เผยภาคเกษตร เร่งทำนโยบายรับมือวิกฤตความมั่นคงด้านอาหารโลก
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม 2565 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา และ นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงสถานการณ์วิกฤตด้านอาหารที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ และมีแนวโน้มเพิ่มความรุนแรงขึ้น เป็นเหตุให้ประเทศไทยต้องเฝ้าระวังและเร่งปรับตัว พร้อมเตรียมแผนรับมือทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลต่อคุณภาพของชีวิตประชาชน
นายวราวุธ กล่าวว่า หลังวิกฤติโควิดระบาดทั่วโลกกว่า 2 ปี อาหารทั่วโลกแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว ราคาวัตถุดิบทางการเกษตรไปจนถึงต้นทุนราคาปุ๋ย ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลพวงของสงครามรัสเซีย-ยูเครน และล่าสุดจากการระบาดใหม่ ของโรคฝีดาษลิง ส่งผลให้ในขณะนี้ มี 14 ประเทศทั่วโลก ได้ห้ามการส่งออกอาหาร เพื่อกักตุนไว้บริโภคเองภายในประเทศแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้เกิด วิกฤตอาหารโลก Global Food Crisis
ทั้งนี้ นอกจากปัจจัยข้างต้นที่กล่าวมา ที่ทำให้ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำลง จนมีราคาสูง ปฏิเสธไม่ได้ว่า "ภาวะโลกร้อน" ที่ทำให้สภาพอากาศในหลายประเทศแปรปรวนอย่างหนัก ก็เป็นภัยคุกคามต่อเนื่อง ต่อภาคเกษตร ด้วยเช่นกัน
ตนในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมมือกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผลักดันนโยบายด้านการเกษตรของพรรคชาติไทยพัฒนา โดยหนึ่งในโครงการที่เร่งผลักดันอยู่ เพื่อรับมือวิกฤตความมั่นคงด้านอาหาร ก็คือ แนวคิดการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จากโครงการ Thai Rice NAMA ( ไทย ไรซ์ นามา) โครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ที่ได้เข้ามาช่วยพี่น้องเกษตรกรไทย ให้ผลิตข้าวมากขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตและลดโลกร้อน ตามมาตรการ “3 เพิ่ม 3 ลด” คือ "เพิ่มผลผลิตข้าว เพิ่มคุณภาพข้าว เพิ่มรายได้ ลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้น้ำ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก" เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกรไทย
โดยปัจจุบันมี เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ภาคกลางเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 25,000 ราย และจะเร่งรณรงค์ ขยายผลโครงการไปยังภูมิภาคอื่นๆ พร้อมเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนเสริมสร้างความตระหนักรู้ และความสําคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไปด้วย
ด้านนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวถึงภาคเกษตร ว่าขณะนี้กระทรวงกำลังเตรียมแผนรับมือวิกฤตความมั่นคงด้านอาหารโลก เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์แนวโน้มวิกฤตอาหารโลก ซึ่งขณะนี้ หลายประเทศได้มีมาตรการหยุดการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญอย่าง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี เรปซีดออยล์ และน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อสำรองอาหารและพลังงานไว้เพื่อความมั่นคงในประเทศ
สำหรับประเทศไทย ด้านการเกษตร มีแผนการผลิตข้าวในปี 65/66 บนพื้นที่ 66.2 ล้านไร่ มีการคาดการณ์ผลผลิตจะมี 30 ล้านตันข้าวเปลือก แยกเป็นรอบที่ 1 พื้นที่ 59.4 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 25.5 ล้านตันข้าวเปลือก และรอบที่ 2 พื้นที่ 6.8 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิต 4.4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยพื้นที่และผลผลิตข้าวรอบที่ 2 สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เช่น สถานการณ์ราคา และภัยธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ภาวะโลกขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่ ย่อมมีผลกระทบกับประเทศไทยและอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก การอัดฉีดงบประมาณ และการนำความรู้และเทคโนโลยีสู่เกษตรกร ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง และเข้มข้นมากยิ่งขึ้น โดยจะเร่งผลักดันแผนรับมือนี้ไปประยุกต์เข้าสู่โครงการในปัจจุบันและโครงการใหม่ที่จะเกิดขึ้นต่อไป
ทั้งนี้เฟซบุ๊ก ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ Dr. Suvit Maesinceeได้โพสต์ข้อความว่า วิกฤตอาหารโลก (Global Food Crisis) เริ่มแล้ว!
ปัญหาปากท้อง ถือเป็นปัญหาต้นๆที่ส่งผลต่อคุณภาพของชีวิตประชากร วิกฤตราคาอาหารแพงถือเป็นหนึ่งในปัญหาที่ทั่วทั้งโลกต่างเผชิญกันอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูล ที่ส่อให้เห็นถึงวิกฤตราคาอาหารแพงทั่วโลก โดยจากรายงาน FAO ระบุว่าดัชนีราคาอาหาร (Food Price Index) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดการเปลี่ยนแปลงรายเดือนของสินค้า อาหารและโภคภัณฑ์ที่มีการซื้อขายมากที่สุดทั่วโลก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มธัญพืช ผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์ น้ำมันพืช และน้ำตาล มีค่าเฉลี่ยในเดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ 133.7 จากระดับ 134.9 เทียบกับเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ซึ่งถือเป็นเดือนที่ 4 ที่ดัชนีเพิ่มสูงขึ้น และยังเป็นระดับที่พุ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี
ซึ่งหากพิจารณารวมทั้งปี 2564 แล้วดัชนีที่ว่าจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 125.7 เพิ่มขึ้น 28.1% เทียบกับปี 2563 และถือเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่แตะระดับ 131.9 ในปี 2554 หรือ 10 ปีก่อน
โดยราคาในกลุ่มธัญพืชและผลิตภัณฑ์จากนม เป็นกลุ่มที่ราคาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุด ตามมาด้วยน้ำตาล ในขณะที่ราคาเนื้อสัตว์และน้ำมันพืชในเดือนพฤศจิกายนลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า
ในส่วนของปี 2565 FAO เผยว่าดัชนีราคาอาหารในเดือนมีนาคม 2565 เพิ่มขึ้นเกือบ 13% จากเดือนกุมภาพันธ์ในปีเดียวกัน และราคาอาหารพุ่งขึ้นเกือบ 30% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนเมษายน 2565 ตามดัชนีราคาอาหารของ FAO
* วิกฤตอาหารส่งผลต่อประชาคมโลกอย่างไร
ราคาอาหารที่แพงขึ้นนำมาสู่ความไม่มั่นคงด้านอาหาร (Food Insecurity) เมื่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตพุ่งสูงขึ้น เช่น ข้าว ขนมปัง เนื้อสัตว์ นม ไข่ นั่นแปลว่าประชาชนต้องหักส่วนรายได้เพื่อมาใช้จ่ายในส่วนนี้มากขึ้น สำหรับประเทศที่ค่าครองชีพมีความสอดคล้องกัน อาจส่งผลกระทบบ้างเล็กน้อยประปราย แต่ในประเทศรายได้น้อยนั้นได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะการซื้ออาหารคิดเป็นอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายครัวเรือนทั้งหมด จากข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า ผู้คน 10 ล้านคนถูกผลักให้เข้าสู่ความยากจนขั้นรุนแรงทั่วโลกสำหรับราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ เปอร์เซ็นต์
การที่ราคาอาหารสูงขึ้น แต่ประชาชนยังมีรายได้เท่าเดิมหรือน้อยลง ย่อมส่งผลโดยตรงต่อการเข้าถึงอาหาร และนำไปสู่ปัญหาความอดอยากและขาดสารอาหาร ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญาของประชากร โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง
เฉพาะในประเทศเอเชียแปซิฟิก FAO ระบุว่า มีผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติอาหารแพงและการขาดแคลนอาหารมากถึง 1,800 ล้านคน และยังมีคนเป็นโรคขาดสารอาหารที่เรียกกันว่า โรคผอมแห้ง มากถึง 40 ล้านคน เพิ่มจาก 31 ล้านคนเมื่อปีที่ผ่านมา
นักวิเคราะห์ระบุว่า นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของการเกิดวิกฤติที่เรียกว่า The Great (Food) Shortage หรือภาวะขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่ของโลก และในหลายประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ความไม่มั่นคงด้านอาหารเป็นสาเหตุของความไม่สงบทางสังคมและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นได้จุดชนวนให้เกิดการประท้วงในศรีลังกา ตูนิเซีย และเปรู
นอกจากนี้ในประเทศร่ำรวยก็เจอผลกระทบเช่นกัน เช่น ชาวอังกฤษเกือบ 10 ล้านคนลดการบริโภคอาหารในเดือนเมษายน และฝรั่งเศสวางแผนที่จะออกคูปองอาหารให้กับครัวเรือนที่ยากจนที่สุด และอัตราเงินเฟ้อที่นำโดยราคาอาหารและพลังงานเป็นปัญหาการหาเสียงทางการเมืองของสหรัฐที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของที่นั่งในรัฐสภา
ในส่วนของประเทศไทยคงเห็นได้ชัดเจน จากทั้งราคาหมูที่เพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 180 บาท เป็น 250 บาท และแตะ 300 บาทไปแล้วเมื่อเร็วๆนี้ ส่วนไก่ ปลา ผักสด ก็แพงขึ้นแบบก้าวกระโดด ส่งผลให้ร้านค้าจำนวนมากต้องติดป้ายขอขึ้นราคาอาหารเนื่องจากวัตถุดิบแพงขึ้นจนไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่ราคาขายแบบเดิมได้ ยังไม่รวมแก๊สหุงต้ม LPG ค่าโดยสารรถสาธารณะ ค่าทางด่วน ที่ขยับขึ้นราคาตามในขณะที่รายได้ประชาชนยังคงเท่าเดิม
* สาเหตุของวิกฤตอาหารโลก
1. ผลพวงจากสงครามรัสเซีย–ยูเครน
สาเหตุที่ราคาอาหารทั่วโลกแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดมาจากราคาวัตถุดิบทางการเกษตรที่นำมาใช้ประกอบอาหารปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นราคาข้าวสาลีในเดือนมีนาคม 2565 ที่ปรับตัวขึ้นกว่า 31% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2564 หรือจะเป็นราคาข้าวโพดที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 32% ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาวัตถุดิบทางการเกษตรปรับตัวสูงขึ้น คือผลพวงจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากทั้งสองประเทศถือเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกวัตถุดิบทางการเกษตร เพื่อนำไปประกอบอาหารรายใหญ่ของโลก อาทิ ข้าวสาลี คิดเป็น 30% ของตลาดโลก น้ำมันพืชจากเมล็ดดอกทานตะวัน คิดเป็น 80% ของตลาดโลก ข้าวโพด คิดเป็น 19% ของตลาดโลก
การสู้รบที่เกิดขึ้น ทำให้การเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวผลผลิตต่าง ๆ เช่น ข้าวสาลีและข้าวโพด ไม่สามารถทำได้ ซึ่ง FAO ระบุว่า สงครามจะทำให้พื้นที่การเกษตรของยูเครน 20-30% ไม่ได้รับการเพาะปลูกหรือไม่ได้รับการเก็บเกี่ยวในฤดูกาล 2565 อีกทั้งการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปขายต่างแดนผ่านท่าเรือในทะเลดำต้องหยุดชะงักลง จากการถูกเรือรบของรัสเซียปิดล้อม
ดังนั้นหลายประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารและปัจจัยการผลิตทางการเกษตรจากรัสเซียและยูเครน อาทิ มองโกเลีย อาเมเนีย อียิปต์ เยเมน ลิเบีย ปากีสถาน ตุรกี จึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ซึ่งบางประเทศ อย่างเช่น เลบานอน ถึงขั้นต้องร้องขอความช่วยเหลือเงินกู้จากธนาคารโลกกว่า 150 ล้านดอลลาร์ หรือราว 4,800 ล้านบาท เพื่อนำมาอุดหนุนค่าอาหาร โดยเฉพาะขนมปังและธัญพืช ให้แก่ประชากรในประเทศ โดยโครงการอาหารโลก (World Food Programme) ระบุว่า หากสงครามยังดำเนินต่อไป อาจนำไปสู่ภาวะข้าวยากหมากแพง ประเทศต่าง ๆ จะค่อย ๆ ขาดเสถียรภาพและการอพยพ นำไปสู่วิกฤตอื่น ๆ ต่อไปอีก
2. ราคาปุ๋ยแพง
ขณะนี้เกิดปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยทั่วโลก นอกจากสินค้าเกษตรแพงแล้ว ราคาปุ๋ยซึ่งเป็นวัตุดิบสำคัญในการเพาะปลูกก็แพงขึ้นเช่นกัน เนื่องจากภาวะสงครามในรัสเซียซึ่งถือเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบที่ใช้ในการทำปุ๋ยรายใหญ่ อาทิ โพแทสและซัลเฟต ส่งผลกระทบต่อระบบการขนส่งปุ๋ยดังกล่าวไปยังต่างประเทศ
อีกทั้งด้วยราคาก๊าซที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ราคาปุ๋ยต้องปรับขึ้นตาม เนื่องจากก๊าซเป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตแอมโมเนียในปุ๋ย
3. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำลง เนื่องจากภาวะโลกร้อนทำให้สภาพอากาศในหลายประเทศแปรปรวนอย่างหนัก ดังนั้นการเพาะปลูกพืชทางเศรษฐกิจในหลาย ๆ ประเทศจึงเกิดความเสียหาย หากย้อนดูข้อมูลดัชนีราคาอาหารโลกจะพบว่า ดัชนีราคาอาหารโลกนั้นเริ่มมีทิศทางเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ก่อนจะมีสงครามรัสเซีย-ยูเครนแล้ว
ตามรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ในเดือนกุมภาพันธ์ ระบุว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความแห้งแล้ง น้ำท่วม และไฟไหม้ในพื้นที่เกษตรกรรมที่ครั้งหนึ่งเคยเชื่อถือได้ อย่างเช่น แคลิฟอร์เนียและยุโรปตอนใต้ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้จำนวนผลผลิตตกต่ำลง และมีบางประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว เช่น อินเดีย ที่เผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรง ส่งผลให้ผลผลิตข้าวสาลีในปีนี้ลดลง รวมถึงจีน ที่รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของจีนได้ออกมาเตือนว่า ผลผลิตข้าวสาลีในฤดูหนาวของประเทศจะย่ำแย่ เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวสาลีได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งใหญ่
นอกจากผลกระทบทางการเกษตรแล้ว ยังมีเหตุการณ์สภาพอากาศเลวร้ายในท่าเรือสำคัญต่าง ๆ ตั้งแต่บัลติมอร์ ไปจนถึงทะเลดำ ส่งผลให้การส่งออกหยุดชะงัด นำไปสู่ราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น
Enock Chikava ผู้อำนวยการชั่วคราวด้านการพัฒนาการเกษตรของมูลนิธิ Bill & Melinda Gates กล่าวว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะรุนแรง จนทำให้ผลกระทบจากวิกฤตยูเครนที่มีต่อราคาอาหารนั้นเป็นเพียงแค่ระดับอนุบาล และเขายังกล่าวอีกว่า ผลกระทบที่เราเห็นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นแมลงศัตรูพืช ภัยแล้ง หรือความร้อนที่เพิ่มขึ้น นั่นเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเพียง 1 องศาเซลเซียสเท่านั้น และหากอุณหภูมิของโลกยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปเช่นนี้ จนถึง 1.5 หรือ 2 องศาเซลเซียส จะนำไปสู่ผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
* ธนาคารโลกเตือน "วิกฤตอาหารโลก" ยืดเยื้อถึงปี 2566
นายเดวิด มัลพาส ประธานธนาคารโลกได้ออกมากล่าวระหว่างการประชุมประจำฤดูใบไม้ผลิ 2565 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกเมื่อวันพุธ (20 เม.ย.) ว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลทำให้ราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลกระทบกลุ่มคนยากไร้มากที่สุด พร้อมเตือนว่า วิกฤตการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารครั้งนี้จะครอบคลุมระยะเวลาหลายเดือนและอาจจะยืดเยื้อไปจนถึงปี 2566
โดยธนาคารโลกได้ประกาศแผนรับมือวิกฤติความมมั่นคงด้านอาหารโลก โดยจะอัดฉีดงบประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์เข้าสู่โครงการในปัจจุบันและโครงการใหม่ ซึ่งงบประมาณดังกล่าวจะครอบคลุมด้านเกษตรกรรม, โภชนาการ, การคุ้มครองทางสังคม, น้ำ และการชลประทาน เพื่อแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารตลอดช่วง 15 เดือนข้างหน้า
นอกจากนี้ งบประมาณดังกล่าวจะยังครอบคลุมการส่งเสริมการผลิตอาหารและปุ๋ย เพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบอาหาร สนับสนุนด้านการค้าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนให้ความช่วยเหลือครัวเรือนและผู้ผลิตกลุ่มที่เปราะบาง
โดยธนาคารโลกจะร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในการจัดตั้งโครงการใหม่ ๆ มูลค่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วง 15 เดือนข้างหน้า เพื่อรับมือวิกฤติความมั่นคงด้านอาหาร รวมถึงกระตุ้นให้ประเทศต่าง ๆ พยายามร่วมกันเพื่อเพิ่มปริมาณพลังงานและผลผลิตปุ๋ย ช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มอัตราการเพาะปลูกและปริมาณผลผลิต รวมถึงยกเลิกนโยบายระงับการส่งออกและนำเข้า
* วิกฤตอาหารโลกนำมาสู่ “Food Protectionism” ในหลายประเทศ
สงครามรัสเซีย-ยูเครน จุดชนวนผลกระทบเศรษฐกิจโลกหลายด้าน โดยเฉพาะแนวโน้ม “วิกฤตอาหารโลก” ที่เขย่าความมั่นคงทางอาหารของประชากรโลก จากการที่ทั้งสองประเทศหยุดการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญอย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี เรพซีดออยล์ และน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อสำรองอาหารและพลังงานไว้เพื่อความมั่นคงในประเทศ ซึ่งสินค้าธัญพืชเหล่านั้นเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญในการเลี้ยงสัตว์และผลิตอาหาร และกำลังกลายเป็นกระแสผลักดันให้ประเทศผู้ผลิตอาหารออกนโยบาย “ห้ามส่งออก” ในแบบเดียวกัน เพื่อรักษาสมดุลอาหารเพื่อเลี้ยงคนในประเทศ
ประเทศที่ห้ามส่งออกธัญพืชสำคัญและอาหารขณะนี้นอกจากรัสเซีย-ยูเครนแล้ว ติดตามมาด้วยอินโดนีเซีย ผู้ส่งออกน้ำมันเพื่อการบริโภครายใหญ่สุดของโลก ประกาศห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มสำหรับทำอาหาร คาซัคสถาน จำกัดการส่งออกข้าวสาลีและแป้งสาลี เป็นการชั่วคราวจนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ขณะที่อาร์เจนตินา ผู้ส่งออกเนื้อวัวรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก จำกัดการส่งออกเนื้อวัว ยาวจนถึงปี 2566 และล่าสุดอินเดีย ประกาศห้ามส่งออกข้าวสาลี ด้วยเหตุผลที่ไม่แตกต่างกับประเทศอื่น ๆ คือเพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงทางอาหารให้กับคนในชาติของตน เหล่านี้อาจจะเป็นเหตุผลให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์และราคาอาหารปรับเพิ่มขึ้นรอบใหม่ได้
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า บรรดาผู้ซื้อข้าวสาลีทั่วโลกได้แห่ไปซื้อข้าวสาลีจากอินเดีย หลังจากที่การส่งออกข้าวสาลีจากเมืองท่าแถบทะเลดำลดลงตั้งแต่รัสเซียบุกโจมตียูเครน ส่งผลให้ราคาข้าวสาลีตลอดจนผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลีในอินเดียพุ่งสูงถึง 15-20% หลังสงครามรัสเซียยูเครนปะทุ เช่นเดียวกับราคาข้าวสาลีในตลาดโลกพุ่งสูงสุดในรอบ 14 ปี ซึ่งไม่เพียงแต่จะกระทบต่อปัจจัยต้นทุนราคาอาหาร การห้ามส่งออกข้าวสาลีของอินเดียยังคาดว่าจะกระทบต่อต้นราคาอาหารสัตว์ให้มีแนวโน้มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
เห็นได้ว่านโยบายปกป้องตัวเองเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารเฉพาะตัว (Food Protectionism) เริ่มแพร่หลายไปในหลายประเทศแม้ไม่ได้อยู่ในภาวะสงครามก็ตาม เพราะต่างตระหนักถึงผลกระทบทางตรงต่อนโยบายบริหารประเทศช่วงต่อจากนี้ไป คือภาวะเงินเฟ้อและการขาดแคลนอาหารโดยเฉพาะประเทศที่นำเข้าอาหาร เช่น แอฟริกา เนื่องจากประเทศผู้ส่งออกอาหารจะไม่สามารถหาวัตถุดิบมาสนับสนุนการผลิตได้เต็มประสิทธิภาพ หรือ หาได้ก็มีต้นทุนสูงมากจนทำให้ต้องปรับราคาให้สูงขึ้นด้วย ราคาสินค้าสูงก็จะผลักดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งเป็นเหตุผลที่รัฐบาลแต่ละประเทศพยายามหลีกเลี่ยง
จากข้อมูลของสถาบัน Peterson Institute for International Economics หรือ PIIE ระบุว่า ปัจจุบันมีประเทศที่มีนโยบายห้ามส่งออกอาหาร อาทิ
อาร์เจนตินา : น้ำมันถั่วเหลือง, กากถั่วเหลือง สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565
แอลจีเรีย : พาสต้า, เมล็ดข้าวสาลี, น้ำมันพืช, น้ำตาล สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565
อียิปต์ : น้ำมันพืช, ข้าวโพด สิ้นสุดวันที่ 12 มิถุนายน 2565 และข้าวสาลี, แป้งสาลี, น้ำมันพืช, ถั่วเลนทิล, พาสต้า, ถั่ว สิ้นสุดวันที่ 10 มิถุนายน 2565
อินโดนีเซีย : น้ำมันปาล์ม, น้ำมันปาล์มจากเมล็ดปาล์ม สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565
อิหร่าน : มันฝรั่ง, มะเขือม่วง, มะเขือเทศ, หัวหอม สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565
คาซัคสถาน : ข้าวสาลี, แป้งสาลี สิ้นสุดวันที่ 15 มิถุนายน. 2565
โคโซโว : ข้าวสาลี, ข้าวโพด, แป้งสาลี, น้ำมันพืช, เกลือ, น้ำตาล สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565
ตุรกี : เนื้อวัว, เนื้อแกะ, เนื้อแพะ, เนย, น้ำมันประกอบอาหาร สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565
ยูเครน : ข้าวสาลี, ข้าวโอ๊ต, ข้างฟ่าง, น้ำตาล สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565
รัสเซีย : น้ำตาล, เมล็ดทานตะวัน สิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม 2565 และข้าวสาลี, แป้งเมสลิน, ข้าวไรย์, ข้าวบาร์เลย์, ข้าวโพด สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565
เซอร์เบีย : ข้าวสาลี, ข้าวโพด, แป้งสาลี, น้ำมันพืช สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565
ตูนิเซีย : ผัก, ผลไม้ สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565
คูเวต : ผลิตภัณฑ์จากเนื้อไก่, ธัญพืช, น้ำมันพืช สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565
*เอกสารอ้างอิง “วิกฤตอาหารโลก (Global Food Crisis) เริ่มแล้ว!” Money Buffalo “ทำไมถึงเกิดวิกฤตอาหารโลก ภัยใหม่ 2022 หายนะของทุกประเทศ” https://www.moneybuffalo.in.th/.../%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0...