วันอังคารที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2566

หมูยังฮอต สนค. แนะเร่งยกระดับหมูไทย สร้างความเชื่อมั่น แสวงหาตลาดต่างประเทศ



ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ความต้องการสินค้าสุกรและผลิตภัณฑ์ในตลาดโลกเติบโตอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากมูลค่าการนำเข้าของโลกที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยย้อนหลัง 4 ปี ระหว่างปี 2562 – 2565 ขยายตัวร้อยละ 6.2 ต่อปี โดยล่าสุด ปี 2565 ทั่วโลกมีมูลค่าการนำเข้ารวมราว 2.8 ล้านล้านบาท ถือเป็นโอกาสของไทยหากสามารถยกระดับคุณภาพและสร้างมาตรฐานสินค้าอาหารปลอดภัย เพื่อเจาะตลาดส่งออกใหม่ และตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ติดตามสถานการณ์การค้าสินค้าสุกรและผลิตภัณฑ์ของไทย ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562 – 2565) พบว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าสุกรและผลิตภัณฑ์ของโลก ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 6.2 ต่อปี มีประเทศผู้นำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เม็กซิโก และเยอรมนี แม้ว่าความต้องการบริโภคสินค้าสุกรทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ประเทศผู้ผลิตในหลายพื้นที่ยังเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน อาทิ ด้านมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้า ซึ่งที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) เป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศต่างๆ พยายามหาวิธีควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้ ด้านมาตรการส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากการทำปศุสัตว์เป็นสาเหตุสำคัญก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก 



ดังนั้น มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมจึงมีบทบาทสำคัญในการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะมหาอำนาจทางการค้าอย่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ที่มีการกำหนดมาตรการทางการค้าเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน 


ไทยไม่ใช่ประเทศผู้ส่งออกสินค้าสุกรและผลิตภัณฑ์หลักของโลก ในปี 2565 ไทยส่งออกสินค้าสุกรและผลิตภัณฑ์เป็นมูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาท (เป็นปริมาณสุกรและผลิตภัณฑ์ ราว 54,000 ตัน และสุกรมีชีวิตราว 120,000 ตัว) และมีสัดส่วนการส่งออกเพียงร้อยละ 0.17 ของมูลค่าการส่งออกทั่วโลก โดยสินค้าที่ไทยส่งออกแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ (1) สินค้าสุกรและผลิตภัณฑ์  ร้อยละ 98.32 โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ คือ ญี่ปุ่น (ร้อยละ 31.7) จีน (ร้อยละ 26.3) กัมพูชา (ร้อยละ 23.7) ฮ่องกง (ร้อยละ 5.9) และเมียนมา (ร้อยละ 5.3) ตามลำดับ และ (2) สุกรมีชีวิต ร้อยละ 1.68 โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ คือ เมียนมา (ร้อยละ 61.5) ลาว (ร้อยละ 32.2) และกัมพูชา (ร้อยละ 6.2) ตามลำดับ ขณะที่ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม – พฤศจิกายน) ไทยส่งออกสุกรมีชีวิตและสินค้าสุกรและผลิตภัณฑ์มีมูลค่ารวมราว 6,400 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 14  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 



นายพูนพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันความต้องการของตลาดโลกเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสในการขยายการส่งออกของไทย ดังนั้น ต้องเร่งยกระดับสินค้าสุกรและผลิตภัณฑ์ของไทยให้ครองใจตลาดโลก โดยมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตและการค้าตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อาทิ (1) การให้ความรู้ด้านการผลิตที่มีมาตรฐานความปลอดภัยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่น มาตรฐาน GAP มาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ (อาทิ Organic Thailand, IFOAM, EU, USDA, และ JAS) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะมีส่วนช่วยในการควบคุมการแพร่ระบาดในสุกรได้ (2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีนวัตกรรมที่จำเป็น เช่น การทำปศุสัตว์แบบกรีนฟาร์ม โดยนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้ ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า ลดกลิ่น และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การส่งเสริมให้นำระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) มาใช้ (เช่น ระบบ RFID รหัสคิวอาร์ เทคโนโลยี IoT หรือบล็อกเชน) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ และป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย 



(3) หารือแนวทางการบริหารจัดการต้นทุนร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นต่างๆ อาทิ ราคาต้นทุนอาหารสัตว์ ฯลฯ (4) การส่งเสริมให้ผู้ผลิตจัดทำแผนการจัดการมูลสัตว์ (Manure Management Plan) เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสามารถนำมูลสุกรมาแปรรูปเป็นปุ๋ย ช่วยเสริมรายได้จากการจำหน่ายปุ๋ยมูลสุกรได้อีกทางหนึ่ง (5) การผลักดันการเปิดตลาดสินค้าสุกร ซึ่งล่าสุด ในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก (APEC 2023) เมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการหารือกับนายหวัง โช่วเหวิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน ขอให้จีนเร่งกระบวนการพิจารณาเปิดตลาดสินค้าปศุสัตว์ให้กับไทย


 และ (6) การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แนวโน้มทิศทางการค้าในโลกยุคใหม่ เช่น ประชาคมโลกให้ความสำคัญมากขึ้นกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร ซึ่งการทำปศุสัตว์มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ เช่น ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้น ต้องให้ข้อมูลความรู้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ     เพื่อสามารถปรับปรุงการดำเนินการให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของโลกที่มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์

  วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23: พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พระไตรปิฎกเล...