วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2561

Universities and Colleges: A Very Short Introduction หนังสือดีที่ผู้บริหารวิชาการต้องอ่าน



          
"นักวิชาการที่ดี อาจจะไม่ใช่นักบริหารวิชาการที่ดี นักวิชาการที่ยอดเยี่ยม อาจจะกลายเป็นบริหารวิชาการที่ยอดแย่ นักวิชาการที่เป็นนักพูดนักวิพากษ์วิจารณ์ อาจจะไม่ใช่นักบริหารวิชาการที่เป็นนักทำ" ประโยคเหล่านี้ คนที่ทำงานบริหารวิชาการในวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมักจะได้ยินการซุบซิบ (Gossip) อยู่เนืองๆ ทั้งในวงกาแฟ ทั้งในวงอาหาร ทั้งในวงเหล้า ทั้งในการซุบซิบนินทากันตามสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ต่างๆ ทั้งบนเวทีสัมมนาวิชาการในระดับชาติ และนานาชาติ

คำถามคือ ทำอย่างไร?? จึงจะตอบโจทย์เหล่านั้นได้ โจทย์ที่ถูกตั้งคำถามบนอคติ อาจจะไม่จำเป็นต้องสนใจใยดี แต่เมื่อหวนกลับมามองตัวเอง ทบทวนตัวเอง และวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง (Self-Criticism) อย่างรอบด้านแล้ว จำเป็นต้องใส่ใจ และให้ความสำคัญต่อคำถามเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักวิชาการที่ถูกอุปโลกน์ให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารวิชาการ

ศาสตร์แห่งการบริหารวิชาการมีแง่มุมที่ความแตกต่างจากการบริหารธุรกิจอย่างแน่นอน เพราะในขณะที่นักธุรกิจมุ่งบริหารไปที่ผลลัพธ์ คือ ความพึงใจที่มาพร้อมกับผลประโยชน์ที่เพิ่มสูงขึ้นของบริษัท และผู้ถือหุ้น แต่ในการบริหารวิชาการมุ่งผลลัพธ์ไปที่สติปัญญาเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ (Learning to know) รู้เพื่อทำ (Knowing to do) ทำเพื่อเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ (Doing to be) และสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข (Being to live together)

หนังสือเรื่อง "Universities and Colleges: A Very Short Introduction" แปลเป็นภาษาไทยตามสำนวนของผู้เขียนว่า "คัมภีร์ฉบับกระเป๋าสำหรับนักบริหารมหาวิทยาลัยและวิทยาลัย" ซึ่งเขียนโดย David Palfreyman & Paul Temple ที่เขียนขึ้นแล้วสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด (Oxford University Press) นำมาตีพิมพ์โดยมุ่งนักบริหารวิชาการ หรือนักวิชาการทั่วไปได้ศึกษาหาความรู้ แล้วนำมาบริหารมหาวิทยาลัย วิทยาลัย คณะ ภาควิชา และหลักสูตรต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ และสามารถอยู่รอดปลอดภัยในสังคมยุคดิจิทัล ที่คุกคาม ทำลาย และกลืนกิน (Disruption) สิ่งต่างๆ ที่ล้าสมัย และไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของชีวิตมนุษย์ในขณะนี้

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ได้แบ่งงานเขียนออกเป็น 7 บท คือ

(1) ความคิดที่เป็นอมตะ และอุดมคติที่เปลี่ยนไปของมหาวิทยาลัย 
The enduring idea and changing ideal of the universities
(2) มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยทำอะไร? 
What do universities and colleges do?
(3) รูปแบบสากลของอุดมศึกษา 
Global patterns of higher education
(4) มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยทำงานอย่างไร 
How universities and colleges work
(5) นิสิตนักศึกษา: เข้ามา เริ่มต้น และออกเดินทาง 
Students: getting in, getting on, getting out
(6) การทำงานในมหาวิทยาลัย และวิทยาลัย: เป็นสิ่งที่มากกว่างาน 
Working in universities and colleges: more than just job
(7) อนาคตมหาวิทยาลัยและวิทยาลัย 
Future for universities and colleges

ในแต่บทบทนั้น ผู้เขียนได้ตั้งประเด็นที่แหลมคมที่ทิ่มแทงใจ (ดำ) ของผู้จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา อันเป็นการเปิดทางให้ผู้บริหารวิชาการได้เข้าใจบทบาทที่ควรจะเป็น และแนวทางในการบริหารมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยไปสู่อนาคต ไม่ว่าจะเป็นทิศทางการสอนและการวิจัย คุณภาพ และมาตรฐาน เสรีภาพทางวิชาการ และที่สำคัญ คือ การนำเสนอทิศทางการบริหารมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยในรูปแบบของ The Innovative University ที่จะเป็นตัวสะท้อนความอยู่รอดของมหาวิทยาลัยในอนาคต โดยการนำเทคโนโลยีมาตอบโจทย์การจัดการศึกษาในอนาคต

โลกดิจิทัลจึงเป็นทั้งภัยคุยคุกคาม (Threat) และโอกาส (Opportunity) ของการพัฒนามหาวิทยาลัยและวิทยาลัย หมายความว่า ย่อมเป็นภัยคุกคามในฐานะที่มหาวิทยาลัยไม่สามารถปรับตัวให้สอดรับกับวิถีของมนุษย์ในยุคดิจิทัล หลักสูตรที่ไม่ทันสมัยและสอดรับกับบริบทของโลก และความต้องการของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไป ในขณะที่มนุษย์เกิดน้อยลง มหาวิทยาลัยต่างๆ มีสาขาวิชาที่ตอบสนองความต้องการเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกัน โลกดิจิทัลคือประตูแห่งโอกาสที่นำไปสู่การบริหารจัดวิชาการ โดยการต่อยอด และปรับทิศทางการบริหารหลักสูตรให้สอดรับกับความเป็นไปของโลก และวิถีชีวิตของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การเมือง และสังคมในยุคดิจิทัล

ชาล์ล ดาวิน กล่าวว่า "ผู้อยู่รอด ไม่ใช่ผู้ที่เข้มแข็งหรือฉลาดที่สุด แต่คือผู้ที่ปรับตัวเก่งที่สุด" หนังสือเล่มนี้ จึงเป็นถังความคิดอีกหนึ่งเล่ม ที่จะนำมาเป็นคู่มือในการนำมาหล่อเลี้ยงสมองเพื่อใช้ในการบริหารวิชาการของผู้บริหารในมหาวิทยาลัย และวิทยาลัยต่างๆ ที่มุ่งจะพัฒนาตัวเองให้ทันสมัย และสามารถอยู่รอดปลอดภัยในสังคมยุคดิจิทัล ที่กำลังจัดการศึกษาเพื่อตอบโจทย์ของมนุษย์ที่อาศัยอยู่สังคมโลกดิจิทัล

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส (Hansa Dhammahaso)
ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร
26 เมษายน 2561

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วธ.ร่วมสืบสานพิธีบรรพชาสามเณรและบวชศีลจาริณี ส่งเสริมให้เยาวชนเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567  นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ร่วมกับคณะสงฆ์ ...