วันอังคารที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2566

สมเด็จพระสังฆราชประทานไฟพระฤกษ์ สวดมนต์ข้ามปี เสริมสิริมงคลทั่วไทย-ทั่วโลก ต้อนรับศักราชใหม่ 2567


 

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566  เวลา 13.00 น. ณ พระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีพระบัญชาโปรดให้ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์ ประทานไฟพระฤกษ์ให้แก่กระทรวงวัฒนธรรม โดยมี นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นผู้เข้ารับการประทานไฟพระฤกษ์ให้กระทรวงวัฒนธรรมและถวายเจ้าคณะจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ สำหรับจุดในพิธีสวดมนต์ข้ามปี เสริมสิริมงคลทั่วไทย ต้อนรับศักราชใหม่ 2567

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม ได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานไฟพระฤกษ์ให้แก่กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อจุดเทียนมงคลในพิธีสวดมนต์ข้ามปีในส่วนกลาง ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดอรุณราชวราราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และประทานกล่องไม้ขีดไฟประทับตราสมเด็จพระสังฆราช (ออป.) เพื่อมอบให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ นำไปประกอบพิธีจุดเทียนมงคลในกิจกรรมดังกล่าว สร้างขวัญกำลังใจแก่พุทธศาสนิกชนที่เข้าร่วมในพิธี และเป็นสิริมงคลในการเข้าสู่ศักราชใหม่ โดยกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี เสริมสิริมงคลทั่วไทย ต้อนรับศักราชใหม่ 2567 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2567 เพื่อถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้ปฏิบัติธรรม สวดมนต์ต้อนรับปีใหม่และขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว ได้เริ่มต้นปีด้วยความเป็นสิริมงคลในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ด้วยการทำบุญตักบาตร ถวายสังฆทาน ในช่วงเทศกาลวันปีใหม่ อันมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ เพราะถือเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศให้มาเที่ยวในประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทย รวมทั้งกิจกรรมดังกล่าว ได้จัดขึ้นในจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศอาเซียน 17 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย  ตราด  ตาก  นครพนม นราธิวาส บึงกาฬ ยะลา  ระนอง  เลย  ศรีสะเกษ  สงขลา  สตูล สุรินทร์  หนองคาย  อุบลราชธานี  มุกดาหาร  และจังหวัดแม่ฮ่องสอน  ซึ่งจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างประเทศที่มีวัฒนธรรมร่วมกัน อีกทั้ง กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีฯ ยังเป็นการส่งเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย Soft Power สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล Thailand Creative Content Agency (THACCA) ด้วยการนำทุนทางวัฒนธรรมในมิติศาสนา สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการและแรงงานในท้องถิ่น โดยส่งเสริมให้ประชาชนสักการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยดอกไม้ธูปเทียน และจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกจากร้านค้าชุมชนโดยรอบวัด ตลอดจนการเดินทางไปสวดมนต์ตามสถานที่จัดกิจกรรมทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมรายได้ให้กับผู้ประกอบการในการขายสินค้าและบริการต่าง ๆ ก่อให้เกิดรายได้ของประเทศในภาพรวมในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ พุทธศักราช 2567

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวทิ้งท้ายว่า การจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีในปีนี้จะเป็นกิจกรรมสำคัญที่ประชาชนจะได้ร่วมก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ด้วยความเป็นสิริมงคล ลดความเสี่ยงจากอบายมุขและอุบัติเหตุในเทศกาลปีใหม่ ถือเป็นการทำบุญใหญ่ให้กับชีวิตทั้งทางกาย ทางจิตและทางปัญญา ส่งท้ายปีเก่าด้วยธรรมะ ต้อนรับปีใหม่ด้วยศีล เริ่มต้นชีวิตด้วยสิ่งที่เป็นสิริมงคลอันจะส่งผลให้ได้พบสิ่งที่เป็นมงคลตลอดทั้งปี รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่เป็นเมืองพระพุทธศาสนาและมีประเพณีวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาที่ควรค่าแก่การสืบทอดอย่างต่อเนื่องให้เกิดความเข้มแข็งอย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ๗. วรรคที่ ๗ ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๘ ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต

  วิเคราะห์ ๗. วรรคที่ ๗ ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๘ ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต: ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พระไตรปิฎก...