"เจ้าคุณประสาร" เผย "ปัญญา-พายัพ ชินวัตร" เตรียมเข้ารับปริญญา"มจร" วันรัฐธรรมนูญ ปลื้มม.สงฆ์ต้นแบบสถานศึกษาลดเหลื่อมล้ำ
เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือเจ้าคุณประสาร รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา ประธานกรรมการฝ่ายเลขานุการพิธีประสาทปริญญา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้กล่าวว่า ปี พ.ศ. 2566 นี้มหาวิทยาลัยกำหนดประสาทปริญญาสำหรับบัณฑิตในทุกระดับ ซึ่งในปีนี้มีบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษากว่า 4,600 รูป/คน วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม ภาคเช้าเป็นพิธีซ้อมใหญ่สำหรับบัณฑิตระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและอภิธรรมบัณฑิต ภาคบ่ายเป็นพิธีซ้อมสำหรับผู้เข้ารับปริญญากิตติมศักดิ์ เข็มเกียรติคุณ บัณฑิตระดับปริญญาเอกและสถาบันสมทบในต่างประเทศ พิธีประสาทปริญญากำหนดในวันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคมนี้ ที่ หอประชุม มวก.48 พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา
ในภาคเช้าสมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาให้สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) เป็นประธาน พิธีจะเริ่มในเวลา 08.30 ถึง 11.30 น. ส่วนในภาคบ่ายนั้นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก เสด็จเป็นองค์ประทานปริญญาบัตร พิธีจะเริ่มเวลา 13.30 ถึง 14.30 น. สำหรับในปีนี้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยที่สำเร็จการศึกษานั้นมีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ก็เพราะมหาวิทยาลัยมี วิทยาเขตที่เปิดการเรียนการสอนตามภูมิภาคถึง 11 แห่ง วิทยาลัยสงฆ์ 28 แห่ง หน่วยวิทยบริการ 4 แห่ง สถาบันสมทบในต่างประเทศ 5 แห่ง โดยมหาวิทยาลัยมุ่งจัดการศึกษาที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การศึกษาที่เท่าเทียมของคนในประเทศและการศึกษาที่สร้างความสามัคคีและสันติสุขของผู้คนในชาติโดยอาศัยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาที่มารับปริญญาบัตรนั้นจึงมีทั้งจากชนเผ่าในพื้นที่สูง สามจังหวัดชายแดนใต้ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ดารา นักร้องนักแสดง ศิลปินหลากหลายอาชีพ พระหนุ่มเณรน้อยรวมไปถึงพระเถระระดับรองสมเด็จพระราชาคณะ
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ในแผนพัฒนามหาวิทยาลัยระยะที่ 13 (2565-2570) ไว้ว่่า “มหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ และสร้างพุทธนวัตกรรมเพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม“ โดยเน้นจัดการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ เพื่อสร้างพุทธนวัตกรรมเพื่อนำไปพัฒนาจิตใจตนเองและนำความรู้ที่ได้จากศึกษาเล่าเรียนไปพัฒนาสังคม ประเทศชาติบ้านเมือง ดังนั้นผู้สำเร็จการศึกษากว่า 70 เปอร์เซ็นต์จึงเป็นพระภิกษุ สามเณร ทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน
พระราชวัชรสารบัณฑิต กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีนิสิตจากต่างประเทศมาศึกษากว่า 28 ประเทศทั่วโลก พิธีประสาทปริญญาในแต่ละปีการศึกษาจึงมีทั้งชาวไทย ชาวต่างประเทศมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก และในปีนี้สภามหาวิทยาลัยมีมติอนุมัติปริญญากิตติมศักดิ์ ถวายพระเถระและมอบคฤหัสถ์ที่บำเพ็ญประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา ประเทศชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเอนกประการ อาทิ พระพรหมวชิรมงคล วัดราชาธิวาส พระพรหมมุนี วัดพระศรีมหาธาตุ พระธรรมวชิรดิลก วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร พระเทพปัญญาภรณ์ วัดตากฟ้า นครสวรรค์ ฝ่ายคฤหสถ์ เช่น นายอัศวิน เตชะเจริญกุล นายปัญญา นิรันดร์กุล นายพายัพ ชินวัตร นายพันธ์รบ กำลา นายอนุรุธ ว่องวานิช เป็นต้น ส่วนต่างประเทศนั้นมีทั้งพระเถระและคฤหัสถ์จากประเทศต่างๆ ประกอบด้วย Most Ven. Bhaddanta Chandimabhivamsa รักษาการมหานายกาประเทศเมียนมาร์ Most Ven. Sayadaw Kumara Thera อธิการบดีบาลีปริยัติมหาวิทยาลัย เมียนมาร์ Most Ven. Master Jing Yao ประธานพุทธะสมาคมแห่งสาธารณรัฐจีน Mr. Alounxai Sounnalath รมต.ประจำสำนักนายกฯ สปป.ลาว H.E. Ms. Dr. Viphavanh PHOMVIHANE รองประธานกองทุนช่วยเหลือสังคมแห่งชาติ สปป.ลาว นอกจากนั้นยังมีจาก ศรีลังกา อเมริกา ยุโรป เป็นต้น
และเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้ทำความสะอาดครั้งใหญ่ (Big cleaning day) โดยทำความสะอาดภายในบริเวณมหาวิทยาลัย ฉีดน้ำยาพ่นทั่วบริเวณเพื่อป้องกันไวรัสโควิดและเพื่อแสดงถึงความพร้อมในทุกๆ ด้านสำหรับพิธีประสาทปริญญา และในวันงานทั้ง 9-10 ธันวาคม นั้น ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่และบัณฑิต ทุกระดับได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิดอย่างเคร่งครัด นอกจากนั้นตลอดงานยังมีการจัดซุ้มนิทรรศการของทุกคณะที่สำเร็จการศึกษา ทุกวิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์และหน่วยวิทยบริการ พร้อมทั้งญาติโยมผู้มีกุศลศรัทธาออกโรงทานอาหาร เครื่องดื่ม น้ำปานะอีกมากมาย ผู้คนทุกเพศทุกวัยก็สามารถไปร่วมงานได้ นี่คือมหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาและมหาวิทยาลัยของชาวบ้านทุกชนชั้นอย่างแท้จริง พระราชวัชรสารบัณฑิต กล่าวในตอนท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น