วันอังคารที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2566

"เศรษฐา"เชิญฝ่ายความมั่นคงถกปรับเกณฑ์ถือครองยาบ้า-การปล่อยกู้นอกระบบ



เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566   นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้เชิญฝ่ายความมั่นคง มาพูดคุยเรื่องยาเสพติด โดยเฉพาะกรณีการปรับหลักเกณฑ์การถือครองจำนวนยาบ้า ของผู้ค้าและผู้เสพ ซึ่งต้องมีการหารือกันอีกครั้งว่าจำนวนไหนจึงจะเหมาะสมสำหรับการจัดการให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ขณะเดียวกัน ยังมีการติดตามปัญหาหนี้ครัวเรือน และการปล่อยกู้นอกระบบ ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญของประชาชน ที่จำเป็นต้องให้ฝ่ายความมั่นคงเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไข

"เสริมศักดิ์" แบ่งงานผู้ช่วย - ที่ปรึกษารมว.วธ. "กานต์กนิษฐ์"ประสานศน. ฝากงาน"เศรษฐา" รับแรงงานอิสราเอล-Soft Power



 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566   นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า การทำงานของวธ.ต่อจากนี้ ฝ่ายการเมืองจะเป็นทีมกำหนดนโยบาย และให้ทางกระทรวง กรม หรือส่วนที่เกี่ยวข้องทำงานควบคู่กันไป โดยมอบหมายให้ทีมการเมืองทำงานร่วมกับกรมและหน่วยงานในสังกัดวธ. ได้แก่ 1.นายพลภูมิ เกียรติภูมิประเทศ ผู้ช่วยประจำรมว.วธ. ดูแลและประสานงานร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) พร้อมประสานงานภาพรวมทั้งภายในและภายนอกวธ. 2.น.ส.เพ็ญพิสุทธิ์ จินตโสภณ เลขานุการรมว.วธ. ดูแลและประสานงานร่วมกับกรมศิลปากร และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) และประสานงานทั้งภายในและภายนอกวธ. 3.น.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ที่ปรึกษารมว.วธ. ดูแลและประสานงานร่วมกับกรมการศาสนา (ศน.) และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ 4.นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ที่ปรึกษารมว.วธ. ดูแลและประสานงานร่วมกับศูนย์มานุษวิทยาสิริณธรและกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และงานด้านกฎหมายของผู้ตรวจราชการในสังกัดวธ. 5.นายนิติ เนื่องจำนงค์ ที่ปรึกษารมว.วธ. ดูแลและประสานงานร่วมกับศูนย์คุณธรรม และ 6.นายชัยธัช รัตนจันทร์ ที่ปรึกษารมว.วธ. ดูแลและประสานงานร่วมกับหอภาพยนตร์

รมว.วธ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ วธ.ยังได้รับมอบนโยบายจากนายกรัฐมนตรีที่มอบหมายให้แต่ละกระทรวงดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การดำเนินจัดหางานรองรับคนไทยที่กลับมาจากอิสราเอล โดยดูความเหมาะสมตามภารกิจของแต่ละกระทรวง การแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆภายในกระทรวงให้มีความโปร่งใส ไม่ให้มีการใช้เส้นสาย โดยให้มุ่งเน้นการประเมินที่ผลงานและความสามารถเป็นหลัก นอกจากนี้ยังเร่งให้ประชาสัมพันธ์ กิจกรรม โครงการ การดำเนินงานของวธ. ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึงเกี่ยวกับงานของภาครัฐ อาทิ เรื่อง Soft Power ที่ภาครัฐจะสนับสนุนให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น


"สมเด็จพระมหาวีรวงศ์-ปลัดมท." นำชาวปทุมธานี เททองหล่อพระประธานยิ้มรับฟ้าและพระพรหมวัดบางหลวงหัวป่า

 


สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นประธานสงฆ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานฝ่ายฆราวาส นำชาวปทุมธานี ร่วมพิธีเททองหล่อพระประธานยิ้มรับฟ้า และพระพรหม ประดิษฐาน ณ วัดบางหลวงหัวป่า ปทุมธานี และพิธีฉลองกฐินสามัคคี พร้อมร่วมพิธีฉลองอายุวัฒนมงคลพระครูสุภัทรธรรมโฆษิต ด้วยความเป็นสิริมงคล โดยมีพุทธศาสนิกชนผู้ร่วมงานอย่างเนืองแน่น

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566  เวลา 08.30 น. ที่วัดบางหลวงหัวป่า สาขาวัดระฆังโฆสิตาราม ตำบลสวนพริกไทย อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีเททองหล่อพระประธานยิ้มรับฟ้า หน้าตัก 31 นิ้ว และพระพรหม 62 นิ้ว พร้อมทั้งประกอบพิธีสมโภชกฐินสามัคคี และพิธีฉลองอายุวัฒนมงคลพระครูสุภัทรธรรมโฆษิต (พระครูต้น) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดบางหลวงหัวป่า ที่ปรึกษาสมัชชาสงฆ์ในญี่ปุ่น โดยได้รับเมตตาจาก พระเทพประสิทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร และพระมงคลวโรปการ ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เจ้าอาวาสวัดชินวราราม ร่วมพิธี มีคณะสงฆ์วัดบางหลวงหัวป่า ประกอบพิธี โดยมี นายพงศ์รัตน์ ภิรมรัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายอดิเทพ กลมเวชช์ นายสิทธิชัย สวัสดิ์แสน นายพงศธร กาญจนะจิตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายคมสัน ญาณวัฒนา หัวหน้าสำนักงานจังหวัดปทุมธานี นายมนัส สุวรรณรินทร์ ท้องถิ่นจังหวัดปทุมธานี และเจ้าภาพร่วม อาทิ พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 13 คุณวทันยา บุนนาค ภาคีเครือข่ายภาคธุรกิจ นายสมศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา นายกฤษฎา ไทยสำราญ นายยุทธภูมิ โอกิวารา เซียนพระชื่อดัง หัวหน้าส่วนราชการ พร้อมด้วยประชาชนผู้มีจิตศรัทธา และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ร่วมพิธีกว่า 1,000 คน 

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นำผู้ร่วมพิธีประกอบพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โปรยข้าวตอกดอกไม้ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย และถวายสักการะสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ จากนั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วย พระครูสุภัทรธรรมโฆษิต (พระครูต้น) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดบางหลวงหัวป่า นำผู้ร่วมพิธีร่วมเททองหล่อพระประธานยิ้มรับฟ้า หน้าตัก 31 นิ้ว และพระพรหม 62 นิ้ว พระสงฆ์ 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์ เสร็จแล้ว นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นำผู้ร่วมพิธี ถวายเครื่องไทยธรรม ถวายภัตตาหารเพล กรวดน้ำรับพร ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ กราบลาพระรัตนตรัย เป็นอันเสร็จพิธี 



นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า "พระประธานยิ้มรับฟ้า" เป็นพระประธานประจำพระอุโบสถวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด ปางสมาธิ หน้าตักกว้างประมาณ 4 ศอก เบื้องพระพักตร์มีรูปพระสาวก 3 องค์ นั่งประนมมือดุจรับพระพุทธโอวาท โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามพระประธานองค์นี้ว่า "พระประธานยิ้มรับฟ้า" เมื่อครั้นทรงเสด็จมาถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร ทรงมีพระราชดำรัส "ไปวัดไหนไม่เหมือนวัดระฆัง พอเดินเข้าประตูโบสถ์คราใด พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที" ด้วยเหตุนี้จึงทรงถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์ และมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกแด่พระประธานองค์นี้เป็นพิเศษ ซึ่งวัดบางหลวงหัวป่าแห่งนี้ เป็นสาขาของวัดระฆังโฆษิตาราม โดยพระครูสุภัทรธรรมโฆษิต (พระครูต้น) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดบางหลวงหัวป่า จึงได้ใช้โอกาสอันเป็นมงคลฤกษ์วันทอดกฐินสามัคคี ประจำปี 2566 นี้ ประกอบพิธีเททองหล่อพระประธานยิ้มรับฟ้า และพระพรหม เพื่ออัญเชิญประดิษฐาน ณ วัดบางหลวงหัวป่า ซึ่งเป็นอนุสรณ์แห่งการเป็นสาขาของวัดระฆังโฆสิตาราม และเป็นสรรพสิริมงคลของพุทธศาสนิกชน

"นับเป็นมงคลฤกษ์อันดียิ่งที่ได้มาร่วมประกอบพิธีเททองหล่อพระประธานยิ้มรับฟ้า พระพรหม และพิธีทอดกฐินสามัคคี ประจำปี 2566 ที่วัดบางหลวงหัวป่า สาขาวัดระฆังโฆสิตาราม พร้อมพุทธศาสนิกชนทุกท่านในวันนี้ อันถือเป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์และมีความสำคัญที่หล่อหลอมรวมจิตใจอันศรัทธา แสดงถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนา และหลักคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีนัยสำคัญ และมีความหมายอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของพวกเราทุกคน จึงได้พร้อมใจมาร่วมกันปฏิบัติบูชา ด้วยจิตปรารถนาที่จะทำนุบำรุง รักษา และสืบสานพระพุทธศาสนาให้มั่นคงอยู่ไว้ให้แก่ลูกหลานของเรา สอดคล้องกับที่กระทรวงมหาดไทยได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ของฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม กระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่าย ซึ่งมีเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ประธานฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม ผู้เป็นหลักชัย อันเป็นการส่งเสริมทำให้วัดซึ่งเป็นศาสนสถาน ได้เป็นสถานที่ศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนและประชาชน เป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้ เป็นสัปปายะสถานสำหรับประชาชน ด้วยการบูรณาการความร่วมมือ ในรูปแบบของพลัง "บวร" คือ บ้าน วัด ราชการ อันจะทำให้พุทธศาสนิกชนและประชาชนทั่วไปได้มีความสุขกาย สุขใจ มีความสุขในการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม



พระครูสุภัทรธรรมโฆษิต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร ผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดบางหลวงหัวป่า สาขาวัดระฆังโฆสิตาราม กล่าวว่า วัดบางหลวงหัวป่าแห่งนี้ เป็นวัดร้างตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสถานที่ที่อาตมาภาพได้ร่วมกับนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ผู้ขอบูรณปฏิสังขรณ์ และขอยกวัดร้างแห่งนี้ให้เป็นวัดที่มีพระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษา ซึ่งเป็นวัดสาขาของวัดระฆังโฆสิตาราม มีเนื้อที่ 23 ไร่ 64 ตารางวา โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาวัดบางหลวงหัวป่าได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สมาคมแม่บ้านมหาดไทย จังหวัดปทุมธานี และภาคีเครือข่าย ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมประกอบพุทธศาสนกิจ อีกทั้งกิจกรรมจิตอาสาพัฒนา อาทิ ปลูกต้นไม้ ปล่อยปลา อย่างต่อเนื่องตลอดเรื่อยมา เพื่อพัฒนาพื้นที่อดีตวัดร้างแห่งนี้ให้เป็นรมณียสถาน สถานที่แห่งความร่มเย็น และเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการบูรณปฏิสังขรณ์ หากเสร็จสมบูรณ์จะเป็นพุทธสถานสาธารณสงเคราะห์ ให้แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้ป่วยยากไร้ และชาวบ้านในพื้นที่ ให้ได้รับประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ตามนโยบายด้านการสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคมอีกด้วย


"อดีตโฆษกโควิด" ขอขมาลาบวช มุ่งเข้าถึงรสพระธรรม ดังที่ตั้งใจไว้ 40 ปีก่อน



เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566  นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า บวชสักครั้งในชีวิต.....เคยคิดจะบวชหน้าไฟ...ให้แม่ที่เสียชีวิตไปเมื่อ 40 ปีก่อน ทำตามประเพณีแต่ยังไม่ได้ ...ทำให้ยังไม่รู้ในรสพระธรรม

จนกระทั่งลูกชายคนโต เรียนอยู่ประถม 5 มาบอกพ่อแม่ว่าจะขอบวชเณรพร้อมกับเพื่อนๆในหลักสูตรสามเณรลูกแก้วของ ยุวพุทธิกสมาคม ตอนรับฟังลูกจะขอบวชก็รู้สึกอย่างนั้นอย่างนั้น

แต่พอถึงวันบวชจริง..ต้องโกนหัวลูก จำได้ว่าตอนลูกบวชให้พ่อแม่ทั้งๆที่ไม่ได้ร้องขอ ...น้ำตางี้ซึมมาเลย มันไหลออกมาด้วยความปิติ แบบไม่ทันรู้ตัว....ลูกพาเราเข้าใกล้วัด...เข้าใกล้พระธรรม โยมพ่อโยมแม่โยมยายก็ได้แต่ไปแวะเยี่ยม ไปใส่บาตรให้ ในช่วงเวลา 1 เดือนที่เขาบวชสามเณร ภาพจำในตอนนั้นคือความปิติทุกครั้งที่ได้ใส่บาตรได้เห็นผ้าเหลืองลูก ที่สวมใส่ เดินเรียงแถวในสภาพของสามเณรใหญ่น้อยมารับบาตรอย่างมีความสุข

พอทำงานมาสักพัก ก็ได้มีโอกาสไป 4 สังเวชนียสถาน ไปแบบไม่ได้ตั้งใจไปแบบไม่รู้เรื่องพระพุทธศาสนาเท่าไรนักแต่ไปเห็นสถานที่ประสูติตรัสรู้ปรินิพพานที่แสดงธรรมครั้งแรกของพระพุทธองค์ ทำให้รู้ว่าพระองค์ท่านมีจริงในโลกนี้ไม่ได้เห็นแต่ในตำราเรียนหรือคำบอกเล่า

ได้เข้าร่วมสวดมนต์ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์เห็นคนอื่นบวชกันที่นั่นก็มีใจเคยนึกว่าหามีโอกาสอาจจะขอสักครั้งในชีวิตแต่ก็ไม่ได้เคยกำหนดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

4-15 พฤศจิกายน 2566 นี้ โอกาสนี้มาถึง

เมื่อได้เข้าเรียนในหลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย นธป.รุ่นที่ 11 มีกิจกรรมหนึ่งในหลักสูตรคือการร่วมอุปสมบทหมู่กับนักศึกษาในหลากหลายหลักสูตรโดยมูลนิธิสถาบันพระปกเกล้าเพื่อสังคม เป็นการบวชถวายสมเด็จพระสังฆราชและในหลวงรัชกาลที่ 10 มีโอกาสใช้เวลา 10 วันในพุทธภูมิประเทศอินเดียเพื่อบวชและท่องไปใน 4 สังเวชนียสถาน

เพื่อความบริสุทธิ์ในการบวช ประพฤติพรหมจรรย์ในครั้งนี้ เพื่อเข้าถึงพระธรรมและรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวไทยพุทธ

ขออนุญาตใช้ ข้อความ นี้ในการแจ้งข่าว และกล่าวคำขอขมาลาบวชเพื่อให้ครบถ้วนตามประเพณีด้วยครับ

ขอกราบลาอุปสมบท กรรมใดที่ข้าพเจ้าได้ล่วงเกินท่านด้วย กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ทั้งตั้งใจก็ดี ไม่ตั้งใจก็ดี ต่อหน้าก็ดี ลับหลังก็ดี รู้ก็ดี ไม่รู้ก็ดี ขอให้ทุกท่านอโหสิกรรม และอนุโมทนาบุญในการอุปสมบทของข้าพเจ้าในครั้งนี้ด้วยเทอญ


นายทวีศิลป์ วิษณุโยธิน


"มจร" ประกาศรายชื่อผู้เข้ารับการพัฒนาฝึกอบรมหลักสูตรไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องรุ่น๑๒

 


หลักสูตรสาขาวิชาสันติศึกษา มจร ร่วมกับ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ  กระทรวงยุติธรรม และภาคีเครือข่ายสันติศึกษา   เรื่อง ประกาศรายชื่อผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. ๒๕๖๒ รุ่นที่ ๑๒  ระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๔ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๖   โดยฝึกอบรม ณ ห้องสัมมาปัญญา ชั้น ๔ อาคารพระพรหมบัณฑิต วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เพื่อให้โครงการจัดฝึกอบรมหลักสูตรการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. ๒๕๖๒ ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ จึงประกาศรายชื่อผู้เข้าฝึกอบรมหลักสูตรการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. ๒๕๖๒ รุ่นที่ ๑๒  (หลักสูตรระยะสั้น) ประกอบด้วย

ประกาศ  ณ วันที่  ๓๑  ตุลาคม  ๒๕๖๖ 

ทั้งนี้สามารถดูรายชื่อได้ทีเฟซบุ๊ก Pramote OD Pantapat 

"มจร" หารือสถานทูตลาว เจรจาความร่วมมือทวิภาคีส่งเสริมการศึกษา วัฒนธรรมและสันติสุขภูมิภาค



เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 พระราชวัชรสารบัณฑิต  รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มอบหมายให้ พระมหาบัณฑิต ปณฺฑิตเมธี, คณบดีคณะครุศาสตร์และรักษาการผู้อำนวยการกองแผนและ พระปลัดอภิเชษฐ์ สุภทฺรวาที ผู้อำนวยการส่วนงานบริหาร ศูนย์อาเซียนศึกษา เป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยเข้าหารือผู้แทนเอกอัครราชทูตลาว ประจำประเทศไทยเพื่อเตรียมการประชุมความร่วมมือทวิภาคีของมหาวิทยาลัยและสาธารัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

การหารือดังกล่าว พระมหาบัณฑิตได้นำเสนอทิศทางและนโยบายด้านการสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาของมหาวิทยาลัยและบทบาทการจัดการศึกษาในระดับภูมิภาคอาเซียน และมหาวิทยาลัยมีนโยบายให้ส่งเสริมการศึกษาของนิสิตชาวลาวที่ศึกษาใน มหาวิทยาลัยให้มีความเข้มแข็งและพัฒนาศักยภาพของนิสิตให้มีศักยภาพสามารถนำความรู้และประสบการณ์ในมหาวิทยาลัยกลับไปพัฒนาประเทศ โดยที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจะผลักดันการจัดทำความร่วมมือ (MOU) เพื่อเป็นกลไกการทำงานร่วมกันในระดับทิวภาคี

ด้าน  พระปลัดอภิเชษฐ์ สุภทฺรวาที ผู้อำนวยการส่วนงานบริหาร ศูนย์อาเซียนศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยดำเนินความสัมพันธ์อันดีร่วมกับคณะสงฆ์ลาวมาเป็นเวลานาน คณะสงฆ์ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์กลมเกลียว และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมร่วมกันอยู่เสมอ เห็นได้จากจำนวนพระสงฆ์และคฤหัสถ์ชาวลาวที่ศึกษาในมหาวิทยาลัย ตลอดถึงการสนับสนุนกิจกรรมและโครงการต่างๆ ของนิสิตชาวลาว สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ดี และการสนับสนุนส่งเสริมด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยต่อคณะสงฆ์ นิสิตและบทบาทภูมิภาคในประชาคมอาเซียนของมหาวิทยาลัยด้วย

วันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2566

ปลัดมหาดไทย ชู "อริยสัจโมเดล" เป็นฐาน "การเป็นข้าราชการที่ดี"



ปลัดมหาดไทย เปิดโครงการศึกษาอบรมหลักสูตร “การเป็นข้าราชการที่ดี” รุ่นที่ 100 เน้นย้ำ ข้าราชการใหม่ นำหลักอริยสัจ 4 มาปรับใช้ในการทำงานควบคู่ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพื่อ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น เพื่อพี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

วันที่ 30 ต.ค. 66 เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมอัษฎางค์ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการศึกษาอบรมหลักสูตร “การเป็นข้าราชการที่ดี” รุ่นที่ 100 โดยมี นายบุญธรรม ถาวรทัศนกิจ ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ นายธนิต ภูมิถาวร ผู้อำนวยการสำนักตรวจราชการและเรื่องราวร้องทุกข์ นายชัยรัตน์ แก้วเพียงเพ็ญ หัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้แทนหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมผู้เข้าร่วมศึกษาอบรม รวมทั้งสิ้น 130 คน แบ่งเป็นข้าราชการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย 33 คน กรมที่ดิน 45 คน กรมโยธาธิการและผังเมือง 35 คน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 15 คน และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 2 คน ร่วมในพิธีเปิด ซึ่งหลักสูตรฯ นี้ มีระยะเวลาฝึกอบรมรวม 10 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม - 8 พฤศจิกายน 2566

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ข้าราชการผู้เข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรข้าราชการที่ดีทุกคนคือผู้ที่โชคดีที่จะได้รับโอกาสที่สำคัญ 3 เรื่องด้วยกัน คือ 1) การที่จะได้มีเพื่อนซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายที่มาจากหลากหลายกรม หลายส่วนราชการ อันเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้พวกเราได้มีโอกาสพึ่งพาอาศัยกันในการทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข รับใช้พี่น้องประชาชน ตลอดจนถึงภาระหน้าที่ที่จะได้อาศัยไหว้วานซึ่งกันและกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสำเร็จได้เราต้องเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี จึงขอให้ทำความรู้จักมักคุ้นซึ่งกันและกัน ทำความรู้จักทั้งเพื่อนในกลุ่มและเพื่อนต่างกลุ่ม รวมทั้งต้องเก็บเกี่ยวองค์ความรู้จากวิทยากรแล้วนำมาพูดคุยประมวลหารือ มีช่องทางติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกัน และนอกเหนือจากการรับฟังบรรยายตามรายวิชาปกติ ก็ควรหาเวลาพูดคุยปรึกษากับพี่ ๆ ข้าราชการผู้ที่ทำงานมาก่อน เพื่อทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "ความไว้วางใจ" 2) ผู้เข้าอบรมต้องมีความริเริ่มที่จะมีแหล่งข้อมูลหรือพื้นที่ในการติดต่อพูดคุย หรือที่รู้จักกันว่า “ทำเนียบรุ่น” ซึ่งจะเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสื่อสารกัน เมื่อทุกคนต่างแยกย้ายกันไปปฏิบัติงานตามภาระหน้าที่ในแต่ละพื้นที่ ก็จะได้มีช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนการปรึกษาหารือกัน และ 3) การทำให้เรามีคุณสมบัติครบและมีความพร้อมกับการเป็น “ข้าราชการใหม่” มีหลักที่ทำให้เรามีความสุขอย่างยั่งยืน การปฏิบัติตามหลักธรรม "อริยสัจ 4"  โดยมีหลักคำสอนที่สำคัญ คือ การให้พวกเรามีความพยายามนำเอาสิ่งที่กระทบต่อการดำเนินชีวิตของเรา มาทบทวนพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่เราชื่นชอบ สิ่งใดเป็นสิ่งที่ทำให้เราขุ่นข้องหมองใจ ด้วยการช่างสังเกต ช่างคิด เป็นคนที่ชอบค้นหาคำตอบ และไม่เชื่อสิ่งใดหากปราศจากหลักฐาน ดังนั้น หลักอริยสัจ 4 จะเป็นหลักในการดำเนินชีวิตที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จ เป็นหลักวิทยาศาสตร์ อันเริ่มต้นที่ทุกข์ และไม่ใช่หลักของศาสนาพุทธเพียงอย่างเดียว เพราะ “ทุกข์” ก็คือเหตุการณ์ที่ทุกศาสนาพบ อาจจะเป็นเรื่องงาน เรื่องชีวิต หรือเรื่องอะไรก็ล้วนแต่มีที่มาและที่ไป เราจึงต้องใคร่ครวญสิ่งที่มากระทบเรานั้นว่ามีทั้งดีและไม่ดี ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ให้คำแนะนำให้หาสาเหตุ เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องรอโชคชะตา เพราะว่าเมื่อเราได้ย้อนมองไปว่าสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้น ถ้าทำแล้วดี ก็ต้องทำซ้ำ ๆ โดยตลอด กลับกันถ้าไม่ดี เราก็ไม่ทำซ้ำ ซึ่งเรียกสิ่งนี้ว่า “สมุทัย” โดยหากเราปรารถนาที่จะมีความสุขในการทำงาน เราก็ต้องหมั่นตั้งใจทำงาน ซึ่งเรียกสิ่งนี้ว่า “นิโรธ” และ “มรรค” คือ ผู้บังคับบัญชาไว้วางใจ และให้คำชื่นชม ให้ความเชื่อมั่น กล่าวโดยสรุป หลักอริยสัจ 4 ก็คือการเฝ้าสังเกต เฝ้าติดตามการทำงาน เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ก่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนผู้ที่มาใช้บริการมากที่สุด

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า หน้าที่ที่สำคัญของข้าราชการใหม่ที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่ง คือ "การเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดี" ด้วยการทำให้ผู้บังคับบัญชาเชื่อถือ ไว้วางใจ ด้วยความคิดริเริ่มที่จะ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีขึ้นให้เกิดขึ้นจงได้ ทำให้ผู้บังคับบัญชาคล้อยตามในสิ่งที่เราเสนอ และนำหลักปฏิบัติที่คนมหาดไทยได้รับการบ่มเพาะถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาโดยตลอดว่า “รอบรู้ รวดเร็ว ริเริ่ม และเร่งรัด” ดังที่ท่านวิญญู อังคณารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เคยกล่าวไว้ ดังนั้น งานในทุกขั้นตอนเราทุกคนต้องมี “การสื่อสาร” โดยต้องสื่อสารต่อผู้บังคับบัญชาอยู่เสมอ ซึ่งสามารถสรุปรวมเรียกได้ว่า RER ได้แก่ Routine Job และ Extra Job โดยเราจะสามารถทำให้งาน Extra Job เป็น Routine Job ก็ได้ เพื่อให้งานเสร็จไวยิ่งขึ้น พร้อมทั้งมีระบบติดตามงาน เช่น ระบบ AI ติดตามระบบงานสารบรรณ และส่วนสุดท้ายที่สำคัญ คือ R ตัวสุดท้าย ที่จะสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มดังนี้  Report กลุ่มที่ 1 คือ รายงานปัญหาต่อผู้บังคับบัญชาทั้งงานที่เสร็จแล้วและยังไม่แล้วเสร็จว่ามีข้อปัญหาอุปสรรคใด ซึ่งอีกทางหนึ่งก็เป็นการปรึกษาหารือกับผู้บังคับบัญชาให้ช่วยเราแก้ปัญหาในสิ่งที่เราประสบพบเจอด้วย Report กลุ่มที่ 2 คือ การรายงานต่อคนในองค์กรภายใน เพื่อให้ทุกคนรับรู้รับทราบเท่ากัน แม้ว่าแต่ละคนอาจอยู่คนละแผนก คนละฝ่าย คนละกลุ่ม แต่ทุกกลุ่มล้วนมีความจำเป็นที่จะต้องมีความรู้กว้างและรู้รอบเรื่องภายในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับข้าราชการใหม่ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ต้องเรียนรู้ภาพรวมของกรม รู้ด้วยว่าแต่ละกรม แต่ละกอง ทำหน้าที่อย่างไร ย่อยลงมาถึงแต่ล่ะกลุ่ม ฝ่าย แผนก ว่ามีการทำงานในสิ่งใดบ้างที่ยังไม่แล้วเสร็จ ที่เราจะสามารถช่วยกันได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากในระบบราชการไทย ที่ข้าราชการต้องมีความมีจิตอาสาในการทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชน แม้จะไม่ใช่งานในหน้าที่ที่เรารับผิดชอบโดยเฉพาะ แต่อย่างน้อยเราก็สามารถติดต่อประสานงานได้ และ R ตัวสุดท้าย คือ การรายงานให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้รับทราบ อันเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดพลังการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน เพื่อมุ่งมั่นทำสิ่งที่ดีให้เกิดประโยชน์กับพื้นที่ และท้ายที่สุดก็จะส่งผลให้เกิดการรับประโยชน์ร่วมกันของทุกภาคส่วน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนา “คน” ซึ่งถือว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด เพราะปัจจุบันนี้ข้าราชการรุ่นใหม่ยังขาดทักษะในเรื่องของการเขียนหนังสือราชการ แม้ในสถานการณ์ปัจจุบันจะมีหนังสือหรือบันทึกในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ก็ต้องถูกร่างโดยคนอยู่ดี ดังนั้น สิ่งที่สำคัญ คือ ข้าราชการใหม่ทุกท่านต้องมีความรู้คู่กับการมี passion มีหัวใจที่รุกรบ เพราะความรู้เราอาจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ แต่ passion หรือหัวใจที่รุกรบต้องเกิดจากหัวใจ และถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญในการเป็นข้าราชการที่ถือเป็นหัวใจของการปฏิบัติหน้าที่ราชการ คือ ต้องมีระเบียบวินัย ไม่ทิ้งงาน เป็นพลเมืองที่ดี ดำรงตนให้เป็นที่นับถือของประชาชน มีความเป็นกลางทางการเมือง มีวินัยต่อผู้บังคับบัญชาและต่อตนเอง รู้จักการยับยั้งชั่งใจ รู้จักการคิด นำเสนอ การแสดงออกที่เหมาะสม 

“ข้าราชการใหม่ทุกท่าน คือ ความหวังของประเทศชาติและของพี่ ๆ ชาวมหาดไทยทุกคน จึงขอให้ได้มุ่งมั่นตั้งใจปฏิบัติราชการ ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มกำลัง สร้างความภาคภูมิใจให้กับครอบครัว แม้บางท่านอาจจะไม่ได้อยู่ในลักษณะงานที่ให้บริการกับพี่น้องประชาชนโดยตรง แต่ก็เป็นส่วนสำคัญที่เกื้อหนุนให้ผู้ที่ทำงานบริการพี่น้องประชาชนสามารถทำหน้าที่ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และขอให้ข้าราชการใหม่ทุกท่าน ยึดมั่นตั้งมั่นในการที่จะเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นผู้มีคุณธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต มีความอดทนในการที่จะทำหน้าที่ของข้าราชการที่ดี “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน“ นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ในช่วงการบรรยายพิเศษ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ให้โจทย์จำลองสถานการณ์ โดยให้หาวิธีการแก้ไขปัญหาจากการให้บริการประชาชนที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนกระทบต่อชื่อเสียงองค์กร โดยมีผู้เข้ารับการศึกษาอบรมได้นำเสนอแนวทางที่น่าสนใจ คือ ต้องนำปัญหาที่เกิดขึ้นไปศึกษาหาแนวทางเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีก และนายสุทธิพงษ์ฯ ได้ coaching เสริมเติมเต็มแนวทางว่า ผู้บังคับบัญชาในองค์กรควรรีบแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อให้เรามีข้อมูลที่จะชี้แจงต่อประชาชน เพราะปัญหาในลักษณะนี้เราจะพบว่าจุดอ่อนคือ "การสื่อสารของผู้มาติดต่อกับผู้ที่รับเรื่อง" บางครั้งอาจจะมีสื่อสารกันคลาดเคลื่อน หรือไม่มีการชี้ชัดลงไปว่าสิ่งใดทำได้  สิ่งใดทำไม่ได้ ปล่อยให้เรื่องค้างคาจนเป็นที่มาของความล่าช้า พร้อมเน้นย้ำว่า "ทุกขั้นตอนของการทำงาน "การสื่อสาร" เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง


มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จัดพิธีบวงสรวงใหญ่ การแสดงโขนมูลนิธิศิลปาชีพฯ เรื่องรามเกียรติ์ ตอน “กุมภกรรณทดน้ำ”



มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จัดพิธีบวงสรวงการแสดงโขนมูลนิธิศิลปาชีพฯ ตอน "กุมภกรรณทดน้ำ" โดยมี พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล รองประธานกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เป็นประธานในพิธีบวงสรวง โดยมี พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ เป็นผู้ประกอบพิธี

โอกาสนี้ ในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นางนิภา โสภาสัมฤทธิ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ผู้บริหารและข้าราชการ พร้อมด้วยศิลปินแห่งชาติ ครูผู้เชี่ยวชาญ ศิลปิน นักแสดง และผู้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการแสดงโขนทุกฝ่ายร่วมพิธีบวงสรวง ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย



ทั้งนี้ การแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ ตอน กุมภกรรณทดน้ำ ยึดตามแนวบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ซึ่งมีความเข้มข้นและให้แง่คิดสอนใจจากยักษ์กุมภกรรณ ตัวละครเอกที่เป็นผู้มีคุณธรรมสูงส่ง แต่กลับหลงผิดเชื่อคำยุยงของทศกัณฐ์จนทำให้ต้องทำศึกกับพระราม 

สำหรับการแสดงในครั้งนี้ โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้ใช้องค์ความรู้จากครูผู้เชี่ยวชาญจากทุกสาขาเพื่อสร้างสรรค์การแสดงสุดยิ่งใหญ่ นอกจากเป็นการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ยังแสดงถึงสายพระเนตรแห่งพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เข้าถึงการแสดงโขนอย่างกว้างขวาง



ขอเชิญชวนทุกท่าน ร่วมบันทึกความทรงจำในการแสดงโขนครั้งประวัติศาสตร์ ระหว่างวันที่ 5 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2566 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย



จำหน่ายบัตรแล้ววันนี้ที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ทุกสาขา https://thaiticketmajor.com/performance/gaan-sa-daeng-kohn-dton-gum-pa-gan-tot-naam.html


ข่าวดี! คนไทยจากอิสราเอล ยื่นเอกสารขอรับเงินค่าตั๋วกลับไทยได้แล้วตั้งแต่บัดนี้



เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 นายไพโรจน์  โชติกเสถียร  ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า  จากเหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลที่เกิดขึ้น ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อพี่น้องแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในอิสราเอล และมีแรงงานไทยบางส่วนได้ซื้อตั๋วโดยสารกลับประเทศไทยด้วยตนเอง นั้น  

ขณะนี้ กระทรวงแรงงานได้เปิดให้แรงงานไทยที่เดินทางกลับจากอิสราเอล ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2566 สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศไทยจากเหตุการณ์ไม่สงบในประเทศอิสราเอลแล้ว ตั้งแต่บัดนี้ โดยส่วนกลางสามารถยื่นได้ที่ ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานและติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล  บริเวณชั้น1 อาคารกระทรวงแรงงาน  ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพ และส่วนภูมิภาค สามารถยื่นได้ที่ สำนักงานแรงงานจังหวัด ทุกจังหวัดทั่วประเทศ  โดยเอกสารและหลักฐานการยื่นขอรับค่าใช้จ่าย ต้องเป็นเอกสารค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป ซึ่งประกอบด้วย 1. บอร์ดดิ้งพาส หรือ ตั๋วเครื่องบิน/ใบเสร็จรับเงิน หรือ เอกสารการจ่ายเงิน 2.สำเนาบัตรประชาชน 3. สำเนาหนังสือเดินทาง/เอกสารเดินทาง 4. สำเนาสมุดบัญชีธนาคารผู้รับบริการ 

นายไพโรจน์  กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงแรงงาน จะทำหน้าที่รับเรื่องของคนไทยทุกคนที่เดินทางกลับประเทศไทยเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ทั้งกลุ่มนักเรียนนักศึกษา และแรงงานไทย และจัดส่งเอกสารให้กับกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้พิจารณาค่าชดเชย/ค่าใช้จ่าย โดยค่าใช้จ่ายที่สามารถเบิกกับทางรัฐบาลได้จะเป็นเฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในต่างประเทศเท่านั้น  และหลังจากยื่นเอกสารกับกระทรวงแรงงานแล้ว สามารถติดตามการยื่นคำขอได้ที่ Hotline call center กรมการกงสุล โทร. 02 572 8442

“ ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยถึงความปลอดภัยของพี่น้องแรงงานไทยในอิสราเอลเป็นอย่างมาก โดยสั่งการให้เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานดูแลแรงงานไทยในอิสราเอลให้ดีที่สุด และให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ทั้งกลุ่มที่ยังอยู่อิสราเอล และกลุ่มที่กลับมาถึงไทยแล้ว  อย่างไรก็ตามรัฐบาลมีนโยบายให้คนไทยทุกคนในอิสราเอลเดินทางกลับประเทศก่อนเพื่อความปลอดภัยเป็นลำดับแรก และขอให้ญาติพี่น้องที่อยู่ในประเทศไทย ช่วยแจ้งให้พี่น้องแรงงานที่ยังตัดสินใจอยู่ในอิสราเอล พิจารณาเปลี่ยนใจกลับประเทศโดยเร็วที่สุด  ซึ่งทุกคนที่ประสงค์เดินทางกลับสามารถแจ้งสถานทูตฯ หรือเดินทางมายังศูนย์พักพิงได้ทันที ที่ โรงแรม David InterContinental, Kaufmann Street 12,  Tel Aviv- Yafo, 61501 ”  นายไพโรจน์ ฯ กล่าวท้ายที่สุด


“ โรงเรียนแก้จนกับนวัตกรรมการศึกษา ที่ศรีสะเกษ ”


 

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566   นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สว.ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวความว่า “ โรงเรียนแก้จนกับนวัตกรรมการศึกษา ที่ศรีสะเกษ ”  

 รายงานประชาชน ฉบับที่ 40/2566

ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป / 30 ตุลาคม 2566 

ในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีงานทดลอง-พัฒนารูปแบบปฏิรูปโรงเรียน (sand box) อย่างน้อย 2 โครงการ คือ  

โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาที่นายมีชัย วีระไวทยะ เป็นผู้รับผิดชอบ โดยมีภาคเอกชนและประชาสังคมสนับสนุน ดำเนินการกันขึ้นมาจากฐานล่าง ปัจจุบันมีโรงเรียนเข้าร่วมประมาณ 300 แห่ง ส่วนอีกโครงการหนึ่งเป็นการขับเคลื่อนตาม พรบ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ดำเนินการจากบนลงล่าง ปัจจุบันมีพื้นที่นำร่อง 19 จังหวัด รวม 1,409 แห่ง

เมื่อทราบว่า ที่จังหวัดศรีสะเกษมีการดำเนินงานครบทั้ง 2 รูปแบบ กรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนฯ วุฒิสภา จึงได้เดินทางลงไปดูงานและจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลละทาย อำเภอกันทรารมย์ โดยเชิญทีมผู้บริหาร-ครูผู้สอน 8 โรงเรียน และหัวหน้าส่วนราชการศึกษาธิการจังหวัดเข้าร่วมกิจกรรม ทำให้มองเห็นแนวทางในการทำงานปฏิรูปการศึกษาแบบสานพลังในระดับโรงเรียนและพื้นที่

 กลุ่มโรงเรียนร่วมพัฒนา

กิจกรรมหลักที่ดำเนินการร่วมกัน ได้แก่ การปรับจูนวิธีคิดของครูและผู้นำชุมชน ปรับกระบวนการเรียนการสอน จัดทำแปลงเกษตรของโรงเรียน เป็นฐานเรียนรู้ สนับสนุนกิจกรรมธุรกิจนักเรียน และกิจกรรมสร้างความมั่นคงทางอาหารและรายได้สำหรับผู้สูงอายุในชุมชน อาทิ

โรงเรียนบ้านสร้างมิ่งมิตรภาพที่ 191 จังหวัดยโสธร มุ่งจัดการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐาน บริหารด้วยธรรมาภิบาล มีความเป็นเลิศด้านวิชาการและกีฬา มีนักเรียน 94 คน 11 ห้องเรียน

โรงเรียนบ้านเสียว จังหวัดศรีสะเกษ มีวิสัยทัศน์ “วิชาการเลิศ เชิดชูสถาบัน สัมพันธ์ชุมชน”,  ปรัชญา “ขุมภูมิปัญญาท้องถิ่น มุ่งสู่สากล” มีนักเรียน128 คน 10 ห้องเรียน

โรงเรียนบ้านละทาย จังหวัดศรีสะเกษ มีนักเรียน 138 คน 8 ห้องเรียน พัฒนาฐานเรียนรู้แปลงเกษตรกรรม และยังเป็นศูนย์ผู้สูงอายุของชุมชนด้วย

นอกจากนั้น ยังมีโรงเรียนบ้านโนนแสงคำ โรงเรียนค้อเมืองแสน และโรงเรียนบ้านโนนคูน ที่ร่วมดำเนินการทั้งสองรูปแบบในเวลาเดียวกัน 

โรงเรียนในโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 

จังหวัดศรีสะเกษ เป็นจังหวัดนำร่องทำทดลอง-พัฒนาเป็นรุ่นแรก ปัจจุบันมีโรงเรียนเข้าร่วมจำนวน 163 แห่ง(จากทั้งหมด 1,060 แห่ง) แบ่งเป็นโรงเรียนสังกัด สพป. (ประถมศึกษา) 4 เขต 118 แห่ง, สพม. (มัธยมศึกษา) 16 แห่ง, ศธจ. (เอกชน) 4 แห่ง และอปท. (ท้องถิ่น) 25 แห่ง

จากการดำเนินการในปีที่ 1 จำนวน 50 โรงเรียน ได้มีการนำนวัตกรรมการเรียนรู้ต่างๆมาใช้ รวม 7 รูปแบบ ได้แก่

 1) นวัตกรรมจิตศึกษา จัดการศึกษาเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL/PLC) ใน 24 โรงเรียน

2) จัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (BBL) มี 8 โรงเรียน 

 3) มอนเตสซอรี  (Montessori) มี 8 โรงเรียน

4) การเรียนการสอนแบบองค์รวม มี 5 โรงเรียน 

5) การศึกษาชั้นเรียนและการศึกษาแบบเปิด มี 4 โรงเรียน 

 6) เพาะพันธุ์ปัญญา  มี 3 โรงเรียน

 7) โครงงาน/โครงการ (Project Approach) มี 1 โรงเรียน 

ในเรื่องนี้ มีความเห็นเพิ่มเติมบางประการจากฝ่ายบริหารของกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่ว่า ศรีสะเกษมีโครงการเชิงนวัตกรรมมากมาย หลายโครงการได้รับรางวัลในระดับชาติ เช่น การแข่งขันสารานุกรมระดับชาติ, โครงการพาน้องกลับมาเรียน ช่วยเด็ก 1,324 คนกลับมาได้ทั้งหมด, โครงการพูด-อ่าน-เขียนสำหรับเด็กเรียนรู้ช้า 2,700 คน, โครงการพัฒนาพฤติกรรมนักเรียน ทำให้เรื่องยาเสพติดและการบูลลี่ลดลง, ในขณะเดียวกันยังมีปัญหาสำคัญอยู่ที่บุคลากร อีกทั้งระบบงบประมาณแบบ Block Grant ยังไม่เป็นจริง จึงมีแผนงานที่จะจัดให้มีสมัชชาการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสานพลัง 

ส่วนเสียงสะท้อนจากครูปฏิบัติการ จากโรงเรียนบ้านโนนคูน ซึ่งลุกขึ้นมายืนยันค่อนข้างหนักแน่นว่า 

“เห็นการเปลี่ยนแปลงจากการร่วมโครงการอย่างชัดเจน เด็กเปลี่ยน ครูเปลี่ยน แก้ความยากจนได้จริง เด็กมีรายได้แบบรายวัน-รายเดือน เป็นการแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง เด็กมีปัญญาติดตัว สามารถเป็นเกษตรกรแบบสมาร์ทฟาร์มเมอร์  ในอดีตครูจะทำกิจกรรมเสริมอะไรให้กับเด็กก็จะต้องควักกระเป๋าตัวเอง ปัจจุบันโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาได้ให้โอกาส แต่ก่อนผู้ปกครองไม่เคยเข้าโรงเรียน ปัจจุบันขยันเข้ามาสอนเด็กทำการเกษตร”

สำหรับผู้แทนจากภาคประชาสังคม มีข้อเสนอแนะให้โรงเรียนทั้ง 5 แห่งในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา เกาะกลุ่มทำงานร่วมกันให้เหนียวแน่น ในลักษณะเป็นเครือข่าย จัดทำองค์ความรู้จากการปฏิบัติให้เป็นหลักสูตรชุมชน และอยากให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจัดให้มีผู้รับผิดชอบมาร่วมทำงานกับโครงการด้วย.


"ทวี สอดส่อง" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดงานชักพระที่จังหวัดยะลา



เมื่อวันที่  30 ตุลาคม 2566 พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานประเพณีชักพระประจำปี 2566 ซึ่งเทศบาลนครยะลาจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 30 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา โดยมีนายอำพล พงศ์สุวรรณ ผวจ.ยะลา รอง ผวจ.ยะลา ผู้บริหารเทศบาลนครยะลา ตลอดจนพี่น้องประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ประเพณีชักพระเป็นประเพณีที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น ได้รับการสืบทอดมาแต่บรรพบุรุษและสืบสานมาจนถึงปัจจุบัน ทราบว่าจังหวัดยะลาได้จัดกิจกรรมประเพณีชักพระมาอย่างต่อเนื่องโดยเทศบาลนครยะลาเป็นหน่วยงานหลัก มีหน่วยงานภารรัฐและเอกชนสนับสนุนการจัดกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ทำให้พี่น้องชาวจังหวัดยะลาและจังหวัดใกล้เคียงได้ร่วมกันสืบสานประเพณีอันดีงาม ก่อให้เกิดความรักความสามัคคีของผู้คนในชุมชน ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ เป็นการสร้างความเชื่อมั่น เสริมความมั่นใจ และเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชน ไม่ว่าไทยพุทธหรือมุสลิม ให้สามารถดำรงชีวิตภายใต้สังคมพวัฒนธรรมตามอัตลักษณ์ของตนในทุกศาสนา

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า มีความยินดีอย่างยิ่งในการให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมประเพณีชักพระในครั้งนี้ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับพี่น้องประชาชนในการสืบสานประเพณีอันดีงามให้อยู่คู่กับท้องถิ่นของเรา ทำให้พี่น้องประชาชนชาวยะลาและจังหวัดใกล้เคียงร่วมกันสร้างบุญกุศลแสดงออกถึงความรักความสามัคคีในการร่วมมือมือใจการประดิษฐ์เรือพระและการชักพระหรือลากพระเพื่อมาร่วมงานครั้งนี้ ในครั้งนี้จึงได้ร่วมสนับสนุนการแสดงคอนเสิร์ต "บิว กัลยาณี" ศิลปินคนใต้ เพื่อสร้างความสุขให้กับประชาชน


"อนุชา" รมช.เกษตรฯขับเคลื่อนธนาคารน้ำใต้ดิน นำร่อง"ชัยนาทโมเดล"ช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้อย่างยั่งยืน



เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566   ที่อาคารศูนย์เรียนรู้และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว สำนักงานชลประทานที่ 12 เขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางมาติดตามและมอบแนวทางการขับเคลื่อนโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ในพื้นที่จังหวัดชัยนาท พร้อมด้วย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี, ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, รองอธิบดีกรมการข้าว, รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน, รองอธิบดีกรมปศุสัตว์, หัวหน้าผู้ตรวจราชการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม โดยมี นายนที มนตริวัต ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท และส่วนราชการ ให้การต้อนรับ

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาล “ไม่ท่วมไม่แล้ง” ที่ได้กล่าวถึงการทำธนาคารน้ำใต้ดินในการที่จะนำน้ำใต้ดินมาใช้ในฤดูแล้ง ให้มีการกักเก็บน้ำใต้ดินให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน การทำธนาคารน้ำใต้ดินมีข้อดี คือ แก้ปัญหาน้ำท่วมขัง แก้ปัญหาพื้นที่ประสบภัยแล้ง การเพิ่มระดับน้ำใต้ดิน การเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวดิน ทำให้ต้นไม้โดยรอบเติบโตงอกงาม ลดปริมาณน้ำเสีย ทั้งระดับครัวเรือนและชุมชน ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ธนาคารน้ำใต้ดิน จะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสำคัญ สำหรับการจัดการทรัพยากรน้ำ เพราะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่ช่วยให้ประชากรในสังคมปรับตัวให้อยู่รอดจากภัยแล้งได้ และยังช่วยลดการพึ่งพาการสูบน้ำบาดาลที่ไม่ยั่งยืน จังหวัดชัยนาท เป็นจังหวัดนำร่องที่ดำเนินการโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นโมเดลนำร่องให้กับจังหวัดอื่นๆ ช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล “ไม่ท่วมไม่แล้ง” ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลแท้จริง ขอให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาลที่ 2 สุพรรณบุรี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชนจิตอาสาในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันขับเคลื่อนโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อให้เกิดการจัดเก็บน้ำได้อย่างยั่งยืน และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่

เวลาต่อมา นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ดูการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีการผลิตพืชอาหารสัตว์หมักด้วยเครื่องห่อก้อนพลาสติก และลงพื้นที่ หมู่ที่ 2 ตำบลเขาแก้ว อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ในการสำรวจพื้นที่การจัดทำโครงการธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่ ในการจัดเก็บน้ำ และการบริหารจัดการในช่วงฤดูแล้ง ในพื้นที่


ข้อมูลข่าวและที่มาhttps://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG231030163306333


ปลัดมหาดไทยนำพลัง "บวร" นนทบุรี นำ"เททองหล่อพระนาคปรก" เป็นพุทธสถานยึดเหนี่ยวจิตใจ



วันที่ (29 ต.ค. 66) เวลา 15.00 น. ที่วัดพิกุลเงิน ตำบลบางม่วง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีพุทธาภิเษกจุดเทียนชัย "เททองหล่อพระนาคปรก หน้าตัก 49 นิ้ว" โดยได้รับเมตตาจากพระสุธรรมภาณี เจ้าอาวาสวัดโคนอน เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ โดยพระอุดมสิทธินายก รองเจ้าคณะจังหวัดนนทบุรี เจ้าอาวาสวัดบางอ้อยช้าง พระโสภิตกิตติธาดา เจ้าคณะอำเภอเมืองนนทบุรี เจ้าอาวาสวัดแจ้งศิริสัมพันธ์ พระสุนทรกิจจาภิวัฒน์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอมรินทราราม วรวิหาร พระมหาทองพูล ธมฺมเมธี เจ้าอาวาสวัดพิกุลเงิน และพระเกจิอาจารย์ทั่วประเทศ ร่วมอธิษฐานจิตเจริญพระพุทธมนต์ โดยมี นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี นางสาวญาณิพัชญ์ ศรีโคตร นายอำเภอบางใหญ่ นายณัฐพงศ์ ศีตวรรัตน์ นายสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์ ร.อ.สมเจตน์ กำจัดภัย นางสาวจรี จันทรโอทสน เจ้าภาพร่วมในพิธี พร้อมด้วย ประชาชนผู้มีจิตศรัทธา และภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ร่วมพิธี 

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วย นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี และผู้ร่วมพิธี ร่วมประกอบพิธีบวงสรวง โปรยข้าวตอกดอกไม้ เสร็จแล้ว จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ถวายสักการะพระสุธรรมภาณี เจ้าอาวาสวัดโคนอน ประธานฝ่ายสงฆ์ จากนั้นพระสงฆ์ 16 รูป ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร พระเถราจารย์นั่งปรกอธิษฐาน เสร็จแล้ว นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นำผู้ร่วมพิธี ถวายเครื่องไทยธรรม กรวดน้ำรับพร ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ กราบลาพระรัตนตรัย จากนั้น พระมหาทองพูล ธัมมเมธี เจ้าอาวาสวัดพิกุลเงิน พระอุดมสิทธินายก รองเจ้าคณะจังหวัดนนทบุรี เจ้าอาวาสวัดบางอ้อยช้าง พร้อมด้วยประธานฝ่ายฆราวาสและผู้ร่วมพิธีร่วมเททองหล่อพระ เจริญชัยมงคลคาถา รับน้ำพระพุทธมนต์ และรับของที่ระลึกจากทางวัด เป็นอันเสร็จพิธี

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วัดพิกุลเงินนับเป็นวัดอันเก่าแก่ของจังหวัดนนทบุรี คาดว่าถูกสร้างขึ้นสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ราว พ.ศ. 2374 วัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพุทธโสธรจำลององค์แรกของประเทศไทย เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิหรือปางที่มีพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิเพชร พระชงฆ์ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้ายวางซ้อนกันอยู่บนพระเพลา มีส่วนสูง 6 ฟุต 7 นิ้ว พระเพลากว้าง 5 ฟุต 6 นิ้ว ซึ่งองค์จริงประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ วัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา ถึงแม้ว่าหลวงพ่อพุทธโสธรที่วัดพิกุลเงินจะเป็นองค์จำลองแต่ก็เป็นที่เคารพบูชาและมีประชาชนมากราบสักการะอย่างมากเช่นกัน และในครั้งนี้จะมีพระพุทธรูปเพิ่มขึ้นอีก 1 องค์ นั่นคือพระนาคปรก ที่จะประดิษฐาน ณ พระวิหารสร้างใหม่ ชั้นบนของวัดพิกุลเงิน 

"พิธีพุทธาภิเษกจุดเทียนชัย" เททองหล่อพระนาคปรก หน้าตัก 49 นิ้ว" ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ เป็นความเมตตายิ่งจากพระคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี เจ้าคณะใหญ่หนกลาง กรรมการมหาเถรสมาคม วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ที่ร่วมกับสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาดำเนินการจัดสร้างพระนาคปรก เพื่อให้เป็นพุทธสถานที่ยึดเหนี่ยวของชาวพุทธในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน ระหว่างฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม กระทรวงมหาดไทย และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ของฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม กระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่าย อันเป็นการส่งเสริมทำให้วัดซึ่งเป็นศาสนสถาน ได้เป็นสถานที่ศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนและประชาชน เป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้ เป็นสัปปายะสถานสำหรับประชาชน รวมทั้งเป็นสถานที่ในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยการส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ตลอดจนการนำศิลปวัฒนธรรม อัตลักษณ์ของท้องถิ่นของชุมชนมาดึงดูดนักท่องเที่ยว กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย การสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน เป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการบูรณาการความร่วมมือ ในรูปแบบของพลัง "บวร" คือ บ้าน วัด ราชการ อันจะทำให้พุทธศาสนิกชนและประชาชนทั่วไปได้มีความสุขกาย สุขใจ มีความสุขในการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้าย


วันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2566

วธ. และกระทรวงวัฒนธรรมสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน หารือความร่วมมือด้านวัฒนธรรม ไทย - อิหร่าน



วธ. และกระทรวงวัฒนธรรมสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน หารือความร่วมมือด้านวัฒนธรรม ไทย - อิหร่าน ชูวัฒนธรรมเป็นกลไกเชื่อมความสัมพันธ์ทางการทูต ส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีโลก พร้อมนำพลังสร้างสรรค์ สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566  เมื่อเร็วๆ นี้ นาย Mohammad Mehdi Imanipour หัวหน้าองค์กรวัฒนธรรมและความสัมพันธ์อิสลาม (Head of the Islamic Culture and Relations Organization) กระทรวงวัฒนธรรมสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน และนายซัยยิด เรซา โนบัคตี เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย (H.E. Mr. Seyed Reza Nobakhti) เข้าเยี่ยมคารวะ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อหารือความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมระหว่างไทยและอิหร่าน โดยมี นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา และนางสาวดารุณี ธรรมโพธิ์ดล ที่ปรึกษากระทรวงวัฒนธรรมด้านต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องรับรอง ชั้น 7 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม

นายเสริมศักดิ์  กล่าวว่า การหารือทั้งสองฝ่ายถือว่าประสบความสำเร็จ โดยทางองค์กรวัฒนธรรมและความสัมพันธ์อิสลาม กระทรวงวัฒนธรรมสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ได้ร่วมแสดงความยินดีในโอกาสที่ตนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งทั้งสองประเทศได้เห็นตรงกันว่าจะมุ่งผลักดันการจัดทำแผนปฏิบัติการโครงการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงวัฒนธรรมและแนวปฏิบัติอิสลามแห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านให้สำเร็จ เน้นย้ำความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม มีความทันสมัยและครอบคลุมการดำเนินงานใหม่ ๆ ทางด้านวัฒนธรรม โดยฝ่ายอิหร่านได้เสนอให้มีความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ อาทิ ดนตรี ศิลปะ การแสดง ภาพยนตร์และการแลกเปลี่ยนด้านภาษา ทั้งนี้ฝ่ายไทยได้เสนอสาขาความร่วมมือเกี่ยวกับแหล่งมรดกโลก การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการบริหารจัดการแหล่งมรดกโลก

นายเสริมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นหนึ่งในหน่วยงานภาครัฐที่เป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลสู่การปฏิบัติอย่างมีผลสัมฤทธ์เชิงประจักษ์ โดยให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ตอบสนองความต้องการของประชาชนและทุกภาคส่วน รวมถึงมีเจตจำนงที่ชัดเจนในการนำพลังสร้างสรรค์มาสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ เน้นการสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งคาดว่าจากการหารือความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมระหว่างไทยและอิหร่านในครั้งนี้ จะเป็นการนำวัฒนธรรมมาเป็นกลไกหนึ่งในการเชื่อมและสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในระดับสากล


“สมศักดิ์” ร่วมทำบุญตักบาตรเทโวหนองคาย “ดร.อนงค์วรรณ” แนะดันทอผ้าชุดไทยศรีเชียงใหม่เป็นซอฟต์พาวเวอร์



“รองนายกฯสมศักดิ์” ร่วมทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ จังหวัดหนองคาย พร้อมตั้งวงเสวนารับฟังปัญหา ยืนยันรัฐบาลช่วยสนับสนุนเต็มที่ หลัง ประชาชน ชงเป็นเมืองท่องเที่ยว ชี้เป็นเมืองน่าเที่ยว ติดริมโขง ตรงข้ามเวียงจันทน์ เชื่อ ถ้าผลักดันได้จะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ชม สส.หนองคาย เก่ง ไม่ทิ้งประชาชน ขณะที่ “ดร.อนงค์วรรณ”ปลื้ม ชาวบ้านจำโครงการในพื้นที่ สมัยเป็น รมว.ทรัพยากรธรรมชาติ ได้แนะดันทอผ้าชุดไทยของอำเภอศรีเชียงใหม่ เป็นซอฟต์พาวเวอร์

วันที่ 30 ตุลาคม 2566 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยภริยา ดร.อนงค์วรรณ เทพสุทิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี และนายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ อดีต สส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการและปฏิบัติภารกิจตรวจเยี่ยมประชาชน ในพื้นที่อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย รวมถึงรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน  โดยมี น.ส.ชนก จันทาทอง สส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย นายเอกธนัช อินทร์รอด สส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย นายธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย และอดีต รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชาญชัย คงทัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย และ นายภุชงค์ ชานันโท นายกเทศมนตรีตำบลศรีเชียงใหม่ ให้การต้อนรับ

โดยบรรยากาศในช่วงเช้า นายสมศักดิ์ และดร.อนงค์วรรณ ได้ร่วมงานประเพณีงานออกพรรษาประจำปี 2566 ในกิจกรรมทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ ที่เทศบาลตำบล ศรีเชียงใหม่ โดยได้สวมชุดผ้าไทยที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวศรีเชียงใหม่ ร่วมกับประชาชน และสส.ในพื้นที่ 

จากนั้น นายสมศักดิ์ พร้อมคณะ ได้ร่วมเสวนาในแนวทางการพัฒนา อำเภอศรีเชียงใหม่ โดยมีภาคประชาชน ส่วนราชการเข้าร่วม โดยในวงเสวนา ได้สะท้อนแนวทางปัญหาและอยากให้มีการแก้ไขพัฒนาคือ อยากได้งบจากรัฐบาล เพื่อบูรณะสิ่งปลูกสร้างของรัฐที่มีสภาพชำรุด เช่น ด่านศุลกากร หรือ ด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ใช้มาแล้วหลายสิบปี ขณะเดียวกัน ยังเรียกร้องให้รัฐนั้น สนับสนุนอำเภอศรีเชียงใหม่ ในเรื่องของการท่องเที่ยว เพราะในพื้นที่ มีความพร้อมที่จะรับนักท่องเที่ยวและมีความสวยงาม เนื่องจากเป็นอำเภอที่ติดริมฝั่งโขง จึงอยากให้สนับสนุนในเรื่องการปรับภูมิทัศน์ริมแม่น้ำโขงด้วย ขณะเดียวกัน ก็อยากให้ทางการของไทย คุยกับลาว เพื่อเปิดด่านให้มีการค้า รวมถึงให้คนไทยและลาว สามารถข้ามไปเที่ยวได้ทั้งสองประเทศ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่

โดยนายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า ขอขอบคุณ สส.เอกธนัช ที่ได้ชักชวนตนมา ซึ่งด้วยความรักใคร่ จึงต้องรีบเดินทางมาในวันนี้ โดย สส.ของทุกท่าน ได้เล่าให้ตนฟังว่า อำเภอศรีเชียงใหม่ ในช่วงกลางคืน จะมีความสวยงามมาก เนื่องจากฝั่งตรงข้ามคือ นครเวียงจันทน์ ซึ่งมีไฟที่สว่างไสวสวยงาม จึงเป็นเมืองที่น่ามาท่องเที่ยว รวมถึงน่าลงทุน เพราะคนอยากเดินทางมาพักผ่อน ซึ่งเมื่อตนเดินทางมาถึง ก็ยอมรับว่า สวยงามอย่างที่ว่าไว้ และสวยงามกว่าที่จินตนาการ โดยชื่อนครศรีเชียงใหม่นั้นยิ่งใหญ่ เป็นเมืองที่มีความเป็นศักดิ์ศรี ซึ่งหากวันนี้ เราสามารถผลักดัน ด่านข้ามแดนตรงจุดนี้ได้ ตนเชื่อมั่นว่า จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในเรื่องของการส่งออก รวมถึงการท่องเที่ยว แต่เรื่องนี้เราต้องให้รัฐบาลช่วยเจรจาระหว่างประเทศกับ สปป.ลาว โดยเชื่อว่า รัฐบาลจะช่วยผลักดันอย่างเต็มที่ 

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากนี้ทางเทศบาลตำบลศรีเชียงใหม่ รวมถึงจังหวัด ก็จะต้องช่วยกันทำแผนโครงการให้ชัดว่า การสร้างแลนด์มาร์ค ต้องใช้งบประมาณเท่าไร รวมถึงหากมีแลนด์มาร์คแล้ว จะมีมูลค่าการส่งออกเท่าไหร่ ซึ่งต้องมีการทำเป็นรูปแบบ และแบบแผนที่ชัดเจน ถึงจะสามารถนำไปพัฒนากันต่อได้อย่างสมบูรณ์ เพราะต้องยอมรับว่า การมีแลนด์มาร์คนั้น จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ อีกส่วนสำคัญ ในฐานะหน่วยงานท้องถิ่น ก็ต้องรู้ระบบในการขอถนน และขอน้ำด้วยว่า มีวิธีการอย่างไร เพื่อที่จะได้รองรับการพัฒนาให้สอดรับกัน 

"อะไรที่ผมผลักดันในคณะรัฐมนตรีได้ ก็จะทำให้เต็มที่ เราเป็นผู้เสนอเรื่อง ก็ต้องทำเร็วเช่นกัน เราจะไม่ทำงานกันแบบโบราณสมัยก่อน เพราะเราจะเอาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก โดยเวลานี้รัฐบาล อยากผลักดันให้ทุกอย่าง มีรายได้สูงขึ้น ดังนั้น การที่ผมมานอนที่อำเภอศรีเชียงใหม่ ก็ไม่ได้มานอนเล่น แต่ตั้งใจที่จะมาเพื่อรับฟังปัญหา และอยากเห็นด้วยตัวเอง แม้วันนี้ยังคิดไม่ได้ แต่วันข้างหน้าต้องคิดได้ เพราะ สส.ทั้ง 2 ท่านในจังหวัดหนองคาย เป็นคนดีมาก ไม่ว่าจะเจอกันตอนไหน เขาจะขอความช่วยเหลือในเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องชาวหนองคายตลอด นั่นหมายความว่า สส.ทั้ง 2 ท่าน ไม่เคยคิดทอดทิ้ง พี่น้องประชาชน" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว 

ขณะที่ ดร.อนงค์วรรณ เปิดเผยว่า ขอขอบคุณสำหรับที่เชิญและได้เล่าว่า สมัยตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ได้มีการผ่านงบประมาณในการสร้างบ่อกำจัดขยะมูลฝอย มูลค่ากว่า 162 ล้านบาท ซึ่งในเวลานั้น เราไม่ได้ช่วยเพียงแค่อำเภอศรีเชียงใหม่ แต่เราทำไปยังหลายจังหวัด โดยตนต้องบอกตรงๆว่าลืมไปแล้ว แต่ก็รู้สึกชื่นใจ ที่ทุกคนไม่ได้ลืมในสิ่งที่ได้ทำให้กับประชาชน ซึ่งจังหวัดหนองคาย ถือเป็นจังหวัดที่อากาศดีมาก เป็นเมืองที่น่าอยู่ เนื่องจากติดริมแม่น้ำโขง ดังนั้น เวลานี้อย่าเพิ่งไปน้อยใจว่า บางสิ่งบางอย่างเราอาจจะไม่ได้ ซึ่งเราต้องเดินหน้าและสู้ต่อเพื่อสังคมและพี่น้องประชาชน แต่ต้องยอมรับว่า การทอผ้าชุดไทยของอำเภอศรีเชียงใหม่นั้น มีคุณภาพดี และถ้าเดินในทางที่ถูกจุดเชื่อว่า นี่แหละคือ Soft Power ที่โดดเด่นของอำเภอศรีเชียงใหม่


 


มูลนิธิสืบนาคะเสถียรโดดป้องป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ค้านสร้างเขื่อนแนวลำธารนครนายก-ปราจีนบุรี

   


มูลนิธิสืบนาคะเสถียรโดดป้องป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ค้านสร้างเขื่อนแนวลำธารนครนายก-ปราจีนบุรี ชี้เป็นเป็นการสูญเสียนิเวศลำธารที่เป็นลมหายใจของผืนป่า 

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566   เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมพลเมืองนครนายก เครือข่ายรักษ์เขาใหญ่ ผู้นำชุมชนบ้านคลองมะเดื่อ ร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดเวทีเสวนา “นิเวศลำธารกับหมอหม่อง” โดยเชิญ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือหมอหม่อง รองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งเป็นนักสื่อสารเรื่องราวธรรมชาติ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับระบบนิเวศของลำธารให้กับประชาชนใน จ.นครนายก และปราจีนบุรี ซึ่งจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบหากมีการอนุมัติโครงการก่อสร้างเขื่อนของภาครัฐ 

หมอหม่อง กล่าวว่า  ลำธาร เปรียบเสมือนร่างกายของมนุษย์เรา มีอวัยวะส่วนต่าง ๆ ส่วนที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ลำธารน้ำไหลแตกต่างจากน้ำในเขื่อน หรือน้ำในโอ่ง ในบึง ในหนอง คือมันเป็นน้ำที่กำลังหายใจอยู่ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้  ถึงแม้กรมชลประทานจะอ้างว่าเป็นพื้นที่ป่าจำนวนน้อยแต่นี่คือเป็นรอยต่อที่มีความสำคัญมากระหว่างโลกใต้น้ำกับโลกบนบก พืชชายน้ำมีความสำคัญตั้งแต่การรักษาไม่ให้ตลิ่งมีการทรุดตัว พังทลาย ป้องกันสารพิษที่ถูกชะล้างมาจากบนบก เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ คือเริ่มต้นจากมีออกซิเจนเยอะ มีสารอินทรีย์เพียงพอ มีแพลงตอนตัวเล็ก ๆ สาหร่ายต่าง ๆ ในปริมาณที่เหมาะสม และมีแมลงเหล่านี้อาศัยอยู่ แล้วก็มีสัตว์อื่น ๆ มีปลาตัวเล็ก ปลาตัวใหญ่ มีสัตว์ใหญ่อย่างนาก มีตะกอง กิ้งก่าน้ำ ซึ่งเป็นที่มาของลำตะคอง บริเวณลำน้ำซึ่งมีเจ้าตัวตะกองอยู่มากกมายนั้นเอง



นอกจากนี้หมอหม่อง ได้เชื่อมโยงให้เครือข่ายมองเห็นภาพร่วมกันว่าเขื่อนหนึ่งตัวที่สร้างไว้กั้นทางน้ำไหล ตะกอนจะค่อย ๆ จมลงและพัดพาไปไม่ถึงอ่าวไทย ไม่ใช่แค่คนคลองมะเดื่อที่จะเดือดร้อน แต่คนที่อยู่ชายฝั่ง ซึ่งเป็นสมรภูมิรบกันระหว่างทะเลกับบก ซึ่งโดยปกติจะมีตะกอนจากต้นน้ำไหลมาทับถม ทดแทนส่วนที่คลื่นทะเลขุดออกได้อย่างสมดุล แต่เมื่อตะกอนไปไม่ถึงชายฝั่งแล้ว จึงเกิดการเสียดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ แหว่งหายไปเรื่อย ๆ 

“หลายคนอาจจะพูดว่าเขื่อนคลองมะเดื่อเสียพื้นที่ป่านิดเดียว ทำไมแค่นี้จะเสียสละไม่ได้ แค่ 1,800 ไร่ เขาใหญ่มีป่าเป็น 1,000,000 ไร่ ทำไมต้องโวยวาย จริงอยู่ที่มันเป็น 0.1 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ป่าเขาใหญ่ แต่ป่ามันไม่ได้เท่ากันหรือเหมือนกันหมด นิเวศริมน้ำที่เป็นลำห้วยลำธารแบบนี้ มีสัตว์คนแบบ พืชพันธุ์คนละอย่าง จะเอามาหารพื้นที่ 1,300,000 มันไม่ใช่ นี่คือพื้นที่ที่หายากที่สุด ผมเป็นหมอหัวใจ เปรียบเทียบกับหัวใจแล้วกัน หัวใจคิดเป็นน้ำหนักของร่างกายเราแค่ 0.4 เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นสำคัญเลย ตัดออกแล้วกันได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจว่าพื้นที่ตรงนี้มันไม่เท่ากัน ไม่เท่าพื้นที่ภูเขา ไม่เท่าพื้นที่ทุ่งหญ้า แต่มันคือพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นบริเวณที่เรียกว่ามีความร่ำรวยและมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุด นี่คือสิ่งที่เราหวงแหนมาก” หมอหม่อง กล่าว 

รองประธานมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร เรียกร้องใช้ชลประทานใช้หาทางออกอื่นที่ไม่ใช่เขื่อนซึ่งเป็นเทคโนโลยีจัดการน้ำเมื่อ 100 ปีที่แล้ว โดยบอกว่า เราต้องรักษาป่าให้ได้ หากคุณต้องการน้ำ มันมีทางออกเป็นคำตอบอื่นอีกมากมาย แต่ต้องใช้กึ๋นในการคิด เพราะนิเวศบริการ หมายความว่าคุณค่าที่นำมาถึงมนุษย์เราอย่างมากมายหลายอย่าง ในแง่ของเศรษฐกิจ แต่มากกว่านั้นคือการได้สัมผัสกับลำธารเย็น ๆ ได้ฟังเสียงลำธารหายใจที่ชะล้างความวุ่นวายใจเราได้ นี่คือศักดิ์สิทธิ์ ความพิเศษของลำห้วยลำธาร มันคือคุณค่าที่ใหญ่ไปกว่าตัวเลข เป็นเรื่องของมุมมอง ถ้าเรามองว่ามนุษย์ใหญ่ที่สุดแล้วจัดการทรัพยากรแบบที่เราทำมาแล้วก็ก่อให้เกิดปัญหามากกมาย  แต่ถ้าเรารู้แล้วว่าเราจะดำรงอยู่ในโลกนี้ต่อไป โดยที่ไม่เกิดปัญหาสร้างมลพิษ เกิดโลกร้อน สัตว์สูญพันธุ์ นี่คือมุมมองใหม่ที่รัฐบาลจะต้องหาทางทำ เรียกว่าทุกตารางนิ้วในป่าตอนนี้เหลือน้อยเสียจนเสียไปอีกหนึ่งตารางเมตร หนึ่งตารางนิ้วไม่ควรแล้ว มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาแลก 

ด้านนางสาวอรยุพา สังมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เปิดข้อมูลสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของโครงการเขื่อนในพื้นที่ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติตาพระยา อุทยานแห่งชาติปางสีดา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางธรรมชาติแห่งที่ 2 ในปี พ.ศ.2548 ขณะนี้มีโครงการที่อยู่ในแผนการก่อสร้างทั้งหมดคือ 7 เขื่อน ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน คลองมะเดื่อ ไสน้อย ไสใหญ่ ซึ่งตอนนี้ชลประทานบอกว่าจะไม่ทำไสน้อยไสใหญ่แต่จะทำแค่ไสน้อยแห่งเดียว อ่างเก็บน้ำลำพระยาธาร ซึ่งหากไม่ทำตรงนี้จะเกิดอ่างเก็บน้ำขึ้นมาแทน 2 แห่ง อ่างเก็บน้ำทับลาน มีอยู่แล้วแต่จะเพิ่มขนาดสันเขื่อนให้มีความกว้างมากยิ่งขึ้น และมีอ่างคลองวังมืดที่จะเกิดขึ้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน มีคลองบ้านนา คลองหนองแก้วที่กำลังอยู่ในแผน ซึ่งในพื้นที่ป่าดงพญาเย็นเ-เขาใหญ่มีเขื่อนและอ่างเก็บน้ำอยู่แล้วถึง 10 กว่าแห่ง ถ้าเขื่อนเกิดขึ้น เราจะเสียพื้นที่โดยรวมทั้งหมด 1,858 ไร่ แต่พื้นที่ที่เป็นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จริง ๆ เราจะเสียไปประมาณ 1,000 ไร่ พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ประชาชนอยู่อาศัย เป็นพื้นที่ผ่อนผันต่าง ๆ


สอวช. - สกสว. คิกออฟจัดตั้งเครือข่ายมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ผสานความร่วมมือช่วยไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ



สอวช. - สกสว. คิกออฟจัดตั้งเครือข่ายมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ผสานความร่วมมือรัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา นำวิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม ช่วยไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุม SRI (Science Research and Innovation) Consortium for Net Zero ครั้งที่ 1/2566 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีหน่วยงานทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมกมลทิพย์ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ 

ดร.กิติพงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวถึงประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (GHG Net Zero) ภายใน ค.ศ. 2065 ว่า การจัดประชุมในครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ได้ขึ้นรูป SRI Consortium for Net Zero ขึ้นมา โดยมี สอวช. และ สกสว. เป็นหน่วยงานริเริ่ม และจะขยายเครือข่ายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคเอกชนที่เป็น demand side ด้วย ซึ่งเครือข่ายที่เกิดขึ้นนี้ ตั้งเป้านำเอาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เข้าไปหนุนตอบเป้าหมายของประเทศ โดยมี 4 มิติหลักที่ต้องขับเคลื่อน ได้แก่ 1) การผนึกพลังทำให้เรื่อง Net Zero เป็นวาระสำคัญ ช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันและเชื่อมโยงเรื่องการลงทุน 2) นวัตกรรม เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ 3) การทำให้ขั้นตอนการทำงานไม่มีความซับซ้อน หรือ ease of doing business เกี่ยวกับการปลดล็อกกฎระเบียบ ความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และ 4) การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ที่ภาคชุมชน สังคม ต้องเข้ามาร่วมในองคาพยพนี้ ครอบคลุมไปถึงเรื่องการศึกษา การพัฒนาบุคลากร รวมถึงการสร้างความตระหนักในสังคม

ดร.กิติพงค์ ยังได้เล่าถึงการดำเนินการด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้าน Net Zero ทั้งในแง่การวิจัยและสร้างองค์ความรู้ มีการให้ทุนวิจัยและพัฒนาผ่านทางหน่วยบริหารและจัดการทุนต่าง ๆ มีเครือข่ายมหาวิทยาลัยในบทบาทผู้ขับเคลื่อนนวัตกรรมสีเขียวสู่การปฏิบัติ และการสร้างชุมชนสีเขียว มีการพัฒนาพื้นที่นำร่องด้านนวัตกรรมสู่ Net Zero จากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน และมีการเชื่อมต่อกลไกระดับนานาชาติ ทั้งในเรื่องการประเมินความต้องการจำเป็นด้านเทคโนโลยี (Technology Needs Assessment) ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Technology Technical Assistances) รวมถึงด้านการเงิน มีตัวอย่างการขับเคลื่อนที่สำคัญ อาทิ การพัฒนา Green Campus หรือเครือข่ายมหาวิทยาลัยนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย Net Zero และการพัฒนาพื้นที่นำร่องโดยการบูรณาการหลายสาขาและภาคส่วนด้วยนวัตกรรมและกลไกนานาชาติ เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านประเทศและลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศจากนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี หรือ สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ พร้อมเตรียมขยายผลไปยังจังหวัดอื่น ๆ



ด้าน ดร.สุรชัย รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง SRI Consortium for Net zero เพื่อส่งเสริมและผลักดันการใช้ ววน. เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero และเกิดผลกระทบเชิงบวกด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากการใช้ ววน. ร่วมกับทุกภาคส่วน อีกทั้งยังเป็นการบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วน ด้วยกลไกของระบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยบทบาทหน้าที่ของ Consortium คือ 1) การเป็นคณะทำงานกลางของประเทศด้าน ววน. ครอบคลุม 4 ประเด็น ได้แก่ แผนและนโยบาย เแหล่งข้อมูลด้าน ววน. (Stock of knowledge knowledge) ข้อมูลด้าน Foresight และการใช้ประโยชน์จาก ววน. เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายร่วมกันในทุกภาคส่วนของประเทศ ในด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน 2) ช่วยผลักดันให้เกิดการสร้างกลไกสนับสนุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เช่น มาตรการและกลไกที่เกี่ยวข้องเพื่อการสนับสนุนและส่งเสริมการนา ววน. ไปใช้ได้จริงทั้งภาครัฐ และเอกชน และ 3) พัฒนาเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ และยกระดับความสามารถด้าน ววน. ของบุคลากรในสายงานที่เกี่ยวข้องในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อีกทั้ง ดร.สุรชัย ได้เผยถึงความคืบหน้าการพัฒนา Hydrogen roadmap ของประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์เทคโนโลยีภูมิอากาศและเครือข่าย (Climate Technology Centre and Network: CTCN) ในแง่ความท้าทาย ประเทศไทยยังอยู่ระหว่างการพัฒนายุทธศาสตร์ด้านไฮโดรเจนระดับชาติ ที่ในอนาคตต้องมีการเปลี่ยนผ่านสู่ไฮโดรเจนสะอาด อีกทั้ง ประเทศไทยยังมีความต้องการประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญในการประเมินผลกระทบจากการใช้ Hydrogen การพัฒนาเทคโนโลยีสู่การใช้ในอุตสาหกรรม รวมถึงทรัพยากรในการริเริ่มโครงการนำร่อง ในส่วนของภาพรวมโครงการจัดทำยุทธศาสตร์และทิศทางที่ชัดเจนในการใช้เทคโนโลยีไฮโดรเจนสีเขียวเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ของไทยนั้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำรายงานเทคโนโลยีการผลิตไฮโดรเจนสะอาดที่เหมาะสมกับประเทศไทย รวมถึงที่ตั้งและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดยมีการคาดการณ์ว่าผลจากการใช้ไฮโดรเจนสะอาดใน 4 อุตสาหกรรมหลักของไทย ได้แก่ ซีเมนต์ โรงกลั่นน้ำมัน การขนส่งทางถนน และพลังงาน จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 50 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท



ทั้งนี้ ในการประชุมได้มีการกล่าวถึงระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566 - 2570 โดย รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รอง ผอ. สกสว. และความก้าวหน้าการพัฒนา CCUS technology roadmap ของประเทศไทย โดย ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง สกสว. รวมถึงเปิดเวทีแลกเปลี่ยนถึงแนวทางการสนับสนุนทุนวิจัยของหน่วยบริหารจัดการทุนที่เกี่ยวข้องกับประเด็น Net Zero โดยตัวแทนจากหน่วยบริหารและจัดการทุน 6 หน่วยงาน ได้แก่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) ซึ่งแต่ละหน่วยงานได้แบ่งปันถึงแนวทางการสนับสนุนการให้ทุนในแผนงาน สาขา หรือยุทธศาสตร์ที่จะนำไปสู่เป้าหมาย Net Zero อาทิ ด้านพลังงาน ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้านเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ด้านยานยนต์ไฟฟ้า ด้านนวัตกรรมการเกษตร ฯลฯ

พร้อมทั้งได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมการประชุม ถึงรูปแบบ ความคาดหวัง แนวทางการดำเนินการ และแนวทางการมีส่วนร่วมต่อการดำเนินงานของหน่วยงานใน consortium โดยในภาพรวม ที่ประชุมให้ความเห็นว่า การขับเคลื่อนควรมีการแบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นรายสาขา รายเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนในภาพใหญ่ และคณะทำงานควรมีภาคเอกชนเข้าไปร่วมด้วย เพื่อสร้างให้เกิดการเชื่อมโยงตั้งแต่งานวิจัย ไปสู่การทำแผน ทำนโยบาย และลงไปสู่ภาคปฏิบัติจริง นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารข้อมูลไปยังประชาชนทั่วไป รวมถึงมีแนวทางการแลกเปลี่ยนความรู้ และเทคโนโลยีร่วมกันระหว่างกระทรวงหรือระหว่างหน่วยงานด้วย


นายกฯส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่าน Soft power ท้องถิ่นในเทศกาลบั้งไฟพญานาค



เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2566  เวลา 17.00 น. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานจุดประทีปโคมลาน ถวายเป็นพุทธบูชา ณ พุทธอุทธยานนานาชาติ  อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย  ภายในงานพุทธศาสนิกชนได้สวดมนต์สรรเสริญคุณพระรัตนตรัย นั่งสมาธิ กล่าวถวายประทีปและจุดประทีปโคมลาน เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชาและ รับชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค  ซึ่งในครั้งนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มาร่วมชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคพร้อมกับประชาชนหลายหมื่นคน 

พุทธอุทยานนานาชาติ เป็นจุดชมบั้งไฟพญานาคที่มีชื่อเสียง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมาพบว่ามีบั้งไฟพญานาคผุดขึ้นมากเป็นอันดับต้นๆของประเทศ ซึ่งประชาชนจากทั่วประเทศต่างหลั่งไหลมาชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคกันเป็นจำนวนมาก 

พุทธอุทยานนานาชาติ ประดิษฐานปทุมรัตน์ธรรมเจดีย์ ซึ่งเป็นเจดีย์รูปทรงปฏิมากรรมดอกบัว ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งพุทธศาสนิกชนจะกราบสักการะปทุมรัตน์ธรรมเจดีย์ก่อนที่จะรับชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค

บั้งไฟพญานาค เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในลุ่มแม่น้ำโขง มีลูกไฟสีแดงอมชมพู พุ่งจากแม่น้ำขึ้นสู่ท้องฟ้า และที่สำคัญจะเกิดขึ้นเฉพาะวันขึ้น 15 ค่ำ ที่ตรงกันระหว่าง ประเทศไทย และ สปป.ลาว หากปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง บั้งไฟพญานาคมักจะเลื่อนไปขึ้นในวันพระลาว (ขึ้น 15 ค่ำ ของทาง สปป.ลาว)  ตำนานพระพุทธศาสนา กล่าวถึงเหตุการณ์วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก ซึ่งเชื่อมโยงกับเหตุการณ์สำคัญในปัจจุบัน คือ ปรากฏการณ์ “ บั้งไฟพญานาค” แห่งเดียวในโลก ณ แผ่นดินแม่น้ำโขง บริเวณ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย หรือปากน้ำงึมของฝั่งลาว ตรงกับวันออกพรรษาของไทย หรือวันมหาปวารณาของลาว

ตามตำนานซึ่งเล่าสืบต่อกันมาหลายร้อยปี คือ พญานาคใต้ลำน้ำโขงจะขึ้นมาพ่นบั้งไฟเป็นดวงประทีปถวายเป็นพุทธบูชา เพื่อสรรเสริญคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นการระลึกนึกถึงเหตุการณ์ในอดีต เมื่อครั้งที่พระศาสดาทรงเสด็จลงจากเทวโลกชั้นดาวดึงส์ และทรงใช้พุทธานุภาพ “เปิดโลก” เพื่อให้มนุษย์ เทวดา พรหม และสัตว์ในอบายภูมิได้เห็นพร้อมกันทั้งหมด


สมเด็จพระมหาธีราจารย์อนุโมทนา "วธ.-กองทุนสื่อฯ" จัดมหกรรม "สื่อ ธรรม ดี" เป็น Soft Power ทรงคุณค่าสร้างสังคมสันติสุขยั่งยืน



กองทุนสื่อฯ จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวงานมหกรรมสื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนา กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  “สื่อ ธรรม ดี” และงานตักบาตรเทโวโรหณะ เนื่องในเทศกาลวันออกพรรษา ประจำปี 2566 30 ต.ค. 66 ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

วันที่ 30 ตุลาคม 2566 เวลา 07.00 น. ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในการจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวงานมหกรรมสื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนา กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ “สื่อ ธรรม ดี” และงานตักบาตรเทโวโรหณะ เนื่องในเทศกาลวันออกพรรษา ประจำปี 2566 ซึ่งในวันนี้ตรงกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ เนื่องในเทศกาลวันออกพรรษา ประจำปี 2566 อันมีความหมายถึง การทำบุญตักบาตรในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก หลังจากที่พระองค์แสดงพระอภิธรรมโปรดพระมารดา และจำพรรษาที่นั้นเป็นเวลา 3 เดือน โดยการจัดงานในครั้งนี้เป็นการบูรณาการการจัดงานร่วมกัน ระหว่างกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กับวัดพระเชตุพน        วิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ในการนี้ ได้รับความเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์

สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กล่าวอนุโมทนากองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และกระทรวงวัฒนธรรมที่จัดงานมหกรรมสื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนา กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ “สื่อ ธรรม ดี” นับเป็น Soft Power ทรงคุณค่าสามารถสร้างสังคมสันติสุขได้อย่างยั่งยืน




ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เผยว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จัดงานในครั้งนี้เพื่อให้สอดรับกับนโยบายภาครัฐที่ให้ความสำคัญของการส่งเสริมสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รวมถึงสถาบันครอบครัว โดยมีเป้าหมายขับเคลื่อนนโยบายครั้งนี้ มุ่งสู่เด็กและเยาวชน คือต้นกล้า พ่อแม่คือเบ้าหลอมที่ต้องปลูกฝังค่านิยมให้แก่เด็กและเยาวชน โดยสถาบันครอบครัว สถานศึกษา และศาสนา เป็นพื้นที่ในการหล่อหลอมให้เป็นคนดี มีคุณธรรมรักษาดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีงามของไทย สร้างเยาวชนให้มีภูมิคุ้มกัน สามารถใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ รู้เท่าทัน Social Media ในยุคปัจจุบัน ซึ่งกลุ่มเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่จะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ในอนาคต ซึ่งการจัดงานดังกล่าวฯ มีการจัดกิจกรรม 2 รูปแบบ อันได้แก่ กิจกรรมที่ 1 การจัดกิจกรรมในรูปแบบ On Ground Event  ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 - 14 ธันวาคม 2566 ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)  


ภายในงานจัดให้กิจกรรมต่าง ๆ อาทิ นิทรรศการมหกรรมสื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนา กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สื่อ : ธรรม : ดี  กิจกรรม “ไหว้พระเสริมดวง อิ่มบุญ อุ่นใจ” การเสวนา “เทศน์ ทอล์ก” ในหัวข้อ สุขด้วยธรรม และหัวข้อ สื่อ ธรรม ดี จากวิทยากร    และศิลปินรับเชิญ ผู้มีความรู้ความเข้าใจและผู้ศึกษาด้านพระพุทธศาสนา อีกทั้งในปีนี้ได้เปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชน ได้มีโอกาสแสดงความรู้ ความสามารถเชิงสร้างสรรค์ทางพุทธศาสนา โดยจัดทำโครงการประกวดคลิปสั้น ในหัวข้อ “หนูได้ธรรม” อีกทั้งยังมีการถ่ายทอดเผยแพร่ผ่านระบบ live stream บน platform Facebook ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์กิจกรรมที่ 2 การจัดกิจกรรม Online Event ในรูปแบบ Virtual Exhibition ซึ่งมีหัวใจหลักสำคัญ เปรียบเสมือน Big Data ของสื่อทางพระพุทธศาสนาเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนภายในประเทศและต่างประเทศ เข้าถึงได้โดยง่ายและกว้างขวาง ภายใต้แนวความคิด “อยู่ที่ไหนก็เข้าถึงได้ เพียงปลายนิ้วสัมผัส” ผ่านช่องทาง www.มหกรรมพุทธธรรมนำสื่อสร้างสันติสุข.com 


ทั้งนี้ ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า การจัดงานมหกรรมสื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนา กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ “สื่อ ธรรม ดี” ในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดจากการจัดงานมหกรรมพุทธธรรมนำสื่อสร้างสันติสุข โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดงาน เพื่อเผยแพร่ผลงานสื่อพระพุทธศาสนาประเภทต่าง ๆ รวมถึงขยายช่องทางการสื่อสาร สาระสำคัญเกี่ยวกับสื่อพระพุทธศาสนา ให้เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เข้าถึงได้ง่าย อีกทั้งยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ผลิตสื่อ กลุ่มเป้าหมาย ในการมุ่งมั่นผลิตสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์  



  



"ผอ.สันติศึกษาป.โท มจร" แนะยกพิธีกรรมเป็นวิถีแห่งปวารณาเป็น Soft Power ทางพระพุทธศาสนา


วันที่ ๒๙  ตุลาคม  ๒๕๖๖  ที่วัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ  อำเภอวังน้อย  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  พระปราโมทย์  วาทโกวิโท, ดร.  ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา ระดับปริญญาโท  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)   เปิดเผยว่าวันนี้(๒๙  ตุลาคม  ๒๕๖๖  ตรงกับขึ้น ๑๕ เดือน ๑๑ เป็นวันออกพรรษาของพระสงฆ์ โดยนิยามของคำว่าปวารณา หรือ มหาปวารณา เป็นวันที่เปิดโอกาสอนุญาตให้เตือนกันและกันได้ ในมิติของกายภาพ พฤติภาพ จิตตภาพ และปัญญาภาพของแต่ละบุคคลและคณะ ถือว่าเป็นการป้องกัน (สังวรปธาน) เพื่อรักษาภาพลักษณ์โดยรวมของคณะรวมถึงเป็นการรักษาศรัทธาสร้างเชื่อมั่นสร้างความไว้วางใจ การสะท้อนหรือการเตือนกันจึงเป็นเครื่องมือของการอยู่ร่วมกันอย่างพุทธสันติวิธี จึงมีคำกล่าวว่า “อันตรายของบุคคลเมื่อถึงจุดหนึ่งไม่มีใครสามารถเตือนได้” โดยมองว่าตนเองดีที่สุดจนขาดกัลยาณมิตร ขาดครูบาอาจารย์ ขาดโค้ช เคยตักเตือนหรือสะท้อนเพื่อการพัฒนา จึงมองว่าบุคคลที่สุดยอดและไปได้ไกลจะต้องมีโค้ช มีกัลยามิตร มีครูอาจารย์คอยสะท้อนเพื่อการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น 

จึงตั้งคำถามว่าในทางปฏิบัติเราสามารถเตือนกันได้จริงหรือไม่ โดยภาษาสมัยใหม่เราใช้การโค้ชด้วยเครื่องมือ “ฟัง ถาม สะท้อน ชื่นชม” แต่ต้องอนุญาตกันจริงๆ ซึ่งในความเป็นจริงยากมากที่เราจะตักเตือนใครยกเว้นบุคคลนั้น “ใช้อำนาจเหนือในการตักเตือนผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกน้อง” จึงมองว่าวันปวารณากระบวนการที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้เป็นแนวทางที่ดีมาก “สามารถตักเตือนกันได้โดยไม่มีวาระซ่อนเร้น” แต่ในทางปฏิบัติแล้วยังมองว่ายังไม่มี “ขั้นตอน วิธีการปฏิบัติ กระบวนการ” ที่นำไปสู่ “วัฒนธรรมเตือนกันอย่างสันติ” ส่งผลการนำไปสู่ความขัดแย้งหลบในรอวันระเบิดได้ ซึ่งความขัดแย้งหลบในน่ากลัวกว่าความขัดแย้งที่ปรากฏออกมา  จึงมองว่าวันปวารณาเป็น “พิธี ไม่ใช่ วิถี” พิธีอาจจะทำเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้นความในใจยังเก็บไว้อยู่ ทำอย่างไรจะยกระดับไปสู่ความเป็น “วิถีแห่งปวารณา” เป็นสันติวัฒนธรรมที่สามารถนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข      

สิ้นสุดการจำพรรษามาถึงวาระแห่งการออกพรรษา รวม ๒๐ พรรษา รวมตั้งแต่เป็นสามเณร ๒๙ พรรษา จึงสะท้อนถึงปวารณาอันมุ่งให้สามารถเตือนกันและกันได้แต่ต้องมีความใจกว้าง มีขันติธรรม เคารพในความแตกต่าง แต่การเตือนที่ดีที่สุดจงเตือนใจของตนเอง “เตือนใจตนดีที่สุด” ว่าที่ผ่านมาเราผิดพลาดอะไรบ้าง ประมาทอะไรบ้าง ขาดสติกระทบใครบ้าง เป็นการทบทวนอดีตเพื่ออยู่กับปัจจุบันด้วยสติ ซึ่งจะส่งผลต่ออนาคตที่ดีงาม การมีกัลยาณมิตรคอยตักเตือนคอยให้คำปรึกษานับว่าเป็นบุญมหาศาลอย่างยิ่ง เพราะ “บุคคลที่น่าสงสารมากคือใครเตือนอะไรไม่ได้เลย” แต่การกล่าวเตือนจะต้องได้รับการอนุญาตก่อน เป็นการเตือนด้วย “ความจริง ไพเราะ เหมาะกาล ประสานสามัคคี มีประโยชน์ ประกอบด้วยเมตตา ปรารถนาดีเป็นฐาน” 

การเตือนจึงเป็นขุมทรัพย์ที่ดีเพื่อการนำไปพัฒนาต่อยอด แต่การเตือนที่ดีที่สุดคือการเตือนจิตใจของตนเอง อย่ารอให้ใครมาเตือน แต่จงหมั่นเตือนตนเองเป็นวัฒนธรรมเป็นวิถีชีวิต ระวังวาจาก่อให้เกิดความขัดแย้ง เพราะ “การโกหกมีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าการพูดความจริงเสมอ” เพราะต้องจ่ายด้วยความน่าเชื่อถือของตนเอง จงหมั่นสร้างสัจจบารมี  สิ่งที่น่าสนใจมากในกระบวนการออกพรรษา คือ “ระบบอาวุโส” ซึ่งเป็นการความเคารพกันโดยมีการเคารพกันด้วยระบบอาวุโส ซึ่งไม่เกี่ยวกับตำแหน่งภายนอกใดๆ ซึ่งการเคารพกันในระบบอาวุโสถือว่าเป็นแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงให้สงฆ์ได้ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติถือว่าเป็นพุทธสันติวิธี ตำแหน่งจะมากมายแต่เข้ามาสู่โครงสร้างสงฆ์ที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ จะต้อง “เคารพกันตามระบบอาวุโสเท่านั้น” ถ้าสงฆ์ยังยึดมั่นในหลักการนี้จะนำมาซึ่งความผาสุกตลอดไป 

วันออกพรรษาที่มีเครื่องปวารณาเป็นฐานเป็นการป้องกันความขัดแย้งและป้องกันการใช้ความรุนแรง ซึ่งสอดรับกับ “สันติวัฒนธรรมในองค์กร” การทำสันติวัฒนธรรมไม่ใช่ไม่มีความขัดแย้ง เราไม่สามารถขจัดความขัดแย้งออกไปได้แต่เราสามารถบริหารไม่ให้เกิดความขัดแย้ง จึงต้องทำ   ๓ มิติ ประกอบด้วย “การป้องกัน การจัดการ การเยียวยารักษาสันติภาพ” โดยมุ่งการเคารพยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย เช่น ความแตกต่างทางเพศ ความแตกต่างทางศาสนา  สันติวัฒนธรรมต้องไม่ใช้ความรุนแรงทางตรงและทางอ้อม สร้างวัฒนธรรมที่ไม่ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ รวมถึงสันติวัฒนธรรมจากการฟังกันอย่างจริงจัง สร้างความเข้าใจเกิดฉันทามติ เพราะเสียงส่วนใหญ่อาจจะไม่ถูกต้องก็ได้ จะต้องสร้างความถูกต้องมากกว่าความถูกใจ

จึงมองว่า “การปวารณาจึงเป็นสันติแห่งวัฒนธรรม” อันประกอบด้วย ๑)วัฒนธรรมเคารพยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย ๒)วัฒนธรรมไม่ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ๓)วัฒนธรรมการฟังนำไปสู่ทางออกอย่างพึงพอใจ ๔)วัฒนธรรมการขอขมาและการโทษอย่างจริงจัง ๕)วัฒนธรรมการให้อภัยให้กันและกันเพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยเริ่มจากตัวเราผ่านการแง้มใจ จึงต้องวิเคราะห์ความขัดแย้ง บุคคลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการสร้างสันติวัฒนธรรม ซึ่งสันติวัฒนธรรมอาจจะไม่มีสูตรสำเร็จแต่เราสามารถนำไปบูรณาการได้ทุกมิติรวมถึงวัฒนธรรมของการปวารณา

จึงสรุปว่าวันปวารณาจึงเป็นสันติวัฒนธรรมนับว่าเป็นวิถีแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยนำไปสู่กระบวนการผ่านเครื่องมือการโค้ช โดยมีขั้นตอนประกอบด้วย ๑)การสะท้อนตนเองว่าในรอบสามเดือนหรือหนึ่งที่ผ่านมาท่านทำอะไรได้ดีพร้อมเป็นมีคุณค่าและมีความหมายต่อชีวิต ๒)ความผิดพลาดของตนเองผ่านการกระทำท่านมีความผิดพลาดอะไรบ้าง ๓)จะปรับปรุงตนเองให้ดียิ่งขึ้นอย่างไรบ้าง ๔)เป้าหมายที่อยากจะลงมือทำให้สำเร็จท่านจะลงมือทำอะไร อย่างไร        โดยมุ่งกลับมา “ปวารณาตน” ด้วยการกลับมาดูตนในสิ่งที่ต้องพัฒนาของตนเองให้ดียิ่งขึ้น เพราะการไปปวารณากับคนอื่นไปสะท้อนคนอิ่นอาจจะนับมาซึ่งความขัดแย้งที่แสดงออกและความขัดแย้งหลบในถ้าไม่มีขั้นตอนที่ถูกต้องและมีใจไม่กว้างพอ การปวารณาจึงต้อง “ปวารณาสติ” ด้วยการมีสติทั้งสองฝ่าย สอดรับกับสัมมุขาวินัยเป็นการอยู่พร้อมหน้ากันและสติวินัยมีสติทุกฝ่าย ในอธิกรณสมถะ  จึงไม่ควรใช้วิธีการ “ปวารณาอคติ”  ซึ่งการปวารณายังป้องการดราม่าอีกด้วย 


"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"

กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...