วันอาทิตย์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2566

วธ. จัดพิธีทางศาสนามหามงคล โชว์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ล้ำค่า 5 ศาสนา เฉลิมพระเกียรติ



วธ. จัดพิธีทางศาสนามหามงคล โชว์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ล้ำค่า 5 ศาสนา เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในงานมหกรรมศาสนิกสัมพันธ์ “มหัศจรรย์ประทีปแห่งศรัทธามหาบารมี” 17-20 ส.ค. 66

วันที่ 14 สิงหาคม 2566 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนาร่วมกับองค์การทางศาสนา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จัด “พิธีทางศาสนามหามงคล 5 ศาสนา” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม ในวันที่ 17 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อรวมพลังทางศาสนาเสริมสร้างความสมานฉันท์ ร่วมกันบำเพ็ญความดีถวายพระราชกุศลแด่พระองค์ โดยมีผู้นำองค์การศาสนาทั้ง 5 ศาสนา สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด พร้อมทั้งคณะกรรมการศาสนิกสัมพันธ์ส่วนกลาง และจังหวัดในพื้นที่เป้าหมายใกล้เคียงกรุงเทพมหานคร เครือข่ายศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ หน่วยเผยแพร่ศีลธรรมทางพระพุทธศาสนา เครือข่ายพระธรรมวิทยากร ชุมชนคุณธรรม และศาสนิกชนทุกศาสนา ร่วมประกอบพิธี โดยศาสนาพุทธ พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ศาสนาอิสลาม ประกอบพิธีดุอาอ์ขอพร ศาสนาคริสต์ ประกอบพิธีอธิษฐานภาวนาขอพร ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ประกอบพิธีสวดมนต์หรือท่องพระเวท และศาสนาซิกข์ ประกอบพิธีสวดกีรตันและอัรดาส


@siampongnews #พระสังกัจจายน์ ♬ Funny video "Carmen Prelude" Arranging weakness(836530) - yo suzuki(akisai)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวต่อว่า การจัดงานครั้งนี้ยังได้จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ระหว่างวันที่ 17-20 สิงหาคม 2566 เพื่อเผยแพร่พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจในด้านพระศาสนา และเพื่อให้ประชาชนได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรด้วยน้ำพระราชหฤทัยเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านพระศาสนา พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนชาวไทยในการปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนทางศาสนา ได้พระราชทานพระราชูปถัมภ์พระพุทธศาสนาและศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมงานศาสนาและคุณธรรมของปวงชนชาวไทยตลอดมา


นอกจากนี้ ยังได้อัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นมงคล 5 ศาสนา ที่ทรงคุณค่าและเป็นที่เคารพศรัทธา มาประดิษฐานให้ประชาชนสักการบูชา พร้อมนำศาสนวัตถุที่เป็นสัญลักษณ์ทางศาสนามาจัดแสดงในนิทรรศการฯ ประกอบด้วย ศาสนาพุทธ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จำนวน 9 องค์ ซึ่งเป็นพระบรมสารีริกธาตุของส่วนพระองค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร พระสังฆราชองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ศาสนาอิสลาม พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน และความหมายภาษาไทยฉบับพระราชทาน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสในงานเฉลิมฉลอง 14 ศตวรรษแห่งอัลกุรอาน ศาสนาคริสต์ อัญเชิญเครื่องประกอบพิธีมหาสนิท ประกอบด้วย ไม้กางเขน 2 นิกาย โป๊ะเทียน 1 คู่ พระคัมภีร์ 1 เล่ม หนังสือเพลง 3 เล่ม และชุดมหาสนิท 1 ชุด แสดงถึงการไถ่บาปของมวลมนุษย์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เครื่องประกอบพิธีสำคัญ ประกอบด้วย สัญลักษณ์โอม สังข์ กระดิ่ง ระฆัง ที่จุดประทีป และดอกบัว สัญลักษณ์โอม เป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าสูงสุดทางศาสนา ศาสนาซิกข์ สัญลักษณ์สำคัญของศาสนิกชนชาวซิกข์ห้า ก (เกศา กังฆะ กาซ่า กิรปาน การ่า) มาลา (ลูกประคำถักจากด้ายไหมพรมสีขาว) ฆะราวะ (รองเท้าทำจากไม้) 


จึงขอเชิญชวนพสกนิกรชาวไทยตลอดจนศาสนิกชนของทั้ง 5 ศาสนาเข้าร่วมในพิธีมหามงคล 5 ศาสนา และขอเชิญชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อรวมพลังในการแสดงออกถึงความจงรักภักดี และเป็นการรวมพลังความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกที่ล้วนมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมทางจิตใจ รายละเอียดเพิ่มเติม สายด่วนวัฒนธรรม 1765 และเว็บไซต์กรมการศาสนา www.dra.go.th


ศาสนวัตถุที่เป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาร่วมจัดนิทรรศการในงาน “มหกรรมศาสนิกสัมพันธ์ สร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคม



ศาสนาพุทธ


พระบรมสารีริกธาตุ คือ พระอัฐิของพระพุทธเจ้าซึ่งพระองค์ได้ทรงอธิษฐานไว้ก่อนปรินิพพานให้คงเหลือไว้หลังจากการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชน ซึ่งชาวพุทธเชื่อว่าพระบรมสารีริกธาตุเป็นวัตถุแทนองค์พระบรมศาสดาที่ทรงคุณค่าสูงสุดในพระพุทธศาสนา จึงนิยมกระทำการบูชาองค์พระบรมสารีริกธาตุโดยประการต่าง ๆ เช่น การสร้างเจดีย์ เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้สักการะ โดยเชื่อว่ามีอานิสงส์ประดุจได้กระทำการบูชาแด่พระพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังทรงพระชนม์อยู่ ในการจัดงานในครั้งนี้ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเป็น พระบรมสารีริกธาตุส่วนพระองค์ของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร พระสังฆราชองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มาประดิษฐานให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยมูลนิธิสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ กระทรวงวัฒนธรรม และองค์กรภาคี ได้จัดโครงการอัญเชิญพระบรมเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุ จากศรีลังกา มาประดิษฐาน ณ พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร และกรมการศาสนา ได้รับมอบจากสมเด็จพระวันรัต อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม และอดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันพุธที่ 29 เมษายน 2563 ให้นำไปประดิษฐานให้พุทธศาสนิกชน ได้สักการะในโอกาสต่างๆ


ศาสนาอิสลาม


คัมภีร์อัลกุรอานฉบับพระราชทาน คือ หนังสือหรือคัมภีร์ซึ่งเป็นบัญญัติของพระเจ้าเพื่อเป็นธรรมนูญแห่งชีวิต มีความศักดิ์สิทธิและเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ต้นฉบับคัมภีร์อัลกุรอานเป็น ภาษาอาหรับ จึงมีการแปลเป็นภาษาต่างๆ ซึ่งประเทศไทย พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานและความหมายภาษาไทยฉบับพระราชทานเล่มแรก โดย อาจารย์ต่วน สุวรรณศาสน์ จุฬาราชมนตรีคนที่ 15 ของประเทศไทย ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระราชกระแสว่า “อยากจะให้แปลความหมายของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาไทย ให้ปรากฏขึ้นเป็นสง่าราศีแก่ประเทศชาติให้ทัดเทียม กับหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งเขาเคยจัดการแปลพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาประจำชาติกันมาแล้ว”  โดยเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2511 เป็นวันแรกที่พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานฉบับความหมายภาษาไทยได้ถูกจัดพิมพ์ขึ้นถวาย และได้พระราชทานแก่มัสยิดทั่วประเทศ ซึ่งในงานได้นำพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน และความหมายภาษาไทยฉบับพระราชทานมาแสดงให้ชาวไทยได้ซาบซึ้งในอรรถรสของคัมภีร์ และสร้างความเข้าใจอันดี ต่อศาสนิกชนต่างศาสนา เกี่ยวกับอิสลามและชาวไทยมุสลิมอีกด้วย


ศาสนาคริสต์ คริสต์ศาสนิกชนเชื่อว่าศาสนาเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง “พระเจ้า” กับ “มนุษย์” หรือกล่าวให้เฉพาะเจาะจงก็คือ พระเจ้าเที่ยงแท้มีธรรมชาติ หนึ่งเดียวแต่แบ่งออกเป็นสามพระบุคคลคือ พระบิดา พระบุตร และ พระจิต โดยเรียกรวมว่าพระตรีเอกภาพ สำหรับในการจัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้ กรมการศาสนาได้นำศาสนภันฑ์ในการประกอบพิธีเป็นประจำในโบสถ์เซนต์โทมัส (คาทอลิก) และโบสถ์สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย ซึ่งใช้ประกอบพิธีมายาวนานหลายทศวรรษ จึงถือว่าเป็นศาสนภัณฑ์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ทรงคุณค่า และคริสต์ศาสนิกชนมีความรักและห่วงแหน ประกอบด้วย


กางเขน ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งการไถ่บาป เป็นการแสดงความรักอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อมนุษยชาติ

เทียน เป็นแสงสว่าง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการทำความดีที่จุดส่องแสงให้กับผู้อื่น 

พระคัมภีร์ (ไบเบิ้ล) มีกำเนิดจากการเขียนขึ้นของมนุษย์โดยการดลใจจากพระเจ้า คริสตชนถือว่าศักดิ์สิทธิ์  

       เป็นพระวาจาของพระเจ้า 

หนังสือเพลง เพื่อใช้ประกอบศาสนกิจและพิธีกรรมทางศาสนามีจุดมุ่งหมายในการเสริมสร้างความศรัทธา  

       และยกจิตใจขึ้นหาพระผ่านทางการขับร้องของคริสตชน  

ชุดมหาสนิท เป็นชุดภาชนะ สำหรับจัดวางเครื่องประกอบพิธีมหาสนิท  ประกอบด้วย ถาดใส่น้ำองุ่น

      ถ้วยศีล ถาดขนมปัง


ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู


กรมการศาสนา ได้นำศาสนภัณฑ์ที่สำคัญและโดดเด่นที่ใช้ในพิธีฮารตีสำหรับงานมงคลต่าง ๆ ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มาจัดแสดงโดยเป็นศาสนภัณฑ์จากวัดเทพมณเฑียร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468 เพื่อเป็นเทวสถานของพระวิษณุและเทพเจ้าในศาสนาฮินดู รวมถึงเป็นแหล่งรวมใจชาวฮินดูให้เป็นหนึ่งเดียวกัน นอกจากนี้ มีการอัญเชิญเทวปฏิมาของพระผู้เป็นเจ้าและเทพยดา อันเป็นที่เคารพสักการะของชาวฮินดูมาจากประเทศอินเดีย (พร้อมกับแผ่นหินอ่อนแกะสลักทั้งหมด) และอัญเชิญดินศักดิ์สิทธิ์จากพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญ 4 แห่ง ได้แก่ ลุมพินี (สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า) พุทธคยา (สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า) สารนาถ (สถานที่แสดงปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้า) และกุสินารา (สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า) มาไว้เพื่อความศักดิ์สิทธิ์และเป็นสิริมงคลพร้อมกันนี้ได้อัญเชิญน้ำจากแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ในอินเดีย เช่น แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา และแม่น้ำสุรัสวดี ฯลฯ มารวมกันและนำมาประดิษฐานไว้ ณ วัดเทพมณเฑียรแห่งนี้ ศาสนาฮินดู ศาสนวัตถุส่วนใหญ่เป็นรูปเคารพและสัญลักษณ์แทนเทพโดยผู้เคารพบูชาจะขอให้เทพประทานพรด้วยเครื่องบูชาและแสดงความเคารพ ประกอบด้วย


โอม เป็นสัญลักษณ์ประจำศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โอม ประกอบขึ้นจากอักษร 3 ตัว คือ A  อ แทน พระวิษณุ 

U อุ แทนพระศิวะ และ M ม แทนพระพรหม เป็นสัญลักษณ์แทนเทพทั้งสามเมื่อรวมเป็นรูปเดียวกันเรียกว่า ตรีมูรติ

สังข์ ตามคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู การเป่าสังข์จะทำลายพลังงานด้านลบ  และทำให้พระแม่ลักษมีทรงประทานพร 

กระดิ่งหรือระฆัง เชื่อว่าเป็นเสียงมงคล ในขณะทำอารตีหรือบูชาเทพฮินดู พราหมณ์จะสั่นกระดิ่งเพื่อบอกให้เทพได้รับรู้ถึงการมาเยี่ยมของเรา และยังเชื่อว่าสามารถขับไล่สิ่งชั่วร้ายได้ 

จุดประทีป การจุดประทีปนี้เป็นสัญลักษณ์ที่ปกป้องความมืดมัว หรือสัญลักษณ์ว่าด้วยชัยชนะของความสว่างเหนือความมืดมัวในขณะเดียวกันก็ถือเป็นการเริ่มต้นปีใหม่

ดอกบัว เป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ เพราะถือกันว่าบัวเป็นพืชชนิดแรกที่เกิดมาบนโลก และเป็นดอกไม้ของผู้มีบุญ

(มีตำนานเล่าไว้ว่าดอกบัวได้ผุดออกมาจากหน้าผากของพระนารายณ์)



ศาสนาซิกข์ 


ศาสนาซิกข์ เกิดขึ้นราว 500 กว่าปีที่ผ่านมา โดยมีพระศาสดาคุรุนานักเทพ เป็นองค์ ปฐมบรมศาสดา และพระศาสดาองค์ที่สิบ คุรุโคบินต์ซิงห์ เป็นผู้สถาปนาคาลซา หรือ ซิกข์ที่สมบูรณ์แบบด้วยสัญลักษณ์ 5ก ให้แก่ชาวซิกข์นับแต่นั้นเป็นต้นมา ศาสนิกชนชาวซิกข์จึงต้องมี 5ก ติดตัวไว้เสมอเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แม้แต่ศาสนิกชนชาวชิกข์ในประเทศไทยยังคงมีสัญลักษณ์ 5ก 

ติดตัวเสมอแต่อาจปรับไปตามสภาพสังคมปัจจุบัน เช่น กิรปาน หมายถึงดาบสั้น ถือเป็นอาวุธในการพกติดตัวก็ผิดกฎหมาย จึงปรับเปลี่ยนเป็น กริชเล็กๆ แทน แต่ในสังคมของอินเดียบางพื้นที่ ยังคงพกกิรปานหรือดาบสั้นตามศาสนบัญญัติเสมอ ซึ่งสัญลักษณ์ 5 ล้วนมีความหมายและมีความเป็นมา ดังนี้ 


ก ที่หนึ่ง เกศา คือผม ชาวซิกข์จะไม่ปลงผมจากส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย เนื่องจากผมเป็นสิ่งที่พระเจ้า

      ทรงประทานให้ตามหลักแห่งธรรมชาติซึ่งเป็นสัจธรรมอันยิ่งใหญ่ 

ก ที่สอง กังฆะ คือหวีไม้ ชาวซิกข์จะใช้หวีสางผม เพื่อให้เกศาดูเรียบร้อยและงดงาม 

ก ที่สาม กาซ่า คือกางเกงในขาสั้น เพื่อความสันทัดและความกระฉับกระเฉง โดยไม่ประเจิดประเจ้อ

      ยามทำงาน ยามออกศึก และยามสงบ

ก ที่สี่ กิรปาน คือดาบสั้น ทำด้วยเหล็กกล้า เพื่อปกป้องผู้ที่ถูกรังแก ถูกลิดรอนสิทธิมนุษย์ และเพื่อปกป้อง

      ตนเอง โดยไม่ใช้เป็นอาวุธในการรุกรานผู้อื่นโดยเด็ดขาด 

ก ที่ห้า การ่า  คือกำไลเหล็กกล้า เป็นสัญลักษณ์แห่งความอดทน และเข้มแข็งดุจเหล็กกล้า เป็นเครื่องเตือนสติ 

          และเตือนใจให้ละเว้นจากการกระทำบาป ให้ตั้งสติอยู่ในความชอบธรรม 

นอกจากนี้ยังได้นำเสนอเครื่องประกอบพิธีสำหรับสวดมนต์ คือ มาลา (ลูกประคำถักจากด้ายไหมพรมสีขาว) มีจำนวน 108 เม็ด  และ ฆะราวะ (รองเท้าทำจากไม้) ใช้ในการประกอบพิธีที่สำคัญ ซึ่งผู้สวมใส่ต้องถือศีลบริสุทธิและต้องชำระล้างร่างกายให้บริสุทธิ์ด้วยการอาบน้ำฝน 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพลง: กลิ่นธรรม

 ເນື້ອເພງ : ດຣສົມພົງສ໌ ທຳນອງ - ຮ້ອງໂດຍ : suno   คลิกฟังเพลงที่นี่ (Verse 1)   ยามเช้าแสงทองจับขอบฟ้า ไอหมอกบางพัดพาเบา ๆ หอมกลิ่นบุปผา…อาบใจ...