ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่การสร้างความมั่นคงทางอาหารภายใต้โครงการ "บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง" พร้อมเชิญชวนร่วมขับเคลื่อนกิจกรรม World Soil Day ภายใต้แนวคิด ดินดี น้ำดี ชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2566 นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน โดยตนพร้อมด้วยนางสงวน จันทร์พร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครพนม นายสมลักษณ์ ยกน้อยวงษ์ ปลัดจังหวัดนครพนม หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ ร่วมเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” เพื่อสร้างต้นแบบการขยายความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในการยกระดับพัฒนาพื้นที่ 1 อำเภอ 1 โครงการสำคัญ (Flagship Project) ณ ศูนย์การเรียนรู้การปลูกผักสวนครัวอำเภอศรีสงคราม เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ณ ที่ว่าการอำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ภูมิศักดิ์ ขำปู่ นายอำเภอศรีสงคราม นายพิทักษ์ศิลป์ แก้วอุ่นเรือน พัฒนาการอำเภอศรีสงคราม นางสาวขนิจฐา ชัยบิล นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ พร้อมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ร่วมอำนวยความสะดวก เป็นผู้ให้ข้อมูลและร่วมต้อนรับคณะในครั้งนี้
นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า อำเภอศรีสงครามโดยนายอำเภอศรีสงครามได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ เครือข่ายกลุ่มองค์กร จากพื้นที่ 9 ตำบลของอำเภอศรีสงคราม บูรณาการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างการรับรู้ พัฒนาคนเพื่อให้คนไปพัฒนาพื้นที่ ต่อยอดสู่การจัดการทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า รวมไปถึงปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์และปกป้องดิน น้ำ ป่า สอดคล้องกับกิจกรรมวันดินโลกประจำปี 2566 ของกระทรวงมหาดไทย ภายใต้แนวคิด ดินดี น้ำดี ชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน (Sustainable soil and water for better life) สร้างความสามัคคีของคนในชุมชน ให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ สู่การรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนน้อมนำต้นแบบการสร้างความมั่นคงทางอาหารตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้โครงการ "บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง" และ โครงการ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ดำเนินการปลูกผักสวนครัวและพืชสมุนไพร สู่ธนาคารพันธุกรรมพืช พร้อมนำแนวคิด Change for Good มาใช้ โดยได้ร่วมกันปรับบริเวณพื้นที่รกร้างว่างเปล่าของที่ว่าการอำเภอศรีสงคราม สู่การสร้างแปลงผักสวนครัวต้นแบบของการสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน โดยในพื้นที่แปลงดังกล่าว มีการปลูกผักสวนครัว จำนวน 9 จุด อีกทั้งยังเป็นการปรับภูมิทัศน์ และพัฒนาสภาพพื้นที่ของที่ว่าการอำเภอศรีสงครามให้มีความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย และพัฒนาสถานที่ราชการให้มีความเหมาะสมพร้อมที่จะต้อนรับและให้บริการพี่น้องประชาชน
“นอกจากนี้ อำเภอศรีสงคราม และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ต่างพร้อมใจกันมุ่งมั่นขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อ โดยเริ่มจาก “ผู้นำต้องทำก่อน” ปลูกผักภายในบ้านพักนายอำเภอ ขยายผลสู่การใช้พื้นที่ว่างสร้างคลังอาหาร ในบริเวณที่ว่าการอำเภอศรีสงคราม ประกอบด้วยการปลูกผักสวนครัว และพืชสมุนไพร เพื่อเป็นต้นแบบในการขยายผลการใช้พื้นที่ว่างเปล่าสาธารณะให้เกิดประโยชน์ในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งจะก่อให้เกิดการแบ่งปันตามหลักบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง ทำให้พี่น้องประชาชน พอกิน พออยู่ พอใช้ และพอร่มเย็น มีผลผลิตเหลือก็นำไปแปรรูป เก็บไว้ใช้ ขาย แบ่งปัน และสร้างเครือข่าย อันจะนำมาซึ่งการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับครอบครัว และชุมชน เกิดการลดรายจ่าย สร้างรายได้ระยะสั้น ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับกลุ่มอาชีพ ซึ่งช่วยให้รอดพ้นวิกฤตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) และสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิด สู่การบรรลุเป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ ส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ” นายวันชัยฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดนครพนมให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรม “น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่ปฏิบัติการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” ส่งเสริมกิจกรรมพื้นที่ว่าง สร้างอาหาร สานพลังความต่อเนื่องในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและยา โดยรณรงค์ให้ทุกครัวเรือนสร้างคลังอาหารและคลังยา มีพืชพันธุ์อย่างน้อย 10 ชนิด ปลูกพืช สมุนไพร ทำให้ทุกหมู่บ้าน เป็นศูนย์แบ่งปันเมล็ดพันธุ์และต้นกล้า รวมถึงส่งเสริมให้ครัวเรือนเลี้ยงปศุสัตว์ และสัตว์น้ำอีกด้วย นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่มีการขับเคลื่อนควบคู่ไปด้วย คือ การส่งเสริมให้มีการคัดแยกขยะ จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ในการสร้างทักษะวิถีชีวิตใหม่ เยาวชนไทยสร้าง Soft Power 1 ครัวเรือน 1 Soft Power เกิดชุมชนท้องถิ่นจัดการและพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่สำคัญภาครัฐจะต้องเป็นตัวกระตุ้นทำให้ชุมชนเกิดการรวมกลุ่มและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ต่อยอดองค์ความรู้สู่การพัฒนาที่ไม่สิ้นสุด ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนเกิดความรักความสามัคคีในพื้นที่อีกด้วย
"ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมวันดินโลกของกระทรวงมหาดไทย ภายใต้แนวคิด ดินดี น้ำดี ชีวีมีสุข อย่างยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การจัดการทรัพยากรดินและน้ำอย่างรู้คุณค่า เพื่อส่งต่อความยั่งยืนและความอุดมสมบูรณ์ของโลกเราไปยังลูกหลานของเราต่อไป เพียงเริ่มต้นด้วยการสร้างความมั่นคงทางอาหาร การจัดการขยะ ไม่ทิ้งสิ่งปฏิกูลหรือขยะที่มีกลิ่นเหม็นลงไปในแหล่งน้ำสาธารณะ รวมถึงการลดใช้สารเคมี ที่ส่งผลกระทบต่อจุลินทรีย์ และสิ่งมีชีวิตในดินที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศของเรา" นายวันชัยฯ กล่าวทิ้งท้าย
#WorldSoilDay #วันดินโลก
#UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI
#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข
#SoilandWaterasourceoflife
#SustainableSoilandWaterforbetterlife
#ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน
#SDGsforAll #ChangeforGood
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น