วธ. และกระทรวงวัฒนธรรมสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน หารือความร่วมมือด้านวัฒนธรรม ไทย - อิหร่าน ชูวัฒนธรรมเป็นกลไกเชื่อมความสัมพันธ์ทางการทูต ส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีโลก พร้อมนำพลังสร้างสรรค์ สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 เมื่อเร็วๆ นี้ นาย Mohammad Mehdi Imanipour หัวหน้าองค์กรวัฒนธรรมและความสัมพันธ์อิสลาม (Head of the Islamic Culture and Relations Organization) กระทรวงวัฒนธรรมสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน และนายซัยยิด เรซา โนบัคตี เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย (H.E. Mr. Seyed Reza Nobakhti) เข้าเยี่ยมคารวะ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อหารือความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมระหว่างไทยและอิหร่าน โดยมี นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา และนางสาวดารุณี ธรรมโพธิ์ดล ที่ปรึกษากระทรวงวัฒนธรรมด้านต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องรับรอง ชั้น 7 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายเสริมศักดิ์ กล่าวว่า การหารือทั้งสองฝ่ายถือว่าประสบความสำเร็จ โดยทางองค์กรวัฒนธรรมและความสัมพันธ์อิสลาม กระทรวงวัฒนธรรมสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ได้ร่วมแสดงความยินดีในโอกาสที่ตนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งทั้งสองประเทศได้เห็นตรงกันว่าจะมุ่งผลักดันการจัดทำแผนปฏิบัติการโครงการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงวัฒนธรรมและแนวปฏิบัติอิสลามแห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านให้สำเร็จ เน้นย้ำความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม มีความทันสมัยและครอบคลุมการดำเนินงานใหม่ ๆ ทางด้านวัฒนธรรม โดยฝ่ายอิหร่านได้เสนอให้มีความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ อาทิ ดนตรี ศิลปะ การแสดง ภาพยนตร์และการแลกเปลี่ยนด้านภาษา ทั้งนี้ฝ่ายไทยได้เสนอสาขาความร่วมมือเกี่ยวกับแหล่งมรดกโลก การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการบริหารจัดการแหล่งมรดกโลก
นายเสริมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นหนึ่งในหน่วยงานภาครัฐที่เป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลสู่การปฏิบัติอย่างมีผลสัมฤทธ์เชิงประจักษ์ โดยให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ตอบสนองความต้องการของประชาชนและทุกภาคส่วน รวมถึงมีเจตจำนงที่ชัดเจนในการนำพลังสร้างสรรค์มาสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ เน้นการสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งคาดว่าจากการหารือความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมระหว่างไทยและอิหร่านในครั้งนี้ จะเป็นการนำวัฒนธรรมมาเป็นกลไกหนึ่งในการเชื่อมและสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในระดับสากล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น