วันอังคารที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2566

"สมเด็จพระมหาวีรวงศ์-ปลัดมท." นำชาวปทุมธานี เททองหล่อพระประธานยิ้มรับฟ้าและพระพรหมวัดบางหลวงหัวป่า

 


สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นประธานสงฆ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานฝ่ายฆราวาส นำชาวปทุมธานี ร่วมพิธีเททองหล่อพระประธานยิ้มรับฟ้า และพระพรหม ประดิษฐาน ณ วัดบางหลวงหัวป่า ปทุมธานี และพิธีฉลองกฐินสามัคคี พร้อมร่วมพิธีฉลองอายุวัฒนมงคลพระครูสุภัทรธรรมโฆษิต ด้วยความเป็นสิริมงคล โดยมีพุทธศาสนิกชนผู้ร่วมงานอย่างเนืองแน่น

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566  เวลา 08.30 น. ที่วัดบางหลวงหัวป่า สาขาวัดระฆังโฆสิตาราม ตำบลสวนพริกไทย อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีเททองหล่อพระประธานยิ้มรับฟ้า หน้าตัก 31 นิ้ว และพระพรหม 62 นิ้ว พร้อมทั้งประกอบพิธีสมโภชกฐินสามัคคี และพิธีฉลองอายุวัฒนมงคลพระครูสุภัทรธรรมโฆษิต (พระครูต้น) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดบางหลวงหัวป่า ที่ปรึกษาสมัชชาสงฆ์ในญี่ปุ่น โดยได้รับเมตตาจาก พระเทพประสิทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร และพระมงคลวโรปการ ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เจ้าอาวาสวัดชินวราราม ร่วมพิธี มีคณะสงฆ์วัดบางหลวงหัวป่า ประกอบพิธี โดยมี นายพงศ์รัตน์ ภิรมรัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายอดิเทพ กลมเวชช์ นายสิทธิชัย สวัสดิ์แสน นายพงศธร กาญจนะจิตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายคมสัน ญาณวัฒนา หัวหน้าสำนักงานจังหวัดปทุมธานี นายมนัส สุวรรณรินทร์ ท้องถิ่นจังหวัดปทุมธานี และเจ้าภาพร่วม อาทิ พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 13 คุณวทันยา บุนนาค ภาคีเครือข่ายภาคธุรกิจ นายสมศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา นายกฤษฎา ไทยสำราญ นายยุทธภูมิ โอกิวารา เซียนพระชื่อดัง หัวหน้าส่วนราชการ พร้อมด้วยประชาชนผู้มีจิตศรัทธา และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ร่วมพิธีกว่า 1,000 คน 

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นำผู้ร่วมพิธีประกอบพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โปรยข้าวตอกดอกไม้ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย และถวายสักการะสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ จากนั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วย พระครูสุภัทรธรรมโฆษิต (พระครูต้น) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดบางหลวงหัวป่า นำผู้ร่วมพิธีร่วมเททองหล่อพระประธานยิ้มรับฟ้า หน้าตัก 31 นิ้ว และพระพรหม 62 นิ้ว พระสงฆ์ 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์ เสร็จแล้ว นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นำผู้ร่วมพิธี ถวายเครื่องไทยธรรม ถวายภัตตาหารเพล กรวดน้ำรับพร ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ กราบลาพระรัตนตรัย เป็นอันเสร็จพิธี 



นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า "พระประธานยิ้มรับฟ้า" เป็นพระประธานประจำพระอุโบสถวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด ปางสมาธิ หน้าตักกว้างประมาณ 4 ศอก เบื้องพระพักตร์มีรูปพระสาวก 3 องค์ นั่งประนมมือดุจรับพระพุทธโอวาท โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามพระประธานองค์นี้ว่า "พระประธานยิ้มรับฟ้า" เมื่อครั้นทรงเสด็จมาถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร ทรงมีพระราชดำรัส "ไปวัดไหนไม่เหมือนวัดระฆัง พอเดินเข้าประตูโบสถ์คราใด พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที" ด้วยเหตุนี้จึงทรงถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์ และมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกแด่พระประธานองค์นี้เป็นพิเศษ ซึ่งวัดบางหลวงหัวป่าแห่งนี้ เป็นสาขาของวัดระฆังโฆษิตาราม โดยพระครูสุภัทรธรรมโฆษิต (พระครูต้น) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดบางหลวงหัวป่า จึงได้ใช้โอกาสอันเป็นมงคลฤกษ์วันทอดกฐินสามัคคี ประจำปี 2566 นี้ ประกอบพิธีเททองหล่อพระประธานยิ้มรับฟ้า และพระพรหม เพื่ออัญเชิญประดิษฐาน ณ วัดบางหลวงหัวป่า ซึ่งเป็นอนุสรณ์แห่งการเป็นสาขาของวัดระฆังโฆสิตาราม และเป็นสรรพสิริมงคลของพุทธศาสนิกชน

"นับเป็นมงคลฤกษ์อันดียิ่งที่ได้มาร่วมประกอบพิธีเททองหล่อพระประธานยิ้มรับฟ้า พระพรหม และพิธีทอดกฐินสามัคคี ประจำปี 2566 ที่วัดบางหลวงหัวป่า สาขาวัดระฆังโฆสิตาราม พร้อมพุทธศาสนิกชนทุกท่านในวันนี้ อันถือเป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์และมีความสำคัญที่หล่อหลอมรวมจิตใจอันศรัทธา แสดงถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนา และหลักคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีนัยสำคัญ และมีความหมายอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของพวกเราทุกคน จึงได้พร้อมใจมาร่วมกันปฏิบัติบูชา ด้วยจิตปรารถนาที่จะทำนุบำรุง รักษา และสืบสานพระพุทธศาสนาให้มั่นคงอยู่ไว้ให้แก่ลูกหลานของเรา สอดคล้องกับที่กระทรวงมหาดไทยได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ของฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม กระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่าย ซึ่งมีเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ประธานฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม ผู้เป็นหลักชัย อันเป็นการส่งเสริมทำให้วัดซึ่งเป็นศาสนสถาน ได้เป็นสถานที่ศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนและประชาชน เป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้ เป็นสัปปายะสถานสำหรับประชาชน ด้วยการบูรณาการความร่วมมือ ในรูปแบบของพลัง "บวร" คือ บ้าน วัด ราชการ อันจะทำให้พุทธศาสนิกชนและประชาชนทั่วไปได้มีความสุขกาย สุขใจ มีความสุขในการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม



พระครูสุภัทรธรรมโฆษิต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร ผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดบางหลวงหัวป่า สาขาวัดระฆังโฆสิตาราม กล่าวว่า วัดบางหลวงหัวป่าแห่งนี้ เป็นวัดร้างตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสถานที่ที่อาตมาภาพได้ร่วมกับนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ผู้ขอบูรณปฏิสังขรณ์ และขอยกวัดร้างแห่งนี้ให้เป็นวัดที่มีพระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษา ซึ่งเป็นวัดสาขาของวัดระฆังโฆสิตาราม มีเนื้อที่ 23 ไร่ 64 ตารางวา โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาวัดบางหลวงหัวป่าได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สมาคมแม่บ้านมหาดไทย จังหวัดปทุมธานี และภาคีเครือข่าย ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมประกอบพุทธศาสนกิจ อีกทั้งกิจกรรมจิตอาสาพัฒนา อาทิ ปลูกต้นไม้ ปล่อยปลา อย่างต่อเนื่องตลอดเรื่อยมา เพื่อพัฒนาพื้นที่อดีตวัดร้างแห่งนี้ให้เป็นรมณียสถาน สถานที่แห่งความร่มเย็น และเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการบูรณปฏิสังขรณ์ หากเสร็จสมบูรณ์จะเป็นพุทธสถานสาธารณสงเคราะห์ ให้แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้ป่วยยากไร้ และชาวบ้านในพื้นที่ ให้ได้รับประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ตามนโยบายด้านการสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคมอีกด้วย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"

กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...