นักการตลาดอธิบายชัด 3 ประเด็น หลังเคาะชื่อบริษัทใหม่ใช้ชื่อเป็น “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พร้อมยังคงการแยกแบรนด์ทรู และ ดีแทค หวังเจาะเป้าหมายกลุ่มตลาดแตกต่าง
การควบรวมกิจการระหว่าง ทรู และดีแทค มีความคืบหน้าต่อเนื่อง ล่าสุด มีการแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 มกราคม ที่ผ่านมา ของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ว่า คณะกรรมการของทั้งสองบริษัทฯ ได้มีมติให้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นร่วม ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อพิจารณาและอนุมัติเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการควบบริษัท โดยหนึ่งในนั้นคือการเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นร่วม พิจารณาและอนุมัติชื่อของบริษัทใหม่ คือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งทำให้นักการตลาดมองว่าการเลือกใช้ชื่อ ทรู หลังการควบรวมนั้น มีประโยชน์ในหลายมิติ ถึงแม้ใช้ชื่อทรู แต่ก็นับว่าเป็นบริษัทใหม่ และมีโครงสร้างผู้ถือหุ้นแบบที่เรียกว่าเท่าเทียม (Equal Partnership) ทำให้ดีแทคเองก็คงไม่ได้กังวลอะไร เพราะการควบรวมนี้เกิดเป็นบริษัทใหม่ ที่แบรนด์ดีแทคก็ยังคงอยู่ และไม่สร้างความสับสนใจกับลูกค้า
รศ.ดร.สุชาติ ไตรภพสกุล อาจารย์ประจำคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อธิบายว่า สามารถนำชื่อเดิมของบริษัทใดบริษัทหนึ่งมาเป็นชื่อใหม่ได้ เพราะไม่กระทบทั้งหลักการตลาดและหลักการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งบริการยังคงใช้แบรนด์ ทรู และ ดีแทค ต่อไปดังนั้นผู้บริโภคก็จะไม่สับสน ในขณะที่การเลือกใช้ชื่อบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน ก็ถือว่า ประหยัดงบประมาณในการสื่อสาร เพราะชื่อบริษัททรูนั้น ครอบคลุมของเขตที่กว้างกว่า ดังนั้น หลังกการควบรวม ใช้ชื่อทรู ก็ถือว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร โดยต้องทำความเข้าใจในแต่ละประเด็นดังนี้
ประเด็นที่ 1 เรื่อง หลักการของAmalgamation หรือการควบรวมธุรกิจตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า Amalgamation เป็นการรวมบริษัทเดิมตั้งแต่ 2 บริษัทขึ้นไป เข้าเป็นบริษัทที่จดทะเบียนขึ้นใหม่ โดยจะมีบริษัทใหม่เกิดขึ้น ส่วนบริษัทเดิมทั้งคู่ก็จะเลิกกิจการไป โดยบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ อันเกิดจากการควบรวม จะใช้ชื่อบริษัทเดิมที่ควบเข้ากัน หรือจะตั้งชื่อใหม่ก็ได้ ซึ่งกรณีนี้ บริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นนั้น เมื่อใช้ชื่อบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) อันเป็นชื่อเดิมของบริษัทหนึ่งในสองบริษัทที่ควบรวมกัน ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติและเป็นไปตามบทบัญญัติตามกฎหมายที่ให้สิทธิดำเนินการได้
ประเด็นที่สอง คือ ถือหุ้นเท่ากัน แต่บริษัทใหม่ (New Co) ยังคงใช้ชื่อ ทรู สำหรับเรื่องนี้ต้องดูโครงสร้างผู้ถือหุ้น จะเห็นได้ว่า เป็น Equal Partnership ในหลักการตลาด เมื่อเปรียบเทียบระหว่างชื่อ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นั้น ทรู คอร์ปอเรชั่น มีธุรกิจและการให้บริการเป็นที่รู้จักหลากหลายมากกว่า ทั้งธุรกิจโมบายล์ บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต โทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก และบริการดิจิทัล ขณะที่เมื่อเทียบกับ โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ซึ่งประกอบธุรกิจด้านโมบายล์ในแบรนด์ดีแทคเท่านั้น จึงไม่แปลกที่ฝ่ายบริหารทั้งสองจะเลือกใช้ชื่อ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” เป็นชื่อบริษัทที่จะจดทะเบียนขึ้นมาใหม่หลังการควบรวมสำเร็จ
และครั้งนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่บริษัทที่เป็นเจ้าของแบรนด์ ดีแทค มีการเปลี่ยนชื่อ เพราะก่อนหน้าจะเป็นบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) แบรนด์ดีแทคอยู่ภายใต้บริษัท ยูไนเต็ด คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือที่คนทั่วไปเรียกชื่อย่อว่า ยูคอม ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นของตระกูลเบญจรงคกุล ต่อมาเมื่อกลุ่มเทเลนอร์ เข้ามา มีการเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นก็มีการเปลี่ยนชื่อบริษัทจดทะเบียนเป็นบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)ขณะที่แบรนด์ ดีแทคก็ยังคงอยู่
ประเด็นที่ 3 : การเปลี่ยนชื่อบริษัทจดทะเบียนใหม่ แต่ 2 แบรนด์ ยังคงอยู่ ไม่มีแบรนด์ไหนหายไป ในทางการตลาดถือว่าไม่มีผลกระทบ ตรงกันข้ามยังจะเสริมความแข็งแกร่งให้ทั้งสองแบรนด์ อันเกิดจากการนำจุดแข็งของทั้งสองแบรนด์มารวมกัน ซึ่ง แบรนด์ทรู และ ดีแทค ยังคงแยกกันไปอีกระยะหนึ่ง หรือประมาณ 3 ปี ดังนั้นจึงไม่มีผลกระทบใดๆกับลูกค้าทั้งทรู และดีแทค ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรืองของการสื่อสารที่จำเป็นต้องอธิบายให้สังคมได้รับรู้และเข้าใจในข้อเท็จจริงรวมถึงประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับเพิ่มเป็นสองเท่า
โดย รศ.ดร.สุชาติ ไตรภพสกุล อาจารย์ประจำคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ แสดงความเห็นว่า หลังการควบรวมคนไทยจะยังเห็นแบรนด์ ทรู และ ดีแทค เหมือนเดิม ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการของ กสทช.ที่เข้มข้นต่อการกำกับดูแลการควบรวมกิจการในครั้งนี้ ภายใต้วัตถุประสงค์สำคัญคือคำนึงถึงประโยชน์ของผู้บริโภคที่ทำให้มีเวลาในการเรียนรู้แบรนด์และบริการใหม่ๆ โดยไม่กระทบบริการเดิมที่ได้รับอยู่ และ มีเวลาในการทำการตลาดแบบเป็นธรรมชาติ เพราะฐานลูกค้า ทรู และ ดีแทค มีกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน และ สินค้าบริษัทก็มีไม่เท่ากัน หากมีการรวมแบรนด์ทันที จะทำให้ลูกค้าสับสน ดังนั้น ถึงแม้ว่า บริษัทใหม่ (NEW CO) จะใช้ชื่อเดียว แต่แบรนด์สินค้ายังแยกกัน
ประการสำคัญ รศ.ดร.สุชาติ ยังให้ความเห็นว่า บริษัทใหม่จะได้ประโยชน์จาก การบริหารต้นทุน การนำเสนอบริการใหม่ๆ เพราะการแยกแบรนด์ด้วยการเจาะกลุ่มลูกค้าคนละกลุ่ม ก็จะเป็นยุทธศาสตร์ที่ทำให้ไม่สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และ ยังคงเดินหน้าแผนการตลาดให้เกิดความต่อเนื่องได้อีกด้วย เพราะฉะนั้น การใช้ชื่อบริษัทเดิมมาตั้งชื่อเป็นบริษัทใหม่ ก็ไม่ได้ผิดหลักการของการควบรวมกิจการ ทั้งในหลักกฎหมายและหลักการตลาด รวมถึง ไม่ได้กระทบต่อผู้บริโภคที่ใช้สินค้าทั้งสองแบรนด์อยู่ แต่ถ้ามองโดยละเอียดแล้ว การควบรวมกิจการที่ยังคงสองแบรนด์ไว้ กลับเป็นประโยชน์เพิ่มมากขึ้นต่อลูกค้าทั้งสองฝั่ง ทั้งการได้รับบริการที่หลากหลายจากการรวมกัน และสัญญาณมือถือที่ดีขึ้นและครอบคลุมพื้นที่การให้บริการมากขึ้นจากการรวมเครือข่ายของทั้งสองเข้าด้วยกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น