วันอังคารที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2566

คณะกรรมการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ลงพื้นที่ “จังหวัดสระบุรี” เล็งใช้เป็นจังหวัดนำร่องหมู่บ้านรักษาศีล 5



เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566  เวลา 09.00 น . ณ วัดนิคมวารี  อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี  คณะกรรมการโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา หรือ “หมู่บ้านรักษาศีล 5” นำโดยพระธรรมวชิรานุวัตร ประธานคณะกรรมการบริหารกลาง วัดไร่ขิง จ.นครปฐม พระเทพเสนาบดี รองประธานคณะกรรมการบริหารกลาง วัดกวิศราราม จ.ลพบุรี และพระเทพปวรเมธี  ในฐานะ ประธานกรรมการขับเคลื่อนระดับหนกลาง  พร้อมคณะทำงานอีกหลายรูปทั้งส่วนกลางและภูมิภาค โดยมี คณะสงฆ์จังหวัดทั้งฝ่ายมหานิกายและธรรมยุติ นายกิตติศักดิ์ ธีระวัฒนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ข้าราชการ ผู้นำชุมชนในท้องถิ่นคอยต้อนรับ



พระธรรมวชิรานุวัตร ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี ได้ให้ความสำคัญกับโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 เป็นอย่างมาก พร้อมทั้งกำชับเป็นเชิงนโยบายว่า ต่อจากนี้โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ต้องขับเคลื่อนมิใช่เฉพาะศีล 5 อย่างเดียว แต่ขอให้ครบไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา พร้อมทั้งดึงสำนักปฎิบัติที่มีอยู่กว่า 1,700 แห่งทั่วประเทศร่วมด้วย ซึ่งตรงนี้คณะกรรมการยังไม่ได้วางรูปแบบและประชุมกับสำนักปฎิบัติธรรม แต่อนาคตคาดว่าเร็ว ๆ นี้จะเชิญมาร่วมประชุมและร่วมหารือกันทั่วประเทศตามโจทย์ที่ได้รับมา

@siampongnews #ท้าวเวสสุวรรณวัดเขาช่องลม ♬ Come as You Phonk - lofi'chield

“วัดนิคมวารี จังหวัดสระบุรี เป็นวัดแรก เป็นวัดนำร่องที่คณะกรรมการหมู่บ้านรักษาศีล 5 เนื่องจากโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 เกิดขึ้นจากจังหวัดสระบุรีเมื่อปี 2557 ในยุคที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ ท่านยังมีชีวิตอยู่ โครงการนี้เกิดขึ้นเพราะสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ภายใต้การผลักดันของนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีในสมัยนั่น ต่อจากนี้ไปคณะกรรมการหมู่บ้านรักษาศีล 5 พยายามจะลงให้ครบทุกจังหวัดตามที่ได้วางแผนเอาไว้..”



ส่วน พระเทพปวรเมธี  กล่าวว่า วันนี้คณะกรรมการหมู่บ้านรักษาศีล 5 มาเยี่ยมให้กำลังใจ รวมทั้งประเมินผลเพื่อเป็นหมู่บ้านต้นแบบหมู่บ้านรักษาศีล 5 โดยร่วมกับทางจังหวัดสระบุรี พุทธศาสนาจังหวัด  สระบุรีถือว่าเป็นต้นกำเนิดของหมู่บ้านรักษาศีล 5 อย่างที่ท่านเจ้าคุณพระธรรมวชิรานวัตร ได้เล่าไว้เมื่อสักครู่ว่า โครงการนี้เริ่มโดยสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำภาษีเจริญ ภายใต้การสนับสนุนของคุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ผู้ว่าสระบุรีสมัยนั้น ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย จำได้ว่าเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ มอบป้ายหมู่บ้านรักษาศีล 5  ที่วัดพระพุทธบาท หลังจากนั้นประกาศปูพรมทั่วประเทศ พร้อมกับตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน

“ในปี 2565 มีการแก้ไขกฎระเบียบ มีคณะกรรมการอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ระดับหน จังหวัด อำเภอ สู่ตำบล เพื่อให้เกิดพลัง “บวร” ยกระดับเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา โดยมีสำนักปฎิบัติธรรมรองรับ พร้อมกับมีการประเมินผลการดำเนินการ 4 ประการคือ หนึ่ง ข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน สอง กิจกรรมส่งเสริมประสิทธิภาพ คุณภาพของหมู่บ้าน สาม การส่งเสริมการปฎิบัติธรรมระดับหมู่บ้าน และสี่ เป็นโครงการของกระทรวงมหาดไทยที่เราทำงานร่วมกันคือ หมู่บ้านยั่งยืน หมายความว่า ทั้งหมู่บ้านศีล 5 และหมู่บ้านยั่งยืน สอดคล้องกัน คณะสงฆ์และฝ่ายบ้านเมืองบูรณาการทำงานร่วมกัน..”



ขณะที่ นายกิตติศักดิ์ ธีระวัฒนา ได้เปิดข้อมูลเกี่ยวกับจังหวัดสระบุรีในการขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล 5 ว่า จังหวัดสระบุรี แบ่งออกเป็น 13 อำเภอ 111 ตำบล 965 หมู่บ้าน มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 109 แห่ง แบ่งออกเป็น อบจ. 1 แห่ง เทศบาลเมือง 4 แห่ง เทศบาลตำบล 34 แห่ง อบต.71 แห่ง มีประชากรจำนวน 638,331 คน มีวัด 532 วัด  มีพระภิกษุ -สามเณร จำนวน 3,748 รูป มีหมู่บ้านเข้าร่วมโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 จำนวน 965 หมู่บ้าน มีสมาชิกศีล 5 จำนวน 549,513 คน คิดเป็นร้อยละ 86 %

“จังหวัดสระบุรี ได้ร่วมกันขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล 5 มาโดยตลอด สถานการณ์วิกฤติโควิด -19 ปัจจุบันแม้จะดีขึ้นเป็นลำดับ แต่คณะสงฆ์จังหวัดสระบุรี ยังคงจัดทำโครงการมอบสิ่งของอุปโภคบริโภคแก่คณะสงฆ์ และประชาชนทั่วไปที่ได้รับความเดือดร้อน อีกทั้งยังเมตตาฌาปนกิจศพผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อโควิด -19 โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน..”

จากนั่นคณะกรรมการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ได้ซักถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ วัฒนธรรมจังหวัด ตำรวจ โรงเรียน และตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ เพื่อประเมินหมู่บ้านรักษาศีล 5

ก่อนกลับคณะกรรมการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ได้เชิญชมนิทรรศการของโรงเรียนและชุมชนหมู่บ้านในจังหวัดสระบุรีที่มาร่วมออกนิทรรศการหลายโครงการ

ช่วงบ่ายเวลา 13.00 น. คณะกรรมการหมู่บ้านรักษาศีล 5 นำโดย พระเทพเสนาบดี รองประธานคณะกรรมการบริหารกลาง ได้พาคณะลงไปดูพื้นที่การแก้ไขผู้ติดยาเสพติดโดยการบำบัด ณ วัดถ้ำกระบอก โดยมีคณะสงฆ์ในวัดพาชมพื้นที่และร่วมกันปลูกต้นไม้ไว้เป็นที่ระลึก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...