วันพุธที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2561
พุทธะอิสระตาสว่างผอ.พศ.ไม่มีสิทธิปรับปาราชิกพระเถระ แถมตีความ5มาสกแค่300บาท
วันที่ 18 เม.ย.2561 พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม หรือหลวงปู่พุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย อ.กำแพงแสน จ.นครปฐมได้โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อธรรมะวันละคำว่า “วันนี้เสนอคำว่า ปาราชิก” คำว่า ปาราชิก เป็นชื่อของอาบัติอย่างหนักที่แก้ไขไม่ได้ ใช้ปรับอาบัติแก่ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เท่านั้น ซึ่งแปลว่า ผู้พ่าย หมายถึงภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิกแล้ว จักพ่ายแพ้ต่อมรรคผล นิพพาน และคุณอันยิ่งแห่งพรหมจรรย์นี้ ท่านเปรียบภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิก เหมือนกับต้นตาลยอดด้วน หรือ ต้นมะพร้าวที่ยอดและไส้ขาด รอวันตาย มิอาจเจริญเติบโตขยายพันธุ์ใดๆ ได้เลยในชาตินี้
มูลเหตุให้ภิกษุต้องอาบัติปาราชิกแล้วแก้ไขมิได้เลยมี 4 อย่างคือ 1. เสพเมถุน 2. ลักของเขา 3.ฆ่าสัตว์ในปาราชิกนี้ หมายเอาการฆ่ามนุษย์ 4.อวดอุตริมนุสธรรม ซึ่งเป็นธรรมอันยิ่งกว่าธรรมทั้งปวงที่ไม่มีในตนเอง อวดเพื่อต้องการให้ผู้ฟังหลงเชื่อ
ปาราชิกทั้ง 4 สิกขาบทหรือสี่ข้อนี้ ต้องประกอบไปด้วยสจิตตกะ คือ มีเจตนาที่จักกระทำ จะรู้หรือไม่รู้ก็ตามหากมีเจตนาเสพเมถุน หรือลักทรัพย์ หรือฆ่ามนุษย์ หรืออวดอุตริ ล้วนต้องอาบัติปาราชิก สิกขาบทใดสิกขาบทหนึ่ง แล้วต้องขาดจากความเป็นพระภิกษุทั้งนั้น
มีผู้ถามว่า กรณีทุจริตเงินทอนวัดก็ดี ทุจริตเงินอุดหนุนการศึกษาของคณะสงฆ์ก็ดี และทุจริตเงินงบประมาณสารพัดโครงการที่มีภิกษุเข้าไปพัวพันเกี่ยวข้องด้วยก็ดี การที่ท่าน ผอ.สำนักพุทธ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ปรับอาบัติปาราชิกแก่กรรมการมหาเถรสมาคมทั้ง 3 คนคือ 1.พระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดสามพระยา 2.พระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม 3.พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เช่นนี้จะถูกผิดอย่างไร
หากจะว่ากันตามหลักพระธรรมวินัยแล้ว ฆราวาสไม่สามารถปรับอาบัติปาราชิกแก่ภิกษุใดได้ แม้จักเป็นผู้รู้ธรรมรู้วินัยก็ตาม แต่ฆราวาสสามารถทำการโจทหรือโพนทะนา ประกาศ ประจาน บอกกล่าว แจ้งความ แก่คณะสงฆ์ว่าภิกษุรูปใดต้องอาบัติปาราชิก ด้วยมูลความผิดตรงกับสิกขาบทหรือข้อใด เมื่อพระภิกษุรูปใดทราบเรื่องแล้วต้องนำข้อกล่าวหาของฆราวาสผู้นั้นไปแจ้งแก่ประธานสงฆ์ หรือคณะสงฆ์ให้ได้ทราบ เพื่อทำการไต่สวน แต่หากพระภิกษุผู้ได้รับทราบการกล่าวหา ซึ่งอาจจะเป็นประธานสงฆ์ก็ดี คณะสงฆ์ก็ดี รู้เรื่องแล้ว กลับนิ่งเฉยไม่ทำการไต่สวน องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์ แก่ภิกษุผู้ปกปิดอาบัติชั่วหยาบของภิกษุอื่น เมื่อคณะสงฆ์หรือประธานสงฆ์ ทำการตรวจสอบทั้งฝ่ายผู้โจทและภิกษุผู้ถูกโจทแล้ว เห็นว่าผิดจริงก็จักปรับอาบัติปาราชิกแก่ภิกษุนั้น ในกรณีนี้ใช้เฉพาะภิกษุหน้าด้าน ไม่ยอมรับผิด จึงต้องเปิดศาลสงฆ์ไต่สวนและปรับอาบัติ
ซึ่งว่ากันตามความจริงแล้ว จะเป็นอาบัติปาราชิกหรือไม่นั้น มิใช่ที่ขบวนการไต่สวน แต่อาบัติปาราชิกเกิดขึ้นทันทีในขณะที่ภิกษุนั้นทำเหตุแห่งอาบัติปาราชิก ให้เกิดขึ้นจนเป็นผลสำเร็จเมื่อใด เมื่อนั้นก็ต้องอาบัติปาราชิกทันที โดยมิต้องมีใครโจทหรือรอผลไต่สวนด้วยซ้ำ
แต่ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการไต่สวน ก็เพราะภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิก ผู้นั้นไม่มีความละอาย เป็นผู้เก้อยาก ขาดความรับผิดชอบ ไม่แยกแยะดีชั่ว จึงต้องมีขบวนการไต่สวนเอาไว้ขจัดพวกอลัชชีหน้าด้าน อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี่ล่ะ มีผู้ถามต่อว่า กรณีลักทรัพย์ของกรรมการมหาเถรสมาคมและภิกษุผู้เกี่ยวข้องนี้
หากว่ากันตามหลักพระธรรมวินัยแล้ว มูลค่าของทรัพย์ที่ลัก จักมูลค่าเท่าไรจึงจะต้องอาบัติปาราชิก ตอบว่าการลักทรัพย์ที่กำหนดตามหลักพระธรรมวินัย ทรัพย์นั้นต้องมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 มาสก ต้องอาบัติปาราชิก ซึ่งท่านก็แยกชนิดของทรัพย์ที่ลักเอาไว้ 2 ชนิดคือ สังหาริมทรัพย์ ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ และอสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้
การลักทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้มีมูลค่าเกิน 5 มาสกหรือเท่ากับราคาปัจจุบัน 300 บาท ทำให้พ้นจากพื้นแค่เส้นผมรอดได้ ด้วยเจตนาที่จะลัก เช่นนี้ต้องอาบัติปาราชิกแล้ว โดยมิต้องให้ใครมาโจท ส่วนการลักทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้จะสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ลักก็ต่อเมื่อ ทำให้เสียสิทธิ์ของผู้เป็นเจ้าของทรัพย์เดิม หรือทำให้เจ้าของทรัพย์เดิมทอดอาลัยสละสิทธิ์ เช่น ที่ดิน บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น
อีกทั้งท่านยังแจกแจงอาการลัก ที่เป็นเหตุให้ต้องอาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุเอาไว้ถึง 13 อย่าง เรียกว่า อวหาร คือ 1.ลัก ได้แก่อาการถือเอาทรัพย์ที่เคลื่อนจากฐานได้ ด้วยไถยจิต (จิตคิดจะลัก) อันเป็นอาการแห่งขโมย 2.ชิงหรือวิ่งราว ได้แก่อาการที่ชิงเอาทรัพย์ที่เขาถืออยู่ ด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง 3.ลักต้อน ได้แก่อาการที่ขับต้อนหรือจูงปศุสัตว์ หรือสัตว์พาหนะไป 4.แย่ง ได้แก่อาการที่เข้าแย่งเอาของซึ่งคนถือทำตก 5.ลักสับ ได้แก่สับสลากชื่อตนกับชื่อผู้อื่นในกองของด้วยหมายจะเอาสลากที่มีราคา การถือเอาทรัพย์เป็นอสังหาริมทรัพย์ กำหนดว่าถึงที่สุดด้วยขาดกรรมสิทธิ์แห่งเจ้าของดังนี้ 6.ตู่ ได้แก่อาการกล่าวตู่ เพื่อจะเอาที่ดินเป็นของตัว แม้เจ้าของจะขอคืนก็ไม่ยอม 7.ฉ้อ ได้แก่อาการที่รับของฝากแล้วเอาเสีย 8.ยักยอก ได้แก่อาการที่ภิกษุผู้เป็นภัณฑาคาริก มีหน้าที่รักษาเรือนคลังนำเอาสิ่งของที่รักษานั้นไปจากเขตที่ตนมีกรรมสิทธิ์รักษาด้วยไถยจิต 9.ตระบัด ได้แก่อาการที่นำของต้องเสียภาษี จะผ่านด่านที่เก็บภาษีซ่อนของเหล่านั้นเสีย 10.ปล้น ได้แก่อาการชักชวนกันไปทำโจรกรรม ลงมือบ้าง มิได้ลงมือบ้าง ต้องอาบัติถึงที่สุดด้วยกันทั้งนั้น 11.หลอกลวง ได้แก่อาการที่ทำปลอม เช่น ทำธนบัตรปลอม เป็นต้น ต้องอาบัติด้วยทำสำเร็จ 12.กดขี่หรือกรรโชก ได้แก่อาการที่ใช้อำนาจข่มเหงเอาทรัพย์ของผู้อื่นดังราชบุตรเก็บค่าอากรเกินพิกัด อาบัติถึงที่สุดในขณะได้ของมา 13.ลักซ่อน ได้แก่อาการที่เห็นของเขาทำตก แล้วเอาของมีใบไม้เป็นต้น ปกปิดเสีย อาบัติถึงที่สุดขณะทำสำเร็จ
ในกรณีคดีทุจริตเงินทอนวัดก็ดี ทุจริตเงินอุดหนุนการศึกษาของพระภิกษุก็ดี หรือทุจริตเงินอุดหนุนพระธรรมทูตก็ดี เข้าข่ายอวหารข้อที่ 8 ว่าด้วยการยักยอก ทีนี้ท่านทั้งหลาย คงพอจะเข้าใจมูลเหตุของอาบัติปาราชิกในข้อหาลักทรัพย์กันพอสมควรแล้ว ต่อไปเราท่านทั้งหลาย ก็มาคอยลุ้น คอยเชียร์ท่าน ผอ.สำนักพุทธ ว่าจะสามารถลากไส้เน่าในองค์กรปกครองสงฆ์มากำจัดได้หรือไม่ เพราะยังมีเงินอุดหนุนพระธรรมทูต เงินอุดหนุนโครงการบ้านศีลห้า เงินอุดหนุนการจัดกิจกรรมพิเศษในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และเงินอุดหนุนมหาลัยสงฆ์ ทั้งสองแห่งที่หายไปและถูกนำไปใช้ผิดประเภท ซึ่งก็รอ ผอ.สำนักพุทธ ปปป. ป.ป.ช. คสช. เข้าไปตรวจสอบว่าเงินมันรั่วไหลหายไปไหน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
"สมเด็จชิน" เปิดสอบนักธรรมชั้นโท-เอก ชี้ชาวพุทธต้องเข้าถึง "3 ป." ให้สมบูรณ์ - แนะปรับรูปแบบให้เข้ากับยุค AI
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 เป็นวันแรกของการสอบธรรมสนามหลวง นักธรรมชั้น โท-เอก ประจำปีการศึกษา 2567 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมา...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น