วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2561

เมล็ดพันธุ์แห่งสันติภาพสร้างสามเณรช่อสะอาด หวังเป็นต้นแบบสามเณรช่อสะอาดของประเทศไทย





วันที่ ๕ เม.ย.๒๕๖๑  พระปราโมทย์ วาทโกวิโท พระนิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผว่า  เป็นพระวิทยากรสร้างแรงบันดาลใจให้นาคสะอาดเพื่อเตรียม "ปั้นศาสนทายาท ประกาศธรรม ค้ำชูพุทธศาสตร์" ซึ่งจัดโดยหมู่บ้านท่าคอยนาง ตำบลตูมสวาย อำเภอปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ หลักสูตรสันติศึกษา วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ(IBSC) มหาจุฬาฯ มูลนิธิต่อต้านการทุจริต และมูลนิธิพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ ร่วมกันผนึกกำลังจัดกิจกรรมบรรพชาสามเณรช่อสะอาดเย็นยิ้ม รุ่นที่ ๓ ภายใต้การนำของพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ผู้อำนวยการ  IBSC  ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา  มจร ในฐานะผู้อำนวยการโครงการสามเณรช่อสะอาด บ้านท่าคอยนาง จ.ศรีสะเกษ




เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนของชาติได้ตระหนักรู้ถึงความซื่อสัตย์สุจริต มีชีวิตที่สะอาด ด้วยกาย พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ห่างไกลยาเสพติด มีชีวิตที่ชุ่มเย็น พร้อมทั้งมีจิตสาธารณะยิ้มรับโอกาสในการพัฒนาชุมชนและสังคม สำหรับการบรรพชาครั้งนี้ มีกุลบุตรขอบรรพชา จำนวน ๙๐ คน ซึ่งจะใช้ชีวิตเป็นนาคเพื่อขัดเกลา ๖ วัน และทำพิธีบรรพชาในวันที่ ๖ โดยมีพระราชกิตติรังสี เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษเป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วจะออกจาริกเดินธรรมยาตราเพื่อสันติภาพ หรือเดินธุดงค์ในเขตตำบลตูมสวาย อำเภอปรางค์กู่ระหว่าง ๖-๑๕ เมษายน ๒๕๖๑ 



วัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการจัดกิจกรรมโครงการบรรพชาสามเณรช่อสะอาดเย็นยิ้ม พระอาจารย์หรรษา กล่าวว่า เป็น "การเสาะแสวงหา แล้วปั้นศาสนทายาท เพื่อให้ประกาศศาสนา และรักษาพุทธศาสน์" การที่จะนำพุทธศาสน์สู่อินเตอร์จะต้องมีการวางแผนการเสาะแสวงหากุลบุตร แล้วฝึกฝนพัฒนา ให้ศึกษาในระดับอินเตอร์ เพื่อจะได้เข้าใจวิถีอินเตอร์ แล้วให้เผยแผ่พระพุทธศาสนาในระดับอินเตอร์ต่อไป อันเป็นการส่งเสริมและพัฒนากุลบุตรแบบมีแผนการเป็นขั้นเป็นตอน เชื่อมั่นว่าภายใน ๑๐ ปี สามเณรที่เกิดจากผลผลิตของโครงการฯ จะสามารถจบปริญญาเอก แล้วออกมาทำงานรับใช้พระพุทธศาสนาในระดับชุมชน และเวทีระดับนานาชาติ



ทำไมจึงต้องพัฒนาสามเณรช่อสะอาด พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ" แปลว่า "ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย ผู้ฝึกตนดีแล้ว เป็นผู้ประเสริฐที่สุด"เด็กยุวชนจะแปลงร่างเป็นสามเณรช่อสะอาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็เพราะการฝึก ยิ่งจะเป็นสามเณรช่อสะอาดด้วยแล้ว จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องสะอาดทั้งกาย พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ด้วยเหตุนี้ กรอบแนวคิดหลักที่ใช้เป็นหลักสูตรพัฒนาสามเณรช่อสะอาด จึงประกอบด้วย ๔ มิติ คือ มิติการพัฒนากาย มิติการพฤติกรรมสะอาด มิติการพัฒนาจิตใจ และมิติการพัฒนาปัญญาซึ่งเป้าหมายหลักของการพัฒนาและฝึกอบรมสามเณร (Learning Outcome) นั้น คือ ผลจากการพัฒนาตามหลักสูตรนั้น "เราต้องการสามเณรช่อสะอาด" ซึ่งสามเณรช่อสะอาดตามหลักสูตรจึงต้องเป็นสามเณรที่ยึดมั่นใจในความซื่อสัตย์สุจริต ไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุข มีชิวิตที่สะอาด ทั้งกาย พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา มีจิตสาธารณะ มุ่งมั่นในสันติวิถี และยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต 



พระอาจารย์หรรษากล่าวด้วยว่า เมื่อสามเณรได้รับการพัฒนาและฝึกอบรมตลอดระยะเวลา ๑๕ วัน เชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า ชุมชนและสังคม จะได้ยุวชนรุ่นใหม่ ที่ถูกหล่อหลอมให้เกลียดและกลัวการทุจริต มีชีวิตที่ยึดมั่นใจสุจริตวัฒนธรรม น้อมนำศาสตร์พระราชาที่ว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิต และมีจิตสาธารณะพร้อมช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในชุมชนและสังคมตามสันติวิถีต่อไป ด้วยเหตุนี้ ความสะอาดในชุมชนและสังคม จึงเริ่มต้นจากสามเณรช่อสะอาดเหล่านี้ ที่จะเป็นพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงชุมชนฐานรากกว่า ๗๐,๐๐๐ หมู่บ้านทั่วทั้งประเทศไทย 



จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่ชุมชนและสังคมจะไม่ร่วมแรงแรงร่วมใจสนับสนุนการฝึกฝนและพัฒนายุวชนเหล่านี้ให้เป็นสามเณรช่อสะอาด เพื่อกลับออกมาเป็นยุวชนช่อสะอาดที่ทรงคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศ เพราะในที่สุดแล้ว ชุมชนและสังคมก็จะตกอยู่ภายใต้เงื่อมมือของยุวชนเหล่านี้ ในขณะที่ยุวชนกำลังแปลงร่างสู่สามเณรช่อสะอาด ขอท่านได้โปรดชื่นชม กระตุ้น และให้แรงบันดาลใจด้วยวิถีอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างพลังยุวชนช่อสะอาดให้ประเทศไทยใสสะอาดต่อไปตราบนิจนิรันดร์ 



พระอาจารย์หรรษายังระบุด้วยว่า  ใจของยุวชน ซึ่งเป็นวัยที่มีจิตใจอ่อน จิตใจมักจะหายไปไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เพราะโลดแล่นและท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ เข้าทำนอง "สมาธิสั้น" ฉะนั้น การให้เด็กๆ แรกฝึกหัดสมาธิหันมากำหนดเพื่อให้รู้เท่า และรู้ทันกาย เวทนา จิต และธรรมโดยแยบคาย จึงเป็นเรื่องที่ยุ่งยากสำหรับเด็กวัยนี้ ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องหาเครื่องมือ หรือปัจจัยภายนอกมาช่วยกระตุ้นเตือนให้เด็กๆ ตรึงจิตไว้กับปัจจุบันธรรม จนกว่าจะเกิดความชำนาญเพียงพอต่อการเข้าไปกำหนดกาย เวทนา จิต และธรรมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น



"ขันสติ" จึงถือกำเนิดเกิดขึ้นด้วยประการนี้ ขันนี้มาจากไหน?!? มาจากกระติกน้ำใบเล็กๆ ที่เด็กๆ จะต้องหิ้วไปในสถานที่ต่างๆ ในขณะเดินธรรมยาตรา หรือเดินธุดงค์ไปตามชุมชนต่างๆ เมื่อขันอยู่กับตัวจึงนำขันใบเล็กๆ ที่มีน้ำหนักค่อนข้างเบา มาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการฝึกสติ เพื่อให้เกิดสมาธิที่แข็งกล้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง



จาก "ขันสติ" ไปสู่ "ขันสมาธิ" จึงเหมาะสำหรับเด็กๆ ที่จิตใจยังไม่นิ่ง เมื่อจิตใจไม่นิ่งเพียงพอจึงส่งผลต่อกายที่ขยับเขยื่อนเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่จะกระทบตามมาคือ "ขันน้ำน้อย" ที่คอยสั่นไหว เพราะพลังของจิตที่ไม่สงบ ภาพการไหวของขันน้ำน้อย จึงสะท้อนให้เห็นถึงสภาพของใจที่ไม่สงบนิ่ง ฉะนั้น ถ้าอยากจะให้ขันน้ำนิ่งสงบ จึงต้องกลับไปบริหารจัดการจิตใจให้สงบเสียก่อนเป็นอันดับแรก แล้วบรรยากาศของความนิ่งสงบจะย้อนกลับมาหากายที่ไม่สั่น และขันน้ำที่ไม่ไหวติงในที่สุด



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"วิเคราะห์ โลภสูตร-โทสสูตร-โกธสูตร-โมหสูตร

    ช่วยเขียนบทความทางวิชาการ เรื่อง "วิเคราะห์ โลภสูตร-โทสสูตร-โกธสูตร-โมหสูตร  ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 25  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่  17  ขุ...