วันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2561

เตรียมเงี่ยหูฟัง!นายกฯภูฏาน "TED TALK" งานฉลองวิสาขบูชาโลกเมืองไทย



วันที่ 28 เม.ย.2561 เฟซบุ๊ก Hansa Dhammahaso ได้เผยแพร่ข้อความว่า ฯพณฯ เชอริ่ง ต๊อบเกย์ นายกรัฐมนตรีภูฏาน เสียงแห่งความสุขจากดินแดนแห่งความสุข 

ครั้งแรกที่ได้ฟังผู้ชายคนหนึ่งพูดบนเวที TED TALK ตามลิ้งค์ https://youtu.be/eIogHJC3qe0 ในราวเดือนมีนาคม 2559 ยอมรับตามตรงว่า ไม่ทราบจริงๆ ว่าผู้ชายที่กำลังพูดถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม รอยยิ้ม และความสุขของชาวภูฏาน คือ นายเชอริ่ง ต๊อบเกย์ นายกรัฐมนตรีภูฏาน ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยประชาชน จบด้านวิศวกรรมศาสตร์จากประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วกลับมายังดินแดนมาตุภูมิทำงานรับใช้แผ่นดินบ้านเกิด

หลังจากที่ได้ฟังท่านพูดบนเวที TED TALK เมื่อสองปีก่อน รู้แต่เพียงว่า ผู้ชายคนนี้ สามารถถอดสมการแห่งความสุขออกมาอธิบายขยายความได้อย่างออกรสออกชาติ และเป็นการพูดถึงความสุขที่เป็นธรรมชาติอย่างมาก ชัดแจ้งว่า ความสุขเป็นธรรมชาติที่ลึกซึ้งแต่เรียบง่าย ฉะนั้น การพูดถึงความสุขจึงต้องเป็นอะไรที่เรียบง่าย ไม่มีการปรุงแต่งหรือฉาบทา รวมไปถึงการใส่สีตีไข่ ที่สำคัญยิ่งคือ ความสุขจึงไม่ใช่สิ่งที่จะต้องไปประดิษฐ์ประดอยให้น่าสนใจ เพราะในเนื้อตัวของความสุขมันเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงนัยในตัวของมันเองอยู่แล้ว

"My country is very poor... ประเทศผมเป็นประเทศยากจน ผมมีชีวิตง่ายๆ การต้อนรับผมในฐานะองค์ปาฐกถาพิเศษในงานวิสาขบูชาโลก ขอให้เป็นไปแบบง่ายๆ" นั่นคือคำกล่าวของบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำทางการเมืองสูงสุดของประเทศภูฏาน แต่ในฐานะสมณทูตของมหาจุฬาฯ ที่พระเดชพระคุณพระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร. อธิการบดี ได้บัญชาให้ถือหนังสือไปเรียนเชิญเจริญพรมาเป็นองค์ปาฐกถาพิเศษนั้น จึงได้เจริญพรตอบไปว่า "ไม่ใช่หรอก ประเทศของท่านเป็นประเทศที่ร่ำรวยต่างหาก... รวยด้วยความสุข จนคนทั่วโลกเรียกประเทศของท่านว่า Land of Happiness"

ยิ่งได้สนทนาธรรม และแลกเปลี่ยนในช่วงระยะเวลาเกือบ 30 นาที ยิ่งทำให้พบว่า ชาวภูฏานนั้น นอกจากจะโชคดีที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเอาใจใส่สุขทุกข์จนเป็นที่รักของประชาชนแล้ว ยังมีนายกรัฐมนตรีที่นอกจากจบวิศวกรแล้วได้ใช้ความรู้มาพัฒนาประเทศแล้ว ยังผันตัวเองมาเป็น "วิศวกรสร้างความสุข" ให้แก่ประชาชนชาวภูฏานด้วย แม้จะเป็นประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรราวๆ 700,000 ถึง 1,000,000 คน แต่กลับเป็นประเทศที่มีความสุขอย่างยิ่งใหญ่

คำถามคือ "ประชาชาวไทยจะได้อะไรจากการมาของนายกรัฐมนตรีภูฏานท่านนี้??" คำตอบคือ "พวกเราจะได้ฟังเสียงแห่งความสุขจากบุคคลที่มาจากดินแดนแห่งความสุข" ถามต่อว่า "แล้วประเทศไทยไม่มีความสุขหรืออย่างไร?? จึงต้องมานั่งฟังเสียงแห่งความสุขจากคนอื่น" ใครจะตอบคำถามนี้ได้ ถ้ามิใช่คนไทยทั้งมวล คนไทยที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับการเรียกขานว่า "ดินแดนแห่งรอยยิ้ม" ฉะนั้น การที่คนไทยจะใช้เวลาสัก 1 ชั่วโมง เงี่ยหูฟังนายกรัฐมนตรีภูฏาน ฯพณฯ เชอริ่ง ต๊อบเกย์ พูดถึงความสุขของประชาชนในประเทศภูฏาน อาจจะเป็นสะพานชักพาเราให้เข้าถึงความสุข จนเป็นเหตุให้หวนระลึกถึงดินแดนแห่งรอยยิ้ม แล้วเดินกลับไปอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งรอยยิ้มดังเช่นที่เคยมีและปรากฏในสังคมไทย


พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส
ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
www.vesak.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"สมเด็จชิน" เปิดสอบนักธรรมชั้นโท-เอก ชี้ชาวพุทธต้องเข้าถึง "3 ป." ให้สมบูรณ์ - แนะปรับรูปแบบให้เข้ากับยุค AI

  เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 เป็นวันแรกของการสอบธรรมสนามหลวง นักธรรมชั้น โท-เอก ประจำปีการศึกษา 2567 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมา...