วันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2566

พระพรหมเสนาบดีนำคณะกรรมการขับเคลื่อน “หมู่บ้านรักษาศีล 5” หนกลาง ตรวจเยี่ยม “บ้านปากช่องสาริกา” ต้นแบบจังหวัดลพบุรี



พระพรหมเสนาบดี นำคณะกรรมการขับเคลื่อน “หมู่บ้านรักษาศีล 5” หนกลาง ตรวจเยี่ยม “บ้านปากช่องสาริกา” หมู่บ้านศีล 5 ต้นแบบจังหวัดลพบุรี ด้านผู้ว่าฯ ลพบุรี เตรียมขยายยกระดับเป็น “หมู่บ้านศีลธรรม-หมู่บ้านยั่งยืน” 

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566   ที่วัดช่องสาริกา ตำบลช่องสาริกา อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี พระพรหมเสนาบดี กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา ราชวรวิหาร รองประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5”  พระเทพปวรเมธี ประธานกรรมการขับเคลื่อนหมู่บ้านศีล 5 หนกลาง พระเทพปริยัติโสภณ  เจ้าอาวาสวัดไชยชุมพลชนะสงคราม  พร้อมด้วยคณะกรรมการขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล 5   ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5” บ้านปากช่องสาริกา หมู่ที่ 9  ตำบลช่องสาริกา อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี โดยมี  พระเทพเสนาบดี เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี เจ้าอาวาสวัดกวิศรารามราชวรวิหาร พระปัญญาวิสุทธิโมลี เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี (ธ) เจ้าอาวาสวัดพระนางจามเทวี นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี นายธนาคม จงจิระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง นางสุวจี ศิริปัญโญ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดลพบุรี พร้อมด้วยคณะสงฆ์จังหวัดลพบุรี หัวหน้าส่วนราชการ และพุทธศาสนิกชนชาวลพบุรี ถวายการต้อนรับ

@siampongnews ผ้ามุ้ง#ผ้ามุ้งกลดพระธุดงค์ ♬ Ready - Official Sound Studio

พระพรหมเสนาบดี  กล่าวว่า  โครงการนี้เป็นที่รับรู้กันดีกว่าเป็นดำริของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำภาษีเจริญ ตั้งแต่ปี 57 อาตมาได้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นพร้อมกับทีมงานอีก 4 รูป ทำงานร่วมกัน ตอนนั้นท่านธนาคม จงจิระ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ท่านทุ่มเทเป็นอย่างมาก ถือว่า เป็นผู้ว่าต้นแบบ เพราะขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล 5 ได้เกิน 80% ตอนหลังสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ท่านก็มอบให้อาตมาเป็นประธานขับเคลื่อน ตอนแรกหนักใจ เพราะความจริง พระพรหมโมลี และพระเทพเสนาบดี เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี รู้เรื่องนี้ดูกว่าตัวผู้พูด แต่เมื่อขัดไม่ได้ก็รับปากทำ ลงไปภาคใต้จังหวัดนราธิวาส ตอนนั้นไม่มีใครกล้าลงไป เพราะกลัว แต่เมื่อลงไปแล้วก็ไม่มีอะไร เพราะหัวใจของหมู่บ้านรักษาศีล 5 คือ ความปรองดอง ความสมานฉันท์ ของคนในชาติ ทุกศาสนาทำได้หมด สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ ท่านทุ่มเทเสียสละมาก จนวินาทีสุดท้ายของชีวิตท่านเกี่ยวกับหมู่บ้านรักษาศีล 5” 



พระเทพเสนาบดี เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี กล่าวว่า การดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านบ้านรักษาศีล 5 ต้นแบบ” ของหมู่บ้านปากช่องสาริกา หมู่ที่ 9 ตำบลช่องสาริกา อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี มีแนวทางการขับเคลื่อนโดยให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นและจัดกิจกรรมร่วมกันด้วยวิธีการที่หลากหลาย ทั้งในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริม สนับสนุนการสร้างเครือข่าย มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการรักษาศีล 5 และวิถีวัฒนธรรมเชิงพุทธต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนเผยแผ่หลักศีล 5 อย่างกว้างขวาง ส่งผลให้ประชาชนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีสุขภาพอนามัยที่ดี ประกอบสัมมาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ช่วยเหลือเกื้อกูลกันฉันญาติมิตร 



นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี กล่าวว่า จังหวัดลพบุรีมุ่งมั่นในการน้อมนำหลักการดำเนินงานโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5” ขยายผลสู่การเป็น “หมู่บ้านศีลธรรม” ตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทยอย่างต่อเนื่องในทุกหมู่บ้าน/ชุมชน ซึ่งในส่วนของ “หมู่บ้านปากช่องสาริกา” ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 9 ตำบลช่องสาริกา อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี มีประชากรรวม 349 คน เป็นเพศชาย 166 คน เพศหญิง 183 คน จำนวนครัวเรือน 114 ครัวเรือน และมีวัดช่องสาริกา เป็นวัดประจำหมู่บ้าน โดยมีพระครูพัฒนาภิบาล เป็นเจ้าอาวาส ประชากรส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก อาชีพรอง คือ การเลี้ยงโคนม มีพืชไร่สำคัญ ได้แก่ ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ทานตะวัน และฟักทอง เป็นต้น เป็นหมู่บ้านต้นแบบในการขับเคลื่อนการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในหลากหลายด้าน หลากหลายกิจกรรม/โครงการ อาทิ โครงการหมู่บ้านยั่งยืน หมู่บ้านสีขาว หมู่บ้านช่อสะอาด และหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยบทบาทของผู้นำในพื้นที่ที่สามารถส่งเสริมให้ประชาชนหันมาดูแลสุขภาพตัวเอง โดยการส่งเสริมให้มีการปลูกผักปลอดสารเคมี ปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ตามพระราชดำริสร้างความมั่นคงทางอาหารของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้งนี้ เมื่อหมู่บ้านปากช่องสาริกาแห่งนี้ได้เข้าร่วมโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา "หมู่บ้านรักษาศีล 5" ยังผลทำให้ประชาชนมีความสุข รู้จักอดออม มีชีวิตอยู่ร่วมกันด้วยความเอื้ออาทร ช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกันฉันญาติมิตร ทำให้สังคมและชุมชนมีความสุขและปลอดภัย 

“ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา หมู่บ้านไม่มีคดีอาชญากรรม คดียาเสพติด และการทะเลาะวิวาท โดยการรับรองของผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรพัฒนานิคม และด้านสาธารณสุขของหมู่บ้าน ก็ไม่มีปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ไม่มีผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุมีบุตรหลานดูแลไม่โดดเดี่ยว และมีผู้พิการในหมู่บ้านจำนวน 2 คน ซึ่งครอบครัวดูแลเป็นอย่างดี ในด้านกิจกรรมการส่งเสริมการรักษาศีล 5 ของหมู่บ้าน ทางหมู่บ้านได้ดำเนินการจัดกิจกรรมการรักษาศีล 5 ครบทั้ง 5 ข้อ อาทิ กิจกรรมปล่อยนกปล่อยปลาไถ่ชีวิตโคกระบือ กิจกรรมส่งเสริมสัมมาชีพตามหลักเบญจธรรม และกิจกรรมให้ความรู้ด้านเพศศึกษาและโรคติดต่อทางเพศ ด้านกิจกรรมส่งเสริมการปฏิบัติธรรมในหมู่บ้าน ทางหมู่บ้านร่วมกับวัดช่องสาริกาซึ่งเป็นสำนักปฏิบัติธรรมสาขาของวัดพัฒนาธรรมาราม อันเป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่จัดตั้งตามระเบียบมหาเถรสมาคม ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการปฏิบัติธรรมตามวันธรรมสวนะ วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และวันสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ อีกด้วย” นายอำพลฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดลพบุรีจะนำผลสำเร็จของการขับเคลื่อน “หมู่บ้านปากช่องสาริกา” สร้างการรับรู้ขยายผลไปยังทุกหมู่บ้าน/ตำบลทั้งจังหวัดลพบุรี เพื่อทำให้มีต้นแบบของการเป็นหมู่บ้านศีลธรรม ที่เป็นหมู่บ้านแห่งความยั่งยืนในทุกมิติ เป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และสอดคล้องกับเจตจำนงของกระทรวงมหาดไทย และองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน” อันจะยังผลให้พี่น้องประชาชนชาวลพบุรีทุกศาสนิกเป็นผู้มีศีลธรรมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

ขณะที่พระเทพปวรเมธี ประธานขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล 5 หนกลาง กล่าวว่า การลงพื้นที่วันนี้มา 2 สถานะ สถานะหนึ่ง คือ มาเพื่อให้กำลังใจกับคณะทำงานทั้งในระดับจังหวัด อำเภอและหมู่บ้าน ส่วนอีกสถานะหนึ่ง คือ มาเพื่อประเมินผลการดำเนินงานเพื่อคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบ โดยใช้ 4 หมวด ในการประเมินเหมือนกับจังหวัดอื่น ๆ คือ หนึ่ง  ข้อมูลพื้นฐานของหมู่บ้าน สอง กิจกรรมการส่งเสริมหมู่บ้านรักษาศีล 5 สาม กิจกรรมส่งเสริมการปฎิบัติธรรม และสี่ การบูรณาการร่วมกันกับหมู่บ้านยั่งยืน ของกระทรวงมหาดไทย

หลังจากนั้นคณะกรรมการขับเคลื่อนหมู่บ้านศีล 5 ได้เดินดูบูธต่าง ๆ ที่มาจัดแสดงพร้อมกับลงพื้นที่ชุมชนเพื่อไปดูวิถีชีวิตชาวบ้าน วิสาหกิจชุมชน และรวมทั้งการขับเคลื่อนการสร้างความปรองดองในชุมชนหมู่บ้าน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"สมเด็จพระสังฆราช" ประทานพระโอวาท "มจร" จัดการแข่งขันทักษะทางวิชาการโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ระดับประเทศ ประจำปี 2567

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2568  ตามที่เมื่อวันจันทร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2568  เวลา 09.30 น. ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จัง...