เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือเจ้าคุณประสาร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร ประธานกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์พิธีสมโภชพระอาราม ได้กล่าวว่า พระพรหมวชิราธิบดี อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ ประธานจัดงานพร้อมด้วยพระธรรมวชิรมุนี วิ.พระธรรมโพธิวงศ์ พระราชวชิราธิบดี พระราชสุรวาที พระเมธีวรญาณ พระสิทธินิติธาดา พระสรภาณกวี พร้อมด้วยคณะสงฆ์ วัดสาขาในต่างประเทศ ศิษย์เก่าวัดมหาธาตุ พุทธศาสนิกชน คุณฐนิวรรณ กุลมงคล ประธานจัดงานฝ่ายคฤหัสถ์ คุณมนัส พวงลำเจียก คุณไพรัช เปี่ยมคุ้ม พร้อมด้วยคณะกรรมการจัดงานได้กำหนดสมโภชพระอารามขึ้นในระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2567 นี้
พระราชวัชรสารบัณฑิต กล่าวว่า พระพรหมวชิราธิบดี ได้ปรารภว่า วัดมหาธาตุเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ เป็นวัดที่มีความสำคัญในยุครัตนโกสินทร์ เป็นศูนย์กลางการปกครองคณะสงฆ์ การศึกษา การวิปัสสนาธุระ อภิธรรมโชติกะ และการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในหลายยุคหลายสมัย นอกจากนั้นแล้วภายในพระอารามแห่งนี้ยังมีสิ่งดีๆในหลายสิ่งหลายอย่างที่ยังไม่ได้เปิดโอกาสให้คนภายนอกได้เข้าเยี่ยมชมและบูชาสักการะอย่างเต็มรูปแบบ เช่นพระอุโบสถขนาดใหญ่ที่มีหลวงพ่อพระศรีสรรเพ็ชรประดิษฐานเป็นองค์ประธานซึ่งมีความสวยงามโดดเด่นตระการตา พระวิหารที่มีพระพุทธรูปเก่าแก่ ศักดิ์สิทธิ์และสมบัติโบราณที่ทรงคุณค่ามากมาย พระบรมสารีริกธาตุบรรจุในพระมณฑป พระตำหนักสมเด็จพระสังฆราช ศาลาการเปรียญสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎกในสมัยรัชกาลที่ 1 คณะสลักเก่าแก่ในยุคต้น (4 คณะ)อันมีประวัติเกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ชาติไทย หมู่กุฎิสงฆ์ 24 คณะใหญ่เรียงรายเป็นระเบียบสวยงามพระสงฆ์จำพรรษาได้มากกว่า 500 รูป (ปัจจุบันมีพระสงฆ์ในพระอาราม 151 รูป) โพธิลังกา สถานที่ประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย อนุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (บุญมา) มหาธาตุวิทยาลัยซึ่งเป็นการศึกษาสงฆ์ที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยยุคปฐม236 ปี เป็นต้น นอกจากนั้นแล้ววัดยังตั้งอยู่ศูนย์กลางกรุงเทพมหานครที่มีนักท่องเที่ยวและผู้ที่ศรัทธานับถือในพระศาสนาทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเดินผ่านไป ผ่านมาในแต่ละวันมากมาย ด้วยเหตุดังกล่าวอธิบดีสงฆ์จึงกำหนดให้มีพิธีสมโภชพระอาราม 338 ขึ้นโดยนับอายุจากศิลาจารึกของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่เป็นบันทึกประวัติเป็นต้นมา พิธีใหญ่ในครั้งนี้นั้นจะเป็นการสมโภชพระอารามเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของวัด กิจกรรมต่างๆประกอบด้วย การบำเพ็ญกุศลให้กับบูรพาจารย์ งานวิชาการ การปฎิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน การบอกเล่าทางประวัติศาสตร์ การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ เปิดดีเปิดวัดมหาธาตุ เป็นต้น และนอกจากนั้นแล้วยังเป็นการบอกกล่าวให้ทราบโดยทั่วกันว่า บัดนี้จากนี้เป็นต้นไปวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤฎิ์ ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษนี้ได้เปิดประตูให้กว้างใหญ่ไพศาลขึ้นเพื่อต้อนรับทุกท่าน ทุกคนจึงขอเชิญชวนทุกท่านมากราบมาบูชาสักการะ มาชมของเก่า ของโบราณล้ำค่าไม่มีที่ใหนในโลกและมาท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมรวมทั้งมาศึกษาพระพุทธศาสนาและมาปฎิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานอันมีประวัติแห่งการสืบทอดสายพอง-ยุบตามแบบมหาสติปัฏฐานสูตรมายาวนาน
ในการสมโภชพระอารามในครั้งนี้ในส่วนของการปฎิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน การศึกษาพระพุทธศาสนาในหลากหลายมิติพระธรรมวชิรมุนี วิ.พระอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระ และคณะพระวิปัสสนาจารย์รับผิดชอบ พิธีการในทางพระพุทธศาสนา วัฒนธรรมและประเพณีต่างๆนั้น พระราชวชิราธิบดี และคณะเป็นผู้รับผิดชอบดูแล ส่วนพิธีการแสดง บอกเล่าประวัติศาสตร์ สารคดีและอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องกับพิธีสมโภชนั้นคุณฐนิวรรณ กุลมงคล ประธานฝ่ายคฤหัสถ์และคณะเป็นผู้รับผิดชอบ วัดมหาธาตุ ต้องขออนุโมทนาขอบคุณรัฐบาล คณะรัฐมนตรี กระทรวงต่างๆและส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ รวมทั้งภาคเอกชน บริษัท ห้างร้าน ผู้ใจบุญทุกท่านที่ให้การสนับสนุน ส่งเสริม อาทิ ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คุณศุภวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา คุณเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. คุณฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่า ททท. คุณชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา คุณอินทพร จั่นเอี่ยม รก.ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตำรวจนครบาล ตำรวจท่องเที่ยว สน.ชนะสงคราม รวมทั้งส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้องทุกท่าน ทุกภาคส่วนงาน
"งานสมโภชพระอาราม เปิดถนนสายวัฒนธรรมของพระอารามชั้นเอกพิเศษนี้ (The cultural road of a special first class monastery.)นี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ของวัดในยุคพระพรหมวชิราธิบดี และยังเป็นนัยแห่งการเปิดประตูวัดให้กว้างขึ้นอย่างมีแบบ มีแผน มีความมั่นคงและยืนยาวเพื่อการศึกษา การปฎิบัติกัมมัฏฐาน การเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิถีแห่งศรัทธาของผู้คนและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอีกด้วย" พระราชวัชรสารบัณฑิต กล่าวในตอนท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น