เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแนวทางการแก้ไขหนี้ทั้งระบบ ดังนี้
1. ให้ความเห็นชอบมาตรการ จำนวน 3 มาตรการ ดังนี้ 1) มาตรการช่วยเหลือพักหนี้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) 2) มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือและรองรับลูกหนี้นอกระบบ และ 3) มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 ตามโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. อนุมัติงบเงินงบประมาณ จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่ 1) มาตรการช่วยเหลือพักหนี้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) จำนวน 400 ล้านบาท 2) มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือและรองรับลูกหนี้นอกระบบ จำนวน 4,500 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 4,900 ล้านบาท และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
“การแก้ไขหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ จะช่วยแบ่งเบาภาระหนี้ของลูกหนี้ในระบบ ช่วยเหลือให้ลูกหนี้ที่มีหนี้นอกระบบสามารถกลับเข้ามาในระบบได้ และป้องกันไม่ให้ลูกหนี้ที่มีหนี้ในระบบกลับไปเป็นหนี้นอกระบบได้อีก สามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ช่วยให้ประชาชนสามารถผ่อนชำระหนี้ได้สอดคล้องกับศักยภาพในการหารายได้ พร้อมทั้งผลักดันให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้อย่างเหมาะสมเป็นธรรม” นายคารม ย้ำ
รัฐบาลเดินหน้าแก้หนี้ทั้งระบบอย่างบูรณาการ
ทั้งนี้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ย้ำถึงนโยบายของรัฐบาลในการเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้สินทั้งระบบให้กับประชาชนทุกกลุ่มทั้งภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ซึ่งปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาเรื้อรังที่อยู่กับสังคมไทยมายาวนานทั้งปัญหาหนี้นอกระบบและในระบบ โดยการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบของรัฐบาลครั้งนี้ได้มีการกำหนดแนวทางในการดำเนินการอย่างชัดเจนและเป็นการบูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้เป็นไปอย่างยั่งยืน และไม่กลับมาเป็นหนี้ซ้ำอีก โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงถึงการเดินหน้าแก้หนี้ทั้งระบบและแนวทางมาตรการแก้หนี้แต่ละกลุ่มที่ครอบคลุมประชาชนทุกภาคส่วน ดังนี้
กลุ่มที่ 1 คือ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยกลุ่มนี้จะได้รับการช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้เสีย หรือได้รับการพักชำระหนี้เพื่อผ่อนปรนภาระเป็นการชั่วคราว สำหรับลูกหนี้รายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่มีหนี้เสียกับธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. รัฐบาลจึงกำหนดให้ธนาคารทั้งสองแห่งติดตามทวงถามหนี้ตามสมควร และให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้กลุ่มนี้ เพื่อให้ไม่เป็นหนี้เสียอีกต่อไป โดยคาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในกลุ่มนี้ ได้ประมาณ 1.1 ล้านราย ส่วนลูกหนี้ SMEs สถาบันการเงินของรัฐจะเข้าไปช่วยเหลือผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ SMEs ที่อยู่กับแบงก์รัฐ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งจะช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs เหล่านี้ ได้ครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 99 ของจำนวนลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียในกลุ่มนี้ นับเป็นจำนวนกว่า 100,000 ราย
กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมาก จนเกินศักยภาพในการชำระคืนหนี้ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อยได้แก่ กลุ่มข้าราชการ ครู ตำรวจ ทหาร ที่มักจะมีหนี้กับสถาบันการเงิน และกลุ่มที่เป็นหนี้บัตรเครดิต โดยกลุ่มข้าราชการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำรวจ ทหาร จะได้รับการช่วยเหลือผ่าน 3 แนวทางด้วยกัน แนวทางแรก คือการลดดอกเบี้ยสินเชื่อไม่ให้สูงจนเกินไปแนวทางที่สอง จะต้องโอนหนี้ทั้งหมดไปไว้ในที่เดียว เช่น ที่สหกรณ์ เพื่อให้การตัดเงินเดือนนำมาชำระหนี้ทำได้สะดวก และสอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ และแนวทางสุดท้าย คือ บังคับใช้หลักเกณฑ์การตัดเงินเดือน ให้ลูกหนี้มีเงินเดือนเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งทั้งสามแนวทางนี้จะทำพร้อมกันทั้งหมด
กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง (เช่น เกษตรกร ลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)) จะได้รับการช่วยเหลือ โดยการพักชำระหนี้เป็นการชั่วคราว การลดดอกเบี้ย หรือลดเงินผ่อนชำระในแต่ละงวดให้ต่ำลง เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ เช่น ลูกหนี้เกษตรกร โดยลูกหนี้กลุ่มนี้ รัฐบาลได้มีโครงการพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรแล้ว โดยพักทั้งหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งโครงการนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมการพักหนี้กว่า 1.5 ล้านราย เป็นต้น
กลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มที่เป็นหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินของรัฐมาเป็นระยะเวลานาน กลุ่มนี้จะโอนไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินของรัฐ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งจะทำให้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้เป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น คาดว่ามาตรการนี้จะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มนี้ได้ประมาณ 3 ล้านราย
โฆษกรัฐบาลย้ำว่า มาตรการและแนวทางการแก้หนี้แต่ละกลุ่มดังกล่าวของรัฐบาลเป็นการดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อให้ผู้ที่เป็นหนี้ได้รับสินเชื่ออย่างเหมาะสมและเป็นธรรม และให้มีการบริหารจัดการด้านการเงินของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพไม่ให้กลับไปเป็นหนี้อีก ทั้งนี้การเดินหน้า “แก้หนี้ทั้งระบบ” ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติตามนโยบายรัฐบาลนั้นจะสามารถปลดล็อกชีวิตคนไทยได้ โดยครอบคลุมประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ที่ได้รับประโยชน์จากการแก้หนี้ทั้งระบบ เช่น (1) เกษตรกร โดยพักหนี้เกษตรกรทั้งต้นและดอก ในวงเงินไม่เกิน 300,000 บาทต่อราย เป็นเวลา 3 ปี ครม. มีมติเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 ดำเนินการได้เลย (2) นักศึกษา ลดดอกเบี้ย ปรับแผนจ่ายเงิน ปลดผู้ค้ำประกัน ถอนอายัดบัญชี ผ่านคณะกรรมการ กยศ. แล้วดำเนินการได้เลย (3) ครู และข้าราชการ หักไม่เกิน 70% ของเงินเดือน และจัดทำสวัสดิการเงินกู้ข้าราชการ (ดอกเบี้ยต่ำ) ดำเนินการได้เลย (4) บัตรเครดิต ปรับโครงสร้างหนี้ผ่าน “คลินิกแก้หนี้” ผ่อนได้นานถึง 10 ปี ลดดอกเบี้ย เหลือ 3-5 % ต่อปี ดำเนินการได้เลย (5) สินเชื่อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ กำหนดให้สัญญาเช่าซื้อรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์เป็นสัญญาควบคุม สคบ. ดำเนินการได้เลยตามประกาศ 12 ตุลาคม 2565 (6) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ยกเลิกสถานะหนี้เสียสำหรับวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และอนุญาตให้ปรับโครงสร้างหนี้ (7) หนี้นอกระบบ ให้นายอำเภอ และตำรวจในท้องถิ่นช่วยเจรจาประนอมหนี้สำหรับผู้ที่จ่ายเงินต้นครบถ้วนแล้ว เริ่มลงทะเบียน 1 ธันวาคม 2566 และ (7) หนี้ NPL ตั้งบริษัท JOINT VENTURE ระหว่างแบงก์รัฐกับบริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อรับโอนหนี้เสีย นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำแนวทางสร้างความรู้ทางการเงิน/ส่งเสริมการออม เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ให้สำเร็จและมีผลอย่างยั่งยืน โดยให้หลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมกันเสริมความรู้และพัฒนาทักษะการบริหารจัดการเงินให้แก่ประชาชน หรือจัดให้มีระบบการเงินชุมชนเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยต่อไป เช่น พัฒนาทักษะการบริหารจัดการเงิน และให้ความรู้ทางการเงิน ผู้กู้ กยศ. ต้องผ่านการอบรมการบริหารจัดการหนี้ เพิ่มบุคลากรที่จะสามารถให้คำแนะนำเรื่องการแก้หนี้ หรือไกล่เกลี่ยหนี้ และส่งเสริมวินัยการออม-บริการ “ออมเพลิน”
“ประโยชน์มหาศาลที่จะเกิดขึ้น หากการแก้หนี้ทั้งระบบสัมฤทธิ์ผลตามแผนงานของรัฐบาลคือจะสามารถดึงเม็ดเงินกำลังซื้อกลับคืนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างน้อย 500,000 ล้านบาท และจะสามารถฟื้นคืนศักยภาพการผลิตของภาคประชาชนกลับคืนมาได้เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 5 ล้านคน” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น