วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2566

"ปลัด มท." Kick Off อำเภอ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" รุ่นแรก แบบชี้เป้าหมาย 878 อำเภอทั่วประเทศ



"ปลัด มท." Kick Off  อำเภอ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" รุ่นแรก ชี้เป้าหมาย คือ 878 อำเภอทั่วประเทศ ย้ำเน้นสร้างผู้นำ สร้างทีม และสร้างแรงบันดาลใจ พร้อมเชิญชวนทุกภาคส่วนมาร่วมช่วยกันสร้างสังคมไทยที่ยั่งยืนไปด้วยกัน 

วันที่ 16 มกราคม 2566 เวลา 13.00 น. ณ ห้อง War Room ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน รุ่นที่ 1 และบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “ทำไมต้อง CAST” โดยมีนายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากกรมการปกครอง กรมการพัฒนาชุมชน และสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะผู้เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 1,070 คน ร่วมรับฟังการบรรยายพิเศษผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกลไปยังศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน จำนวน 11 ศูนย์ทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดลำปาง พิษณุโลก อุดรธานี อุบลราชธานี เพชรบุรี นครราชสีมา ชลบุรี นครนายก สระบุรี นครศรีธรรมราช และจังหวัดยะลา ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการต่อยอดความสำเร็จของโครงการอำเภอนำร่อง บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการสร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent Strategies Transformation: CAST) มีเป้าหมายทั้งหมด 8 รุ่น รวม 8,780 คน ซึ่งจะมีการจัดฝึกอบรมต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมีนาคม 2566



นายสุทธิพงษ์  กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณในความตั้งใจ ความเสียสละที่ทุกท่านมาเข้าร่วมหลักสูตรในวันนี้ โครงการฯ นี้ ได้นำความสำเร็จดังกล่าวมาต่อยอดโดยนำท่านนายอำเภอทุกอำเภอ พร้อมกับทีมผู้นำชุมชนที่มีใจเป็นจิตอาสา และผู้นำภาคีเครือข่ายที่สำคัญ เข้ามาร่วมการฝึกอบรมตลอด 5 วัน 4 คืน ซึ่งทั้งคณะกรรมการหมู่บ้าน และทีมอำเภอนี้ จุดแข็งที่สำคัญ คือ ทุก ๆ ท่านมี Passion อันแน่วแน่ที่จะบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชน ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการอำเภอนำร่องฯ คัดเลือกจาก 878 อำเภอ ให้เป็นตัวแทน 76 จังหวัด ต่อมาคัดเลือกเป็นตัวแทน 18 กลุ่มจังหวัด และมาคัดเลือกเข้ารอบสุดท้าย 10 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก อำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท และอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อเฟ้นหาสุดยอดอำเภอนำร่องระดับยอดเยี่ยม ผลการประเมินโครงการฯ พบว่า ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติทุกระดับมีความพึงพอใจต่อโครงการฯ เป็นอย่างมาก ในปีนี้จึงมีความตั้งใจจะขยายผลให้ทุกอำเภอทั่วประเทศ ได้ร่วมสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ร่วมกันลุกขึ้นมาปลูกกลไกแห่งความยั่งยืนไว้ในพื้นที่ทุกพื้นที่ชุมชน/หมู่บ้าน ที่ซึ่งไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในอนาคต ทั้งในแง่ตัวบุคคล ผู้นำชุมชน หรือแม้กระทั่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายอำเภอ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด กลไกดังกล่าวก็จะยังสามารถขับเคลื่อนได้จากเครือข่ายและประสบการณ์ที่ผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสรรค์สร้างสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

“นายอำเภอ คือ ผู้นำที่ได้รับอำนาจตามกฎหมาย และได้รับการยกย่องจากพี่น้องประชาชนให้เป็นผู้นำ ได้รับการฝึกฝนที่ดีในการเป็นกลไกสำคัญนำนโยบายของรัฐบาลปฏิบัติในพื้นที่ ซึ่งเป็นนิมิตหมายและโอกาสอันดีที่พวกเราจะสร้างสิ่งดี ๆ ช่วยกันทำความดี เนื่องในโอกาสวาระกระทรวงมหาดไทยจะครบ 131 ปี ในวันที่ 1 เมษายน 2566 ที่กำลังจะถึงนี้ เพื่อตอกย้ำความสำเร็จของเรา สิ่งสำคัญต้องไม่ลืมว่า กรุงโรมไม่ได้สร้างเพียงวันเดียว และไม่สามารถสร้างได้คนเดียวด้วย จะต้องอาศัยทีม ความอดทน ความมุ่งมั่น ทุ่มเท เสียสละ เพื่อให้เป้าหมายที่ตั้งไว้บรรลุมรรคผล ความสำเร็จที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ ปัจจัยสำคัญ คือ ผู้นำ ดังนั้น ผู้นำต้องทำก่อน หลักสูตรนี้จึงมุ่งเน้นสร้างทีมผู้นำให้มีความเข้มแข็ง รู้เท่าทันสถานการณ์ รับรู้ถึงวิธีการรับมือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง อีกประการสำคัญ คือ การผนึกกำลังให้เป็นปึกแผ่นแห่งพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างประสิทธิภาพ ซึ่งตลอดหลักสูตรการอบรม ผู้เข้าร่วมจะได้รับทราบถึงหลักการที่ถูกต้องเกี่ยวกับการน้อมนำเอาหลักการพัฒนาอย่างพอเพียงและยั่งยืนของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นรากฐานในการดำเนินงาน ที่ควบคู่ไปกับการอนุวัติเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ ทั้ง 17 ข้อ ที่ขณะนี้เป็นกระแสการพัฒนาและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่สำคัญที่มีการปรับใช้กันทั่วโลก เพื่อเป้าหมายการสร้างสมดุลและความยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า ทุกคนในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจสนองแนวพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ด้วยการทำงานตามหลัก “บวร บรม ครบ” การยึดพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง (Citizen Centric) ทำงานแบบรองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด หากเราช่วยกันทำทุกหมู่บ้านให้ยั่งยืน ตำบลยั่งยืนก็จะเกิดขึ้นได้ ขอเป็นหนึ่งในกำลังใจให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการทุกท่าน ขอให้มีความมั่นใจ และมุ่งมั่นที่ Change for Good ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใด ๆ จริงใจต่อกัน หันหน้ามาพูดกันนำเอาปัญหาความต้องการความฝันที่อยากจะให้เป็นอยากจะให้พัฒนามาพูดคุยกัน เพื่อต่อยอดเพิ่มพูนความเข้มแข็งให้เพิ่มขึ้น อย่าให้เวลาที่ได้เจอกันตลอด 5 วัน 4 คืนนี้เสียเปล่า ท่านวิทยากรทุกท่านมีความตั้งใจที่จะใช้ทุกวินาทีให้มีค่ามากที่สุด ขอให้ทุกท่านเปิดใจ เปิดโอกาสรับแนวความคิดใหม่ ๆ รู้จักเพื่อนใหม่ ค้นหาความคิดใหม่ ๆ ช่วยกันระดมสมอง วิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน วิธีการทำงานที่เหมาะสมแล้วนำไปต่อยอด เพราะเป้าหมายจริง ๆ อยู่ที่พื้นที่ของเรา นั่นคือ การยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ต้องช่วยกันทำนุบำรุง สถาบันชาติ สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ และพี่น้องประชาชน เราทุกคนมีภารกิจหน้าที่ต้องช่วยกันทำให้ พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สำเร็จเป็นจริง ทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้นึกถึงเป้าหมายสุดท้าย พร้อมกับ Passion มีมานะทิฐิที่อยากจะสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้น 

“นอกจากนี้ ยังมีโครงการอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น โครงการตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ช่วยสร้างอาชีพสร้างรายได้เสริม และคืนชีวิตให้งานศิลปหัตถกรรม งานฝีมือต่าง ๆ ให้เป็นที่นิยมในสายตาคนไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะต่อยอดแนวพระดำริด้วยการขับเคลื่อนสู่หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 3 รอบ 36 พรรษา ซึ่งจะคัดเลือกหมู่บ้านที่มีศักยภาพน้อยที่สุดของตำบล จำนวน 1 หมู่บ้าน มาพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ บนพื้นฐานไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงด้านจิตใจด้วย คาดว่าจะช่วยทำให้เกิดความรัก ความสามัคคีในชุมชน มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน เคารพกันและกัน เป็นสังคมที่อบอุ่นมีความสุข มีรอยยิ้ม มีความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำในช่วงท้าย

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในท้ายที่สุดความมุ่งมั่นความเอาจริงเอาจังของการขับเคลื่อนของผู้นำจะมีความสำคัญมาก เพราะถ้าผู้นำไม่มีอุดมการณ์ ไม่มีความมุ่งมั่น คนที่มาเป็นจิตอาสาเดินเข้ามาสู่ทีมจะสัมผัสได้ว่าผู้นำไม่เอาจริงไม่เอาจัง สุดท้ายเป้าหมายก็จะไม่สำเร็จ ความปรารถนาที่จะช่วยพี่น้องประชาชน ความปรารถนาที่จะสร้างตำบล/หมู่บ้านยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง ก็อาจจะเป็นเพียงแค่คำพูด “ถ้าเราอยากให้ลูกหลานเกิดมาในสภาพแวดล้อมที่ดี ในสภาพสังคมที่มีแต่คนจิตใจดี ไม่มียาเสพติด ก็ขอฝากให้ทุกท่านช่วยสร้างสรรค์ให้แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม” ช่วยกันปลุกเร้าพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้ลุกขึ้นมาร่วมกันผนึกกำลังสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ เพื่อเป้าหมายการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม “โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เพื่อประเทศชาติของเราที่ยั่งยืนในทุกมิติอย่างแท้จริง

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

พุทธรัฐปรัชญาการปกครองในรัฐแห่งอุดมคติ

(ภาพประกอบที่สร้างขึ้นสำหรับแนวคิดของพุทธรัฐ ซึ่งสะท้อนถึงอุดมคติในการปกครองตามหลักธรรมทางพุทธศาสนา  โดย AI ผ่าน ChatGPT ของ OpenAI)   การวิ...