วันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2561

"รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มจร"แนะบูรณาการเขียนข่าวกับงานประชาสัมพันธ์




พระราชวรเมธี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มจร เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร มจร หวังยกระดับการสื่อสารประชาสัมพันธ์สู่สังคม แนะทำงานแบบบูรณาการกับการเขียนข่าว



วันที่ 21 เมษายน 2561   ที่ห้องประชุมสุพรรณิการ์ ไร่กุสุมา อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี พระราชวรเมธี,รศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาและบรรยายพิเศษเรื่อง "ทิศทางการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ประชาสัมพันธ์ และการสื่อสารองค์กร มจร" ในการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร มจร โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดงานในครั้งนี้เพื่อต้องการพัฒนาการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารในองค์กรมหาจุฬาฯที่มีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งจัดทำร่างแผนกลยุทธ์และแผนยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร พร้อมทั้งคู่มือการปฏิบัติงานการสื่อสารองค์กร ซึ่งกองการสื่อสารองค์กร ร่วมกับฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มจร จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22  เมษายน 2561 โดยมีพระครูพิศาลสรวุฒิ ผู้อำนวยการกองสื่อสารองค์กร กล่าวถวายรายงาน

ในการนี้พระราชวรเมธี กล่าวว่า เรามีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในการสื่อสารองค์กรและงานการประชาสัมพันธ์ จึงต้องเข้าร่วมทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคพร้อมฝ่ายสนับสนุนเครือข่ายการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ เราจึงต้องวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของการประชาสัมพันธ์ ถามว่าปัจจุบันการประชาสัมพันธ์ตอบโจทย์มหาวิทยาลัยได้หรือยังอย่างไร? การประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยมีความสอดคล้องกับการสื่อสารองค์กรอย่างไร? การมาสัมมนาในครั้งนี้จะทราบรายละเอียดร่วมกัน งานประชาสัมพันธ์ต้องการจะสื่อกิจกรรมของมหาวิทยาลัย และให้บุคคลภายนอกได้รู้ถึงกิจกรรมมหาวิทยาลัย ส่วนการสื่อสารองค์กรมุ่งให้บุคลากรรับทราบข้อมูล ซึ่งมีความต่างกัน 

"หัวใจประชาสัมพันธ์ต้องให้รู้บทบาทของมหาวิทยาลัยให้สังคมภายรอกทราบภารกิจเชิงบวก ส่วนการสื่อสารองค์กรจะต้องสื่อให้คนในองค์กรรับทราบ ประชาคมมหาจุฬาต้องทราบ เป็นข้อมูลภายในองค์กร ปัจจุบันสมาคมเข้าถึงข้อมูลหรือไม่ ? เราตั้งกองการสื่อสารเพื่อต้องการสื่อสารคนในองค์กรให้รับทราบข้อมูลภายองค์กร เช่น การลาเรียน กองการสื่อสารจะต้องสื่อสารให้คนในองค์กรได้รับทราบ จะเห็นว่าบทบาทกองการสื่อสารองค์กรมีบทบาทต่างจากฝ่ายการประชาสัมพันธ์ซึ่งกองการสื่อสารต้องสื่อสารเน้นการสื่อสารในองค์กร อธิการบดีบรรยายที่ใด หรือรองอธิการบดีบรรยายที่ใด ประชาสัมพันธ์จะต้องทราบ จะต้องไปเก็บไปบันทึกไว้เพื่อการจัดการความรู้คือ KM"  รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มจร กล่าวและว่า 

ประชาสัมพันธ์ต้องหูตาไว ทำงานแบบบูรณาการ ทำอย่างไรจะใช้นวัตกรรมมาช่วยในการประชาสัมพันธ์ ปัจจุบันมีการไลฟ์สด เข้าถึงข้อมูลอย่างรวดเร็ว ต้องทำงานแบบบูรณาการทั้งการสื่อสารองค์กรและฝ่ายประชาสัมพันธ์ขององค์กร การมาทำแผนคือการมาดูภาพรวม ที่ผ่านมาอะไรคือจุดอ่อนจุดแข็งของการประชาสัมพันธ์ พอเราทราบเราจะขยายและต่อยอดได้ ถามว่า อะไรคือจุดอ่อนของงานการประชาสัมพันธ์ จุดอ่อนต้องได้รับการพัฒนา เช่น การถ่ายวีดีโอควรมีการตัดต่อก่อน ควรออกสู่สังคม ควรส่งบุคลากรไปฝึกการถ่ายภาพ ถ่ายภาพเคลื่อนไหว ต้องไปอบรมจนเป็นมืออาชีพ ถ้าบุคลากรมีจุดอ่อนเราจะพัฒนาบุคลากรอย่างไร งานประชาสัมพันธ์มิใช่ถือกล้องไปถ่ายเท่านั้น แต่ต้องมีภารงานภารกิจที่ชัดเจนถึงจะมีการสนับสนุน แต่ละหน่วยงานในมหาจุฬาฯจึงมีการทำแผน 


พระราชวรเมธี กล่าวต่อว่า การทำแผนจึงเป็นทางเดินสู่ความสำเร็จ เป็นการพัฒนาระบบประชาสัมพันธ์ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนามหาจุฬา เป็นแผนที่ 12 หน่วยงานจึงต้องมีแผน ถ้าไม่แผนจะไม่ผ่านการประกันคุณภาพจึงต้องมีแผนจะได้ทำงานอย่างเป็นระบบ แม้แต่พระพุทธศาสนาก็มีแผนการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา เพราะคณะสงฆ์เห็นจุดอ่อนจึงมุ่งสร้างทำแผนเพื่อการทำงานอย่างเป็นระบบ อดีตมหาจุฬาฯไม่มีแผนต่างคนต่างคน แต่ปัจจุบันมีระบบประกันเข้ามาจึงมีแผนของหน่วยงาน การทำแผนจึงต้องยึดโยงส่วนงานที่เราเกี่ยวข้อง แต่อย่าลืมแผนยุทธศาสตร์ของชาติ มหาจุฬาฯมีการยึดโยงแผนกระทรวงศึกษาธิการและแผนยุทธศาสตร์ชาติ ตามแนวทางพระพุทธศาสนาคือ อิทปัจจยตา ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน คำถามคือ อัตลักษณ์ของมหาจุฬาแตกต่างจากที่อื่นอย่างไร? ถ้าเราจะทำแผนต้องมีความชัดในความเป็นเฉพาะของมหาจุฬา 


"อดีตที่ผ่านมาการประชาสัมพันธ์มี 2 อดีต คือ อดีตที่ประสบความสำเร็จ และอดีตที่ล้มเหลว แต่เราควรเอาอดีตมาเป็นบทเรียนมาพัฒนาเพื่อตอบโจทย์พันธกิจมหาวิทยาลัย มหาจุฬาฯเรามีจุดแข็งคือ ทุนทางสังคม คือ สังคมมาช่วย ปัจจุบันคณะสงฆ์กำลังเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย หลวงพ่ออุบาลีจึงกล่าวว่า "แม้แต่คนคุ้นเคยก็ไม่ควรไว้วางใจ" อะไรที่ควรสื่อออกภายนอกต้องมีการระมัดระวัง เช่น การไลฟ์สดโปรดระวังมีสติ ใครที่ไลฟ์สดทุกวัน พระสงฆ์เราถือว่าเป็นนักประชาสัมพันธ์ในตัวเอง เราต้องเตรียมตัวเป็นอย่างดี เวลาเราบันทึกการบรรยายของผู้บริหารเราต้องมีการตัดต่อ เราจึงจำเป็นต้องส่งบุคลากรไปเรียนเฉพาะเรื่อง มหาจุฬาฯมีงบประมาณให้ในการศึกษาเฉพาะเรื่อง แต่ทุนการศึกษาเรียนต่อไม่มี ใครอยากไปเรียนภาษาอังกฤษแบบเชี่ยวชาญมหาจุฬาฯมีทุนให้เพื่อพัฒนาเป็นมืออาชีพ แต่กลับมาต้องพัฒนาตนพัฒนางานให้ดีขึ้น เราต้องประเมินตนเองว่าถนัดด้านใด"  พระราชวรเมธี กล่าวและว่า


ต่อไปจะเปิดโอกาสให้ว่าต้องการทำงานอะไร ทำงานที่ตนเองถนัดถึงจะได้ดี ทำแล้วจะมีความสุขในการทำงาน เราในฐานะนักสื่อสารองค์กรเราจะสื่อสารช่องทางใดให้เกิดความเหมาะสม ช่อง MCU ทีวีจะต้องมีการพัฒนาอะไรบ้าง? เราต้องทำเนื้อหาให้ดีก่อน ทำทีวีในการสื่อการเรียนการสอน บุคคลจะมาออกทีวีก็มีการคัดเลือกให้เหมาะสม สิ่งสำคัญคือ งานประชาสัมพันธ์ต้องสรุปเป็นข่าวในรอบสัปดาห์สื่อสารให้สังคมได้รับทราบ มิใช่การประชาสัมพันธ์ส่วนตนแต่เป็นการจัดการ KM ต้องสรุปกิจกรรมเป็นภาพข่าวลงเป็นข่าว บุคลากรประชาสัมพันธ์ต้องพัฒนาตนเองด้วยส่งไปพัฒนาตนให้เป็นมืออาชีพหรือรับมืออาชีพมาทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ 



อย่างไรก็ตามในวันเดียวกันพระราชวรเมธี เป็นประธานมอบเกียรติบัตร และบรรยายพิเศษเรื่อง "การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยแนวคิดวิถีพุทธ" ในพิธีปัจฉิมนิเทศโครงการอบรมพัฒนาผู้บริหารครู สู่การพัฒนาคุณธรรมในสถานศึกษา อาชีวศึกษาวิถีพุทธ จัดโดย มจร ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่อาคารปฏิบัติธรรม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) มจร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา


.....................

(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊กPramote OD Pantapat พระอาจารย์ปราโมทย์ วาทโกวิโท  นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร วิทยากรกระบวนการธรรมะโอดี และเว็บไซต์https://www.watprayoon.com/main.php?url=news_view&id=1731&cat=A&table=news ซึ่งมีภาพทั้งสองกิจกรรมเพิ่มเติม)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...