วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2562

'ปิยบุตร' เทศน์กัณฑ์ 'อริยสัจ4' ชี้รธน.60คือ'สมุทัย'ทำคนไทยทุกข์



'ปิยบุตร' เทศน์กัณฑ์ 'อริยสัจ4' ชี้รธน.60คือ'สมุทัย'ทำคนไทยทุกข์  ยกแก้ไขรธน.คือ'มรรค' ปชช.ถึงจะพบ 'นิโรธ' ได้รับอำนาจคืนเป็นจริง 

เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2562 ที่ห้องประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ บรรยายในหัวข้อ "การเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560" จัดโดยหลักสูตรรัฐศาสตร์มหาบัณฑิตและหลักสูตรรัฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัย(มจร) วิทยาเขตขอนแก่น โดยระบุว่า สำหรับการบรรยายวันนี้อยากนำเรื่อง อริยสัจ 4 ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของพุทธศาสนามาจับเพื่อให้สอดคล้องกับนิสิต-นักศึกมาที่มาร่วมฟัง 

นายปิยบุตร กล่าวว่า อริยสัจข้อแรกคือ "ทุกข์" ประเทศไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ขณะนี้่ หลายคนบอกว่าประชาชนประสบปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ซึ่งสำหรับตนเองแล้ว เห็นว่าปัญหานี้สัมพันธ์กับปัญหาการเมืองอย่างแน่นอน เพราะระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย รัฐบาลมีเสถียรภาพ และมีระบบตรวจสอบเข้มแข็ง ก็จะทำให้เศรษฐกิจดีตามไปด้วย ความขัดแย้ง 13 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหาข้อตกลงตรงกันไม่ได้นำมาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้มีรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำที่เป็นปัญหา ทำให้เกิดพรรคการเมืองที่มี ส.ส. 1 คน หลายพรรค และกลายเป็นพรรคที่มีอำนาจต่อรองสูงมาก เรียกร้องมากและรัฐบาลจำเป็นต้องดูแล อีกทั้งยังทำให้เกิดการผสมนโยบายจากหลายพรรค ไม่มีความเป็นเอกภาพ ทำให้นโยบายต่างๆที่จะทำได้ภายใต้รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำแบบนี้ ภายใต้รัฐธรรมนูญแบบนี้ เป็นเพียงนโยบายที่ใช้จ่ายงบประมาณเพื่อให้ได้คะแนนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เป็นการใช้เงินเยอะ แจกเงิน เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ได้แก้ปัญหาโครงสร้างของประเทศ

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า ต่อมาคือ "สมุทัย" หรือเหตุแห่งทุกข์ เราจะดูเพียงรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 อย่างเดียวไม่ได้ ต้องย้อนกลับไปดูการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญหลายๆ ฉบับ ซึ่งพบว่า 20 ฉบับที่เรามีนั้นเปลี่ยนแบบอารยชนเพียง 2 ฉบับเท่านั้น ที่เหลือเป็นการยึดอำนาจด้วยรถถัง รัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญกันจนเคยชิน สาเหตุหนึ่งตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มาจนทุกวันนี้ รากเหง้าใจความคือ ประเทศนี้ยังตกลงกันไม่ได้ว่าอำนาจสูงสุดเป็นของใคร นี่คือสาเหตุที่ทำให้ไทยเดินหน้าประชาธิปไตยแล้วสะดุดตลอดเวลา ทำให้รัฐประหารเกิดขึ้นบ่อย และรัฐธรรมนูญถูกฉีกเปลี่ยนบ่อย ทั้งนี้ รัฐประหารไม่ว่าจะกี่ครั้งไม่ใช่เพื่อจัดการนักการเมืองคอรัปชั่นแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องการขัดขวางไม่ให้ระบอบประชาธิปไตยในประเทศเดินหน้าต่อได้ คือ กลายเป็นว่าคนกลุ่มหนึ่งเชื่อในประชาธิปไตยกับคนอีกกลุ่มหนึ่งไม่เชื่อ แต่ถ้าช่วงใด พลังทางอำนาจฝ่ายต่างๆตกลงกันได้ รัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็จะมีอายุยาว 

"เหตุแห่งทุกข์วันนี้ คือ เราตกลงกันไม่ได้ว่าอำนาจสูงสุดอยูที่ไหน อยู่กับประชาชนหรือกับกองทัพ กับชนชั้นนำ โดยรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น ชัดเจนว่ามีเป้าประสงค์ คือ  1.เอาการเมืองไทยดึงกลับไปปี 2521 ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ เลือกอย่างไรก็รู้ว่าจะได้ใครเป็นนายก การเลือกตั้งเป็นเพีงแต่งหน้าทาปากเพื่อบอกกับสากลโลกว่าเป็นประชาธิปไตย แต่เนื้อในไม่ใช่  2.สถาปนาอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ให้มากกว่าการเลือกตั้ง วุฒิสภามีอำนาจขี่คอสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และเป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้เกิดรัฐซ้อนรัฐ มีคณะกรรมต่างๆ มีศาล มีองค์กรอิสระ และกองทัพที่พร้อมจะรัฐประหารอยู่ตลอดเวลา 3.ทำให้รัฐประหารถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และทำให้กลายเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจของ คสช. ช่วยเปลี่ยนยูนิฟอร์มจากชุดลายพรางถือปืนให้กลายมาเป็นใส่สูทถือปากกา" นายปิยบุตร กล่าว  

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า สำหรับ "นิโรธ" หรือความดับทุกข์ หลายคนอาจบอกว่าเมื่อรัฐธรรมนูญเป็นปัญหาก็แก้ไข แต่เมื่อไปดูก็พบว่าการเขียนไว้ซึ่งวิธีการแก้ไขนั้นยากมาก มีกลไกต่างๆ วางไว้เต็มไปหมด เอาแค่จำนวน ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. ซึ่งกำหนดว่าจะต้องมีจำนวน 1 ใน 3 หรือ 84 คน เห็นด้วยนั้น ถามว่า ถ้าเราอยากแก้รัฐธรรมนูญว่าให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง หรือแก้รัฐธรรมนูญให้ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ หรือแก้รัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงวิธีการแก้รัฐธรรมนูญ จะมี ส.ว.คนไหนเห็นด้วยหรือไม่ รูปแบบการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเขียนบอกว่าแก้ไขได้ แต่ในทางปฏิบัตินั้นทำไม่ได้เลย เหมือนกับการใส่กลอนล็อคห้องแน่นบังคับเราไม่ให้ออกจากห้อง ซึ่งเรื่องนี้เห็นว่าไม่เป็นธรรมกับคนรุ่นหลัง สมมติว่าพอถึงปี 2580 คนรุ่นหลังบอกว่าอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ อยากซ่อมแซมบ้านหลังนี้ก็ทำไม่ได้ เปลี่ยนอะไรไม่ได้ ถูกมือของคนที่ตายไปแล้วบีบคอห้ามไว้

"อีกข้อหนึ่งคือ มรรค หรือหนทางดับทุกข์ แม้การแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าประชาชนคนไทยเกือบทั้งหมดเอาด้วย แสดงพลัง ปรากฏกายออกมา ว่าไม่ต้องการอยู่กับรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ที่ร่างกันเอง ส่งเสียงออกมาให้ผู้มีอำนาจได้ยิน และมาหาฉันทามติ หาข้อตกลงร่วมกันว่ารัฐธรรมนูญแบบไหนที่คนไทยต้องการ ทุกฝ่าย ทุกสีเสื้อต้องเห็นตรงกัน หยุดรัฐธรรมนูญแบบเอาคืนจัดการศัตรูทางการเมือง  13 ปีของความความขัดแย้งพอแล้ว ถึงเวลาที่ต้องเขียนรัฐธรรมนูญแบบมองอนาคต ผมเรียกร้องให้เขียนรัฐธรรมนูญสู่อนาคต เพราะนับวันคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นมากขึ้น เขาไม่รู้และไม่ได้เกี่ยวกับวังวนความขัดแย้งที่พวกคุณทำนั้นเลย ถึงเวลาแล้วที่ต้องทวงอำนาจการเขียนรัฐธรรมนูญให้กลับมาอยู่ที่ประชาชน ตกลงกันด้วยกรอบหลักการเบื้องต้น คือ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ  ยืนยันหลักแบ่งแยกอำนาจ และประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน นี่ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตมหาศาล แต่เป็นการเขียนแบบที่อารยชนทำกัน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมคิดว่าเป็นไปได้" นายปิยบุตร กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หนังสือ: พุทธสันติวิธีกับทฤษฎีสัมพันธภาพยุคเอไอ: แนวทางการสร้างความสมดุลระหว่างเทคโนโลยีกับจิตวิญญาณ

บทนำ ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีเอไอ (AI) เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน การเข้าใจและประยุกต์ใช้หลักการพุทธสันติวิธีร่วมกับทฤษฎีสัมพันธภาพ ...