วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2561

ยิ่งใหญ่!"มจร"จับมือ"UNESCAP"เตรียมจัดงานฉลองวิสาขบูชาโลก




ยิ่งใหญ่!"มจร"จับมือ"UNESCAP"เตรียมจัดงานฉลองวิสาขบูชาโลก  27 พ.ค.นี้่ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ พร้อมงานสัมมนานานาชาติที่มหาจุฬาฯ อ.วังน้อย คาดมีชาวพุทธทั่วโลกประมาณ 1,500 รูป/คนร่วมงาน ประกาศท่าทีพุทธต่อการรักษาอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันในสังคมยุคดิจิทัล



วันที่ 27 เมษายน 2561  ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร  พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโท และปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา ในฐานะทีมเลขานุการคณะกรรมการเตรียมการจัดงานเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ 15  ตามที่ประชุมคณะกรรมการสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก และกรรมการสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติจาก 18 ชาติ  ที่มีพระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร. กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) อธิการบดี มจร ประธานกรรมการสมาคมฯ และประธานสภาสากลวันงวันวิสาขบูชาโลก เป็นประธาน ได้มีมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เปิดเผยว่า 




ตามที่องค์การสหประชาชาติได้รับรองวันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติ หรือเรียกว่า "United Nations Day of Vesak" นั้น  ทำให้เกิดวัฒนธรรมของชาวพุทธทั่วโลกว่าด้วยการร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติเพื่อจัดงานเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลก ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ (United Nations Conference Centre:UNCC) ประเทศไทยเป็นประจำทุกปี ไม่ว่าประเทศใดจะรับเป็นเจ้าภาพในการจัดงานก็ตาม




"วันนี้(27 เมษายน) มหาจุฬาฯร่วมกับเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ได้ประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับรูปแบบในการจัดงาน ณ ศูนย์ประชุมสหประชาติ ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 08:30 ถึง 16:30 โดยรูปแบบการจัดงานจะเชิญผู้นำทางศาสนาและผู้นำทางการเมือง รวมถึงผู้อำนวยการของ  UN และ UNESCO ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศไทย พร้อมด้วยชาวพุทธจากทั่วโลกประมาณ  1,500 รูป/คน เดินทางมาร่วมพิธีเฉลิมฉลองครั้งนี้ พร้อมทั้งร่วมงานสัมมนานานาชาติที่มหาจุฬาฯ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ระหว่าง 25-26 พฤษภาคม 2561" พระมหาหรรษา กล่าวและว่า



สำหรับงานสัมมนานานาชาติที่มหาจุฬาฯ อ.วังน้อย ระหว่าง 25-26 พฤษภาคม 2561 นั้น นายกรัฐมนตรีประเทศภูฏาน ฯพณฯ เชอริง ล็อปเกย์ จะเดินทางมาเป็นองค์ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "คุณูปการพระพุทธศาสนาต่อการพัฒนามนุษย์" หลังจากนั้นจะมีการสัมมนาทางวิชาการโดยเชิญนักวิชาการระดับโลกจาก 5 ทวีปมานำเสนอพุทธปัญญา เพื่อตอบคำถามว่า พระพุทธศาสนาใช้การศึกษามาพัฒนาเยาวชนอย่างไร? พระพุทธศาสนามีรูปแบบที่เหมาะสมต่อการสร้างสวัสดิการทางสังคมอย่างไร? และพระพุทธศาสนามีท่าทีต่อการรักษาอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันในสังคมยุคดิจิทัลอย่างไร? จึงจะไม่ทำให้เกิดสงครามและความรุนแรง



พระมหาหรรษา กล่าวด้วยว่า การจัดงานเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลก จึงเป็นการเชื่อมโยงทั้งพิธีการกับวิชาการให้ประสานสอดคล้องกัน พิธีการเป็นการเฉลิมฉลองจึงเป็นอามิสบูชาต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในขณะที่วิชาการเป็นปฏิบัติบูชาต่อพระปัญญาอันทรงค่าที่พระองค์ทรงค้นพบกฏธรรมชาติแล้วนำมาเปิดเผยแก่มนุษยชาติ เพื่อใช้เป็นหลักชัยในการดำเนินชีวิตด้วยความรู้ ตื่น และเบิกบานต่อไป





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...