วันที่ 16 มกราคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 ว่า ตามที่ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 เพื่อเป็นกฎหมายกลางส่งเสริมให้การบริการของภาครัฐใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก โดยบางส่วนของกฎหมายมีผลบังคับมาตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 65 และบางส่วนมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 66 เป็นต้นไป ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้เตรียมการเพื่อรับโดยต่อเนื่องนั้น
ขณะนี้มาตรา 14 ตาม พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา ดังนั้นประชาชนสามารถแสดงภาพบัตรประชาชนทางดิจิทัล (Digital ID) บนเครื่องมือสื่อสารผ่านแอปพลิเคชันแทนการแสดงตนด้วยตัวบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง และเจ้าหน้าที่ไม่สามารถปฏิเสธการแสดง Digital ID ของประชาชนได้
"พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ ซึ่งมีผลบังคับทั้งฉบับตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 66 ที่ผ่านมา เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ผลักดันเรื่องรัฐบาลดิจิทัลให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับสังคมยุคใหม่ รวมทั้งเป็นไปตามการปฏิรูปประเทศด้านการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ให้มีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อบริการสาธารณะและอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมให้แก่ประชาชน
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีการผลักดันเทคโนโลยี Digital ID มาระยะหนึ่งแล้ว โดยมีการใช้งานจริงในปัจจุบัน อีกทั้งบริการจากภาครัฐและเอกชนส่วนใหญ่ต่างก็ถูกเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัล จึงต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยี Digital ID ขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ยืนยันตัวตนบนโลกดิจิทัลได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และมั่นคงปลอดภัย ในขณะเดียวกัน Digital ID ก็นำไปใช้ทดแทนบัตรประชาชนตัวจริง เพื่อทำธุรกรรมอื่น ๆ ได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น" นายอนุชาฯ กล่าว
โดยบัตรประจำตัวประชาชนเป็นเอกสารสำคัญที่ทุกคนต้องพกติดตัวไว้ควบคู่กับบัตรต่าง ๆ เพื่อใช้ในการติดต่อทั้งหน่วยงานราชการและเอกชน ใช้พิสูจน์และยืนยันสถานะของตัวบุคคลเมื่อต้องทำธุรกรรมหรือนิติกรรมต่าง ๆ ใช้ยืนยันสถานภาพการเป็นคนไทยของตัวบุคคลตามกฎหมาย
นอกจากนี้ ตามกฎหมายแล้วความผิดเกี่ยวกับบัตรประชาชนเป็นเรื่องของความมั่นคง หากถูกเรียกตรวจสอบจากเจ้าพนักงานตรวจบัตรที่สามารถขอตรวจได้ตามกฎหมาย แล้วไม่มียื่นให้ตรวจสอบ จะมีความผิดที่ต้องได้รับเป็นโทษปรับได้ แต่นับตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 66 ประชาชนสามารถแสดงภาพบัตรประชาชนทางดิจิทัล (Digital ID) บนเครื่องมือสื่อสารผ่านแอปพลิเคชัน แทนการแสดงตนด้วยตัวบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง และเจ้าหน้าที่ไม่สามารถปฏิเสธการแสดง Digital ID ของประชาชนได้ ประชาชนสามารถออกจากบ้านโดยพกโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียวโดยไม่ต้องพกบัตรประจำตัวประชาชน
ทั้งนี้ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้พัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ DOPA-Digital ID เพื่อรองรับการให้บริการประชาชน จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนใช้บริการเพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการใช้บริการต่างๆ ที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชน โดยผู้ประสงค์ขอลงทะเบียนระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล DOPA-Digital ID สามารถดำเนินการได้ ดังนี้
1. ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน "D.DOPA" ของกรมการปกครอง ลงในโทรศัพท์มือถือก่อนเข้ารับบริการลงทะเบียน ซึ่งรองรับทั้งระบบไอโอเอส (IOS) และระบบแอนด์ดรอย (Android)
2. ผู้ประสงค์ขอลงทะเบียนจะต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนใบล่าสุด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้รับลงทะเบียนทำการตรวจสอบข้อมูลก่อนการลงทะเบียน ณ สำนักทะเบียน
3. เปิดแอปพลิเคชัน D.DOPA พร้อมทั้งอนุญาตให้ใช้อุปกรณ์ของเครื่องมือ ระบุเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักให้ถูกต้อง
4. ยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บริการเพื่อทำการลงทะเบียนแทนเอกลักษณ์ดิจิทัล (D.DOPA)
5. ทำการสแกนคิวอาร์โค้ดในแอปพลิเคชัน
6. ระบบแจ้งเตือนให้ตั้งค่ารหัสผ่าน โดยทั้ง 2 ครั้งต้องเหมือนกัน
7. เมื่อระบุครั้งที่ 2 ถูกต้อง ระบบแจ้งเตือนขอยินยอมโดยระบุรหัสผ่านอีกครั้งเพื่ออัปโหลดข้อมูลลงในแอปพลิเคชันมือถือของตน
8. เมื่อลงทะเบียนเสร็จสิ้น หน้าจอจะแสดงสถานะการสมัครสำเร็จ
ภายหลังลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เมื่อต้องติดต่อรับบริการจากหน่วยงานรัฐ หรือมีเจ้าพนักงานเรียกตรวจบัตรประชาชนในกรณีต่าง ๆ ประชาชนสามารถใช้สมาร์ทโฟนที่ได้รับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลแล้วข้างต้นแสดงต่อเจ้าพนักงานที่เรียกตรวจแทนการใช้บัตรประชาชนได้ ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมคาดว่าในปี 2566 จะมีประชาชนใช้ Digital ID แทนบัตรประจำตัวประชาชนประมาณ 10 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังกรมการปกครองได้พัฒนาระบบการลงทะเบียนทั้งหมดไปอยู่ในรูปแบบออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น