สสส. หนุนเสริมเครือข่ายพระสงฆ์ เป็นต้นแบบ “นักพัฒนาการสาธารณสงเคราะห์” สร้างสังคมสุขภาวะตามหลักไตรสิกขา นำร่อง 9 จังหวัด ก่อนขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2566 ในการอบรมพัฒนาศักยภาพ พระคิลานุปัฎฐาก พระคิลานธรรมและพระสาธารณสงเคราะห์พื้นที่ 9 จังหวัด ที่วัดบัวขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี น.ส.ยอดขวัญ รุจนกนกนาฏ นักบริหารแผนงานชำนาญการพิเศษ สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การสร้างเสริมสุขภาวะองค์กรพระพุทธศาสนาของ สสส. มุ่งสร้างเสริมสุขภาวะที่สอดคล้องกับมติมหาเถรสมาคมที่เป็นองค์กรสูงสุดที่ดูแลพระสงฆ์ สนับสนุนให้พระสงฆ์มีสุขภาพดี สามารถดูแลตัวเองได้ ร่วมพัฒนาวัดให้เป็นองค์กรและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิต และสนับสนุนให้พระสงฆ์เป็นแกนนำองค์ความรู้เผยแพร่สู่ชุมชนและสังคม มีแนวทางดำเนินการ 4 ด้าน 1. พัฒนานโยบายสาธารณะและกลไกการทำงานเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ 2. พัฒนาองค์ความรู้เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ 3. พัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ 4. พัฒนาแกนนำเครือข่ายพระสงฆ์และเครือข่ายกลุ่มองค์กรวัด
“สสส.และภาคีเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ขยายเครือข่ายการทำงานของภาคีภาควิชาการ กลุ่มหน่วยงานสาธารณสุขและเครือข่ายพระสงฆ์ หวังให้พระสงฆ์ ซึ่งเป็นที่พึ่ง ยึดเหนี่ยวทางใจที่สำคัญของสังคม มีสุขภาวะที่ดี เพื่อเป็นที่พึ่งของสังคม ส่งเสริมประชาชนให้มีความรู้ที่ถูกต้องในการดูแลสุขภาวะ ทำให้เกิดสังคมสุขภาวะในไทยได้อย่างยั่งยืน” น.ส.ยอดขวัญ กล่าว
พระเทพวชิรนันทาภรณ์ สุนทรศาสนกิจนายก เจ้าคณะจังหวัดนนทบุรี เจ้าอาวาสวัดบัวขวัญ พระอารามหลวง กล่าวว่า การทำงานหนุนเสริมคณะสงฆ์จากโครงการพระสงฆ์นักพัฒนาการสาธารณสงเคราะห์กับพื้นที่ต้นแบบการสร้างสังคมสุขภาวะ ใน 9 จังหวัด นนทบุรี ลพบุรี กทม. ฉะเชิงเทรา พิจิตร นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และตรัง เกิดการพัฒนาตามหลักไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา และส่งเสริมบทบาทของพระสงฆ์ให้เกิดองค์ความรู้ด้านสุขภาวะ โดยวัดในแต่ละพื้นที่เป็นศูนย์กลาง ในการจัดการเครือข่ายการเรียนรู้พื้นที่ต้นแบบถอดบทเรียนการดำเนินงานด้านสาธารณสงเคราะห์ และผลิตสื่อวีดีทัศน์พระสงฆ์สาธารณสงเคราะห์ นำไปสนับสนุนการเรียนรู้สำหรับพระสงฆ์ทั่วไป รวมถึงที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยสงฆ์และสถาบันอื่น ๆ เพื่อขับเคลื่อนงานด้านสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์ในการสร้างสังคมสุขภาวะสู่นโยบายระดับชาติ คาดว่าหลังการอบรมครบทุกพื้นที่จะมีพระสงฆ์ 360 รูปร่วมขับเคลื่อนการทำงานของฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ และผลักดันให้เป็นศูนย์ประสานงานสาธารณสงเคราะห์ด้านสุขภาวะต้นแบบที่มีระบบการบริหารจัดการที่เข้มแข็งและเป็นต้นแบบในการขยายผลไปยังพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น