วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2561

หยุดสุดโต่ง!พระแนะทางสร้างสันติสุขภายในกับชีวิต



หยุดสุดโต่ง!พระแนะทางสร้างสันติสุขภายในกับชีวิต   : สาราณียธรรม โดยพระอาจารย์ปราโมทย์ วาทโกวิโท วิทยากรกระบวนการธรรมะโอดี  นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร 

การจะพัฒนาวิถีพุทธให้เกิดความเบ่งบานขึ้นภายในจิตใจนั้น จะต้องพัฒนางานในก่อนด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งเป็นฐานสำคัญของวิถีพุทธ เพื่อสร้างสันติสุขภายในใจก่อนจะออกไปทำงานนอก ในปัจจุบันนี้เรามีข้อมูลข่าวสารแห่งความเกลียดชังเป็นจำนวนมากจากสื่อต่างๆ จึงต้องมีสติในการพิจารณา ซึ่งตามแนวทางพระพุทธศาสนาให้ความหมายของคำว่าสันติ (Peace)ซึ่งมี 2 ความหมาย คือ สันติในเชิงลบหมายถึง สภาวะที่ไม่มีสงครามและความขัดแย้ง และสันติในเชิงบวก หมายถึง สภาวะที่มีความรัก สามัคคี และความยุติธรรม เพราะ"ถ้าปราศจากความยุติธรรมจะเกิดความขัดแย้ง"สังคมใดไม่มีความชอบธรรม ไม่เคารพกันก็มีความขัดแย้ง 

ซึ่งสามารถสอดคล้องกับอริยสัจ 4 ได้แก่ "ทุกข์" เป็นความขัดแย้ง "สมุทัย" เป็นสาเหตุความขัดแย้ง "นิโรธ" เป็นการยุติความขัดแย้ง และ "มรรค" สันติวิธีเป็นสันติวิธี สันติวิธีเป็นมรรค เวลาวิเคราะห์ความขัดแย้งนำอริยสัจมาเป็นกรอบจะชัดเจนมาก แม้แต่นิพพาน เรียกว่า ทุกฺขนิโรธ ความดับทุกข์ เป็นบรมสุข นิพพานเป็นบรมสุข มีภาษาบาลีคือ "อาโรคฺยปรมา ลาภา สนฺตุฎฺฐิปรมํ ธนํ วสฺสาสปรมา ญาติ นพฺพานํ ปรมํ สุขํ " ซึ่งความสงบด้วยการกดเอาไว้ สงบจริงเพราะกดไว้ด้วยอำนาจ ด้วยอะไรก็ตาม แบบนี้ถือว่าเป็นสันติภาพหรือไม่ ? คำตอบคือ ยังไม่เป็นสันติภาพเพราะเป็นการกดเอาไว้เท่านั้น 

ในธรรมบทกล่าวว่า นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี เป็นสุดยอดของพระพุทธศาสนา ซึ่งความจริงสุขอย่างอื่นก็เป็นสุขเหมือนกัน แต่พระนิพพานเป็นบรมสุข โดยเป้าหมายของพระพุทธศาสนา คือ "สันติ" สรุป สันติ คือ ไม่มีความขัดแย้ง เป็นความสุขสงบ เชื่อมกับ คำว่า"สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี" เป็นสุขภายในของเราเอง ส่วนคำว่า สุขา สังฆัสสะ สามัคคี ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะนำสุขมาให้ เป็นความสุขภายนอก เพราะต้องเกี่ยวเนื่องกับคนอื่น 

คำว่า สันติ มี 2  คือ "อัชฌัตติกสันติ ความสงบภายใน" และ "พาหิรสันติ ความสงบภายนอก" และขยายกว้างออกไปอีก 3 ระดับ คือ "สันติภาพภายในตนเอง (to live in harmony with oneself) สันติภาพกับคนอื่น (with others) และสันติภาพกับธรรมชาติ (with the natural environment)" อยู่ร่วมกันอย่างสันติกับธรรมชาติ พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า " ยสฺส รุกขสฺส ฉายาย นิสีเทยฺย สเยยฺย วา น ตสฺส สาขํ ภญฺเชยฺย มิตฺตทุฏฺโฐ หิ ปาปโก แปลความว่า บุคคลนั่งหรือนอนในร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงหักก้านรานกิ่งและใบของต้นไม้นั้นเพราะผู้ประทุษร้ายมิตร เป็นคนเลวทราม" ย้ำเตือนเสมอว่า " เป็นมิตรกับธรรมชาติ " คำว่า Peace ประกอบด้วย 

1)อยู่อย่างกลมกลืนสันติกับภายในจิตใจของตนเอง เป็นระดับตนเอง  2)อยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ เป็นสันติภาพระดับผู้อื่น  3)อยู่กับธรรมชาติอย่างสันติ เป็นสันติภาพระดับธรรมชาติ

ต้องมีจุดเริ่มของการพัฒนาด้วยคำกล่าวว่า "พัฒนาชาติให้เริ่มที่ประชาชน พัฒนาคนให้เริ่มที่ใจ จะพัฒนาอะไรให้เริ่มที่ตัวเราเองก่อน" จึงมีการประกาศบทนำแห่งธรรมนูญของยูเนสโกว่า...Since wars begin in the minds of men, it is in the minds of men that the defenses of peace must be constructed. ซึ่งสามารถแปลความว่า "เนื่องจากสงครามเริ่มต้นที่ใจของมนุษย์ ดังนั้นปราการแห่งสันติภาพ จึงต้องสร้างที่ใจของมนุษย์" จะสร้างสันติภาพต้องสร้างที่ใจของมนุษย์ ตรงกับคำสอนของพระพุทธศาสนาว่า "มโน ปุพพังคมา ธัมมา มโน เสฏฐา มโน มยา แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้ามีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ" 

เราจะพัฒนาใจต้องเริ่มจากอริยสัจ 4 เป็นกรอบในการศึกษา เริ่มจากทุกข์ เป็นสภาพที่ทนได้ยาก เราต้องนิยามความของทุกข์ให้ชัด "ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้" สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง ทุกอย่างเป็นสังขาร เหมือนแก้วแตก คือ สภาพทนอยู่ไม่ได้ ทำให้ผุพังไป ถูกบีบถูกคั้นเลยเป็นทุกข์ สังคมทะเลาะกัน บ้านเมืองขัดแย้งกัน จึงเป็นความทุกข์ สงครามกับความขัดแย้งมาจากอะไร สาเหตุมาจาก"สมุทัย เป็นสาเหตุความขัดแย้ง"คือ 1.อวิชชา /ทิฏฐิ เกี่ยวข้องกับอคติ รู้ในสิ่งที่ไม่ควรรู้ อคติต่อศาสนา เพราะอคติ อวิชชา ความรังเกียจทางศาสนา 2.ตัณหา เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการกระทำ 3.อุปาทาน มานะ ยึดมั่นในความเห็นของตนเอง ถือตัวโดยตัณหา(Libido Unconscious)มี 3 ประการ คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา เวลาเราอยากให้ใครทะเลาะกัน พูดใส่ในจิตไร้สำนึก พระพุทธศาสนาไม่เคยทะเลาะกับใครเลย ที่ขัดแย้งเพราะสุดโต่ง คือ พวกฉันเท่านั้น กลุ่มฉันเท่านั้น คำว่า "สุดโต่ง" ที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง และรุนแรง 

ดังนั้นเมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้นสิ่งเดียวที่จะทำให้เกิดสงบ ต้องหันหน้ามาคุยกัน หาหนทางจะอยู่ร่วมกันมากกว่าจะหาหนทางทำร้ายกัน ถ้าตั้งธงจะอยู่ร่วมกันก็ต้องคุยกัน แต่ถ้าตั้งธงจะทำร้าย ทำลายกัน ก็ไม่ต้องคุยกัน ใช้อำนาจใช้ความรุนแรงจัดการกันเลย ถามว่าอีกนานเท่าไหร่ถึงจะจบ ถ้ายังตามจองเวรกันอยู่ สิ่งที่ดีที่สุด คือ " หาจุดร่วมของทั้งสองฝ่าย " อย่างสันติสุข

จากแนวคิดดังกล่าวได้ทำไปถ่ายทอดโอกาสเป็นพระวิทยากรฝึกอบรมผู้บริหารและครูอาชีวศึกษาวิถีพุทธจากทั่วประเทศ ในโครงการพัฒนาผู้บริหารวิถีพุทธ ซึ่งการจะขับเคลื่อนวิถีพุทธสู่องค์กรจะต้องเริ่มต้นจากผู้บริหารและครู เพราะวิถีพุทธมี 2 ระดับ คือ ระดับส่วนตนและระดับส่วนร่วม จึงต้องพัฒนาตนก่อนถึงจะสามารถมีความเข้มแข็งในการไปพัฒนานักศึกษาและสังคมต่อไป ซึ่งหัวใจเป้าหมายสูงสุดของการทำวิทยาลัยวิถีพุทธเป็นการป้องกันภัยต่างๆ เพื่อให้ครูนักศึกษาสังคมปลอดภัยด้วยการผลิตคนดีออกสู่สังคม โดยใช้พระพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือ ซึ่งตรงกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาคือ ปธาน คือ ความเพียร ๔ ประการ ๑)สังวรปธาน คือเพียรระวังป้องกันไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้นในครูนักศึกษาและวิทยาลัยอาชีวศึกษา 2)ปหานปธานคือ เพียรละความชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว 3)ภาวนาปธาน คือเพียรให้กุศลความดีเกิดขึ้นในวิทยาลัย 4)อนุรักขนาปธาน คือ เพียรรักษากุศลความดีที่เกิดแล้วไม่ให้เสื่อมเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน 

ผู้นำวิถีพุทธที่จะประสบความสำเร็จนั้นจะต้องนั่งในหัวใจคน หัวใจเพื่อนร่วมงานโดยการใช้หลักของธรรมาธิปไตยในการบริหารองค์กร ใช้วิธีการทำงานแบบการจูงใจ ใช้ความนุ่มนวล ความรักความเมตตา ส่วนผู้นำที่ประสบความล้มเหลวจะนั่งบนหัวคน บนหัวเพื่อนร่วมงาน ใช้หลักอัตตาธิปไตย ยึดตนเองเป็นใหญ่ในการบริหารองค์กร ใช้วิธีการทำงานแบบยึดงานเป็นหลัก แข็งกระด้าง ขาดเสน่ห์ ไม่มีความนุ่มนวลในการบริหาร ผู้นำที่บริหารแล้วประสบความสำเร็จนั้นจะต้อง สร้างบริวารสมบัติมากกว่าสร้างโภคสมบัติ หมายถึง พัฒนาเพื่อนครูเพื่อนร่วมงานให้มีคุณภาพ เป็นเสนาที่มีคุณภาพเหมือนพระพุทธเจ้ามีพระโมคคัลานะ พระสารีบุตร มีความเชี่ยวชาญเรื่องต่างๆ ผู้นำที่ดีที่สุดต้องสามารถสร้างผู้นำที่เก่งกว่าตนเอง เป็นผู้นำรุ่นใหม่ ซึ่งผู้นำที่ประสบความสำเร็จจึงประกอบด้วย "จังหวะ เวลา เสนา จักขุมา ธรรมะ " ธรรมะหรือวิถีพุทธจึงเป็นพื้นฐานของทุกวิชาชีพ เพราะถ้าไร้ซึ่งคุณธรรมจริยธรรมจรรยาบรรณในการบริหารแล้ว ย่อมนำมาซึ่งความเสื่อมทั้งสิ้น 

ดังนั้น สิ่งที่ผู้นำองค์กรควรตระหนัก คือ สามารถจัดการชีวิตของตนเองทั้งเรื่องครอบครัวและการงานให้สมดุล เป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนในองค์กร ซึ่งท่ามกลางความขัดแย้งในองค์กรผู้นำต้องประสานให้คนในองค์กรอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ธรรมะของพระพุทธเจ้าที่ทรงเน้นเรื่องผู้นำ คือ ผู้นำต้องมี "นิสสยสัมปันโน เป็นการบริหารองค์กรแบบเน้นความสัมพันธ์มากกว่าใช้อำนาจ" ผู้บริหารวิถีพุทธจึงต้องใช้ธรรมะในการบริหารชีวิตและองค์กร



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กกต. ประชาสัมพันธ์วิธีการสมัครรับเลือกเป็น สว. ย้ำสามารถสมัครได้เพียงกลุ่มเดียวและอำเภอเดียว และจะถอนการสมัครไม่ได้

เพจเฟซบุ๊ก สำนักงาน คณะกรรมการการเลือกตั้ง โพสต์ภาพอินโฟกราฟฟิกข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการเอกสารประกอบการสมัครรับเลือกเป็น สว. โดยแจ้งเอกสารหลักฐ...