วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม 2566 คณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ จัดเสวนาพิเศษ "มองอนาคตเด็กไทย ในวันที่โลกเปลี่ยน" โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ประธานคณะทำงานการศึกษาทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น นางสาวศิริภา อินทรวิเชียร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และนายชยพงศ์ สายฟ้า นักวิชาการด้านการศึกษา ดำเนินรายการโดย นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม. กล่าวเปิดงานเสวนา ว่า ปัจจุบันปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนมีหลากหลายปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง สังคม ยุคสมัย อาทิ โซเชียลมีเดีย โดยเปลี่ยนแปลงไม่เฉพาะแค่ประเทศไทย แต่เปลี่ยนแปลงทั่วโลก จึงอยากชวนเด็ก เยาวชน และทุกคนให้หันมาคุยร่วมกันทั้งเรื่องราวในปัจจุบัน อนาคต เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
นายแพทย์สุริยเดว กล่าวว่า ผู้ใหญ่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน ดังนั้นคำขวัญวันเด็กที่มีในแต่ละปี ผู้ใหญ่จำเป็นต้องปฏิบัติให้เด็กและเยาวชนดูเสียก่อน ผู้ใหญ่ต้องเป็นต้นแบบที่ดี ไม่ใช่เป็นเพียงแค่วาทกรรม ในขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเลี้ยงดูลูกให้ล้มเหลวอย่างมีความสุขเป็น ต้องเลี้ยงให้ผิดหวังเป็น ทำอย่างไรให้เด็กล้มแล้วลุกได้ ลุกเป็น ลุกเก่ง ลุกไว
นายแพทย์สุริยเดว ยังได้ชี้ให้เห็นถึงผลการวิจัยเรื่องทุนชีวิตพลังบวกของเด็กไทยหรือ Life Asset ในการฟังเสียงของเด็กและเยาวชนที่ตนเองได้ร่วมทำกับหลากหลายหน่วยงาน โดยผลการวิจัยบ่งชี้ถึงความรู้สึกของเด็กและเยาวชนที่มีต่อพ่อแม่ โรงเรียน กระบวนการสร้างปัญญา พบว่าเข้าขั้นวิกฤต เด็กและเยาวชนขาดจิตสำนึกสาธารณะ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีวินัย ขาดความรับผิดชอบ มีปัญหาในการกำกับควบคุมตัวเอง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากผู้ใหญ่ ที่เข้าใจผิดว่าถ้าลูกหลานเรียนเก่งจะเป็นคนดี การปลูกฝังไม่สำคัญเท่ากับการเป็นแบบอย่างให้ดู
นายแพทย์สุริยเดว กล่าวต่อว่าการพัฒนาเด็กให้มีความสุขและสมดุลจะต้องพัฒนาระบบนิเวศน์ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ชุมชน สถานศึกษา สถานที่ทำงาน ไปพร้อมๆกันด้วย พร้อมกันนี้ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาเด็กไทย 10 ข้อ คือ 1.มีความรู้ในการประกอบอาชีพตั้งแต่เรียนชั้นประถมด้าน 2.มีความเป็นผู้นำ 3.มีความคิดสร้างสรรค์ 4. มีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดี 5.มีความยืดหยุ่น อึด อดทน ผิดหวังเป็น 6.รู้เท่าทัน 7.มีสติสัมปชัญญะ 8.มีทักษะในการใช้ชีวิต 9.มีภาวะผู้นำ พูดเป็น สื่อสารรู้เรื่อง 10.จัดการความขัดแย้งด้วยความสงบ
ในขณะที่ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นปิรามิดหัวคว่ำ อัตราการเกิดลดลง เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่จึงต้องมีภาระสูงขึ้นทั้งการดูแลครอบครัวและสังคม เด็กและเยาวชนจึงต้องพัฒนาตนเองและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ 1.ต้องดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ดูแลตนเองและผู้อื่นได้ 2.ต้องตั้งใจเรียน เพราะการเรียนรู้เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เด็กอยู่รอดและเท่าทัน พร้อมชี้ให้เห็นว่าผู้ที่ประสบความสำเร็จในระดับประเทศและในทั่วโลกต่างใช้ความรู้เป็นองค์ประกอบสำคัญ โดยเผยเคล็ดลับในการพัฒนาตนเองว่าต้องหมั่นอ่านหนังสือและรู้จักจดบันทึก
“อยากให้น้อง ๆ ทุกคนตั้งใจเรียนอย่างเต็มที่ ใช้เวลาอย่างมีคุณภาพ ต้องเปลี่ยนวิธีคิดว่าวุฒิการศึกษาไม่สำคัญ เพราะยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ยืนยันความรู้ความสามารถในการสมัครงาน หรือประกอบอาชีพ และอยากให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพราะเงินไม่สามารถซื้อสุขภาพได้ ที่สำคัญอยากให้หาหนังสือดี ๆ มาอ่าน ไม่ว่าจะเป็น ชีวประวัติ นวนิยาย มาช่วยเป็นแนวทางและสร้างแรงบันดาลใจ” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
ในขณะที่นายชยพงษ์ ให้ความเห็นว่า ตัวแปรสำคัญในการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ตัวแปรที่หนึ่งคือหลักสูตร และระบบการเรียนการสอนในประเทศไทย โดยต้องเปลี่ยนทั้งฮาร์ดสกิล และซอล์ทสกิล ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเด็กและเยาวชน พร้อมทั้งทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนมีสมรรถนะ ทักษะ นำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ รวมไปถึงทักษะในการแก้ปัญหา การตัดสินใจ ตัวแปรที่สองคือครูผู้สอนที่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสอน ครูบางท่านไม่มีความเชี่ยวชาญ บางท่านถนัดเฉพาะวิชาที่สอน บางท่านมีภาระงานที่ไม่ใช่งานสอนทำให้สูญเสียโอกาสในการดูแลเด็ก ดังนั้นจึงต้องคืนเวลาและยกระดับครูในการดูแลจัดการเรียนการสอน บทบาทของครูต้องเปลี่ยนจากอบรมให้ความรู้มาเป็นโค้ชที่ให้คำแนะนำได้ พร้อมทั้งฝากถึงเด็กและเยาวชนว่า โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว ดังนั้นต้องมีความพร้อมในการปรับตัวนอกจากนี้ต้องมีวินัย รับผิดชอบ จิตสำนึกสาธารณะ ความกตัญญู ไม่ลืมรากเหง้า ใช้ชีวิตอย่างมีสติ มีวิจารณญาณ ซึ่งเป็นเรื่องง่ายใกล้ ๆ ตัวที่สามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่วันนี้
ทางด้านนางสาวศิริภา ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า หากมองในเชิงนโยบาย กรุงเทพมหานครกับกระทรวงศึกษาธิการต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุด หากโรงเรียนใดไม่มีเด็กก็จำเป็นต้องยุบ เพื่อนำเงินไปพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ หรือดูแลผู้สูงอายุแทน ในขณะที่โลกมีการเปลี่ยนแปลง ไม่เพียงแต่ต้องใส่ใจเรื่องคุณภาพการศึกษาเท่านั้น แต่ยังต้องมีอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัยที่มีความพร้อม รวมไปถึงศูนย์เด็กเล็กที่ต้องอกแบบให้มีพื้นที่การเรียนรู้ การสร้างและการออกแบบต้องเน้นให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย นอกจากตัวครูแล้วผู้ปกครองยังเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างความอบอุ่นในครอบครัวเพื่อให้เด็ก ๆ ลูกหลานเติบโตอย่างมีคุณภาพ
ในขณะที่นางดรุณวรรณ กล่าวว่า การศึกษาถือเป็นการสร้างคน การออกแบบนโยบายที่ดีต้องสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก การพัฒนาเด็กต้องเริ่มจากครอบครัว เด็กใช้ชีวิตในโรงเรียนเพียงแปดชั่วโมง เวลาที่เหลือนอกนั้นคืออยู่บ้านกับครอบครัว ดังนั้นครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างคนที่ดี ผู้ปกครองต้องร่วมมือในการดูแล ปลูกฝัง ลูกหลาน ไม่ใช่ผลักภาระให้โรงเรียนหรือครูเพียงด้านเดียว เพราะ ครู สถานที่ เป็นเพียงองค์ประกอบที่สำคัญเท่านั้น พร้อมทั้งเน้นย้ำว่าผู้ใหญ่ต้องเป็นต้นแบบที่ดีให้กับเด็ก ๆ และเยาวชน นำไปพัฒนาต่อยอดให้เป็นทั้งคนเก่ง-คนดี-มีคุณธรรม เพื่อร่วมกันสร้างสังคมที่ดีงาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น