วันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2566

วธ.เตรียมจับมือสหพันธ์สมาคมศิลปินพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ขึ้นทะเบียนศิลปินพื้นบ้านทั่วประเทศ



ชี้มีข้อมูลกลางสนับสนุนช่วยเหลือได้ทั่วถึง หนุนจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือศิลปินพื้นบ้าน สร้างงานสร้างรายได้ เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของไทยไปทั่วโลก  

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2566    นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ผู้แทนสหพันธ์สมาคมศิลปินพื้นบ้านแห่งประเทศไทยเข้าพบเพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือการดำเนินกิจกรรมทางวัฒนธรรมและแนวทางการส่งเสริมศิลปินพื้นบ้านสาขาต่างๆ  ซึ่งผู้แทนสหพันธ์สมาคมศิลปินพื้นบ้านแห่งประเทศไทยเสนอให้กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)ดำเนินการขึ้นทะเบียนศิลปินพื้นบ้านสาขาต่างๆทั่วประเทศเพื่อวธ.จะได้มีข้อมูลกลางเกี่ยวกับศิลปินแต่ละคนและจำนวนศิลปินพื้นบ้านทั้งหมดอย่างชัดเจนสามารถให้การสนับสนุนและช่วยเหลือศิลปินพื้นบ้านได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง เช่น กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รวมทั้งจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือศิลปินพื้นบ้าน นอกจากนี้ เสนอให้วธ.สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ศิลปินพื้นบ้านและการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการแสดงพื้นบ้านให้แก่เด็ก เยาวชนคนรุ่นใหม่ทั้งนักเรียนในโรงเรียนและเด็กทั่วไป โดยขอให้วธ.ประสานกับกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ส่งเสริมให้การแสดงพื้นบ้านเป็นหนึ่งในรายวิชาเลือกเสรีของหลักสูตรสถานศึกษาสังกัดศธ. รวมทั้งการจัดกิจกรรมสอนการแสดงพื้นบ้านช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมการแสดงพื้นบ้านของไทย 

ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า วธ.จะร่วมมือกับสหพันธ์สมาคมศิลปินพื้นบ้านแห่งประเทศไทยประกอบด้วยสมาคมกลองและศิลปะการแสดงล้านนา สมาคมลิเกแห่งประเทศไทย สหพันธ์สมาคมโนราแห่งประเทศไทย สมาคมหนังตะลุงแห่งประเทศไทย สมาคมเพลงพื้นบ้านอีสานใต้ สมาคมเพลงพื้นบ้านภาคกลางประเทศไทย สมาคมศิลปินขับซอล้านนา สมาคมหมอลำอีสานและสมาคมอุปรากรจีนดำเนินการขึ้นทะเบียนศิลปินพื้นบ้านสาขาต่างๆทั่วประเทศ  และขณะนี้วธ.กำลังจัดทำร่างแก้ไขพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือศิลปินพื้นบ้านด้วย อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการบริหารจัดการกองทุนและการมีส่วนร่วมของศิลปินพื้นบ้าน เมื่อจัดทำร่างแก้ไขพระราชบัญญัตินี้เสร็จแล้ว จะเชิญผู้แทนสหพันธ์สมาคมศิลปินพื้นบ้านแห่งประเทศไทยมาให้ข้อคิดเห็นและเสนอไปยังหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ วธ.พร้อมให้ใช้สถานที่ของวธ.โดยยกเว้นค่าใช้จ่ายเพื่อจัดกิจกรรมการแสดงพื้นบ้านในการหารายได้จัดตั้งกองทุนต่างๆเกี่ยวกับศิลปินพื้นบ้าน

นางยุพา กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันวธ.จะหารือกับผู้บริหารศธ.ในเรื่องการส่งเสริมให้การแสดงพื้นบ้านเป็นหนึ่งในรายวิชาเลือกเสรีของหลักสูตรการศึกษาของสถานศึกษาสังกัดศธ. รวมทั้งการจัดกิจกรรมสอนการแสดงพื้นบ้านในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ให้แก่เด็กและเยาวชนทั่วไปเพื่อให้ศิลปินพื้นบ้านได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการแสดงพื้นบ้านให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่  นอกจากนี้ วธ.จะทำหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด กระทรวงต่างๆและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ขอความร่วมมือกรณีที่มีงานหรือกิจกรรมการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม ขอให้ประสานไปยังสมาคมศิลปินพื้นบ้าน 9  สมาคมเพื่อให้เกิดการจ้างงาน ช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ศิลปินพื้นบ้าน  อีกทั้งวธ.จะสนับสนุนให้ศิลปินพื้นบ้านได้ไปร่วมกิจกรรมการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม ในต่างประเทศให้มากขึ้นเพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วโลก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์

  วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23: พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พระไตรปิฎกเล...