วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2561

"อธิการบดี มจร"แนะมหาบัณฑิตต้องแนะนำคนอื่นและสังคมได้



พระพรหมบัณฑิต อธิการบดี มจร แนะการศึกษาระดับมหาบัณฑิตต้องแนะนำคนอื่นและสังคม ขณะที่พระราชปริยัติกวีชี้การผลิตมหาบัณฑิตเป็นกำลังพระพุทธศาสนาสร้างศาสนทายาทเท่ากับสร้างคุณค่าและมูลค่าที่ยั่งยืน




วันที่ 25 เม.ย.2561 ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา พระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร. กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.)  อธิการบดี มจร เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการที่มีรายงานการประชุม (Proceeding) ของหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ คณะสังคมศาสตร์ มจร พร้อมกล่าวให้โอวาทความว่า การรายงานการประชุมถือว่าเป็นเงื่อนไขการจบการศึกษาระดับมหาบัณฑิต จึงถือว่าเป็นโค้งสุดท้ายก่อนการรับปริญญา 



"ขอแสดงความชื่นชมยินดีต่อทุกท่านในการทำงานวิชาการ ในระดับปริญญาตรีเป็นการปฏิบัติการ แต่การศึกษาในระดับปริญญาโทมีงานวิจัยเพื่อตอบข้อซักถามของกรรมการและการเสนอผลงานวิชาการ ทำให้นึกถึงนิทานเซนเรื่องการยิงธนู ลูกศิษย์คนหนึ่งเรียนฝึกยิงธนูจากสำนักที่มีชื่อเสียง ซึ่งยิงเข้าเป้าตลอด จนมาลาอาจารย์ว่าตนเองเรียนจบหลักสูตรแล้ว เพราะตรงเป้าทุกครั้งได้คะแนนเต็ม อาจารย์จึงถามว่า ทำไมถึงยิงตรงกลางเป้าทุกครั้ง ได้คำตอบเมื่อใดค่อยมาลาเพื่อจบการศึกษาตอนนี้ถือว่ายังไม่จบ จนลูกศิษย์คนนั้นอธิบายได้ว่าทำไมถึงยิงตรงเป้าถึงสามารถจบเพราะอธิบายได้ว่า ตรงเป้าเพราะอะไร เหมือนเราทั้งหลายว่า การเข้าห้องเรียนเหมือนการยิงธนูให้ตรงเป้า ก่อนจะจบต้องอธิบายงานที่ตนเองวิจัยว่าทำไมถึงทำวิจัยเรื่องนี้ได้อย่างนี้ เหมือนตอบว่าทำไมถึงยิงธนูเข้าเป้า" อธิการบดี มจร กล่าวและว่า 




การเป็นมหาบัณฑิตต้องสามารถแนะนำคนอื่นได้ ในการสอนผ่านงานวิจัย จึงต้องนำเสนองานวิจัย เพื่อชี้ทางให้คนอื่นเดินตาม สามารถพูดให้อื่นเข้าใจ จากการเขียนแล้วจึงต้องสื่อสารให้บุคคลอื่นเข้าใจ จึงเป็นการพิสูจน์ว่าเราเก่งขนาดไหน เราต้องแนะนำและชี้ทางคนอื่นได้ในการจัดการเชิงพุทธ การจัดการเชิงพุทธสามารถตอบสังคมได้เราต้องทำงานด้วยปัญญาเพื่อช่วยสังคม ทำอย่างไรถึงจะปฏิบัติหน้าที่ให้สมบูรณ์ จึงขอชื่นชมคณะสังคมศาสตร์ ที่จะเป็นกำลังของวัดวาอาราม เป็นกำลังของพระพุทธศาสนา ความรู้จากปัจเจกปัญญานำไปสู่ความรู้สาธารณปัญญา ด้วยการนำความรู้ไปช่วยพระพุทธศาสนาและสังคม

ต่อจากนั้นพระราชปริยัติกวี ศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจร  ได้บรรยาย เรื่อง"การจัดการเชิงพุทธความก้าวหน้าที่ควรพัฒนา" กล่าวว่า การจัดการเชิงพุทธถือว่าให้พระสงฆ์ได้มีชั้นเชิงในการบริหารกิจการงานด้านพระพุทธศาสนา เพราะสังคมภายนอกเขาพัฒนาไป 4.0 เรามาเรียนเพื่อเท่าทันสังคมในปัจจุบันเพราะถ้าสังคมพูดถึงยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ แผนงาน โครงการ ทำให้เราจะเข้าใจงานพระพุทธศาสนา การเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกจะเกิดขึ้น แต่ในช่วงปัจจุบันต้องรักษาตนเองให้รอดปลอดภัยเพื่อจะช่วยงานบริหารงานคณะสงฆ์ พวกเราถือว่าเป็นผลผลิตของคณะสงฆ์ ปัจจุบันเรามีแผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา มหาจุฬาเราเตรียมบุคลากรในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ด้วยการหาบุคคลขับเคลื่อนกิจการพระพุทธศาสนาต้องอาศัยทุกรูป ถามว่า การจัดการเชิงพุทธในอนาคตจะไปอย่างไร? 

คำว่า การจัดการเชิงพุทธ เป็นการไปดำเนินการแก้ปัญหาส่วนที่เป็นปัญหาของกิจการคณะสงฆ์และสร้างคุณค่ามูลค่าของกิจการคณะสงฆ์ การบริหารกิจการพระพุทธศาสนาต้องสร้างคุณค่ามูลค่าในศาสนบุคคล ศาสนสถาน ต่างชาติมาหาเรามาดูคุณค่าทางพระพุทธศาสนา ทำให้เกิดมูลค่าเป็นจำนวนมาก การจะบริหารกิจการพระพุทธศาสนาจะต้องสร้างคุณค่ามูลค่าเพื่อส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทรัพย์ทางพระพุทธศาสนาที่อยู่เป็นสถาปัตยกรรมและปะติมากรรม เช่น พระพุทธรูป พระบรมสารีกธาตุ คัมภีร์โบราณทางพระพุทธศาสนา อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจ แต่เข้ามามีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจ เราต้องสร้างคุณค่า มูลค่า และราคา บุคคลที่มีอำนาจทางการท่องเที่ยวลืมศาสนบุคคลเมื่อ 4-5  ปี ในสนามบินอุดรธานีเหมือนวัด เพราะเราจะเห็นตู้บริจาคเป็นจำนวนมากเพราะในแถบนั้นมีพระเกจิอาจารย์พระวิปัสสนาจารย์เป็นจำนวนมาก บุคคลจากเมืองหลวงนั่งเครื่องบินไปกราบไหว้พระเกจิอาจารย์ด้านวิปัสสนากรรมฐาน จากผลการวิจัยธุรกิจการท่องเที่ยวส่วนหนึ่งมาจากคุณค่าของพระเกจิอาจารย์ด้านวิปัสสนาในจังหวัด พระสงฆ์จึงต้องเน้นวิปัสสนากรรมฐาน จัดวิปัสสนากรรมฐานแบบต่อเนื่อง มีคอร์สอบรมประจำเดือน 

"เราในฐานะพระสงฆ์ต้องเป็นที่พึ่งพิงประชาชนด้วยเป็นวิปัสสนาจารย์สอนวิปัสสนากรรมฐานแต่ต้องมีความต่อเนื่องตลอด ศาสนบุคคลถือว่ามีความสำคัญในการบริหารจัดการ ถือว่ามีความสำคัญในการจัดการเชิงพุทธ ศาสนวัตถุศาสนสถานสามารถนำไปเป็นคุณค่า มูลค่าเป็นยุทธศาสตร์ในการท่องเที่ยวจังหวัด เช่น พระไตรปิฏกหินอ่อนในพุทธมณฑล ต้องบริหารจัดการให้มีคุณค่าและมูลค่า ถือว่าเป็นศาสนวัตถุที่มีความสำคัญ ในภาคเหนือมีการสร้างเจดีย์เกิดทั้ง " คุณค่า มูลค่า ราคา" ซึ่งประมาณราคาไม่ได้ พระประธานในโบสถ์ศักดิ์สิทธิ์ทุกองค์ เราต้องสร้างคุณค่า เช่น หลวงพ่อวัดไร่ขิง หลวงพ่อพระใส หลวงพ่อพุทธชินราช หลวงพ่อพุทธโสธร ล้วนแต่มีตำนานเราต้องศึกษาตำนาน เราต้องเริ่มเปิดอุโบสถให้โยมมาไหว้พระ เหล่านี้ถือว่าเป็นการจัดการเชิงพุทธ แต่เราต้องเปิดพื้นที่ให้วัดน่ากราบน่าไหว้สัปปายะ การจัดการเชิงพุทธต้องมีส่วนเข้าไปจัดการให้ดีขึ้นทำให้เกิดความสะอาด เป็นการบริหารจัดการ ถือว่าเป็นการทำให้เกิดคุณค่า มูลค่าในทางพระพุทธศาสนา" พระราชปริยัติกวี กล่าวและว่า


ยุทธศาสตร์ 4  ประการ คือ 1)การสร้างความมั่นคงทางพระพุทธศาสนาถือว่ามีความสำคัญ ด้วยเน้นศาสนบุคคลเน้นการเพิ่มปริยัติธรรมในทางพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นศาสนทายาทสืบต่อ คือ สามเณร เรากังวลเรื่องสามเณรซึ่งมีแนวโน้มจะลดลงในการศึกษาพระปริยัติธรรม เราพยายามมีโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน เพื่อให้สามเณรมาเรียนต่อ มหาจุฬาจัดโครงการทั่วประเทศเกือบ 500  โครงการ โครงการละ 60  รูป เป็นอย่างน้อย จึงทำให้สามเณรมาเรียนต่อเพื่อรักษาศาสนทายาทไว้ แต่เราต้องตอบโจทย์การศึกษาทางธรรมด้วยการสร้างแรงจูงใจให้คนเข้ามาเรียนทางพระพุทธศาสนาเราต้องสร้างความเข้มแข็งพระพุทธศาสนาด้วยการสร้างศาสนทายาทให้เกิดขึ้น เราต้องสร้างคุณค่ามูลค่าให้กับศาสนทายาทคือสามเณร เราจะจัดการอย่างไร?เพื่อเป็นศาสนทายาทต่อไป เหมือนพระไตรปิฎกมหาฬาคนจองเป็นจำนวนมากเพราะเราสร้างคุณค่าและมูลค่าการจะสร้างศาสนทายาทจะต้องไปดูโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน 2)ยกระดับกระบวนการภายในของเราเอง เราต้องเริ่มต้นจากวิธีคิด ด้วยการนำเสนอตนเอง เราต้องมีวิธีคิดที่เป็นระบบระเบียบ ต้องทำเป็นมืออาชีพ เราต้องสร้างความเข้มแข็งภายในองค์กร ด้วยการเริ่มทัศนคติ จบแล้วต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง 


๓)พัฒนาสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้เชิงพุทธ ด้วยการจัดสภาพแวดล้อมยังไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ รวมถึงการไปสอนในห้องเรียนควรจดบ้าง ให้สมองได้ทำงาน สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ มีมุมอ่านมีมุมศึกษาค้นคว้าเพื่อการพัฒนาตน องค์กรแห่งการเรียนรู้คือ การสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้เราในฐานะนักจัดการเชิงพุทธต้องนำไปสู่การปฏิบัติ ให้เกิดขึ้น เราต้องสื่อสารให้คนในสังคมได้ข้อมูลในทางพระพุทธศาสนา 4)มีทรัพยากรเพียงพอในการขับเคลื่อนพระพุทธศาสนา ซึ่งเราศาสนบุคคลอันเป็นต้นทุน วิปัสสนาจารย์จะเป็นตัวชูพระพุทธศาสนาด้วยการทำให้ดู อยู่ให้เห็น เย็นให้สัมผัส พระเกจิอาจารย์ถือว่าเป็นต้นทุนทางสังคม โรงพยาบาลจะสร้างอาคารสร้างตึกต้องอาศัยพระพุทธศาสนาด้วยการขอพระเกจิที่มีชื่อเสียงในชุมชน สามารถสร้างโรงพยาบาลได้ถือว่าช่วยสังคมด้วย วัดที่มีมูลค่าบางครั้งลืมช่วยกิจการพระพุทธศาสนาในภาพรวม วัดที่สร้างมูลค่าต้องช่วยกิจการพระพุทธศาสนาเช่น มูลนิธิสนับสนุนด้านศึกษา เราจัดการเรื่องทุนในด้านศึกษาพระสามเณร วัดโมลีเป็นวัดที่มีสามเณรมาเรียนบาลีเป็นจำนวนมาก มีคนมาฝากตลอดเพราะอะไรจึงอยากมาเรียนที่วัดโมลี วัดที่มีรายได้ควรมาสนับสนุนทางการศึกษาเป็นมูลนิธิ เพราะคุณค่ามูลค่าเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในกิจการพระพุทธศาสนา


พระราชปริยัติกวี กล่าวต่อท้ายว่า ดังนั้น อะไรที่เป็นปัญหาก็ไปจัดการปัญหาให้หมดไปและสร้างคุณค่าสร้างมูลค่าจากสิ่งที่มีอยู่เพื่อการบริหารจัดการ ทรัพย์สินทางพระพุทธศาสนามีคุณูปการต่อสังคมมากในต่างประเทศ เช่น ประเทศศรีลังกา ได้ทรัพย์สินจำนวนมากจากการท่องเที่ยวเลี้ยงประเทศศรีลังกาเจริญรุ่งเรือง ขายทรัพย์สินทางพระพุทธศาสนา รวมถึงประเทศไทยพระพุทธศาสนาช่วยการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก เพราะต่างชาติเข้ามาดูศิลปวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนา แต่รอนักจัดการเชิงพุทธอย่างมืออาชีพมาบริหารจัดการเท่านั้น


..................

(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจาก Pramote OD Pantapat พระอาจารย์ปราโมทย์ วาทโกวิโท นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร) 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...