วันอังคารที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2566

มีอะไรบ้าง! ของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2567 ของกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง



เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566   นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบการดำเนินมาตรการ/โครงการของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2567 ให้แก่ประชาชน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. มาตรการภาษีและค่าธรรมเนียม จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่

1.1 มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย ปี 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ส่งเสริมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ รวมถึงช่วยรักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยมาตรการดังกล่าวจะให้ลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 1 และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 (เฉพาะการโอนและจดจำนองในคราวเดียวกัน) สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัย ได้แก่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ และห้องชุด (ทั้งบ้านมือ 1 และมือ 2) เฉพาะที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท ต่อสัญญา โดยไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วน ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567

1.2 มาตรการ “Easy E-Receipt” มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสนับสนุนการบริโภคในประเทศ สนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีให้ใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่นและการอ่าน ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษี และการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ โดยมาตรการดังกล่าวกำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักรให้กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวน 50,000 บาท โดยจะต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร เว้นแต่ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้ จะจ่ายให้แก่ผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้ (1) ค่าหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร (2) ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และ (3) ค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว โดยกรณีซื้อสินค้าหรือรับบริการดังกล่าวจากผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องได้รับใบรับในรูปแบบใบรับอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร อย่างไรก็ดี ค่าสินค้าหรือค่าบริการที่สามารถหักลดหย่อนได้ไม่รวมถึง (1) ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์ (2) ค่าซื้อยาสูบ (3) ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ (4) ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ (5) ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต และค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว ซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 แม้ว่าจะจ่ายค่าบริการระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ก็ตาม และ (6) ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่น ๆ เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ทั้งนี้ ผู้ประกอบการนิติบุคคลสามารถจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบบริการ e-Tax Invoice & e-Receipt โดยศึกษารายละเอียดและลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ https://etax.rd.go.th

 และสำหรับผู้ประกอบการนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบบริการ e-Tax Invoice by Time Stamp ซึ่งเป็นระบบที่เหมาะกับผู้ประกอบการที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท โดยศึกษารายละเอียดและลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ www.rd.go.th/27659.html



2. มาตรการ/โครงการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อเสริมสภาพคล่อง ลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย และเสริมสร้างวินัยการเงินให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ รวมทั้งสิ้นจำนวน 19 มาตรการ/โครงการ (เอกสารแนบ) ได้แก่

2.1 โครงการมีออม มีลุ้น กับสลากออมสิน 2 ปี ฉลองปีใหม่ (ธนาคารออมสิน) เพื่อส่งเสริมการออมผ่านสลากออมสิน สำหรับผู้ฝากสลากออมสินพิเศษ 2 ปี ทั้งแบบสลากและดิจิทัล ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2566 – 31 มกราคม 2567 วงเงินรางวัลพิเศษรวมจำนวน 111 ล้านบาท กำหนดการออกรางวัลจำนวน 1 ครั้ง สำหรับงวดวันที่             1 กุมภาพันธ์ 2567

2.2 โครงการวินัยดี มีเงิน (ธนาคารออมสิน) เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับลูกค้าที่มีวินัยทางการเงิน สำหรับลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อ วงเงินกู้ไม่เกิน 200,000 บาท ที่ปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขของธนาคาร เช่น      มีประวัติการชำระหนี้ดีไม่น้อยกว่า 3 ปี เป็นต้น จะได้รับเงินรายละ 500 บาท ซึ่งสามารถกดรับสิทธิผ่าน Application MyMo ได้ภายในวันที่ 15 มกราคม 2567

2.3 โครงการสินเชื่อเสริมแกร่ง SME เกษตร (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร: ธ.ก.ส.) เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเกษตร ช่วยเหลือลูกค้าเกษตรและผู้มีรายได้น้อยตลอดห่วงโซ่สินค้าเกษตร และสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เกษตรเข้าถึงแหล่งเงินทุน วงเงินกู้สูงสุดต่อรายไม่เกิน 100 ล้านบาท จะได้รับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ใน 2 ปีแรก และคงอัตราดอกเบี้ยในปีที่ 3 – 4  ที่ร้อยละ 4 ต่อปี หากปฏิบัติตามเงื่อนไขของธนาคาร และได้รับส่วนลดค่าวิเคราะห์ 10,000 บาท สำหรับลูกค้าที่เปิดบัญชีเงินกู้ใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 – 31 มกราคม 2567 และมีวงเงินกู้ตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 

2.4 โครงการชำระดีมีโชค (ธ.ก.ส.) เพื่อให้ลูกค้าที่มีศักยภาพและความสามารถในการชำระหนี้ได้รับสิทธิการลุ้นรางวัล รวม 500 ล้านบาท จากการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 มิถุนายน 2567

2.5 โครงการผลิตภัณฑ์สินเชื่อแทนคุณ (ธ.ก.ส.) เพื่อช่วยเหลือลูกค้าเกษตรกรผู้สูงอายุ (ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) มีหนี้สินเป็นภาระหนัก ไม่สามารถชำระหนี้ได้ด้วยตนเอง และมีความประสงค์จะโอนทรัพย์สินและหนี้สินเพื่อให้ทายาทที่รับช่วงการประกอบอาชีพปิดชำระหนี้เดิม จะได้รับอัตราดอกเบี้ยและสิทธิประโยชน์ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567

2.6 โครงการสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ (ธ.ก.ส.) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหรือเป็นค่าลงทุนในการประกอบอาชีพการเกษตร อาชีพนอกภาคเกษตร หรืออาชีพที่มีลักษณะเป็นการลงทุนค้าขายเพื่อเลี้ยงชีพในครัวเรือน กรณีกู้เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 18 เดือน และกรณีกู้เพื่อเป็นค่าลงทุน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 5 ปี ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567

2.7 โครงการสินเชื่อนวัตกรรมดี มีเงินทุน (ธ.ก.ส.) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหรือเป็นค่าลงทุนในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรือเกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรม หรือประกอบอาชีพเกษตรกรรมในลักษณะ Smart Farmer กรณีกู้เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 18 เดือน และกรณีกู้เพื่อเป็นค่าลงทุน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 15 ปี ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567

2.8 โครงการสินเชื่อพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2566 (ธ.ก.ส.) เพื่อสนับสนุนเงินทุนและช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรให้มีแหล่งน้ำไว้ใช้ยามวิกฤติ วงเงินกู้รายละไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR - 1 ต่อปี ระยะเวลากู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567

2.9 โครงการของขวัญปีใหม่ 2567 เพื่อส่งเสริมวินัยทางการเงินสำหรับลูกค้าธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธนาคารอาคารสงเคราะห์: ธอส.) เพื่อส่งเสริมการมีวินัยทางการเงินในการผ่อนชำระเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย และเติมกำลังซื้อเพื่อให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศช่วงเทศกาลปีใหม่ สำหรับการจ่ายชำระหนี้เงินกู้ผ่าน Application “GHB ALL GEN” โดยได้รับเงินรายละ 1,000 บาท ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 - กุมภาพันธ์ 2567 ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด

2.10 มาตรการผ่อนดี มีให้ (ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย: ธพว.) เพื่อลดภาระค่างวด เสริมสภาพคล่อง และเสริมสร้างวินัยทางการเงินให้กับลูกค้ากลุ่มเข้มแข็ง ของ ธพว. โดยได้รับการลดภาระค่างวดสูงสุดร้อยละ 40 นานสูงสุด 6 เดือน และสำหรับลูกหนี้ที่มีประวัติการผ่อนชำระดีจะได้รับชุดของขวัญสินค้า SMEs มูลค่า 1,000 บาท ซึ่งสามารถลงทะเบียนได้ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567

2.11 มาตรการเติมทุน เสริมแกร่ง (ธพว.) เพื่อลดภาระค่าประเมินหลักประกันให้กับลูกค้ากลุ่มเข้มแข็งของ ธพว. โดยจะได้รับการยกเว้นค่าประเมินหลักประกันมูลค่าสูงสุด 30,000 บาท และโปรแกรมพัฒนายกระดับธุรกิจก้าวทันยุคดิจิทัลมูลค่ารวม 10,000 บาท และบริการปรึกษาแบบเจาะลึก Exclusive D-Coach เมื่อขอสินเชื่อและใช้วงเงินตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป ภายในเดือนมีนาคม 2567

2.12 มาตรการพัก ลด จบไว ลดภาระทางการเงิน (ธพว.) เพื่อเป็นการช่วยเหลือและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง โดยจะได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด ซึ่งสามารถลงทะเบียนได้ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567

2.13 มาตรการปิด ปรับ เปลี่ยน (SME 21) (ธพว.) เพื่อเป็นการช่วยเหลือและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้ากลุ่มลูกหนี้ SME 21 โดยจะได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด ซึ่งสามารถลงทะเบียนได้ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567

2.14 โครงการผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนสินเชื่อ ESG (ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย: ธสน.) เพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการที่ขอสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยได้รับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 2.99 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 เดือน และได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้า (Front-end Fee) เป็นระยะเวลา 2 เดือน

2.15 โครงการผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนผู้ประกอบการที่เริ่มต้นการส่งออก (ธสน.) เพื่อลดภาระค่าธรรมเนียมแรกเข้า (Front-end Fee) ให้กับผู้ประกอบการที่เริ่มต้นการส่งออก เป็นระยะเวลา 2 เดือน

2.16 โครงการสำหรับลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจ (5 จังหวัดชายแดนใต้) (ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย: ธอท.) เพื่อสนับสนุนลูกค้ารายย่อยเข้าถึงแหล่งสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยการยกเว้นค่าประเมินหลักประกัน และเพื่อสนับสนุนลูกค้าธุรกิจที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ยื่นขอสินเชื่อในระยะเวลาดำเนินโครงการ โดยลูกค้ารายใหม่ที่ยื่นขอสินเชื่อแบบมีระยะเวลา (Long term) จะได้รับยกเว้นค่าจัดทำนิติกรรมสัญญา และลูกค้ารายเดิมที่ยื่นขอสินเชื่อแบบมีระยะเวลา (Long term) และมีประวัติการชำระหนี้ดี สามารถยื่นพักชำระเงินต้น ชำระเฉพาะกำไร ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด ทั้งนี้ ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 29 กุมภาพันธ์ 2567

2.17 โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้รายย่อยและลูกค้าธุรกิจ (ธอท.) เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ให้กับกลุ่มลูกหนี้ด้อยคุณภาพ (Non-Performing Financing : NPFs) โดยสามารถตัดชำระเงินต้นสูงสุดร้อยละ 50 ของค่างวดที่ชำระ อัตรากำไรพิเศษ และส่วนลดเบี้ยปรับผิดนัดชำระ ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่               1 มกราคม – 29 กุมภาพันธ์ 2567

2.18 โครงการยกเว้นค่าดำเนินการค้ำประกัน (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม: บสย.) เพื่อลดภาระค่าดำเนินการค้ำประกันให้กับลูกค้า บสย. ที่อยู่ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme (PGS 10) และโครงการค้ำประกันสินเชื่อรายสถาบันการเงิน Bilateral Phase 7 (BI 7) โดยจะได้รับการยกเว้นค่าดำเนินการค้ำประกันสินเชื่อ สำหรับ SMEs ที่ส่งคำขอค้ำประกันตั้งแต่วันที่ 1 - 31 มกราคม 2567

2.19 โครงการ บสย. พร้อมช่วย (บสย.) เพื่อลดภาระหนี้ให้กับลูกหนี้ของ บสย. โดยมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ เช่น สามารถตัดเงินต้นได้ทั้งจำนวนของยอดชำระ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ลดเงินต้นสูงสุดร้อยละ 15 เป็นต้น ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ บสย. กำหนด ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567



3. มาตรการ/โครงการอื่น โดยหน่วยงานในสังกัดฯ มีการจัดทำมาตรการ/โครงการของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2567 (เอกสารแนบ) ได้แก่

3.1 โครงการเที่ยวปีใหม่สุขใจไปกับพิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2567 ให้แก่ประชาชน (กรมธนารักษ์) กรมธนารักษ์เปิดพิพิธภัณฑ์สังกัดกรมธนารักษ์ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1) พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ 2) พิพิธบางลำพู 3) พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดเชียงใหม่ 4) พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดสงขลา และ 5) พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น ให้ประชาชนเข้าชมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2566 - 14 มกราคม 2567

3.2 โครงการซื้อทรัพย์สินรอการขาย (Non - Performing Asset: NPA) รับส่วนลดสูงสุด 30% สำหรับทรัพย์ที่เข้าร่วมรายการ เมื่อโอนกรรมสิทธิ์ภายในวันที่ 29 มีนาคม 2567 (บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด: บสอ.) เพื่อแบ่งเบาภาระผู้สนใจซื้อทรัพย์ NPA ให้มีที่อยู่อาศัย ค้าขาย หรือลงทุนในราคาต่ำ สามารถเข้าชมรายการทรัพย์ NPA ที่เข้าร่วมรายการได้ที่ www.iam-asset.co.th

 ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป สิ้นสุดวันที่ 29 มีนาคม 2567 หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

3.3 แผนงาน “มอบแอลกอฮอล์ป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโรค” เพื่อสนับสนุนภารกิจองค์การสุรา กรมสรรพสามิต (องค์การสุรา กรมสรรพสามิต) โดยองค์การสุรา กรมสรรพสามิต ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน จึงขอมอบผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์บริสุทธิ์แก่ประชาชนและหน่วยงานของรัฐ อาทิ โรงพยาบาล การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ในบริเวณพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอบางคล้า ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 - เดือนมกราคม 2567

3.4 โครงการ “ดนตรีในสวน @ยาสูบเชียงราย” (การยาสูบแห่งประเทศไทย) สํานักงานยาสูบเชียงรายได้ดำเนินโครงการดังกล่าว โดยจัดให้มีกิจกรรมสันทนาการ/เปิดโอกาสให้นักดนตรี (เยาวชน) ได้มีพื้นที่แสดงความสามารถ รวมทั้งจัดให้มีการจำหน่ายสินค้า/พืชผลทางการเกษตร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงราย ณ สำนักงานยาสูบเชียงราย ในวันที่ 28 ธันวาคม 2566 และวันที่ 6, 13, 20 มกราคม 2567 เวลา 17.00 น. – 22.00 น.

3.5 โครงการ “กองทุนการออมแห่งชาติมอบของขวัญปีใหม่ 2567 ให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ 300,000 สิทธิ” (กองทุนการออมแห่งชาติ: กอช.) โดยสมาชิก กอช. จะได้รับความคุ้มครองประกันอุบัติเหตุ สูงสุด 100,000 บาท ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 จากทิพยประกันภัย ระยะเวลา 30 วันนับถัดจากวันลงทะเบียนรับสิทธิ โดยสามารถลงทะเบียนรับสิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2566 – วันที่ 5 มกราคม 2567 จำนวน 300,000 สิทธิ

3.6 มาตรการชะลอการฟ้อง ชะลอการบังคับคดี และชะลอการขายทอดตลาดทรัพย์ (กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา: กยศ.) เพื่อชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี การบังคับคดีและการขายทอดตลาดกับผู้กู้ยืมเงินที่ผิดนัดชำระหนี้ (ยกเว้นคดีที่จะขาดอายุความ)

3.7 โครงการปรับปรุงยอดหนี้ของผู้กู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา นับแต่วันที่พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้ (กยศ.) เพื่อปรับปรุงยอดหนี้ของผู้กู้ยืมเงิน โดยนำรายการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมเงินแต่ละรายที่ได้ชำระหนี้เงินกู้ยืมนับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้ครั้งแรกมาคำนวณตัดชำระหนี้ใหม่ โดยนำเงินไปตัดชำระต้นเงินเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ย หรือประโยชน์อื่นใด และเงินเพิ่มตามลำดับ ในการคำนวณตัดชำระหนี้ใหม่ดังกล่าวกำหนดอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี และในกรณีผิดนัดชำระหนี้คิดเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 0.5 ต่อปี

3.8 โครงการเกียรติบัตรผู้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาดีเด่น (กยศ.) โดยมอบเกียรติบัตรให้กับผู้กู้ยืมที่มีประวัติการชำระหนี้ที่ดี

 3.9 โครงการนำร่องการให้กู้ยืมเงินในหลักสูตรอาชีพหรือเพื่อยกระดับทักษะ สมรรถนะ หรือการเรียนรู้ (Reskill/Upskill) (กยศ.) เพื่อให้การให้กู้ยืมเงินในหลักสูตรอาชีพระยะสั้น โดยนำร่องด้วยการให้กู้ในสาขาด้านการบริบาล

3.10 มาตรการจัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน และการยกเว้นค่าธรรมเนียมคำขอจัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์: สำนักงาน ก.ล.ต.) ผู้ลงทุน Thai ESG ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป ได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อยภาษีวงเงิน 100,000 บาท/ปี สำหรับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่ประสงค์จัดตั้งกองทุนรวม Thai ESG ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมคำขอจัดตั้ง สำหรับคำขอที่ยื่นระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2567

3.11 มาตรการปรับปรุงหลักเกณฑ์กองทุนรวมอีทีเอฟเพื่อเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้แก่ผู้ลงทุน (สำนักงาน ก.ล.ต.) โดยออกประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกองทุนรวม ETF เพื่อให้มีความหลากหลายและรองรับความต้องการของผู้ลงทุน โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2566

3.12 โครงการ IPO Fact Figure (สำนักงาน ก.ล.ต.) โดยมีการปรับปรุงเว็บไซต์เพื่อให้มีศูนย์รวมข้อมูลสถิติหุ้น IPO และเริ่มเผยแพร่ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566

3.13 มาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบ filing) และแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีสำหรับบริษัทที่เปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (สำนักงาน ก.ล.ต.) สำนักงาน ก.ล.ต. ออกประกาศเพื่อเป็นมาตรการสร้างแรงจูงใจให้แก่บริษัทที่เสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน และบริษัทจดทะเบียน โดยขยายระยะเวลาของมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมในการยื่น filing และแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีสำหรับบริษัทที่เปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมีการจ้างผู้ทวนสอบในการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ออกไปอีก 3 ปี รวมทั้งขยายขอบเขตการลดหย่อนค่าธรรมเนียมให้รวมถึงค่าใช้จ่ายจากการจ้างที่ปรึกษาในการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่บริษัทนำมาขอลดหย่อนค่าธรรมเนียมจะต้องเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้ทวนสอบและ/หรือที่ปรึกษาในการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อปี โดยประกาศมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567

3.14 โครงการ “การลดข้อจำกัดการลงทุนในโทเคนดิจิทัลของผู้ลงทุนรายย่อย” (สำนักงาน ก.ล.ต.)โดยสำนักงาน ก.ล.ต. จะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่อ้างอิงหรือมีกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์ (real-estate backed ICO) หรือมีกิจการโครงสร้างพื้นฐานหรือกระแสรายรับจากกิจการโครงสร้างพื้นฐานเป็นทรัพย์สินอ้างอิง (Infra-backed ICO) โดยยกเลิกการจำกัดการลงทุนของผู้ลงทุนรายย่อยต่อรายต่อการเสนอขายโทเคนดิจิทัลดังกล่าว จากเดิมกำหนดให้ไม่เกินรายละ 300,000 บาท คาดว่าจะมีผลใช้บังคับในเดือนมกราคม 2567

3.15 โครงการกรมธรรม์ประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) สำหรับเทศกาลปีใหม่ 2567 (สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย: สำนักงาน คปภ.) โดยมี 2 ประเภทกรมธรรม์ ได้แก่ (1) กรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มปีใหม่เที่ยวได้อุ่นใจ (ไมโครอินชัวรันส์) ให้ความคุ้มครองสูงสุด 100,000 บาท คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล 5,000 บาท และ (2) กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัย ปีใหม่สุขใจ ฝากบ้านไว้กับประกันภัย (ไมโครอินชัวรันส์) ให้ความคุ้มครองสูงสุด 30,000 บาท คุ้มครองโจรกรรม 5,000 บาท ให้ความคุ้มครองระยะเวลา 30 วัน เบี้ยประกันภัย 10 บาท

โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวข้างต้นเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งสร้างความสุขและขวัญกำลังใจให้ประชาชนคนไทยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ที่ใกล้จะถึงนี้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ข้อ 1.1 ติดต่อสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3521, 3526 และ 3510

ข้อ 1.2 ติดต่อ สศค. โทร. 02 273 9020 ต่อ 3525, 3529 และกรมสรรพากร โทร. 1161, 0 2272 8090

ข้อ 2.1-2.2 ติดต่อธนาคารออมสิน โทร. 0 2299 8000 หรือ 1115

ข้อ 2.3-2.8 ติดต่อ ธ.ก.ส. โทร. 0 2555 0555

ข้อ 2.9 ติดต่อ ธอส. โทร. 0 2645 9000

ข้อ 2.10-2.13 ติดต่อ ธพว. โทร. 0 2265 3000 หรือ 1357

ข้อ 2.14-2.15 ติดต่อ ธสน. โทร. 0 2169 9999 หรือสายด่วน Hotline 02 037 6099

ข้อ 2.16-2.17 ติดต่อ ธอท. โทร. 0 2264 3345 หรือ 1302

ข้อ 2.18-2.19 ติดต่อ บสย. โทร. 0 2890 9999

ข้อ 3.1 ติดต่อกรมธนารักษ์ โทร. 0 2281 0345 ต่อ 1202

ข้อ 3.2 ติดต่อ บสอ. โทร. 0 2055 5999 ต่อ 3232

ข้อ 3.3 ติดต่อองค์การสุรา กรมสรรพสามิต โทร. 0 3854 1004 ต่อ 1010

ข้อ 3.4 ติดต่อการยาสูบแห่งประเทศไทย โทร. 0 2229 1651

ข้อ 3.5 ติดต่อ กอช. โทร. 0 2049 9000   

ข้อ 3.6-3.9 ติดต่อ กยศ. โทร. 0 2016 4888 ต่อ 557, 601 และ 0 2016 2600 ต่อ 677, 698

ข้อ 3.10-3.14 ติดต่อสำนักงาน ก.ล.ต. โทร. 0 2263 6246, 0 2033 9945, 0 2263 6109, 0 2263 6050, 0 2033 4611

ข้อ 3.15 ติดต่อสำนักงาน คปภ. โทร. 0 2515 3999


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ธรรมะกับประชาธิปไตยไยห่วงใยสถาบันศาสนา

การวิเคราะห์ประชาธิปไตยในปริบทพุทธสันติวิธีชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการนำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้ในระบอบประชาธิปไตย เพื่อลดความขัดแย้ง สร้างควา...