วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2566

"อดุลย์ ขันทอง" ผู้พิพากษาศาลฏีกา บรรยายในการอบรมหลักสูตรไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท "มจร" รุ่นที่ 12



เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566 นายอดุลย์ ขันทอง ผู้พิพากษาศาลฏีกา  บรรยายในหลักสูตรไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท มจร รุ่นที่ 12  ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร)  โดยสะท้อนว่าปัจจุบันศาลจะเป็นที่พึ่งแรกของประชาชนไม่ใช่ที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน ปัจจุบันคดีเข้าสู่ศาลจำนวน 2 ล้านคดี  ซึ่งผู้พิพากษาจำนวนไม่ได้น้อยเพียง สี่พันกว่าท่าน แต่ผู้ไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องมากกว่า 5 พันกว่าคน จึงควรพัฒนากระบวนการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง ปัจจุบันศาลจึงมีการปรับตัวเป็นที่พึ่งแรกของประชาชน 

โดยศาลตัดสินมีคำว่าแพ้กับชนะเท่านั้น ซึ่งศาลไม่เคยตัดสินให้เสมอ ทำให้กระบวนการไกล่เกลี่ยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะชนะไปด้วยกัน มีความพึงพอใจกันสองฝ่าย โดยท่านผู้พิพากษาชื่นชมในการพัฒนาผู้ไกล่เกลี่ยต้นแบบโดยพุทธสันติวิธี  มีความเข้มข้นที่สุดบูรณาการทั้งพุทธสันติวิธีและศาสตร์สมัยใหม่ โดยยืนยันว่าพระสงฆ์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้เป็นอย่างดี  ทำให้ปัจจุบันมีหลักสูตรระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ดีกว่าทางตะวันตกเพราะตะวันตกใช้การไกล่เกลี่ยแบบประเมินผล (Evaluation) ชี้จุดอ่อนจุดแข็ง เสนอทางออก) แต่ในทางพุทธสันติวิธีมุ่งไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแบบสนับสนุน (Facitation)  โดยสถาบันระงับข้อพิพาทมุ่งเน้นบทบาทผู้ไกล่เกลี่ยแบบสนับสนุน มีวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอย่างเป็นระบบ ซึ่ง มจร เป็นต้นแบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแบบบูรณาการทั้งตะวันตกและแนวทางพุทธสันติวิธี ถือว่าเป็นคลังความรู้และนวัตกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในยุคปัจจุบัน  

"ประธานศาลฎีกา" เปิดโครงการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องยื่นเรื่องศาลชั้นต้นทั่วประเทศไม่มีค่าใช้จ่าย 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ที่ห้องประชุม Ballroom ชั้น 5 โรงแรมเอส 31 สุขุมวิท นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการส่งเสริมและพัฒนาระบบ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กิจกรรมที่ 4 การประชุมเชิงปฏิบัติการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง "ที่พึ่งแรกของประชาชน" มีหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรมและหน่วยงานภายนอกเข้าร่วมงานกว่า 200 คน

นางอโนชา ประธานศาลฎีกา กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย กอปรกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของCOVID-19ที่เข้ามาซ้ำเติม ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ การจ้างงานและวิถีชีวิตของประชาชน ในวงกว้าง ทำให้ผู้ประกอบการต้องหยุดดำเนินกิจการ หยุดค้าขายและเลิกจ้างงาน ประชาชนต้องประสบกับปัญหาการขาดรายได้หรือมีรายได้ลดลงอย่างไม่ทันตั้งตัว จึงต้องกู้ยืมเงินเพื่อนำมาใช้ในการดำรงชีพหรือประกอบอาชีพ ทำให้มีภาระหนี้สินเพิ่มสูงขึ้น และมีปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินจากการชำระหนี้ เป็นวิกฤตหนี้สินภาคประชาชน ก่อให้เกิด ข้อพิพาททางแพ่ง ข้อพิพาทแรงงาน และข้อพิพาททางอาญาตามมา ศาลยุติธรรมจึงส่งเสริมให้คู่กรณีและประชาชนนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยตั้งแต่ก่อนฟ้องคดีต่อศาล เพื่อลดปริมาณคดีที่จะเข้าสู่ศาลและแก้ปัญหาข้อพิพาทของคู่กรณีให้ยุติโดยเร็วด้วยความพึงพอใจของทุกฝ่าย

ทั้งนี้ สอดคล้องกับนโยบายของประธานศาลฎีกาประจำปี 2566-2567 "ที่พึ่ง เที่ยงธรรม เท่าเทียม ทันโลก" ศาลยุติธรรมพร้อมเป็นที่พึ่งของประชาชนในโอกาสแรกที่ได้รับความเดือดร้อนหรือมีข้อพิพาทด้วยการส่งเสริมกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกในทุกขั้นตอนเพื่อให้ความขัดแย้งยุติลงด้วยความสมานฉันท์และ ไม่ก่อภาระค่าใช้จ่ายแก่คู่ความ โดยการเข้าใช้บริการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องของศาลยุติธรรม คู่กรณีสามารถนำข้อพิพาททางแพ่งทุกประเภทโดยไม่จำกัดจำนวนทุนทรัพย์รวมถึงความผิดอาญาบางประเภทอันยอมความได้ อาทิ ฉ้อโกง บุกรุก ยักยอก หมิ่นประมาท ทำให้เสียทรัพย์เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องได้ โดยยื่นคำร้องด้วยตนเองหรือทางไปรษณีย์ต่อศาลที่มีเขตอำนาจ หรือยื่นคำร้องผ่านระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม (CIOS) ทางเว็บไซต์https://mediation.coj.go.thได้อย่างสะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมศาลและค่าใช้จ่าย คู่กรณีไม่มีประวัติการถูกฟ้องคดี ซึ่งหากคู่กรณีตกลงกันได้และมีความจำเป็นสามารถยื่นคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาตามยอม หรือเมื่อคู่กรณีไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมสามารถบังคับคดีได้ทันทีโดยไม่ต้องฟ้องคดีอีก และยังสามารถรักษาสัมพันธภาพอันดีระหว่างคู่กรณี

นอกจากนี้กรณีที่การไกล่เกลี่ยสิ้นสุดลงแล้วคู่กรณีตกลงกันไม่ได้ หากปรากฏว่าอายุความครบกำหนด ไปแล้วหลังจากยื่นคำร้องหรือจะครบกำหนดภายใน 60 วันนับแต่วันที่การไกล่เกลี่ยสิ้นสุดลง ให้อายุความขยายออกไปอีก 60 วันนับแต่วันที่การไกล่เกลี่ยสิ้นสุดลง โดยกระบวนการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องสามารถดำเนินการตั้งแต่เริ่มต้นและมีคำพิพากษาตามยอมจน จบกระบวนการได้ที่ศาลชั้นต้นทั่วประเทศ แบบ One Stop Service

ด้านนายอดุลย์ ขันทอง ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาระบบไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง กล่าวว่า กระบวนการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องเป็นนโยบายของประธานศาลฎีกาที่ต้องการให้ศาลยุติธรรมเป็นที่พึ่งแรกของประชาชนที่มีปัญหาข้อพิพาทในทุกๆเรื่องสามารถยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยก่อนก่อนฟ้องศาลซึ่งศาลยุติธรรมได้จัดให้มีการดำเนินการได้ทั่วประเทศปัจจุบัน เพราะประธานศาลฎีกาเห็นว่าปัจจุบันสภาพ สังคมแวดล้อมเศรษฐกิจ หลายหลายอย่างทำให้เกิดคดีความฟ้องร้องต่อศาลเป็นจำนวนมากปีนี้ก็คงประมาณ 2 ล้านคดี ก็เลยคิดว่าถ้ากระบวนการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องตาม ป.วิเเพ่งมาตรา 20 ตรี มาอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน โดยประชาชนสามารถยื่นคำร้องไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง ก็จะลดปริมาณคดีก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลอย่างเป็นรูปธรรม

กระบวนการดังกล่าวประชาชนสามารถดำเนินการโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น เมื่อตกลงกันได้ขอให้ศาลมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ทันทีดังนั้นกระบวนการดังกล่าวถือว่าเป็นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งศาลทั่วประเทศตอนนี้เรามีศูนย์ไกล่เกลี่ยอยู่ในทุกศาลทั่วประเทศอยู่แล้ว หากประชาชนมีปัญหาหรือข้อพิพาทไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้หรือใครก็แล้วแต่ที่มีปัญหาข้อพิพาทใดๆ สามารถยื่นต่อศาลยุติธรรมได้ที่ทั่วประเทศเรามีผู้ประนีประนอมพร้อมที่จะให้บริการกับประชาชนที่มีปัญหาข้อพิพาทในทุกๆเรื่อง

ทั้งนี้ สามารถเข้าไปติดต่อได้ที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประจำศาลเรามีทุกศาล ซึ่งประชาชนอาจจะยังไม่ค่อยรู้จัก เราก็ได้ประสานประชาสัมพันธ์กับหน่วยงานภายนอกไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของกระทรวงยุติธรรมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนก็อยากจะบอกว่าถ้ามีปัญหาข้อพิพาทนี้ให้ใช้กระบวนการไม่มีค่าใช้จ่ายและมีประสิทธิภาพตกลงกันได้ หากไม่ปฏิบัติตามสามารถบังคับคดีได้ทันที

"คือประชาชนที่มีปัญหาหรือผู้มีคำร้องขอไกล่เกลี่ยเราก็จะเเจ้งคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเข้าสู่กระบวนการ หากอีกฝ่ายตกลงก็จะให้ผู้ประนีประนอมประจำศาลเข้าไปไกล่เกลี่ยในคดี ถ้าไกล่เกลี่ยตกลงกันได้ก็จะมีผู้พิพากษาคอยดูเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของคู่กรณี ถูกต้องสุจริตเที่ยงธรรมไม่ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ถ้าถูกต้องหมดศาลก็จะให้คู่กรณีลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความ ถ้าคู่กรณีต้องการให้ศาลมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็สามารถเเจ้งศาลให้มีคำสั่งได้ในวันนั้นเลยตอนมีคำร้องเข้ามาไม่ได้ฟ้องคดี แต่สุดท้ายตกลงกันได้ศาลมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความตรงนั้นให้ไปเลย อย่างปัญหาหนี้สินฟ้องร้องกันกับธนาคาร ถ้าต้องมาฟ้องร้องกันก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะมากมายแต่กระบวนการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องสามารถช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้เพราะว่าไม่มีค่าขึ้นศาล ธนาคารหรือหน่วยงานสามารถยื่นคำร้องตรงนี้ตกลงกันได้สามารถที่จะขอศาลมีพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็จะช่วยลดระยะเวลาและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของลูกหนี้และเจ้าหนี้แน่นอน" นายอดุลย์ ระบุ

น.ส. อินทิรา ฉิวรัมย์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค 1 กล่าวถึงเเนวปฏิบัติการรับนโยบายจากประธานศาลฎีกาว่า เรื่องการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องศาลแรงงานภาค 1 ก็ได้จัดการประชุมเรื่องการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องและมีการตั้งศูนย์เพื่อรองรับการปฏิบัติการ อันดับแรกคือการดูคดีที่เข้ามาในศาลว่าจะสามารถไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องได้หรือไม่ โดยเราจะพยายามโน้มน้าวผู้ที่จะฟ้องคดีให้เปลี่ยนทิศทางมาเจรจากันก่อนโดยการทำคำร้องขอไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง ก่อนที่จะมีการฟ้อง ทั้งนี้ศูนย์ที่ตั้งขึ้นมาก็เพื่อจะได้ประมวลภาพว่าว่าคดีไหนสามารถไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องได้ นอกจากนี้ยังได้ประสานไปยัง สำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงานที่อยู่ใน9 จังหวัด ซึ่งเป็นเขตอำนาจศาลเเรงงานภาค 1 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรม มีแรงงานจำนวนมากนับล้านคน เราก็คิดว่าในส่วนของสำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน น่าจะมีข้อพิพาทข้อขัดแย้งกันเป็นปริมาณมาก จึงถือโอกาสเชิญชวนให้มาไกล่เกลี่ยก่อนที่จะฟ้องศาล

นอกจากนี้ยังมีกระบวนการอื่น เช่น มีการไปบรรยายเชิญชวนให้ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญของการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง ดังเช่นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วศาลแรงงาน ภาค 1ได้มีการไปบรรยายให้ความรู้ด้านกฎหมายแรงงานและการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ และก็จะมีบรรยายรอบ2 ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจ.สมุทรปราการ ภายในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ นี้ เพื่อที่จะเป็นการให้ความรู้และเชิญชวนผู้ประกอบการ ลูกจ้าง นายจ้าง หันมาสนใจการไกล่เกลี่ย ก่อนที่จะดำเนินการฟ้องศาล ส่วนเรื่องความพร้อมของบุคลากร เจ้าหน้าที่ศาลแรงงานภาค 1 นั้น ยอมรับว่ายังขาดเเคลนบุคลากรอยู่คนยังไม่เพียงพอ แต่ก็ต้องพยายามสร้างเเรงจูงใจเเละจิตสำนึกงให้เจ้าหน้าที่ของเราให้ความสำคัญในการทำงานหนักขึ้น เพื่อประชาชนให้สอดคล้องกับนโยบายประธานศาลฎีกา

ขณะที่วันเดียวกันนี้เมื่อเสร็จสิ้นพิธีเปิดโครงการแล้ว ได้มีการจัดอภิปรายหัวข้อ"กลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องที่พึ่งแรกของประชาชน" โดยนายอดุลย์ ขันทอง ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาระบบไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ และนายเฉลิมชัย มหากิจศิริ ผู้ประนีประนอมประจำศาลอาญาพระโขนง เป็นวิทยากรร่วมอภิปราย เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐ องค์กรภาคเอกชนทุกภาคส่วน และประชาชนมีความเข้าใจในกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกด้วยวิธีการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง ที่จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างรวดเร็ว และลดปัญหาความขัดแย้งอันจะช่วยให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้นในสังคมได้อย่างยั่งยืน

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"พิชิต" ตรวจเยี่ยม "มจร" หารือจัดงานวิสาขบูชานานาชาติ

เมื่อวันที่  9 พฤษภาคม 2567 หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แบ่งงานรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีทั้ง 3 ท่านเป็นที่เรีย...