วันพุธที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2566

"มท.1" มอบนโยบายจัดทำงบฯปี2567 เน้นน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้ทุกมิติ ตามที่ "บิ๊กตู" ระบุ



มท.1 เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 โดยมีคณะผู้บริหาร มท. เข้าร่วมการประชุม เน้นย้ำการใช้จ่ายงบประมาณยึดผลประโยชน์พี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ 

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566  เวลา 09.00 น. พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) เป็นประธานในการประชุมมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของกระทรวงมหาดไทย โดยมี นายนริศ ขํานุรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.3) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายยุทธนา สาโยชนกร รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดี และหัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย คณะเจ้าหน้าที่จากสำนักงบประมาณ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมราชสีห์ ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย

 พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เป็นโอกาสที่ดีที่สำนักงบประมาณได้มาร่วมประชุมหารือแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของกระทรวงมหาดไทย ที่เป็นหนึ่งในหน่วยงานภาครัฐที่มีความสำคัญ มีภารกิจการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ทำงานใกล้ชิดพี่น้องประชาชน ซึ่งรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 โดยให้พิจารณาน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ และยึดเป้าหมายการยกระดับการพัฒนาประเทศในทุกมิติ รวมถึงส่งเสริมการกระจายอำนาจที่เกี่ยวข้อง ภายใต้กรอบแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนแม่บทในด้านต่าง ๆ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs)  ทั้ง 17 ข้อขององค์การสหประชาติ 


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า การจัดสรรงบประมาณจำเป็นต้องมีการกระจายและถ่วงน้ำหนักกัน ซึ่งภารกิจของกระทรวงมหาดไทยล้วนแต่มีความสำคัญ โดยที่ประชุมได้นำเสนอประเด็นยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน เพื่อให้ที่ประชุมได้ให้เห็นภาพรวมดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคง ประกอบด้วย การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด การป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายในประเทศ การจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ การสนับสนุนการพัฒนาเครือข่ายในการจัดการภัยพิบัติร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ประกอบด้วย การพัฒนาพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกระจายความเจริญเพื่อยกระดับความน่าอยู่ของเมือง การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ประกอบด้วย การพัฒนาคุณภาพการศึกษายกระดับมาตรฐานสถาบันพัฒนาเด็กปฐมวัยพัฒนาครูและผู้ดูแลเด็กและการเรียนรู้ของโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ประกอบด้วย การส่งเสริมการกระจายอำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ การจัดที่ดินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับพื้นที่ ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย การส่งเสริมการจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาเมืองพื้นที่เศรษฐกิจและประปาหมู่บ้าน และการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนหรือการจัดการอุทกภัย และยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ประกอบด้วย การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชนและการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกในการบริการภาครัฐ และการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยข้อเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ซี่งในเบื้องต้นมีวงเงินเพิ่มขึ้นจากวงเงินปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 คิดเป็นร้อยละ 63.22 ส่วนที่เป็นงบประจำเพิ่มขึ้น ร้อยละ 39.02 และงบลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 104.56


พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวเน้นย้ำว่า หนึ่งในนโยบายที่สำคัญซึ่งทางรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเร่งดำเนินการ คือ เรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมุ่งเน้นการจัดการ 2 ส่วน คือ 1) ลด Supply ของยาเสพติด คือ การจับกุมร่วมกับตำรวจ และหน่วยงานด้านความมั่นคง การปฏิบัติด้านการข่าว และการปราบปราม ซึ่งเป็นหน้าที่ของของกระทรวงมหาดไทยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความทางอาญาอยู่แล้ว และ 2) การลด Demand ของยาเสพติด เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้เสพรายใหม่เข้าไปอยู่ในวงจร มีการดำเนินการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงกระทรวงสาธารณสุข ในการพัฒนายกระดับและเพิ่มความเข้มแข็งให้กับชุมชนหมู่บ้าน ให้สามารถอยู่ได้ อย่างมีภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การดำเนินงานขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษ ยานพาหนะและครุภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของกรมที่ดิน การมีโครงสร้างพื้นฐานในการบำบัดน้ำเสีย การดูแลซ่อมแซมถนนในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ขณะนี้มีการดำเนินนโยบายแบบขาดดุล เป็นต้น 


โดยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวถึงกลไกการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่ถือเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญและกำชับให้กระทรวงมหาดไทยได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ และพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำให้กระทรวงมหาดไทยได้ขับเคลื่อนทุกกลไกในพื้นที่ตั้งแต่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามปัญหายาเสพติดจังหวัด (ศอ.ปส.จ.) และนายอำเภอ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอำเภอ (ศป.ปส.อ.) ได้บริหารจัดการกำลังคน กำลังทรัพยากร และการบริหารอื่น ๆ ตามโครงสร้างที่กฎหมายได้ให้อำนาจอย่างครบวงจร ทั้งในด้านการป้องกัน การปราบปราม การแก้ไขปัญหา การบำบัดรักษา และการฟื้นฟูสภาพทางสังคมผู้ป่วยยาเสพติด เพราะที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหายาเสพติดอาจยังมีข้อจำกัดบางประการ ทำให้มีผู้เสพรายเดิมเข้าไปอยู่ในกระบวนการยาเสพติด หรือกลายเป็นผู้ค้า หรือเป็นผู้เสพเรื้อรัง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข ป.ป.ส. ทำการขยายผล โดยมีการออกแบบหลักสูตรบำบัดรักษาในระยะเวลา 15 วัน ที่ได้รับคำแนะนำจากนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ บูรณาการผู้นำท้องที่และผู้นำท้องถิ่น พร้อมจัดเตรียมสถานบำบัดรักษาฟื้นฟูสภาพทางสังคม กว่า 1,200 แห่งทั่วประเทศ ที่มีทั้งการบำบัดรักษา การฟื้นฟู และการฝึกอาชีพที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เช่น การปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ หรือการทำอาหาร เป็นต้น เพื่อให้มีสัมมาชีพที่เลี้ยงตนเอง เลี้ยงครอบครัวได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยที่ผ่านการรักษาฟื้นฟูกำลังใจกลับมามีชีวิตอย่างปกติสุขในสังคมได้อย่างยั่งยืน ซึ่งหากได้รับการจัดสรรงบประมาณ จะทำให้การขับเคลื่อนตามแนวทางแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล ด้วยกลไกในระดับพื้นที่ สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์ และเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนให้กับประชาชน ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ


ด้าน นายนริศ ขำนุรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในเรื่องการของบประมาณหากหน่วยงานใดถูกปรับลดงบประมาณ หรือไม่ได้รับงบประมาณตามที่เสนอ ขอให้ทุกหน่วยเตรียมเอกสารความจำเป็น และเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาไว้ เพื่อนำเสนอให้ฝ่ายนิติบัญญัติได้พิจารณาทบทวนในการแปรญัตติเพิ่มเติม ในส่วนที่ปรับลดหรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่ง อาจไม่อยู่ในกรอบของงบประมาณ ปี พ.ศ. 2567 นี้ แต่หากเรื่องใดมีความสำคัญ อาจจะต้องมีการเจรจาเพิ่มเติม เพื่อเป็นการทบทวนให้มีการจัดสรรงบประมาณ เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม ทั้งนี้ หากมีการจัดสรรเงินแล้วหน่วยรับงบประมาณก็ต้องเตรียมความพร้อมในทุกมิติ ทบทวนกระบวนงาน เครื่องมือ ต้องมีแผนงานรองรับ เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพเกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชนต่อไป


นายยุทธนา สาโยชนกร รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ขอขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย และผู้แทนจากกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ที่ได้กรุณาให้ความรู้ นโยบาย ภารกิจตลอดจนบทบาทหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการลดภาระงานอย่างเป็นรูปธรรม ในห้วงเวลาปัจจุบันนี้กรอบภาพรวมงบประมาณในวงเงิน 3.35 ล้านล้านบาทค่อนข้างครบถ้วนแล้ว ซึ่งยังคงจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่สามารถดำเนินนโยบายแบบสมดุลได้ ยังคงต้องมีความจำเป็นที่จะยึดหลักเกณฑ์แบบเดิมจากปีที่แล้ว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จทำให้การใช้จ่ายเงินของภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชน อีกทั้งยังมีการดำเนินการที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่มุ่งสู่การยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของของเงิน โดยในวันนี้ได้มารับทราบประเด็นปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน ซึ่งภารกิจบางอย่างต้องทำไปพร้อม ๆ กัน จะทำเป็นงวดงาน หรือเฉพาะบางส่วนอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อทั้งโครงการฯ ความต่อเนื่อง หรือเกิดการเลือกปฏิบัติ ทำให้การกระจายงบประมาณไม่เกิดความเท่าเทียม ซึ่งในส่วนนี้ อาจจะต้องอาศัยการจัดลำดับความสำคัญและพิจารณาโดยละเอียดให้รอบคอบอีกครั้งหนึ่ง โดยสำนักงบประมาณจะรับแนวความเห็นทั้งหมดไปใช้ประกอบการพิจารณา บนพื้นฐานแนวคิด "การยึดประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ" เพราะสิ่งที่พี่น้องประชาชนจะได้รับ ต้องเป็นสิ่งที่เขาพึงจะได้รับ อันมีความสำคัญอย่างยิ่งและสอดคล้องกับการมีส่วนร่วมและความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์แนวนโยบายเชิงรุกในการป้องกันและคุ้มครองพระพุทธศาสนาที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มอบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำเนินการ

  วิเคราะห์แนวนโยบายเชิงรุกในการป้องกันและคุ้มครองพระพุทธศาสนาที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มอบสำนักงานพระพุทธศาสนาแ...