วันอาทิตย์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2566

วธ. เผยคนไทยทั่วไทย-ทั่วโลก เข้าร่วมสวดมนต์ข้ามปี เสริมสิริมงคล ต้อนรับศักราชใหม่ ปี 2567 เนืองแน่นทุกพื้นที่



เมื่อวันที่  1 มกราคม 2567 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธานพิธีสวดมนต์ข้ามปี เสริมสิริมงคลทั่วไทย ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับศักราชใหม่ 2567 ระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2566 – 1 มกราคม 2567 ในส่วนกลางมีศูนย์กลางจัดงานที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดอรุณราชวราราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม โดยบูรณาการการจัดกิจกรรมในวัดและศาสนสถานจากทุกหน่วยงาน ทุกจังหวัด ทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลศูนย์ประสานงานสวดมนต์ข้ามปีระดับจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมกับสำนักงานสถิติของจังหวัด ประมวลผลการจัดงาน พบว่า วัด ศาสนสถาน ในกรุงเทพและส่วนภูมิภาคมีจัดงาน จำนวน 24,629 แห่ง มีวัดในต่างประเทศจัดกิจกรรมจำนวน 70 วัด และมีผู้ร่วมสวดมนต์ในวัด สถานที่จัดงานและผ่านทางระบบออนไลน์ รวมทั้งสิ้นกว่า 12,067,387 คน 

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา จัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี เสริมสิริมงคลทั่วไทย ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับศักราชใหม่ มาอย่างต่อเนื่องในนามของรัฐบาล โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา เพื่อถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ โดยได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานไฟพระฤกษ์ให้แก่กระทรวงวัฒนธรรมเพื่อจุดเทียนมงคลในพิธีสวดมนต์ข้ามปี และโปรดประทานตราอักษรพระนาม ออป. จัดพิมพ์ลงบนกล่องไม้ขีดไฟ เพื่อมอบให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ นำไปประกอบพิธีจุดเทียนมงคลในวัดทั่วประเทศไทย 



ในส่วนกลาง มีศูนย์กลางจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดอรุณราชวราราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และวัดต่าง ๆ พร้อมกันทั่วประเทศ นอกจากนี้ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน 17 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี หนองคาย นครพนม บึงกาฬ มุกดาหาร ศรีสะเกษ สุรินทร์ เลย ตราด ตาก เชียงราย แม่ฮ่องสอน ยะลา ระนอง สตูล สงขลา และนราธิวาส ได้จัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีอาเซียน ให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับเทศกาล ประเพณี พิธีทางศาสนาและพิธีการต่างๆ ของจังหวัด โดยส่งเสริมให้ประชาชนร่วมกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีฯ ตามวัด/ศาสนสถาน หรือสถานที่จัดกิจกรรม นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือองค์การทางศาสนาจัดกิจกรรมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ตามหลักศาสนบัญญัติของศาสนานั้น ๆ โดยศาสนาคริสต์ จัดพิธีอธิษฐานขอพร ณ โบสถ์อัสสัมชัญบางรัก คริสตจักรสานสัมพันธ์กรุงเทพ คริสตจักรพลับพลา และคริสตจักรจีนเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีส ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จัดพิธีสวดมนต์ขอพรต้อนรับปีใหม่ ณ วัดเทพมณเฑียร และวัดวิษณุ ศาสนาซิกข์ จัดพิธีสวดอัรดาส ขอพรต้อนรับปีใหม่ ณ สมาคมศรีคุรุสิงห์สภา สมาคมนามธารีสังคัต เป็นต้น และในส่วนต่างประเทศร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประสานความร่วมมือไปยังวัดไทยและวัดทางพระพุทธศาสนาในต่างประเทศกว่า 70 วัดทั่วโลกร่วมจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี เช่น วัดอรุณสหราชอาณาจักร เมืองนอริช สหราชอาณาจักร วัดไทยกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา วัดพุทธบารมี ฮัมบวร์ค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี วัดป่าโพธิศรัทธา ซิดนีย์ เครือรัฐออสเตรเลีย วัดญาณประทีป นิวซีแลนด์ วัดพุทธารามเกาหลี สาธารณรัฐเกาหลี วัดไทยพุทธคยา935 สาธารณรัฐอินเดีย เป็นต้น

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช กล่าวต่ออีกว่า สำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชนยังสามารถสวดมนต์ได้ในทุกสถานที่ ทุกช่วงเวลาตามอัธยาศัย ทางเว็บไซต์สวดมนต์ข้ามปีฯ www.prayer2567.com และส่งคำอวยพรในการ์ดอวยพรปีใหม่ (ส.ค.ส) แบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Card) เพื่อส่งต่อให้ผู้อื่นผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์  พร้อมทั้งขอบคุณทุกภาคส่วน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกคน ที่ร่วมบูรณาการจัดกิจกรรมในวัดและศาสนสถาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ การสวดมนต์ข้ามปีจะเป็นกิจกรรมสำคัญที่ประชาชนจะได้ร่วมก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ด้วยความเป็นสิริมงคล ก่อเกิดอานิสงส์เป็นแรงจูงใจให้ประชาชนลดความเสี่ยงจากอบายมุขและอุบัติเหตุ เป็นการทำบุญใหญ่ให้กับชีวิตทั้งทางกายและจิตใจ ด้วยหลักธรรมทางศาสนา ก้าวไปสู่วิถีชีวิตใหม่ให้เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า ช่วยปกป้องคุ้มครองภัยอันตรายและโรคภัยต่างๆ ให้แก่ชีวิตของตนเอง ครอบครัวและประเทศชาติให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขตลอดปีและตลอดไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ธรรมะกับประชาธิปไตยไยห่วงใยสถาบันศาสนา

การวิเคราะห์ประชาธิปไตยในปริบทพุทธสันติวิธีชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการนำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้ในระบอบประชาธิปไตย เพื่อลดความขัดแย้ง สร้างควา...