรงเปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนา พุทธและทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณสอนโดยไม่คิดค่าตอบแทน

ความเป็นมาในการประชุม International Buddhist Conference ณ กรุงโคลัมโบ ระหว่างวันที่ 9-14 พฤศจิกายน 2541 ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศที่นับถือศาสนาพุทธจำนวนมากเข้าร่วมอาทิ บังคลาเทศ จีน ลาว เกาหลีใต้ เวียดนาม ภูฐาน อินโดนีเซีย เนปาล กัมพูชา อินเดีย ปากีสถาน และไทย ได้ตกลงกันที่จะเสนอให้สมัชชาสหประชาชาติรับรองข้อมติประกาศวันวิสาขบูชาให้เป็นวันหยุดของสหประชาชาติ      

ในการเยือนของประเทศต่างๆ ในอินโดจีนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศศรีลังกา ในปี 2542 ก็ได้มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นหารือ และได้รับการสนับสนุนจากประเทศต่างๆ ได้ด้วยดี     

คณะทูตถาวรศรีลังกาประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์กได้จัดเตรียมร่างข้อมติ และได้ขอเสียงสนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ เพื่อให้มีการรับรองข้อมติเรื่องการประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดของสหประชาชาติในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 54      

โดยที่สหประชาชาติประกาศวันหยุดเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว และจะเป็นปัญหาในเรื่องงบประมาณและการบริหารแก่สหประชาชาติ หากประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุด ศรีลังกาจึงได้ตัดสินใจที่จะเสนอร่างข้อมติ ขอให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลที่สหประชาชาติ ทั้งที่สำนักงานใหญ่ และสำนักงานต่าง ๆ แทนการเสนอให้เป็นวันหยุดซึ่ง ออท. ผู้แทนถาวรประเทศต่าง ๆ รวม 16 ประเทศ ได้แก่ ศรีลังกา บังคลาเทศ ภูฐาน กัมพูชา ลาว มัลดีฟส์ มองโกเลีย พม่า เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ สเปน อินเดีย ไทย และยูเครน ได้ร่วมลงนามในหนังสือถึงประธานสมัชชาฯ เพื่อให้นำเรื่องวันวิสาขบูชาเข้าเป็นระเบียบวาระการประชุมของสมัชชาฯ       

ต่อมาเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2542 General Committee ของสมัชชาฯ ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าว โดย ออท.ผู้แทน ถาวรศรีลังกาได้กล่าวถ้อยแถลงสนับสนุนหนังสือร้องขอให้ที่ประชุมบรรจุระเบียบวาระดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของ ที่ประชุมสมัชชาเต็มคณะ ออท.ผู้แทนถาวรไทย อินเดีย สเปน บังคลาเทศ ปากีสถาน ไซปรัส ลาว และภูฐาน ได้กล่าวถ้อย แถลงสนับสนุน ซึ่งที่ประชุม General Committee ได้มีมติให้บรรจุเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสมัชชาเต็มคณะ

เมื่อ 15 ธันวาคม 2542 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 54 ได้พิจารณาระเบียบวาระที่ 174 International recognition of the Day of Visak โดยการเสนอของศรีลังกา     

ในการพิจารณา ประธานสมัชชาฯ ได้เชิญผู้แทนศรีลังกาขึ้นกล่าวนำเสนอร่างข้อมติ และเชิญผู้แทนไทย สิงคโปร์ บังคลาเทศ ภูฐาน สเปน พม่า เนปาล ปากีสถาน อินเดียขึ้นกล่าวถ้อยแถลง สรุปความว่า วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของ พุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ทรงตรัสรู้ เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ให้มวลมนุษย์มีเมตตาธรรมและขันติธรรม ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อให้เกิดสันติสุขในสังคม อันเป็นแนวทางของ สหประชาชาติ จึงขอให้ที่ประชุมรับรองข้อมตินี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการรับรองความสำคัญของพุทธศาสนาในองค์การสหประชาชาติ โดยถือว่าวันดังกล่าวเป็นที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติและที่ทำการสมัชชาจะจัดให้มีการระลึกถึง(observance) ตามความเหมาะสม      

ที่ประชุมฯ ได้รับรองร่างข้อมติโดยฉันทามติ ถ้อยแถลงของเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรฯ ศรีลังกาประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ถ้อยแถลงของนายวรวีร์ วีรสัมพันธ์ อุปทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก (ที่มา - http://www.learntripitaka.com/History/VesakhaBucha-01.html)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...