วันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2561

พ่อแม่ส่งลูกบวชเณรช่อสะอาดเย็นยิ้มสึกแล้วได้อะไร




ตามที่หมู่บ้านท่าคอยนาง ตำบลตูมสวาย อำเภอปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ หลักสูตรสันติศึกษา วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ(IBSC) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร)  มูลนิธิต่อต้านการทุจริต และมูลนิธิพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ ร่วมกันผนึกกำลังจัดกิจกรรมบรรพชาสามเณรช่อสะอาดเย็นยิ้ม รุ่นที่ 3  ภายใต้การนำของพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ผู้อำนวยการ  IBSC  ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา  มจร ในฐานะผู้อำนวยการโครงการสามเณรช่อสะอาด บ้านท่าคอยนาง จ.ศรีสะเกษ โดยให้เยาวชนได้ใช้ชีวิตเป็นนาคเพื่อขัดเกลา 6 วัน และทำพิธีบรรพชาในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2561 หลังจากนั้นได้ออกจาริกเดินธรรมยาตราเพื่อสันติภาพ หรือเดินธุดงค์ในเขตตำบลตูมสวาย อำเภอปรางค์กู่ระหว่าง 6-15 เมษายน พ.ศ.2561 และพระราชธรรมสารสุธี รองเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ และผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ ที่เดินทางมาเป็นประธานในพิธีปิดโครงการฯและทำมีพิธีสึก



หลังจากนั้นพระมหาหรรษาได้สรุปประเมินผลของโครงการ"ด้วยบทความเรื่อง"มอบคืนแก้วตาดวงใจ กลับไปให้แม่พ่อ สานต่อสังคมสันติสุข" เผยแพร่ผ่านทางเฟซบุ๊ก "Hansa Dhammahaso"ความว่า 

ในร่างกายของมนุษย์นั้น แก้วตาคือสิ่งที่ใช้เป็นเครื่องมือในการนำทางไปสู่ทิศทางต่างๆ ลูกจึงเป็นสิ่งเหนี่ยวให้แม่พ่อมีขวัญและกำลังใจในการผลักดันให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและงดงาม ทั้งเพื่อตัวแม่พ่อเอง และลูกน้อย ในขณะที่ดวงใจคือชีวิต และลมหายใจของคุณแม่คุณพ่อ ลูกจึงเป็นชีวิต และลมหายใจของคุณแม่คุณพ่อ ให้ยืนหยัดและมีพลังเพื่อสร้างกุศล คุณงามความดี และบารมีทั้งมวล



ลูกเปรียบประดุจแก้วตาดวงใจของคุณแม่และคุณพ่อด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ แม้ว่าลูกจะมีคุณค่าและความหมายถึงเพียงนั้น แต่คุณแม่คุณพ่อยังมอบลูกมาให้บรรพชาเป็นสามเณรช่อสะอาดเย็นยิ้มตลอดระยะเวลา 15 วันได้นั้น ย่อมนำเป็นความหาญกล้าทางจริยธรรมอย่างสูงล้ำ เพราะแม่พ่อต้องถอดแก้วตา และดวงใจมอบให้แก่พระอาจารย์เพื่อทำหน้าที่ในการบ่มเพาะ และปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งสันติภาพลงในกลางใจของลูกน้อย

เพราะเหตุใด? แม่พ่อจึงกล้าหาญชาญชัยทำเช่นนั้น คำตอบที่ตรง สั้น และชัดเจนที่สุด คือ "เพราะพระพุทธศาสนา" ตัวอย่างที่ชัดคือ ชีวิตตัวเอง ด้วยโยมแม่ได้นำไปบวชเป็นสามเณรภาคฤดูร้อน เมื่อปี 2527 ก็ตาม ญาติโยมได้น้อมนำลูกหลาน จำนวน 90 ชีวิต มาบวชในโครงการนี้ก็ตาม ก็ด้วยเชื่อมั่นว่า "พระพุทธศาสนาจะเป็นพลังสำคัญในการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งสันติภาพลงไปในจิตใจของลูกได้" ความเชื่อมั่นเช่นนั้น เกิดจากการที่แม่พ่อได้รับประโยชน์ และได้รับผลจากการปฏิบัติตัวดำรงตนอยู่ในหลักธรรมของพระพุทธศาสนามาอย่างดีแล้วนั่นเอง



ด้วยเหตุดังกล่าว แม่พ่อจึงมั่นใจว่า เมื่อลูกๆ ได้รับการฝึกฝน ขัดเกลา และพัฒนาอย่างดีแล้ว ย่อมส่งผลในเชิงบวก คือ ความจริง ความดี ความงาม และความสุขต่อแก้วตาดวงใจของแม่พ่อโดยตรง หากลูกคือแก้วตาดวงใจ นั่นย่อมหมายถึงแม่พ่อได้ถอดแก้วตาดวงใจของท่านมาปัดฝุ่น เช็ดล้าง ซ่อมแซม และเสริมสร้างให้สมบูรณ์ แล้วนำกลับเข้าไปติดตั้งในร่างกายของท่านอีกรอบ โดยใช้พระพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างและเติมเต็มพลังดังกล่าว

ตัวแปรที่เห็นได้ชัดแจ้งในสัจธรรมความจริง คือ "พระพุทธเจ้าทรงนำราหุลน้อยมากล่อมเกลาดูแล" พระองค์ทรงตระหนักว่า นั่นคือหนทางอันประเสริฐที่พ่อ (ตามวิถีโลก และวิถีธรรม) จะพึงกระทำและแสดงออกต่อลูกน้อย ในทุกจังหวะและโอกาสที่จะมอบให้แก่ลูกได้ นั่นคือพันธสัญญาที่สำคัญในฐานะที่เขาเกิดมาเป็นลูก แล้วในฐานะพ่อแม่ คือ การพัฒนาก้อนเนื้อในเชิงกายภาพไปสู่การสร้างความหมายและคุณค่าในคุณภาพ เพื่อก้อนเนื้อที่มีคุณภาพได้ออกไปรับใช้แม่พ่อ ชุมชน และสังคมต่อไป ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงมิใช่อื่นใด แต่คือแบบอย่างที่พ่อแม่จะต้องน้อมนำไปเป็นแนวทางในการวางท่าทีต่อลูกน้อยของตัวเอง

มาบัดนี้ พระอาจารย์ได้น้อมนำธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบมาเป็นเครื่อมือกล้อมเกลา ดูแล รักษา และเติมเต็มแก้วตาดวงใจนี้อย่างเต็มศักยภาพและกำลังจะพึงมีแล้ว จึงถือโอกาสนี้ มอบแก้วตาดวงใจกลับคืนไปให้แม่พ่อดูแล รักษา และเอาใจใส่อีกครั้ง เพื่อให้แก้วตาดวงใจนี้ ได้กลับไปทำหน้าที่ให้แม่พ่อมีแก้วตาที่แจ่มใส่ และมีดวงใจที่กล้าแกร่ง มีกำลังและเรี่ยวแรงต่อสู้ชีวิตท่ามกลางกระแสสังคมเชี่ยวกรากต่อไป อีกทั้งใช้แก้วตาคอยระวังภัยให้แก่ชุมชนและสังคม และใช้ดวงใจออกไปรัก ทะนุถนอม และช่วยเหลือชุมชน และสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขต่อไป

แล้วพระอาจารย์ทุกรูปจะได้อะไรจากการทำหน้าที่นี้ (1) เราได้ทำหน้าที่ทดแทนคุณพระพุทธศาสนาที่หล่อเลี้ยงชีวิต ทั้งรูปและนามจนเติบใหญ่ มีกำลังกาย และกำลังใจที่แข็งแรง และเปี่ยมสุข (2) เราได้ทำหน้าที่ทดแทนคุณแผ่นดินบ้านเกิด ที่หล่อเลี้ยงชีวิต แผ่นดินที่ให้ข้าว ให้น้ำ และให้ขวัญและกำลังใจเมื่อวัยเยาว์ (3) ทำหน้าที่รับใช้เพื่อนมนุษย์ และชาวโลก ในฐานะเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย ให้สอดรับกับพุทธประสงค์ที่ว่า "เธอทั้งหลาย จงเที่ยวไป เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก"

ชีวิตนี้ ไม่ได้อยู่ที่ว่า เราจะมีและเป็นอะไร แต่อยู่ที่ว่า เราจะใช้สิ่งที่มีและเป็นนั้น ไปสร้างคุณค่า และประโยชน์แก่ชุมชนและสังคมได้มากน้อยขนาดไหน หากเรามีมากมาย และเป็นอะไรต่อมิอะไรมากมาย แต่มันมิได้ก่อคุณประโยชน์อันใดแก่ชุมชนและสังคม การมีและเป็นนั้น มันจะมีประโยชน์และแก่นสารอะไรขึ้นมา

ชุมชนและสังคมที่ดำรงตนอยู่ได้อย่างมีสันติสุขนั้น จึงเกิดจากการที่หมู่มนุษย์นำสิ่งที่มีแและเป็นออกไปสร้างคุณประโยชน์ตามศักยภาพและทำนองคลองธรรมที่ตัวเองมีและเป็น เมื่อเราได้มี และได้เป็นโดยอาศัยชีวิต และเลือดเนื้อจากชุมชน สังคม และพระพุทธศาสนาแล้ว ก็เห็นสมควรที่จะต้องมอบชีวิต และเลือดเนื้อกลับคืนไปสนองตอบต่อชุมชน สังคม และพระพุทธศาสนาอย่างถึงที่สุด ไม่มีประมาณ และไม่มีข้อจำกัด เมื่อทั้ง 3 สิ่งเหล่านี้ ให้ชีวิต และเลือดเนื้อแก่เราได้ เพราะเหตุใด!?! เราจะไม่สามารถคืนสิ่งเหล่านี้กลับคืนไปหาเจ้าของเหล่านั้น


พุทฺธสาสนํ จิรํ ติฏฺฐตุ
ขอให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง ตราบนานเท่านานฯ

บันทึกชีวิต ลิขิตธรรม
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส
ผู้อำนวยการโครงการสามเณรช่อสะอาดเย็นยิ้ม
16 เมษายน 2561

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...