วันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2566

อาลัย "หลวงปู่ธัมมา พิทักษา" พระนักสู้อดีตเจ้าอาวาสวัดใหม่ยายมอญบางกอกน้อยมรณภาพ


เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2566  พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษาระดับปริญญาโท  บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า ทราบข่าวจากอาจารย์พระครูสุตกัลยาณคุณ  เจ้าอาวาสวัดวังไฮ รองเจ้าคณะอำเภอเมือง  จังหวัดศรีสะเกษ ในการมรณภาพของพระครูวิบูลธรรมภาณ หรือ หลวงปู่ธัมมา พิทักษา ในฐานะครูบาอาจารย์ที่ให้โอกาสศึกษาทางโลกและทางธรรมตั้งแต่ปี 2542  ซึ่งหลวงปู่เคยเป็นเจ้าอาวาสวัดใหม่ยายมอญ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร สร้างวัดพัฒนาพระเณรส่งเสริมการศึกษาอันเป็นที่ประจักษ์อย่างยิ่ง เป็นพระสงฆ์ผู้บุกเบิกสร้างวัดใหม่ยายมอญเป็นความหวังเป็นโอกาสให้พระหนุ่มเณรน้อยเข้ามาศึกษา เป็นพระมหาเถระผู้เบิกทางชีวิตให้เด็กบ้านนอกส่งเสริมการศึกษาอย่างแท้จริง   

ส่วนตัวปฏิเสธไม่ได้เลยว่า "ถ้าไม่มีหลวงปู่คงไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาทางธรรมและทางโลก" รวมถึงครูบาอาจารย์หลายรูปล้วนเป็นศิษย์ของหลวงปู่ธัมมา พิทักษา อาศัยร่มเงาร่มธรรมของหลวงปู่ธัมมา พิทักษา ศิษย์วัดใหม่ยายมอญจะทราบดีว่าหลวงปู่เป็นอย่างไร ทำอะไร ในส่วนลึกแล้วมีแต่ความเมตตามีแต่ความหวังดีปรารถนาดีต่อศิษย์ทุกรูปท่าน ซึ่งหลวงปู่สอนไม่ให้เผลอสติดำรงตนแห่งความเป็นพระสงฆ์ "สวดมนต์ได้ จรณะงดงาม  ศึกษาเล่าเรียน ให้วัดได้พึ่งพาได้ และสำนึกรักบ้านเกิด" 

ทำให้หลวงปู่ธัมมา พิทักษา กลับมาพัฒนาบ้านเกิดเป็นต้นแบบ เพราะเห็นความลำบากในชุมชน โดยสร้างพระธาตุเรืองรอง ซึ่งมีความงดงามเป็นสถานที่พึ่งทางใจของคนอีสานใต้ สร้างชุมชนสันติสุข ช่วยเหลือชุมชนตามสังคหวัตถุธรรม จากชุมชนที่ยากจนยกระดับเศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น เพราะสร้างเป็นวัฒนธรรมชุมชนแห่งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมผ่าน "สถาปนึก" นึกอะไรได้ก็ทำ ทำจนเป็นฐานของชุมชนผ่านมิติกายภาพสัปปายะ  นำไปสู่พฤติภาพอยู่ร่วมกัน พัฒนาจิตตภาพรวมพลัง และก่อเกิดปัญญาภาพในชุมชนอยู่รอด โดยสิ่งที่หลวงปู่ธัมมา พิทักษา ลงมือทำเป็นความคิดสร้างสรรค์มีธรรมะข้อคิดซ่อนอยู่ เป็นปริศนาธรรมของการพัฒนาชีวิต

โดยส่วนตัวสมัยเป็นสามเณรวัดใหม่ยายมอญ ตั้งแต่ปี 2542  ย้ำเตือนตนเองเสมอว่า   

#ถึงฉันหิวฉันเหงาฉันหนาวเหน็บ 

#ถึงฉันเจ็บฉันทุกฉันถูกหยาบ 

#ฉันจะยืนเย้ยฟ้าสง่างาม 

#เชิดชูนามสกุลฉันพันธพัฒน์ 

#ถึงฉันหิวฉันเหงาฉันหนาวเหน็บ 

#ฉันขอสู้อยู่กรุงเทพแม้เจ็บหล้า 

#ในเมื่อฉันดั้นด้นดิ้นรนมา 

#ฉันจะเอาปริญญากลับนาดอน   

ถึงวันนี้ทำสำเร็จแล้วเพราะหลวงปู่ถือว่าเป็นบุคคลที่ให้โอกาส ให้ความหวัง ให้พลังทางการศึกษาเล่าเรียน ถือว่าเป็นบทกลอนที่ย้ำเตือนว่าต้องสู้จนกว่าจะประสบความสำเร็จ ซึ่งชีวิตลำบากไม่พอ เรายังโดนดูถูกเหยียบหยามจากผู้คน คำกลอนนี้ทำให้เรามีแรงผลักดันเดินต่อไป คำกลอนนี้ผ่านมาหลายสิบปียังจดจำได้ขึ้นใจเสมอ   ในวาระที่หลวงปู่ธัมมา พิทักษา มรณภาพ จากลูกหลานไปแบบไม่มีวันกลับตามวาระ แต่ยังคงผลงานที่เป็นอนุสาวรีย์ทั้งด้านกายภาพ  ด้านพฤติภาพ  ด้านจิตตภาพ และด้านปัญญาภาพ เป็นต้นแบบของนักต่อสู้ทั้งภายในคือกิเลส และต่อสู้ภายนอก ในการสร้างวัดเพื่อเป็นสถานที่ให้โอกาสพระเณรจากบ้านนอกเข้ามาศึกษาเล่าเรียน หลวงปู่ยังคงอยู่ในใจเสมอตลอดไปและน้อมบุญถวายหลวงปู่ พระมหาเถระผู้มีพระคุณอย่างยิ่ง    


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ธรรมะกับประชาธิปไตยไยห่วงใยสถาบันศาสนา

การวิเคราะห์ประชาธิปไตยในปริบทพุทธสันติวิธีชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการนำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้ในระบอบประชาธิปไตย เพื่อลดความขัดแย้ง สร้างควา...