วันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2566

มท.สัมนาร่วม ป.ป.ช.ยกระดับต้านโกง ยึดธรรมาภิบาล ฟื้นศรัทธาประชาชน



คน มท.ร่วมสัมนาเชิงปฏิบัติการกับ ป.ป.ช. ขับเคลื่อนยกระดับต้านทุจริต 'ปลัดมหาดไทย' ลั่นต้องสร้างความเชื่อมั่น-ศรัทธาของประชาชน ยึดหลักธรรมาภิบาล ทำงานด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2566 เวลา 08.30 น. ที่ห้องกรุงเทพ บอลล์รูม โรงแรมเดอะ รอยัลซิตี้ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบของกระทรวงมหาดไทย และบรรยายพิเศษ "มท. กับการขับเคลื่อนยกระดับต่อต้านการทุจริต" โดยมี รศ.ดร.มาณี ไชยธีรานุวัฒศิริ ที่ปรึกษาประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะวิทยากร เจ้าหน้าที่ และผู้เข้าร่วมสัมมนา จำนวน 230 คน ร่วมรับฟัง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การต่อต้านการทุจริตเป็นเรื่องที่กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดและต่อเนื่อง เพราะเป็นการบ่อนทำลายระบบราชการ ทำลายประเทศชาติ และทำลายความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายอย่างชัดเจนว่า ข้าราชการทุกคนต้องทำงานโดยยึดหลัก "ธรรมาภิบาล" หรือ Good Governance เพื่อทำให้เกิดการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เกิดระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ถูกต้องตามขั้นตอนระเบียบกฎหมาย และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการตามที่กฎหมายกำหนด

นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า โดยที่ผ่านมานั้นต้องขอชื่นชมพี่ ๆ น้อง ๆ ชาวมหาดไทยทุกท่าน ที่ได้ร่วมกันนำเอาสิ่งที่ดีจากการแลกเปลี่ยนมุมมองในแต่ละปีกลับไปยกระดับการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบในหน่วยงานของพวกเรา จนเรียกได้ว่ากลไกมหาดไทยทุกระดับมีความเข้มงวดในเรื่องของการทำงานเพื่อไม่ให้มีการทุจริตเกิดขึ้น ทั้งเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบกฎหมาย และการทุจริตอื่น ๆ เพราะพวกเราทุกคนเล็งเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า หากเกิดการทุจริตขึ้น เฉกเช่นที่เห็นในสื่อต่าง ๆ ว่ามีการทุจริตภาครัฐเกิดขึ้นจำนวนมากและมีบางกรณีที่มีสาเหตุเกิดมาจากหน่วยงานเอกชน "ผลกระทบที่เกิดขึ้น" ส่งผลโดยตรงกับพี่น้องประชาชนผู้เสียภาษีอากร ส่งผลต่อพี่น้องประชาชนผู้ใช้บริการ ที่ไม่ได้กระทบแค่เรื่องงบประมาณตัวเงินเท่านั้น แต่มันรวมถึงเรื่องเวลาที่อาจจะทำให้พี่น้องประชาชนต้องเสียประโยชน์อีกด้วย จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันระดมความคิด ประมวลรวบรวมคำแนะนำ และข้อเสนอแนะร่วมกับผู้เข้าร่วมสัมมนาและคณะวิทยากร เพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตในหน่วยงานของเรา ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เพิ่มมากขึ้น รวมถึงเรื่องการทำงานให้ทันเวลา ทั้งในเรื่องการใช้บริการและการรับประโยชน์ต่าง ๆ ของพี่น้องประชาชน

"วันนี้พวกเราได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้มีองค์ความรู้และปฏิบัติงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งข้อคิดและประสบการณ์จากการทำงานที่ผ่านมาจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการร่วมแลกเปลี่ยนนำไปสู่การยกระดับการทำงานของกระทรวงมหาดไทย รวมไปถึงทุกองค์กรของประเทศไทย ซึ่งการสัมมนาที่ดีต้องเป็นการสื่อสารแบบ 2 ฝ่าย (Two-way Communication) ที่ทุกคนต้องช่วยกันคิดพิจารณา เอาประสบการณ์จากการทำงาน และนำเอาสิ่งที่สงสัย มาแลกเปลี่ยนแนวทางป้องกันการทุจริตร่วมกัน และอีกประการที่สำคัญ ต้องมีหัวใจนักปราชญ์ (สุ จิ ปุ ลิ ) ที่ไม่เพียงแค่เข้าร่วม แต่ต้อง "มุ่งมั่น ตั้งใจ" ทั้งการฟัง คิด จด เพื่อนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในพัฒนาและยกระดับการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมไปถึงการทำสิ่งที่ดี ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐมีประสิทธิภาพด้วย" นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงมหาดไทย มีการทำงานร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายมากมาย โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวกับการปราบปรามทุจริต ทั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) รวมถึงภาคีเครือข่ายองค์กรภาคเอกชน เพื่อทำให้พวกเราได้ "มีทีม" ในการประกาศสงครามกับการต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบ และยังเป็นการเสริมสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ ส่งเสริมให้คนในหน่วยงานปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลอย่างสม่ำเสมอ จึงถือเป็นการ Change for Good ให้กับหน่วยงานของเรา นอกจากนี้ ภาคประชาชนก็เป็นอีกหนึ่งภาคีเครือข่ายสำคัญ ที่จะเป็นหลักประกันว่า การทำงานของเรามีความโปร่งใส มีหลักธรรมาภิบาลและประพฤติโดยชอบ ซึ่งปัญหาทุจริตที่เกิดขึ้นในภาครัฐนั้นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่ต้องช่วยกันสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการป้องกันการทุจริต รวมถึงการศึกษาระเบียบกฎหมายและดำเนินการตามอย่างเคร่งครัด

"ขอขอบคุณภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะวิทยากรจากสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งวันนี้มาเป็นวิทยากรให้กับกระทรวงมหาดไทย เพื่อสนับสนุนให้พวกเราทำงานได้อย่างปลอดภัยและสบายใจ ขอให้การสัมมนาครั้งนี้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย และขอให้พวกเรามีความสุขกับการมาใช้ชีวิตร่วมกัน ได้กลับไปทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงาน ปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบแบบแผน ช่วยกันสร้างความเชื่อมั่น ความศรัทธานับถือของประชาชน ว่าพวกเราชาวมหาดไทยไม่ข้องเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ มุ่งมั่นทำงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีธรรมาภิบาล ซึ่งยังผลประโยชน์ต่อประชาชนทุกคน และเป็นความสุขทางใจของพวกเราที่ได้ทำหน้าที่ในฐานะ "ข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ที่ได้ทำสิ่งที่ดี ก่อเกิดประโยชน์อันมหาศาลและไพบูลย์ต่อพี่น้องประชาชนและประเทศชาติตลอดไป" นายสุทธิพงษ์ กล่าว

ส่วน นางสาวภัทรีพันธุ์ พัดใส ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต มท. กล่าวว่า การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบของกระทรวงมหาดไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรในสังกัดมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการขับเคลื่อน STRONG-องค์กรพอเพียงต้านทุจริต และสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากองค์กรต้นแบบไปขยายผลการดำเนินงานในหน่วยงาน มุ่งการรวมกลุ่มเพื่อดำเนินกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ในการส่งเสริมคุณธรรม ดูแลองค์กรให้มีการปฏิบัติงานอย่างโปร่งใส ปลอดจากสินบนและการทุจริต นอกจากนี้การสัมมนาในครั้งนี้จะมีการทบทวน วิเคราะห์ ถอดบทเรียนผลการดำเนินงานการประเมินความเสี่ยงการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในปี 2566 และเตรียมความพร้อม ในการประเมินความเสี่ยงการทุจริต ในปี 2567 รวมทั้งสรุปบทเรียนและแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment : ITA) ของกระทรวงมหาดไทย

"การสัมมนาในครั้งนี้ กำหนดจัดขึ้น 2 วัน ในวันที่ 28 - 29 สิงหาคม 2566 สำหรับกิจกรรมในวันแรก ได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ ดร.มาณี ไชยธีรานุวัฒศิริ ที่ปรึกษาประธานกรรมการ ป.ป.ช. ทีมวิทยากรสำนักงาน ป.ป.ช. และผู้แทนหน่วยงานที่เป็นต้นแบบการดำเนินการขับเคลื่อน STRONG-องค์กรพอเพียงต้านทุจริต โดยช่วงเช้า เป็นการอภิปรายให้ความรู้ในหัวข้อ "STRONG-องค์กรพอเพียงต้านทุจริต แนวคิดสู่ความโปร่งใส ไร้สินบน" และการเสวนาในหัวข้อ "ถอดบทเรียนการขยายผลชมรม STRONG-องค์กรพอเพียงต้านทุจริต" และในช่วงบ่ายเป็นการแบ่งกลุ่มย่อยจัดทำโครงการ/กิจกรรม เพื่อขับเคลื่อนชมรม STRONG-องค์กรพอเพียงต้านทุจริต และกิจกรรมในวันที่สอง ได้รับเกียรติจากทีมวิทยากรสำนักงาน ป.ป.ท. อภิปรายให้ความรู้ ถอดบทเรียนการประเมินความเสี่ยงการทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และบรรยายทบทวนและถอดบทเรียนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) มีผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯ ประกอบด้วย บุคลากรของส่วนราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค รวมถึงกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา จำนวน 230 คน" นางสาวภัทรีพันธุ์ กล่าว 

ขณะเดียวกันมูลนิธิต่อต้านการทุจริต โดยคณะทำงานในการจัดทำหลักสูตรการอบรมจริยธรรมและการต่อต้านการทุจริต ศูนย์ฝึกอบรมต่อต้านการทุจริตแห่งประเทศไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  มุ่งส่งเสริมด้านคุณธรรมจริยธรรม และการต่อต้านการทุจริตของคนในสังคมไทย จึงจัดการสนทนากลุ่ม (Focus Group) ในประเด็นหัวข้อ “การออกแบบหลักสูตรจริยธรรมต่อต้านการทุจริตสำหรับเยาวชน” เพื่อนำองค์ความรู้จากผลการสนทนากลุ่มไปเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนจัดทำกรอบหลักสูตรจริยธรรมต่อต้านการทุจริตสำหรับเยาวชน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาและฝึกอบรมจริยธรรมเพื่อการต่อต้านการทุจริตสำหรับเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ วันอังคารที่ 29  เดือนสิงหาคม พ.ศ.2566 เวลา 08.30 - 17.00 น. ณ ห้องพุทธเมตตา ชั้น 4  โซนดี อาคารเรียนรวม (ฝั่งคณะพุทธศาสตร์) หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งถ่ายทอดสดผ่าน MCU TV เพื่อเป็นปัญญาสาธารณะในช่วงเช้า โดยได้รับความเมตตาอย่างยิ่งจากพระเดชพระคุณ พระธรรมวัชรบัณฑิต, ศาสตราจารย์ ดร.  อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมตตารับเป็นองค์ปาฐกถาพิเศษภายใต้หัวข้อ “จริยธรรมสำหรับการป้องกันทุจริต”

จากนั้นฟังการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ออกแบบหลักสูตรสำหรับคนรุ่นใหม่ ควรออกแบบอย่างไรจึงโดนใจ โดย อาจารย์ณัฐดนัย  ฐิตวัฒนพงศ์  นักออกแบบกระบวนการเรียนรู้สำหรับเด็กเยาวชนและคนรุ่นใหม่ พร้อมสรุปและถอดบทเรียนการเรียนรู้จาก อาจารย์ ดร.จตุพร วิศิษฎ์โชติอังกูร นักออกแบบกระบวนการเรียนรู้อย่างมืออาชีพ 

ในภาคบ่ายมีการสนทนากลุ่มการออกแบบหลักสูตรจริยธรรมเพื่อการต่อต้านการทุจริตสำหรับเยาวชน ควรจะออกแบบอย่างไร ? โดยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วย 1)พระเมธาวินัยรส, รศ.ดร.  อดีตรองอธิการฝ่ายวิชาการและฝ่ายบริหาร  มมร  2)พระเมธีวัชรบัณฑิต, ศ.ดร. ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร 3)พระวุทธ สุเมโธ  พระธรรมวิทยากรกรมการศาสนาและพระอาสาคิลานธรรม  4)ผศ.ดร.อุทัย สติมั่น  อาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษา และนักวิจัยจริยธรรม  5)อาจารย์พจนารถ ซีบังเกิด (โค้ชจิมมี่)  นักออกแบบการเรียนรู้จากภายใน  6)อาจารย์สมบัติ  ทรงเตชะเลิศ  นักออกแบบกระบวนการเรียนรู้ด้านการสื่อสาร  7)ดร.อภิญญา ดิสสะมาน นักสันติวิธีและสันติวัฒนธรรม สถาบันพระปกเกล้า  7)ดร.นพดล สีทอง  นักออกแบบกระบวนการเรียนรู้ครูพระสอนศีลธรรม มจร 9)ดร.วราภรณ์  ศิริโอวัฒนะ ICF Coachระดับ Associate Certified Coach (ACC) และ 10)ดร.จตุพร วิศิษฎ์โชติอังกูร  นักออกแบบกระบวนการเรียนรู้อย่างมืออาชีพ  ดำเนินรายการโดยพระปราโมทย์ วาทโกวิโท, ดร.  Buddhist Peace Facilitator และผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา ระดับปริญญาโท มจร

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...