วันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2566

เปิดฉายา..พระสงฆ์ประจำปี2566


การตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปี หรือ การตั้งฉายานักการเมืองประจำรัฐสภาหรือแม้กระทั้งวงการ ทหาร ตำรวจ ดารา ของผู้สื่อข่าว ถือเป็นธรรมเนียมปฎิบัติสืบต่อกันมา และถือเป็นปกติธรรมดาของสื่อมวลชนเพื่อสะท้อนความคิดเห็นของสื่อมวลชนต่อการทำงานของตัวแทนประชาชนและบุคคลสาธารณะ โดยมิได้มี “อคติ” หรือยึดความ “สัมพันธ์ส่วนตัว” เพื่อผู้ใดผู้หนึ่งไม่ การตั้งฉายาให้พระภิกษุสงฆ์ ปีนี้เป็นปีที่ 4 ของคนข่าวศาสนา และพวกเราในฐานะสื่อมวลชนศาสนา การตั้งฉายาให้กับพระภิกษุสงฆ์ มิได้เกิดจากความไม่เคารพไม่นับถือ หรือ ไม่ศรัทธาหรือมีเจตนาล่วงละเมิดแต่ประการใดไม่ สื่อมวลชนในกองบรรณาธิการของเราทุกคนล้วนเป็นพุทธศาสนิกชน และส่วนใหญ่เป็นมหาเปรียญด้วยซ้ำไป การตั้งฉายาของพระภิกษุในปีนี้ เน้น พระภิกษุทำงานผู้อยู่เบื้องหลัง เน้นพระภิกษุที่ทำงานด้านสาธารณะสงเคราะห์ ด้านสังคม ด้านมวลชน และเป็น "ผู้อยู่เบื้องหลัง" ความสำเร็จกิจการคณะสงฆ์หลายประการ "มิได้เลือก" พระภิกษุที่อยู่ในกระแสข่าว หรืออาจมีบางรูปที่นำขึ้นมาเป็นกรณีเฉพาะ ที่กองบรรณาธิการเห็นว่า ได้สร้างปรากฎใหม่แก่วงการชาวพุทธที่ควรยกย่อง โดยเน้นจากทำงานในหน้าที่ของพระภิกษุรูปนั่น ๆ ทั้งปรากฎในสื่อออนไลน์ และคำบอกเล่าปากต่อปากจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ รวมทั้งสำรวจจากนักวิชาการชาวพุทธ คนเคยบวชเรียน หากการตั้งฉายาแห่งปี กระทบถึงจิตใจของพระคุณเจ้ารูปใดหรือกระทบต่อศิษยานุศิษย์ท่านใด ทางกองบรรณาธิการ thebuddh” ขอกราบประทานอภัยล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้


สำหรับพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นข่าวหรือเป็นที่กล่าวขานในแวดวงศาสนา ความจริงในรอบปีมีหลายสิบรูป บางรูป ทำงานอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนาอย่างหาญกล้า บางรูปเผยแผ่หลักธรรม และปฎิบัติตนสมกับความเป็นพุทธบุตร และหลายรูปเคยกล่าวถึงแล้ว และมีอีกหลายรูปที่ไม่ได้กล่าวไว้ ณ ที่นี้

สำหรับปีนี้กองบรรณาธิการคัดเลือกเฉพาะ 10 รูป พร้อมกับตั้งฉายา 10 ฉายาแห่งปี’66 ซึ่งมีพระภิกษุตั้งแต่ระดับพระราชาคณะ จนถึง พระสังฆาธิการ ดังปรากฏรายนามดังต่อไปนี้

1.ผู้ปิดทองหลังพระ


"พระเทพเสนาบดี" เป็นชาวตำบลคลองน้อย อำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บวชและเรียน ณ จังหวัดลพบุรี  โดยมี “พระพุทธวรญาณ” วัดกวิศราราม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรีเป็น “พระอุปัชฌาย์”

พระเทพเสนาบดี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น “เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี” และ “ผอ.โรงเรียนวินิตศึกษา” ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนามีนักเรียนตั้งแต่ ม.1-ม.6 ประมาณ 5 พันคน เป็นโรงเรียนที่ผู้ปกครองอยากพาบุตร -ธิดา เข้าศึกษามากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ “พระเทพเสนาบดี” ในยุค "สมเด็จเกี่ยว -สมเด็จช่วง"  รุ่งโรจน์  ถือว่าเป็น “คนใน” เป็นกุนซือสำคัญในการขับเคลื่อนกิจการของคณะสงฆ์ โดยเฉพาะโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ร่วมคิดและร่วมทำ เป็นหน่วยกล้าตายของ "สมเด็จช่วง" มาตั้งแต่เริ่มแรก จวบจนกระทั้งปัจจุบัน เมื่อโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 อยู่ภายใต้การดูแลของ “สมเด็จธงชัย” พระเทพเสนาบดี ก็ติดหนึ่งใน “ขุนพล”  ศีล 5 ร่วมทำงานกับสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี หรือ “สมเด็จธงชัย”  แม้กระทั้ง “โครงการวัดประชารัฐ สร้างสุข”  ของ “สมเด็จชิน” พระเทพเสนาบดีก็ทำงานร่วมกันได้อย่างลงตัว หรือโครงการ “อ.ป.ต.” ของ “สมเด็จปสฤทธ์” พระเทพเสนาบดีก็ยังติดโผเข้าร่วมเช่นกัน พระเทพเสนาบดี เป็นพระทำงานประเภท “ใจถึง พึ่งได้” ถึงลูกถึงคน สไตร์ชอบทำงานอยู่เบื้องหลัง และไม่ค่อยยอมปรากฏออกหน้าสื่อเท่าไรนัก ด้วยเหตุนี้ “พระเทพเสนาบดี”  หรือ “เจ้าคุณวัดกวิศ” จึงควรได้รับการยกย่องตั้งฉายาว่า “ผู้ปิดทองหลังพระ”

2.กระโถนท้องพระโรง


คำนิยาม กระโถนท้องพระโรง ณที่นี้ หมายถึง คนที่ใคร ๆ ก็ใช้งานได้  เป็นคนที่ใคร ๆ รุมใช้งานอยู่คนเดียว  เนื่องจากปฎิเสธคนไม่เป็นหรือ ชอบอาสา จัดอยู่ในประเภท “บ้างาน” มิได้มีนัยถึงคำหยาบอื่นใดไม่ “พระเทพเวที” หรือ “เจ้าคุณพล” เป็นชาว ตำบลวรนคร อำเภอปัว จังหวัดน่าน จบการศึกษาระดับเปรียญธรรม 9 ประโยค และเป็น “ดร.” พระเทพเวที หรือ “เจ้าคุณพล”  ปัจจุบันเป็น เจ้าอาวาสวัดสังเวชวิศยารามวรวิหาร เจ้าคณะภาค 6 รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มจร เป็นเลขา ศ.ต.ภ. อีกหลายตำแหน่งในการขับเคลื่อนกิจการของคณะสงฆ์ “เจ้าคุณพล” เป็น พระนักสายวิชาการ รอบรู้กิจการพระพุทธศาสนาและกิจการคณะสงฆ์เป็นอย่างดี เนื่องจากเคยเป็นแกนสำคัญในการทำแผนขับเคลื่อนการปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนา เป็นพระภิกษุสำคัญที่ทำคลอด พ.ร.บ. การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. 2562 ,ธรรมนูญสุภาพพระสงฆ์,ระเบียบมหาเถรสมาคมว่าด้วย พระวินยาธิการ และรวมทั้งการร่างหลักสูตรการศึกษาในสาขาวิชาการต่าง ๆ ด้วยคุณสมบัติ "ทำงานเป็น ใช้งานง่าย ทำงานคล่อง รู้งานดี" คณะสงฆ์ระดับพระเถระผู้ใหญ่ จึงมักดึง “เจ้าคุณพล” ขอให้รับผิดขอบกิจการคณะสงฆ์เกือบทุกภารกิจ ด้วยเหตุนี้ “เจ้าคุณพล” หรือ พระเทพเวที ในฐานะผู้ถูกคณะสงฆ์ใช้งานเกือบทุกภารกิจ จึงสมควรถูกขนานนามว่า กระโถนท้องพระโรง"

3.พระผู้สร้าง..ปั้นดินสู่ดาว


พระธรรมราชานุวัตร หรือ "เจ้าคุณสุทัศน์" จบการศึกษาสูงสุดทั้งทางพระคือประโยค 9 และทางโลกคือระดับ “ปริญญาเอก”  เป็นชาว ตำบลโคกตูม อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เดิมสังกัดวัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพ ฯ เมื่อปี พ.ศ.2540 เป็นปัจฉาสมณติดตามพระอุปัชฌาย์  "พระพรหมกวี"  ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังเลื่องลือในการแต่งคู่มือ "วิทยาพระสังฆาธิการ"  ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ไปอยู่วัดโมลีโลกยาราม นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ "เจ้าคุณทัศน์" ปัจจุบัน "เจ้าคุณสุทัศน์" เป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดโมลีโลกยาราม เจ้าคณะภาค 10 และรองแม่กองบาลีสนามหลวง และกลายเป็น “เจ้าสำนักเรียนบาลี” ที่มีผู้สอบบาลีได้มากที่สุดของประเทศติดต่อกันหลายปี "เจ้าคุณสุทัศน์" พัฒนาวัดโมลีโลกยาราม จากวัดที่ทรุดโทรม ไร้คนสอบบาลีได้ จนกลายเป็นวัดสำนักเรียนบาลีอันดับหนึ่งของประเทศ มีพระเณรเรียนบาลีหลายร้อยรูป นำเด็กจากชนบทมาบวชเป็นสามเณร ส่งเสริมให้มีการศึกษาเพื่อสร้างศาสนทายาท..ปั้นจากก้อนดิน..สู่ดวงดาว ด้วยเหตุนี้ “เจ้าคุณสุทัศน์” หรือ พระธรรมราชานุวัตร จึงควรได้รับการยกย่องตั้งฉายาแห่งปีว่า “พระผู้สร้าง..ปั้นดินสู่ดาว”

4.ยุวสงฆ์.ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง!!


พระครูปลัดบัณฑิต อินฺทเมธี หรือ “องค์ม่อน” เป็นชาว ตำบลหนองสังข์ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว “องค์ม่อน” หลังจากเรียนจบระดับปริญญาโท สาขา “สังคมสงเคราะห์” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้กลับบ้านเกิดพัฒนาที่ดินที่หลวงปู่แพง ซึ่งเป็นปู่แท้ ๆ  มอบให้ทำเป็นสถานที่ปฎิบัติธรรม ชื่อ “สำนักปฎิบัติธรรมปาโมกข์ธรรมาราม” จากเดิมมีเพียง 8ไร่ ปัจจุบันขยายเป็น 48 ไร่ “องค์ม่อน” หลังจากกลับบ้านเกิดมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะพลิกฟื้นผืนดินที่แห้งแล้งพัฒนาเป็น “สำนักปฎิบัติธรรม” เดินสายอบรมปลูกฝังเยาวชนคนรุ่นใหม่ในนาม “เครือข่ายธรรมะอารมณ์ดี” จัดกิจกรรมรวมกับคณะสงฆ์ในพื้น โครงการสังฆะประชาปันสุขจัดหาตั้งธนาคารแพมเพิส,ธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าว,ดึงเยาวชนคนในพื้นที่เยี่ยมเยียนผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และมอบอุปกรณ์การแพทย์โดยการรับบริจาคและการทอดผ้าป่าออนไลน์ เพื่อนำไปมอบให้ผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่อำเภออรัญประเทศ จัดกิจกรรมโครงการฟื้นฟูศรัทธา สืบทอดพระพุทธศาสนา 2 แผ่นดิน รับบริจาคกองบุญผ้าไตร กองบุญกลด ถวายผ้าไตรและกลด แก่พระสงฆ์สามเณร ประเทศกัมพูชา เปิดสำนักปฎิบัติธรรมจัดตั้ง “กุฎีชีวาภิบาล” ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเปิดสำนักปฎิบัติธรรมปาโมกข์ธรรมารามเป็นศูนย์อบรมเยาวชนและประชาชนทั่วไปเพื่อเป็นอารามแห่ง "ความหลุดพ้นด้วยธรรมะ" ตามความใฝ่ฝันและตั้งใจ “องค์ม่อน” หรือ พระครูปลัดบัณฑิต อินฺทเมธี เป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจที่ดีให้กับพระหนุ่มเณรน้อยรุ่นใหม่ที่ต้องการพัฒนาบ้านเกิดแบบ “จิตอาสา” ด้วยเหตุนี้พระครูปลัดบัณฑิต อินฺทเมธีหรือ “องค์ม่อน” จึงควรได้รับการยกย่องตั้งฉายาว่า ยุวสงฆ์.ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง”

 5.มือประสาน..สื่อมวลชน


พระมหานพพร ปุญฺญชโย เป็นชาวกรุงเทพมหานครโดยกำเนิด จบการศึกษา ป.ธ.9  ปริญญาเอก พุทธศาสตรดุษฎี บัณฑิต สาขาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย “สื่อมวลชน” น้อยนักที่ไม่รู้จัก “หลวงพี่อู๋” หรือ พระมหานพพร ปุญฺญชโย แห่งวัดพระธรรมกาย ยิ่งตอนสถานการณ์วัดพระธรรมกายเกิด “วิกฤติ” หลวงพี่อู๋ คือ โฆษก ชี้แจง ตอบคำถามแทน “พระครูสมุห์สนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส” ได้อย่างคล่องแคล่ว เนื่องจากเป็นคนมีความรู้ครบครันทั้งทางโลกและทางธรรม และทั้งมีบุคลิกภาพอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อผู้พบเห็น มีความยิ้มแย้มพูดจาดี ตามสไตร์พระภิกษุของวัดพระธรรมกายทั่วไป กิจกรรมของวัดพระธรรมกาย รวมทั้ง กิจกรรมของคณะสงฆ์ไม่ว่าจะเป็นโครงการ วัด ประชารัฐ สร้างสุข หรือโครงการหน่วยอบรมประชาชนหรือ อ.ป.ต.  “หลวงพี่อู๋” ปรากฏกายร่วมกิจกรรมกับคณะสงฆ์ทุกครั้ง ทั้งดูแลสื่อมวลชน และการแจกเนื้อข่าว รวมทั้ง งานถ่ายทอดสด ถือว่าเป็นมือประสานสิบทิศให้กับวัดพระธรรมกายและโครงการของคณะสงฆ์หลายโครงการ หลายกิจกรรม รวมความวัดพระธรรมกาย กิจการคณะสงฆ์หากไม่มีมือประสานสื่อมวลชน น้อยนักสังคมจะรู้ว่าคณะสงฆ์ทำอะไรบ้าง ด้วยเหตุนี้ “หลวงพี่อู๋” หรือ พระมหานพพร ปุญฺญชโย จึงควรได้รับการยกย่องตั้งฉายาแห่งปีว่า “มือประสานสื่อมวลชน”

 6.ศาสนทายาท “พระอุบาลี”


“พระอุบาลี” เป็นพระภิกษุสาวกเอตทัคคะของพระโคตมพุทธเจ้า นับเนื่องในพระอสีติมหาสาวก 80 องค์สำคัญในพระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล พระอุบาลี เป็นผู้ทรงจำพระวินัยอย่างแม่นยำ และเคยได้รับพุทธานุญาตให้วินิจฉัยอธิกรณ์ 3 คดี คือ ภารตัจฉวัตถุ, อัชชุกวัตถุ และกุมารกัสสปวัตถุ ด้วยเหตุนี้จึงได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ให้เป็นเอตทัคคะผู้เลิศในทาง “ผู้ทรงพระวินัย” และหลังพุทธปรินิพพานท่านได้เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการรักษาพระวินัย เพราะท่านได้รับหน้าที่เป็น 1 ใน 3 พระมหาเถระผู้วิสัชชนาพระธรรมวินัยในคราวปฐมสังคายนาที่ถ้ำสัตบรรณคูหา เมืองราชคฤห์ โดยท่านได้วิสัชนาพระวินัยปิฎก “พระมหาภาคภูมิ  สีลานนฺโท” แห่งวัดป่าเทพจักรพันธ์ ตำบล ตะกุดไร อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ บุคลิกนุ่งห่มจีวรเฉวียงบ่า ไม่โกนคิ้วเหมือนกับพระสงฆ์ไทยทั่วไป ในสื่อออนไลน์ทั้งเฟชบุ๊ค ติ๊กต๊อก และยูทูปชื่อของ มีผู้ติดตามจำนวนมาก..ด้วยความที่อธิบายหลักพระวินัยได้อย่างคล่องแคร่วและแตกฉาน แม้กระทั้ง “มหาเถรสมาคม” ฟังแล้วก็คงสะดุ้งว่า วัดที่จำพรรษา จีวรที่ใส่ ปัจจัยที่รับมา ถูกต้องตามพุทธบัญญัติหรือไม่ และหากเพ่งตามพระวินัยที่ “พระมหาภาคภูมิ” สาธยาย อาจมี “อบายเป็นที่พึ่ง” หรือไม่ ด้วยความที่ “พระมหาภาคภูมิ  สีลานนฺโท” เป็นผู้ทรงรอบรู้และมีความเป็นเลิศทาง “ผู้ทรงพระวินัย” เหมือนกับพระอุบาลี เหตุนี้ พระมหาภาคภูมิ  สีลานนฺโท” จึงควรได้รับการยกตั้งตั้งฉายาแห่งปีว่า “ศาสนทายาท พระอุบาลี”

7.สมณทูต..รุ่นใหม่


 “มจร” เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่มีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 45 จังหวัด มีสถาบันสมทบในต่างประเทศอีกไม่ต่ำกว่า 5 ประเทศ มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้เหมือน “มือ-เท้า” ของคณะสงฆ์ไทยโดยเฉพาะ “ฝ่ายมหานิกาย” ด้านต่างประเทศหลายสิบปีมานี้ “มจร” มีผลงานโดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง ทั้งจัดงาน “วิสาขบูชาโลก”  ทั้งการอบรมพระธรรมทูตแล้วส่งออกไปทั่วโลก ทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาอื่น ๆ ซึ่งมีทั้ง เถรวาทและมหายาน พระมหาสุรศักดิ์ ปจฺจนฺตเสโน รองอธิการบดีฝ่ายต่างประเทศ มจร ในฐานะดูแลกิจการต่างประเทศ “รุ่นใหม่” ด้วยอาศัยฐานดังกล่าวรับช่วง "ต่อยอด" ตลอดระยะเวลาที่รับตำแหน่งมีผลงานโดดเด่นและเป็นที่จับตาเป็นอย่างยิ่ง มีการเชื่อมสัมพันธ์กับนานาชาติทั้งจีน ใต้หวัน อินเดีย ศรีลังกา เมียนมา สิงคโปร์ หรือแม้กระทั้งผู้นำศาสนาคริสต์จาก “กรุงวาติกัน” ด้วยผลงานดังกล่าวนี้ พระมหาสุรศักดิ์ ปจฺจนฺตเสโน จึงควรได้รับการยกย่องตั้งฉายาแห่งปีว่า “สมณทูต..รุ่นใหม่”

 

8.พระแท้..ผู้ไม่ทน


 พระเทพวิสุทธิคุณ หรือ “เจ้าคุณถนอม” เป็นชาวตำบลทรายมูล อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เดิมเป็น “วัดหนองกุง” อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เป็น สำนักเรียนบาลีใหญ่มีนักเรียนหลายร้อยรูป ปัจจุบันร่วงโรยไปตามกาลเวลา “เจ้าคุณถนอม” ด้วยความที่วัดเป็นสำนักเรียนบาลีใหญ่ เป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่ ส่งเสริมการศึกษา ปัจจุบันท่านจึงมีลูกศิษย์มากมาย และท่านเป็นพระสุปฎิปันโน เป็น “พระนักเทศน์” ฝีปากกล้า มีลีลาชั้นเชิง ลูกเล่นแพรวพราว ตระเวนเทศน์ทั่วอีสาน ซ้ำเทศนาสั่งสอนประชาชนแบบไม่เห็นแก่อามิสสินจ้าง “ตรงไปตรงมา”  เพื่อความถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย ตามกฎหมายบ้านเมือง และจารีตประเพณี “เจ้าคุณถนอม” มีหลายครั้งวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษา การปกครองคณะสงฆ์ และกรรมการวัดแบบ..ตรงไปตรงมา ได้ใจคณะสงฆ์เจ้าอาวาสและชาวพุทธทั้งประเทศ ด้วยเหตุนี้ “เจ้าคุณถนอม” หรือ พระเทพวิสุทธิคุณ จึงควรได้รับฉายาแห่งปีนี้ว่า “พระแท้..ผู้ไม่ทน”

9 .พระผู้เป็นที่พึ่งสุดท้ายของ “ภิกษุอาพาธ”


พระสุโชติ ปชโชโต สำนักสงฆ์ป่ามะขาม ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ผู้มีปณิธานในวิถีสมณเพศตามพระพุทธพจน์ที่ว่า “โย ภิกขเว มํ อุปฏฐเหยย โส คิลานํ อุปฏฐเหยย” ผู้ใดปราถนาจะอุปปัฏฐากเราตถาคต ผู้นั้นพึงอุปัฏฐากภิกษุอาพาธเถิด ซึ่งการอุปัฎฐากภิกษุอาพาธ อานิสงค์เท่ากับการอุปัฎฐากพระตถาคต พระสุโชติ ปชโชโต ทั้งชีวิตจึงอุทิศตนดูแลภิกษุอาพาธที่มาขอความช่วยเหลือในระยะสุดท้ายของชีวิตโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย  ซึ่งหากพระสงฆ์อาพาธเหล่านี้ “มรณภาพ” ทางสำนักสงฆ์ป่ามะขามก็จัดการให้ตามหลักพระธรรมวินัย และการปฎิบัติตามรอยพระพุทธวจนะแบบนี้ ทางสำนักสงฆ์ไม่รับเงินบริจาคด้วยการเปิดบัญชีใด ๆ ทั้งสิ้น หากใครประสงค์จะทำบุญบริจาคต้องเดินทางมาที่สำนักสงฆ์เท่านั่น ด้วยเหตุนี้ พระสุโชติ ปชโชโต  ควรได้รับการยกย่องและเชิดชูในการเสียสละอุทิศตนเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนา จึงควรได้รับฉายาว่า.. .พระผู้เป็นที่พึ่งสุดท้ายของ “ภิกษุอาพาธ”

10. พระดาวรุ่ง


ตามข้อมูลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติปี 2564 ระบุว่ามีวัดมหานิกาย 38,259 วัด ธรรมยุต 4,279 วัด จีนนิกาย 16 วัด และอนัมนิกาย 23 วัด รวมทั้งหมด  42,577 วัด  ส่วนพระภิกษุมหานิกาย 183,131 รูป คณะธรรมยุต 24,685 รูป "พระมหาเตชินท์ อินฺทเตโช"  นามเดิม เตชินท์ จุลเทศ เป็นชาวกรุงเทพมหานคร อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่ออายุ 27 ปี ณ พระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นพระอุปัชฌาย์ จบการศึกษาเปรียญธรรม 6 ประโยคและระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา  ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และเลขานุการรองเจ้าคณะภาค 6-7  (ธรรมยุต) “พระมหาเตชินท์” ถือว่าเป็น “พระดาวรุ่ง” ในคณะธรรมยุต เนื่องจากได้รับการส่งเสริมจาก “พระเถระผู้ใหญ่” และหลายเพลาเวลา “สมเด็จพระสังฆราช” เสด็จออกต้อนรับแขกต่างประเทศ “พระมหาเตชินท์” มักเป็นล่ามแปลภาษาให้เสมอรวมทั้งเวลา “สมเด็จพระสังฆราช” เสด็จออกงานมักมีพระมหาเตชินท์ร่วมเป็น..พระอนุจรอยู่อย่างสม่ำเสมอ ด้วยเหตุนี้ “พระมหาเตชินท์ อินฺทเตโช” จึงควรได้รับการยกย่องว่าเป็น “พระดาวรุ่ง”

ที่มา - https://thebuddh.com/?p=76293

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์

  วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23: พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พระไตรปิฎกเล...