วันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2566

"อธิการบดี มจร" เข้ารับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ "ม.สงฆ์ มมร"



เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม  2566  เวลา 13.00 น. ณ อาคารสุชีพ ปุญญานุภาพ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม  สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โปรดมีพระบัญชาให้ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (สุชิน อคฺคชิโน) อุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานในพิธีประทานปริญญาบัตร ประจำปี 2566  แก่ผู้สำเร็จการศึกษาในระดับดุษฎีบัณฑิต สมัยที่ 14  มหาบัณฑิต สมัยที่ 30  บัณฑิต รุ่นที่ 68 

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ได้เชิญพระโอวาทของสมเด็จพระสังฆราช ความตอนหนึ่งว่า ผู้สำเร็จการศึกษาทุกรูป ทุกคน คงได้รับความชื่นชมยินดีจากญาติมิตรทั่วหน้า ที่เรียกว่า “มุทิตา” หมายถึงความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้รับผลดี อันมีสาเหตุจาการกระทำดี ซึ่งเป็นภาวะที่สังคมไทยพึงเร่งสั่งสมอบรมให้เพิ่มพูนขึ้นทั่วไป เพราะมุทิตาจิตด้วยความจริงใจนั้น ย่อมเป็นความรู้สึกตรงกันข้ามกับความอิจฉาริษยา อันเป็นต้นเหตุของความวิวาท บาดหมาง แตกสามัคคี ซึ่งเป็นภัยใหญ่หลวงของสังคมทุกระดับ ถ้าเราไม่ลุอำนาของกิเลสที่เป็นความริษยา หากแต่พร้อมเพียงกันยินดีในความสุข ความเจริญของผู้ประสบความสุขความเจริญ ย่อมจะทำให้หมู่ชน ประเทศชาติ ตลอดจนถึงโลกนี้มีความสุขความเจริญพร้อม ๆ กัน โดยปราศจากการทำลายล้างอันยังความพินาศ ทุกประการ

“เพราะฉะนั้น จึงขอให้ทุกท่านจงเป็นผู้ไม่มีความริษยา ในสุขประโยชน์ของใคร ๆ ถ้าเห็นใคร ๆ บรรลุประโยชน์ ก็จงมีจิตใจชื่นชมยินดีในสุขประโยชน์ที่เขาได้รับ และจงเร่งประพฤติดี ปฎิบัติชอบ เพื่อให้บรรลุถึงสุขประโยชน์ดังกล่าวบ้าง เมื่อใครเขาจะเป็นคนดีไปก่อน ก็ให้เขาเป็นไป และจงมีใจยินดีด้วย ถ้าตนเองต้องการเป็นคนดีบ้าง ก็พึงปฎิบัติเพื่อความเป็นคนดี ให้เป็นคนดีด้วยกันถ้วนหน้า โดยเสมอกันทุกภาคส่วนในสังคม..” 

ในการนี้ สภามหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัยมีมติถวายปริญญาศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์ แด่ พระธรรมวัชรบัณฑิต,ศ.ดร. อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยด้วย พร้อมกันนี้ มีกำหนดจัดมุทิตาสักการะ พระธรรมวัชรบัณฑิต,ศ.ดร. อธิการบดี ในวันจันทร์ที่ 18  ธันวาคม พ.ศ.2566  เวลา 13.30  น. ณ อาคารวิปัสสนาธุระ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ธรรมะกับประชาธิปไตยไยห่วงใยสถาบันศาสนา

การวิเคราะห์ประชาธิปไตยในปริบทพุทธสันติวิธีชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการนำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้ในระบอบประชาธิปไตย เพื่อลดความขัดแย้ง สร้างควา...