วันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ปลัดมหาดไทย ประชุมผู้ว่าฯ-ประธานแม่บ้านมหาดไทยทั่วประเทศ ยกหมู่บ้านรักษาศีล 5 ตัวชี้วัดสำคัญของหมู่บ้านยั่งยืน



ปลัดมหาดไทย ประชุมผู้ว่าฯ-ประธานแม่บ้านมหาดไทยทั่วประเทศ ย้ำบทบาทการเป็นผู้นำที่ต้องถ่ายทอด Passion และบูรณาการงานทุกงานในพื้นที่สู่ทุกหมู่บ้าน ทุกครัวเรือน เพื่อ Change for Good หนุนเสริมให้พี่น้องประชาชนร่วมคิด ร่วมพูดคุย ร่วมแก้ปัญหา ร่วมรับประโยชน์ มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566   เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมแซฟไฟร์ 204-205 อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของปลัดกระทรวงมหาดไทย ประจำปี พ.ศ. 2566 เดือนสิงหาคม 2566 โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม นายพรพจน์ เพ็ญพาส นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าส่วนราชการระดับกรม หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารสมาคมแม่บ้านมหาดไทย คณะที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ความเปลี่ยนแปลงความเชื่อของคนรุ่นใหม่ที่อาจจะทำให้สังคมไทยที่เคยอยู่ด้วยความรัก ความสามัคคี และความเคารพนับถือ เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งแม้ว่า “การเปลี่ยนแปลง” จะเป็นเรื่องปกติ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า "ทุกสิ่งย่อมเป็นอนิจจัง" เพราะโลกเรามีพลวัตอยู่เสมอ แต่ในฐานะที่พวกเราเป็นคนมหาดไทย เป็นข้าราชการที่มีอายุการทำงานในหน้าที่ที่จำกัด เพราะเรามีวันเกษียณอายุราชการ แต่สิ่งที่สำคัญคือ “อายุในการทำความดีไม่มีหมดไป” พวกเราชาวมหาดไทยจึงต้องช่วยกันทำให้การเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้น ยังคงดำรงรักษา “สิ่งที่ดีงาม” หรือ “รากเหง้า” ของสังคมไทยให้คงอยู่และไม่เลือนหายไป จึงเป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด ผู้เป็นเสาหลักในการนำรัศมีแห่งความดีงาม รัศมีแห่งความปรารถนาที่จะทำให้ประชาชนทุกคน ทุกช่วงวัยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้รัศมีนั้นแผ่ขยายไปเกิดขึ้นในทุกแห่งหนบนผืนแผ่นดินไทยของเรา ด้วยการถ่ายทอดส่งต่อไปยังเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพราะปัจจัยสำคัญ คือ “ครอบครัวและชุมชนที่อยู่ในหมู่บ้าน” ที่พวกเราช่วยกันลงไปขับเคลื่อนการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืนในพื้นที่ของเรา



"ผู้ว่าราชการจังหวัดและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด ต้องช่วยกันทำสิ่งที่จำเป็นและ Change for Good ทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นในพื้นที่ เริ่มตั้งแต่การพิจารณาทบทวนการทำงานของตัวผู้ว่าราชการจังหวัดเอง รวมถึงการวิพากษ์แนวทางการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดด้วยการประเมินจากคนรอบตัวของท่าน เพื่อจะได้รับรู้รับฟังจุดอ่อน-จุดแข็งของตนเอง โดยเฉพาะ “การมีหัวใจที่รักประชาชนและประเทศชาติ” ดังนั้น ชาวมหาดไทยจึงต้องดึงเอาแรงปรารถนา (Passion) และอุดมการณ์ (Attitude) ให้ฉายรังสีออกมา ไม่ใช่เพียงแค่อยู่ในแววตา แต่ต้องแสดงออกถึงความกล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ อย่างจริงจังและเข้มแข็ง และทำให้นายอำเภอหรือผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัดได้เห็นว่าเรามีใจที่จะขับเคลื่อนงานให้สำเร็จ ซึ่งงานจะสำเร็จได้อย่างยั่งยืน ต้องอยู่ที่ใจของผู้นำ คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดทุกท่าน" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ฯ ได้กล่าวอีกว่า เราจะทำให้คนมหาดไทยของเราเป็น “ขุนศึก” ทั้งหัวใจและการกระทำได้ โดยการถ่ายทอดสิ่งดีที่อยู่ในหัวใจให้ไหลออกไปสู่พี่น้องผู้ใต้บังคับบัญชา ทั้งนายอำเภอ ผู้นำท้องที่ รวมถึงผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทีมภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเครือข่ายของเรา เพราะเราทำคนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยขุนศึกที่เข้มแข็ง และทำให้คนเหล่านั้นเข้าถึงหัวใจของการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ทำสิ่งที่ดีให้พี่น้องประชาชนและประเทศชาติ โดยกระบวนการที่สำคัญ คือ การถ่ายทอดและกระตุ้นปลุกเร้า (โค้ชชิ่ง) ด้วยการประชุมพูดคุยและทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เพราะงานสำคัญของผู้ว่าราชการจังหวัด คือ การลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจน้อง ๆ นายอำเภอ ปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบประจำตำบล พัฒนากร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงข้าราชการที่ปฏิบัติงานในศาลากลาง ทั้งศูนย์ดำรงธรรม และหน่วยงานต่าง ๆ โดยการลงพื้นที่ทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ เพราะการลงไปเยี่ยมเยียนจะช่วยเพิ่มขวัญกำลังใจ ช่วยให้มองเห็นปัญหา และที่สำคัญได้กระตุ้นให้ผู้นำในพื้นที่ตลอดจนพี่น้องประชาชนได้ตื่นตัวในการร่วมกันทำสิ่งที่ดี



"เพราะคนมีความสำคัญ ดังที่กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับ “การพัฒนาคน” ซึ่งเรามีข้าราชการบรรจุใหม่อยู่ตลอดเวลา ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยรวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด จึงต้องเป็นผู้บริหารที่ดี ทำให้ข้าราชการใหม่ได้มีพี่เลี้ยงที่เป็นครูที่ดี สอนให้ข้าราชการได้รู้จัก "การครองตน" เริ่มตั้งแต่การทำให้ดูเป็นตัวอย่างของผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน แต่งกายภูมิฐาน สุภาพเรียบร้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสวมใส่ผ้าไทย เพื่อขับเคลื่อนและส่งเสริมการอนุรักษ์ผ้าไทย โดยน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้รับการสืบสาน รักษา และต่อยอดโดยพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมีพระปณิธานที่แน่วแน่ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของเราชาวมหาดไทย เพราะเราทุกคนเป็นผู้นำจึงต้องทำก่อน เพื่อให้เราครองตนได้ จากนั้นคือการ "ครองคน" ด้วยการกำกับดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน ซึ่งต้องเริ่มจากการสร้างความรัก ความศรัทธา คอยสอน แนะนำ ติดตามและประเมินผล พร้อมด้วยการ "ครองงาน" ทั้งงานประจำ (Routine Job) งานพิเศษ (Extra Job) เพื่อทำให้งานสำเร็จอย่างยั่งยืน ด้วยการหมั่นลงพื้นที่และการทวงถามรายงานผลการดำเนินงาน ตลอดจนการสื่อสาร (Report) ให้สาธารณชนรับรู้รับทราบ ซึ่งการสื่อสารที่ดีต้องเกิดจากการกระทำที่ดีก่อน ควบคู่กับการมีทีมที่ดีที่พร้อมถ่ายทอดส่งต่อแรงปรารถนาไปยังพี่น้องประชาชนของเรา" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดหมายปลายน้ำของการทำงานของชาวมหาดไทยนั้น "คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน เพราะประชาชนอยู่ที่หมู่บ้าน" ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงต้องลงพื้นที่ ลงไปแสดงออก ลงไปทำให้นายอำเภอเห็น เพราะงานทุกงาน งานทุกกระทรวง มีเป้าหมายเดียวกันคือการ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ให้แก่พี่น้องประชาชน แม้ว่างานของกระทรวงมหาดไทยจะมีมาก แต่หากท่านมีทีมที่ดี และมีพี่น้องประชาชน มีภาคีเครือข่ายที่คอยช่วยเหลือ ซึ่งต้องอาศัยการบูรณาการ การสร้างความเข้าใจในภารกิจงานที่มุ่งมั่นเพื่อประโยชน์ของคนในหมู่บ้าน เช่นเดียวกันกับโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืนฯ ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนงานในทุกด้านทุกมิติไปสู่หมู่บ้าน/ชุมชนของเราด้วยพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วนมาช่วยกันสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างความมั่นคงในชีวิตและที่อยู่อาศัย สร้างความมั่นคงในเครื่องนุ่งห่ม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ซึ่งหลักการสำคัญ คือ “การสร้างทีม” ด้วยการผูกมิตรผูกใจกำนันผู้ใหญ่บ้าน ประชาชน ให้เข้าใจในภารกิจที่จะทำเพื่อสังคม ชุมชน/หมู่บ้าน น้อมนำเอาหลักทฤษฎีใหม่และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทำให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ทำให้ประชาชนรวมตัวเป็นกลุ่มบ้าน คุ้มบ้าน ป๊อกบ้าน หรือหย่อมบ้าน เพื่อร่วมกันทำสิ่งที่ดีอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ตามหลักความสำเร็จอย่างยั่งยืน 4 กระบวนการ คือ ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ ซึ่งทั้งหมดนี้ทุกท่านสามารถสื่อสารเป็นองค์รวมตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่กระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดร่วมกับองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN) ประกาศเจตนารมณ์ "76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ดังตัวอย่างที่ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า กระทรวงมหาดไทยกำลังมุ่งมั่นในการทำให้ประเทศไทยและโลกใบเดียวนี้ยังคงอยู่อย่างยั่งยืนชั่วลูกชั่วหลาน ผ่านการขับเคลื่อนจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนในทุกครัวเรือนซึ่ง “เป็นประเทศแรกของโลก” อันเกิดจากทุกท่านช่วยกันทำจนเกิดเป็นมรรคผลร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก จนสามารถขายเป็นคาร์บอนเครดิต แปรเปลี่ยนมาเป็นเม็ดเงินแล้ว จำนวน 4 จังหวัด คือ จังหวัดลำพูน สมุทรสงคราม เลย และจังหวัดอำนาจเจริญ โดย บมจ.ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK เป็นผู้รับซื้อคาร์บอนเครดิตในราคา 260 บาท/ตัน ซึ่งในเฟสแรก สามารถซื้อขายได้จำนวน 3,140 ตัน เป็นเงิน 816,400 บาท และเม็ดเงินทั้งหมดนี้กลับคืนไปสู่ชุมชน เป็นกองทุนในการพัฒนาชุมชนต่อไป นับเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดสำคัญของหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) คือ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการบริหารจัดการขยะ ตลอดจนถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ วัฒนธรรมประเพณี ศีลธรรม สอดคล้องกับหมู่บ้านรักษาศีล 5 หรือหมู่บ้านศีลธรรม ที่ผู้คนในหมู่บ้านปฏิบัติตน ปฏิบัติใจที่จะทำความดี มีความรักความสามัคคี มีจิตอาสา ร่วมกันทำเพื่อชุมชนของเรา



นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอให้พวกเราทุกคนได้น้อมนำโครงการในพระราชดำริเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อยู่ห่างไกล อาทิ โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ โครงการสาละวะไล่โว่ โครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างเข้มแข็ง และร่วมกันคิดกิจกรรมเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมายุครบรอบ 6 รอบ 72 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 รวมทั้งการบำรุงรักษาดูแลแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายของทุกจังหวัด ให้มีสภาพภูมิทัศน์ มีความสะอาด สวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งร่วมกันขับเคลื่อนงานสร้างความมั่นคงทางอาหาร การจัดการสิ่งแวดล้อม และงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า และกิจกรรม "วันดินโลก : World Soil Day” วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่องค์กรระดับโลกอย่าง FAO ได้กำหนดขึ้นเพื่อยกย่องพระเกียรติคุณ ด้วยการประชาสัมพันธ์สื่อสาร ทั้งสื่อสังคมออนไลน์ สื่อวิทยุโทรทัศน์ รวมไปถึงสื่ออื่น ๆ ให้ทั่วทั้งโลกได้เห็นและตระหนักถึงความสำคัญของดิน เพราะดินคือต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิต

“ขอให้พวกเราได้ช่วยกันสื่อสารกับสังคม บอกเล่าสิ่งที่ดีให้ผู้คนได้รับรู้ และเกิดความรัก ความศรัทธา ความร่วมมือกับชาวมหาดไทยในการขับเคลื่อนงาน "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" และหนุนเสริมบทบาทการทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะงานราชการ คือ การเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนและประเทศชาติ และบอกกับตัวเองตลอดเวลาว่า “ความเหน็ดเหนื่อยของพวกเราทุกคนจะก่อให้เกิดสิ่งที่ดีกับประเทศชาติและทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขมากยิ่งขึ้นอย่างยั่งยืน”” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย 


 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...