วันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2566

"พวงเพ็ชร" ประสานสำนักพุทธฯคุย "น้องไนซ์" ชี้สั่งหยุดพฤติกรรมไม่ได้ อาจารย์ "มจร" เปิดพระไตรปิฏก "เชื่อมจิต" มีหรือไม่



 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรี​ประจำ​สำนัก​นายก​รัฐมนตรี​ กล่าวถึงกรณี น้องไนซ์ เชื่อมจิต เด็กอายุ 8 ขวบ ถูกอ้างเป็นร่างองค์เพชรภัทรนาคานาคราช ร่างองค์ใหม่ของพระพุทธเจ้า มาโปรดสัตว์ เพื่อเอาศีลเอาธรรมเผยแผ่ ว่า ได้สั่งการให้สำนักพุทธศาสนา​(พศ.)และพระสงฆ์ เข้าไปดูแลและพูดคุยกับน้องไนซ์ เพราะสิ่งที่น้องพูดไม่ตรงกับหลักคำสอนของ​พุทธศาสนา

“หากพบว่ามีการหลอกลวงก็คงต้องเข้าไปคุยก่อนเบื้องต้น และเท่าที่ทราบเจ้าตัวอ้างเป็นพญานาค แต่พญานาคเขาไม่ได้มีการให้คำสอน และมันก็ไม่ใช่หลักของศาสนาพุทธ”รัฐมนตรี​ประจำ​สำนัก​นายก​รัฐมนตรี กล่าว

รัฐมนตรี​ประจำ​สำนัก​นายก​รัฐมนตรี กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังตรวจสอบไม่มีการกระทำผิดกฎหมาย จึงไม่สามารถสั่งระงับยับยั้งกิจกรรมต่างๆได้ และการที่คนเอาเงินไปให้ ก็เป็นการไปทำบุญกับเขาเอง

อาจารย์ "มจร" เปิดพระไตรปิฏก "เชื่อมจิต" มีหรือไม่

ดร.อธิเทพ ผาทา  คณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ได้โพสต์ข้อความอธิบายเรื่อง “การเชื่อมจิต” ในเฟชบุ๊คส่วนตัว Naga King ว่า  เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับคำที่เด็กที่สมมติตัวเองว่าเป็นพระพุทธเจ้าได้กล่าวเอาไว้ว่า “ในสมัยพุทธกาลก็มีการใช้จิตติดต่อกัน หรือสนทนากันทางจิตที่น้องคนนั้นใช้คำว่า”การเชื่อมจิต” ซึ่งการอธิบายของน้องเห็นว่าตนเองนั้นสามารถเชื่อมจิตกับสานุศิษย์ได้ ซึ่งคำที่น้องใช้นั้นไม่มีปรากฏในพระไตรปิฎก แต่พระไตรปิฎกก็มีการบันทึกพุทธพจน์เอาไว้ โดยเฉพาะในเรื่องนี้พระพุทธองค์ทรงใช้คำว่าเป็น “การเข้าอาเนญชสมาธิ ” ไม่ใช้คำว่าการเชื่อมจิตแต่อย่างใด

คำว่า “อาเนญชสมาธิ”นี้ในคัมภีร์อธิบายว่า อาเนญชสมาธิ หมายถึง สมาธิอันสัมปยุตด้วยอรหัตตผลมีฌานที่ ๔ เป็นพื้นฐาน อาจารย์บางพวกกล่าวว่ามีอรูปฌานเป็นพื้นฐาน เหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงเข้าอาเนญชสมาธิ เพราะทรงประสงค์จะแสดงว่าภิกษุเหล่านั้นมีสัมโภคะเสมอกับพระองค์ และทรงประสงค์จะแสดงให้ปรากฏว่าภิกษุเหล่านั้นบรรลุพระอรหัตตผลโดยไม่ต้องทรงเปล่งพระวาจา (ขุ.อุ.อ. ๒๓/๑๙๕) ซึ่งในคัมภีร์ระบุชัดครับว่าการเข้าสมาธิแล้วใช้จิตในภาวะของการเข้าสมาธิสามารถพูดคุยกันได้

แต่…คนที่จะสามารถทำได้เช่นนี้จะมีเฉพาะพระอรหันต์เท่านั้นที่ทำได้ ส่วนบุคคลที่เป็นปุถุชนหรือมีระดับจิตที่ต่ำนั้นจะไม่สามารถทำได้เลย ภาษาคัมภีร์ท่านเรียกการเข้าสมาธินี้ว่าเป็นการสื่อสารกันทางจิตหรือการพูดคุยกันทางจิต ไม่ได้ใช้คำว่าการเชื่อมจิต เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้ถึงลักษณะของการพูดคุยหรือสื่อสารกันทางจิตระหว่างพระอรหันต์กับพระอรหันต์ด้วยกันนั้นก็จะมให้พิจารณาจากเรื่องราวในพระสูตร ดังต่อไปนี้

การสนทนาทางจิตของพระอรหันต์กับพระพุทธองค์

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปมีพระยโสชะเป็นหัวหน้าเดินทางมาถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นแลกำลังทักทายกับภิกษุเจ้าถิ่น ปูลาดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวรอยู่ จึงได้ส่งเสียงอื้ออึง

 ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเรียกพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ ภิกษุพวกไหนส่งเสียงอื้ออึงเหมือนพวกชาวประมงแย่งปลากัน”ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปเหล่านั้น มีพระยโสชะเป็นหัวหน้าเดินทางมาถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นแลกำลังทักทายกับภิกษุเจ้าถิ่น ปูลาดเสนาสนะเก็บบาตรและจีวรอยู่ จึงได้ส่งเสียงอื้ออึง พระพุทธเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงเรียกภิกษุเหล่านั้นมาหาเราว่า พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย”

 ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้วเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ ได้กล่าวกับภิกษุเหล่านั้นว่า “พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นรับคำของท่านพระอานนท์แล้วพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า

  “ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุอะไร เธอทั้งหลายจึงส่งเสียงอื้ออึงเหมือนพวกชาวประมงแย่งปลากัน” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้ ท่านพระยโสชะจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปเหล่านี้เดินทางมาถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับ เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นทักทายกับภิกษุเจ้าถิ่น ปูลาดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวรอยู่ จึงได้ส่งเสียงอื้ออึง พระพุทธเจ้าข้า”

 พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงไปเสียเถิด เราขับไล่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายไม่ควรอยู่ในสำนักของเรา”

 ภิกษุถูกขับออกไปจากสำนักของพระพุทธเจ้า

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้วพากันลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทแล้วทำประทักษิณ เก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรเที่ยวจาริกไปทางแคว้นวัชชีเที่ยวจาริกไปโดยลำดับจนถึงแคว้นวัชชีแล้วไปที่แม่น้ำวัคคุมุทา สร้างกุฎีมุงด้วยใบไม้เข้าอยู่จำพรรษาใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา

ครั้งนั้น ท่านพระยโสชะผู้เข้าจำพรรษาอยู่ด้วย ได้เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงมุ่งหวังประโยชน์ แสวงหาประโยชน์ ทรงอนุเคราะห์ อาศัยความอนุเคราะห์ จึงทรงขับไล่พวกเรา เอาเถิดท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ขอพวกเราจงอยู่อย่างที่พระผู้มีพระภาคทรงมุ่งหวังประโยชน์แก่พวกเราเถิด”

พระภิกษุปฏิบัติธรรมจนบรรลุพระอรหันต์

 ภิกษุเหล่านั้นรับคำของท่านพระยโสชะ แล้วก็ปลีกตัวไป ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ ภายในพรรษานั้นนั่นแล ทุกรูปก็ได้ทำให้แจ้งวิชชา๓ ประการ (คือ (๑) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (๒) ทิพพจักขุญาณ (๓) อาสวักขยญาณ (ขุ.อุ.อ. ๒๓/๑๙๓)

พระพุทธองค์ทรงทรายและตรัสเรียกให้เข้าเฝ้า ?

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคครั้นประทับอยู่ในกรุงสาวัตถีตามพระอัธยาศัยแล้วจึงเสด็จจาริกไปทางกรุงเวสาลี เสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงกรุงเวสาลี ประทับอยู่ณ กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลีนั้น

ขณะประทับอยู่ที่นั้น พระผู้มีพระภาคทรงมนสิการกำหนดจิตของภิกษุที่อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาด้วยพระทัย แล้วรับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า

“อานนท์ ทิศที่ภิกษุผู้อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาอยู่จำพรรษานี้ เป็นเหมือนเกิดแสงสว่าง เป็นเหมือนเกิดรัศมี ปรากฏแก่เรา เธอคงไม่รังเกียจที่จะไปเพื่อความสนใจของเรา อานนท์ เธอพึงส่งภิกษุผู้เป็นทูตไปพบภิกษุผู้อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาพร้อมกับสั่งว่า พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย พระศาสดามีพระประสงค์จะพบท่านทั้งหลาย”

ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่งถึงที่อยู่ และได้ส่งพระรูปนั้นไปพบภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาถึงที่อยู่แล้วบอกเรื่องนั้นแก่พระเถระกลุ่มนั้น

 ภิกษุเหล่านั้นรับคำของภิกษุนั้นแล้วเก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรพร้อมกับหายไปจากฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา ไปปรากฏเบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ณ กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน เหมือนคนมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น

พระพุทธองค์ทรงเข้าอาเนญชสมาธิ คุยกับพระอรหันต์ตลอดคืน

ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งเข้าอาเนญชสมาธิ ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า “บัดนี้ พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ด้วยวิหารธรรมไหนหนอ” ครั้นแล้ว ภิกษุเหล่านั้นก็ได้รู้ว่า “บัดนี้ พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ด้วยอาเนญช-วิหารธรรม” ทุกรูปจึงพากันนั่งเข้าอาเนญชสมาธิ

ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว ปฐมยาม-มัชฌิมยามและปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว ท่านพระอานนท์ก็ลุกจากที่นั่ง ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีผ่านไปแล้วปฐมยาม-มัชฌิมยามและปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว เข้ารุ่งอรุณ เริ่มสว่าง ภิกษุอาคันตุกะนั่งอยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงทักทายกับภิกษุอาคันตุกะด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูลอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคก็ยังประทับนิ่งอยู่

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคก็เสด็จออกจากสมาธินั้น รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ ถ้าเธอพึงรู้ไซร้ ความแจ่มแจ้งแม้นี้ก็ยังไม่ปรากฏชัดแก่เธอ อานนท์ เรากับภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านี้ทั้งหมดได้นั่งเข้าอาเนญชสมาธิ”

คำอธิบาย

จากพระสูตรนี้เราจะพบว่า คำว่า “การเชื่อมจิต”หากจะพิจารณาจากเนื้อหาคำที่น้องประดิษฐ์มาใช้ ในคัมภีร์ก็มีแต่ไม่ได้ใช้คำว่าการเชื่อมจิตแบบที่น้องว่า  หากแต่ในคัมภีร์ใช้คำว่าเป็นการเข้าสมาธิคุยกันเรียกสมาธินั้นว่า “อาเนญชสมาธิ ” ซึ่งสมาธินี้จะใช้ได้เฉพาะพระอรหันต์เท่านั้น พระอริยบุคคลต่ำกว่านี้ก็ใช้ยังไม่ได้ หรือใช้ได้แต่ก็ไม่เท่าเทียมกับพระอรหันต์  สำหรับปุถุชนนั้งหลายแม้แต่น้องก็ทำไม่ได้ ยิ่งน้องจะมาเชื่อมจิตกับคนทั่วไปแล้วยิ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หลักคัมภีร์ท่านระบุไว้เฉพาะพระอรหันต์ เท่านั้น ส่วนน้องจะมาบอกว่าทำได้นั้นก็ให้ว่าไปตามความเข้าใจของตัวน้องเองก็แล้วกันนะครับ

สำหรับผมการที่น้องพูดมาถึงขนาดนี้แล้ว ก็ไม่ต้องไปสงสัยอะไรมาก สรุปแล้วน้องเข้าใจและเชื่อว่า (๑) ตัวเองเป็นพระอรหันต์ หรือ (๒) น้องเป็นพระพุทธเจ้าที่เกิดมาแล้วมีสภาวะจิตที่อยู่ในระดับของพระอรหันต์หรือระดับของพระพุทธเจ้าเลยทีเดียว แหม…ถ้าเป็นพระผมปรับอาบัติปาราชิกน้องไปแล้วนะเนี่ยในฐานะอวดอุตริมนุสสธรรม เพราะมันเข้าเกณฑ์ของปาราชิกเลย 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์

  วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23: พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พระไตรปิฎกเล...