“ไตรรงค์” ขอให้ครูทั่วประเทศทำตัวเป็นปูชนียบุคคล และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับศิษย์ จงคิดเสมอว่าครูเปรียบเสมือนเป็นพ่อแม่คนที่สองของเด็ก นอกจากถ่ายทอดศิลปวิทยา ให้กับเด็กแล้วควรสอนศีลธรรมที่ดีให้กับเยาวชนเสมอด้วย พร้อมฝากกระทรวงศึกษาธิการเลือกคนที่ดีและเก่งมาเป็นครู ทั้งควรส่งเสริมเรื่องทุนการศึกษา และให้อัตราเงินเดือนที่ดีให้กับครู ยกตัวอย่างเยอรมนีที่ให้อัตราเงินเดือนครูเทียบเท่าผู้พิพากษาเพราะถือว่าเป็นอาชีพที่เป็นเสาเข็มของชาติ
เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี สมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวในโอกาสวันครูแห่งชาติ ประจำปี 2566 ว่า วันที่ 16 มกราคม ของทุกปีเป็นวันครูแห่งชาติ จึงถือโอกาสนี้มาคุยเรื่องวันครู ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ตนเป็นเด็กจะต้องเข้าร่วมพิธีไหว้ครูไม่เคยขาด ซึ่งมักจะได้รับหน้าที่นำคำกล่าว ปาเจราจะริยา โหนติ คุณุตตะรานุสาสกา เพื่อบูชาครู ที่ได้กรุณาสั่งสอนศิลปวิทยา ศีลธรรมให้กับศิษย์เพื่อให้ได้เติบโตขึ้นมาเป็นนคนดี เป็นศรีกับตระกูลและเป็นพลเมืองที่มีคุณค่า ต่อความเจริญของประเทศและของชาติ และที่สามารถจำรายละเอียดได้ทั้งหมดก็เพราะตั้งแต่เรียน ป.1 ถึงมัธยม มักจะได้รับเลือกให้ยืนหน้าแถวนำทุกคนกล่าวคำบูชาดังกล่าว หรือในบางปี ก็ได้รับคัดเลือกจากนายอำเภอไปจัดงานหน้าที่ทำการอำเภอ ก็ยังได้รับเลือกให้เป็นคนที่ยืนข้างหน้าสุดแล้วกล่าวปาเจราเช่นกัน
ดร.ไตรรงค์ บอกว่า สำหรับความหมายของวันครูนั้น คือ ครูเป็นบุคคลที่ลูกศิษย์ให้ความเคารพ เพราะเป็นผู้ที่มีคุณูปการหรือมีบุญคุณอย่างสูงต่อลูกศิษย์ ในการถ่ายทอดวิทยา ศิลปะ และศีลธรรมให้ลูกศิษย์เป็นคนดี และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในอนาคต และนี่คือความสำคัญของวันครูที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติ และทำมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล สมัยพุทธกาลสำหรับคนที่นับถือศาสนาพุทธ สำหรับคนที่นับถือศาสนาอื่นก็เหมือนกัน คือจะต้องมีกตัญญูกติเวที พระพุทธเจ้าตรัสว่าความมีกตัญญู กตเวทีเป็นคุณสมบัติของคนดี ดังนั้นวันนี้เป็นวันที่จะต้องแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อครูอาจารย์ ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้กับเรา
ดร.ไตรรงค์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของครูนั้น ครูเองก็ต้องทำตัวให้เหมาะสมกับบุคคลที่สมควรจะได้รับการสดุดีจากลูกศิษย์ลูกหา เพราะลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายไม่ใช่ว่ามีครูเป็นคนแรก แต่ครูคนแรกของเด็กๆ ก็คือพ่อแม่ ไม่มีพ่อแม่คนไหนที่เจตนาร้ายต่อลูกๆ พ่อแม่ทุกคนมีเจตนาดี และหวังดีต่อลูกๆ เพราะฉะนั้นพ่อแม่คือครูคนแรกที่สอนว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ อะไรถูก อะไรผิด อะไรเป็นภัยต่อสังคม อะไรที่ไม่เป็นภัยต่อสังคมพ่อแม่จะสอน พ่อแม่คนอื่นตนไม่ทราบ แต่พ่อแม่ของตนสอนแบบนี้มาตั้งแต่เด็กๆ แม้มาเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ่อแม่อยู่ที่ จ.สงขลา พ่อแม่ก็เขียนจดหมายมาอบรมสั่งสอน ส่วนมากเป็นเรื่องธรรมมะ แม้เมื่อได้ทุนไปทำปริญญาโท ปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา พ่อแม่ก็ยังเขียนจดหมายมาสอนถึงสหรัฐอเมริกา นี่คือครูคนแรกของลูกๆ ทั้งหลาย ดังนั้นลูกๆ จึงควรมีกตัญญูกตเวที ไม่เฉพาะแต่ครู ต่อพ่อแม่เพราะเป็นครูคนแรก
“ครูควรทำตัวอย่างไรเพื่อให้เป็นครูที่ดี ให้ศิษย์รักและสดุดี ครูทั้งหลายต้องมีความรู้สึกด้วยความจริงใจในหัวใจตัวเองให้ได้ว่าเด็กๆ โดยเฉพาะเด็ก ป.1 ถึง ป.6 เขาเหล่านั้นคือลูกของเรา เราเป็นพ่อแม่คนที่สองของเขา เรามีหน้าที่นอกจากสอนศิลปวิทยาแล้ว เรามีหน้าที่สอนหลักศีลธรรมให้เขา ให้เขาโตขึ้นมาเขาจะได้เป็นคนดีของชาติ เขาจะซื่อสัตย์ สุจริต แล้วก็ไม่ทำทุจริต ครูจึงมีหน้าที่ทำตัวเหมือนเป็นพ่อเป็นแม่ของลูกศิษย์ เพราะถ้าเขาโตขึ้นมาเขาจะได้ประกอบสัมมาอาชีพ รู้สึกละอายมีหิริโอตัปปะ รู้สึกละอายในการทำความชั่ว ไม่ว่าจะเป็นกายทุจริต วาจาทุจริต หรือมโนทุจริต สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของครู ถ้าครูทำตัวอย่างนี้ได้ ก็จะเหมาะสมที่จะเป็นคนที่รักสดุดีจากลูกศิษย์” ดร.ไตรรงค์ กล่าว
ดร.ไตรรงค์ กล่าวด้วยว่า เพราะครูเป็นต้นแบบในการสร้างคุณภาพของพลเมือง เพราะฉะนั้นเนื่องในวันครูวันนี้ ตนก็ถือว่าครูทั้งหลายจะได้ตั้งอยู่ในการเป็นปูชนียบุคคล โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะที่ตนเป็นนักการเมืองผมต้องการให้กระทรวงศึกษาธิการได้คิดเอาไว้ว่าควรเริ่มต้นใหม่ จัดหาคนที่ฉลาดที่สุด มีมันสมองมากที่สุดเข้ามาเรียนเป็นครู แล้วให้ทุนการศึกษาที่ดีที่สุด อัตราเงินเดือนจะต้องไม่เหมือนข้าราชการทั่วไป โดยขอให้ดูตัวอย่างประเทศเยอรมนี ที่ให้อัตราเงินเดือนเดียวกันกับผู้พิพากษาเพราะถือว่าครูเป็นเสาเข็มของประเทศในการที่จะสร้างคนให้มีคุณภาพต่อยอดประเทศให้เจริญขึ้นมาได้ต้องเริ่มจากครู
“ผมก็ฝากไว้สำหรับคนที่จะเป็นรัฐบาลในชุดต่อๆ ไปที่จะดูจุดนี้ไว้ด้วย โอกาสนี้ก็ขออวยพรจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และทุกศาสนา ที่ครูเคารพให้คุ้มครองครูให้มีความสุขความเจริญ ประกอบหน้าที่ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและอนุชนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ขอกราบขอบพระคุณครูทั้งหลายที่ช่วยชาติมาโดยตลอด” ดร.ไตรรงค์ กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น