วันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2566

ปลัดมหาดไทย ชู "อริยสัจโมเดล" เป็นฐาน "การเป็นข้าราชการที่ดี"



ปลัดมหาดไทย เปิดโครงการศึกษาอบรมหลักสูตร “การเป็นข้าราชการที่ดี” รุ่นที่ 100 เน้นย้ำ ข้าราชการใหม่ นำหลักอริยสัจ 4 มาปรับใช้ในการทำงานควบคู่ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพื่อ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น เพื่อพี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

วันที่ 30 ต.ค. 66 เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมอัษฎางค์ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการศึกษาอบรมหลักสูตร “การเป็นข้าราชการที่ดี” รุ่นที่ 100 โดยมี นายบุญธรรม ถาวรทัศนกิจ ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ นายธนิต ภูมิถาวร ผู้อำนวยการสำนักตรวจราชการและเรื่องราวร้องทุกข์ นายชัยรัตน์ แก้วเพียงเพ็ญ หัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้แทนหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมผู้เข้าร่วมศึกษาอบรม รวมทั้งสิ้น 130 คน แบ่งเป็นข้าราชการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย 33 คน กรมที่ดิน 45 คน กรมโยธาธิการและผังเมือง 35 คน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 15 คน และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 2 คน ร่วมในพิธีเปิด ซึ่งหลักสูตรฯ นี้ มีระยะเวลาฝึกอบรมรวม 10 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม - 8 พฤศจิกายน 2566

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ข้าราชการผู้เข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรข้าราชการที่ดีทุกคนคือผู้ที่โชคดีที่จะได้รับโอกาสที่สำคัญ 3 เรื่องด้วยกัน คือ 1) การที่จะได้มีเพื่อนซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายที่มาจากหลากหลายกรม หลายส่วนราชการ อันเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้พวกเราได้มีโอกาสพึ่งพาอาศัยกันในการทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข รับใช้พี่น้องประชาชน ตลอดจนถึงภาระหน้าที่ที่จะได้อาศัยไหว้วานซึ่งกันและกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสำเร็จได้เราต้องเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี จึงขอให้ทำความรู้จักมักคุ้นซึ่งกันและกัน ทำความรู้จักทั้งเพื่อนในกลุ่มและเพื่อนต่างกลุ่ม รวมทั้งต้องเก็บเกี่ยวองค์ความรู้จากวิทยากรแล้วนำมาพูดคุยประมวลหารือ มีช่องทางติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกัน และนอกเหนือจากการรับฟังบรรยายตามรายวิชาปกติ ก็ควรหาเวลาพูดคุยปรึกษากับพี่ ๆ ข้าราชการผู้ที่ทำงานมาก่อน เพื่อทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "ความไว้วางใจ" 2) ผู้เข้าอบรมต้องมีความริเริ่มที่จะมีแหล่งข้อมูลหรือพื้นที่ในการติดต่อพูดคุย หรือที่รู้จักกันว่า “ทำเนียบรุ่น” ซึ่งจะเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสื่อสารกัน เมื่อทุกคนต่างแยกย้ายกันไปปฏิบัติงานตามภาระหน้าที่ในแต่ละพื้นที่ ก็จะได้มีช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนการปรึกษาหารือกัน และ 3) การทำให้เรามีคุณสมบัติครบและมีความพร้อมกับการเป็น “ข้าราชการใหม่” มีหลักที่ทำให้เรามีความสุขอย่างยั่งยืน การปฏิบัติตามหลักธรรม "อริยสัจ 4"  โดยมีหลักคำสอนที่สำคัญ คือ การให้พวกเรามีความพยายามนำเอาสิ่งที่กระทบต่อการดำเนินชีวิตของเรา มาทบทวนพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่เราชื่นชอบ สิ่งใดเป็นสิ่งที่ทำให้เราขุ่นข้องหมองใจ ด้วยการช่างสังเกต ช่างคิด เป็นคนที่ชอบค้นหาคำตอบ และไม่เชื่อสิ่งใดหากปราศจากหลักฐาน ดังนั้น หลักอริยสัจ 4 จะเป็นหลักในการดำเนินชีวิตที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จ เป็นหลักวิทยาศาสตร์ อันเริ่มต้นที่ทุกข์ และไม่ใช่หลักของศาสนาพุทธเพียงอย่างเดียว เพราะ “ทุกข์” ก็คือเหตุการณ์ที่ทุกศาสนาพบ อาจจะเป็นเรื่องงาน เรื่องชีวิต หรือเรื่องอะไรก็ล้วนแต่มีที่มาและที่ไป เราจึงต้องใคร่ครวญสิ่งที่มากระทบเรานั้นว่ามีทั้งดีและไม่ดี ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ให้คำแนะนำให้หาสาเหตุ เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องรอโชคชะตา เพราะว่าเมื่อเราได้ย้อนมองไปว่าสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้น ถ้าทำแล้วดี ก็ต้องทำซ้ำ ๆ โดยตลอด กลับกันถ้าไม่ดี เราก็ไม่ทำซ้ำ ซึ่งเรียกสิ่งนี้ว่า “สมุทัย” โดยหากเราปรารถนาที่จะมีความสุขในการทำงาน เราก็ต้องหมั่นตั้งใจทำงาน ซึ่งเรียกสิ่งนี้ว่า “นิโรธ” และ “มรรค” คือ ผู้บังคับบัญชาไว้วางใจ และให้คำชื่นชม ให้ความเชื่อมั่น กล่าวโดยสรุป หลักอริยสัจ 4 ก็คือการเฝ้าสังเกต เฝ้าติดตามการทำงาน เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ก่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนผู้ที่มาใช้บริการมากที่สุด

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า หน้าที่ที่สำคัญของข้าราชการใหม่ที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่ง คือ "การเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดี" ด้วยการทำให้ผู้บังคับบัญชาเชื่อถือ ไว้วางใจ ด้วยความคิดริเริ่มที่จะ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีขึ้นให้เกิดขึ้นจงได้ ทำให้ผู้บังคับบัญชาคล้อยตามในสิ่งที่เราเสนอ และนำหลักปฏิบัติที่คนมหาดไทยได้รับการบ่มเพาะถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาโดยตลอดว่า “รอบรู้ รวดเร็ว ริเริ่ม และเร่งรัด” ดังที่ท่านวิญญู อังคณารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เคยกล่าวไว้ ดังนั้น งานในทุกขั้นตอนเราทุกคนต้องมี “การสื่อสาร” โดยต้องสื่อสารต่อผู้บังคับบัญชาอยู่เสมอ ซึ่งสามารถสรุปรวมเรียกได้ว่า RER ได้แก่ Routine Job และ Extra Job โดยเราจะสามารถทำให้งาน Extra Job เป็น Routine Job ก็ได้ เพื่อให้งานเสร็จไวยิ่งขึ้น พร้อมทั้งมีระบบติดตามงาน เช่น ระบบ AI ติดตามระบบงานสารบรรณ และส่วนสุดท้ายที่สำคัญ คือ R ตัวสุดท้าย ที่จะสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มดังนี้  Report กลุ่มที่ 1 คือ รายงานปัญหาต่อผู้บังคับบัญชาทั้งงานที่เสร็จแล้วและยังไม่แล้วเสร็จว่ามีข้อปัญหาอุปสรรคใด ซึ่งอีกทางหนึ่งก็เป็นการปรึกษาหารือกับผู้บังคับบัญชาให้ช่วยเราแก้ปัญหาในสิ่งที่เราประสบพบเจอด้วย Report กลุ่มที่ 2 คือ การรายงานต่อคนในองค์กรภายใน เพื่อให้ทุกคนรับรู้รับทราบเท่ากัน แม้ว่าแต่ละคนอาจอยู่คนละแผนก คนละฝ่าย คนละกลุ่ม แต่ทุกกลุ่มล้วนมีความจำเป็นที่จะต้องมีความรู้กว้างและรู้รอบเรื่องภายในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับข้าราชการใหม่ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ต้องเรียนรู้ภาพรวมของกรม รู้ด้วยว่าแต่ละกรม แต่ละกอง ทำหน้าที่อย่างไร ย่อยลงมาถึงแต่ล่ะกลุ่ม ฝ่าย แผนก ว่ามีการทำงานในสิ่งใดบ้างที่ยังไม่แล้วเสร็จ ที่เราจะสามารถช่วยกันได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากในระบบราชการไทย ที่ข้าราชการต้องมีความมีจิตอาสาในการทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชน แม้จะไม่ใช่งานในหน้าที่ที่เรารับผิดชอบโดยเฉพาะ แต่อย่างน้อยเราก็สามารถติดต่อประสานงานได้ และ R ตัวสุดท้าย คือ การรายงานให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้รับทราบ อันเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดพลังการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน เพื่อมุ่งมั่นทำสิ่งที่ดีให้เกิดประโยชน์กับพื้นที่ และท้ายที่สุดก็จะส่งผลให้เกิดการรับประโยชน์ร่วมกันของทุกภาคส่วน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนา “คน” ซึ่งถือว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด เพราะปัจจุบันนี้ข้าราชการรุ่นใหม่ยังขาดทักษะในเรื่องของการเขียนหนังสือราชการ แม้ในสถานการณ์ปัจจุบันจะมีหนังสือหรือบันทึกในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ก็ต้องถูกร่างโดยคนอยู่ดี ดังนั้น สิ่งที่สำคัญ คือ ข้าราชการใหม่ทุกท่านต้องมีความรู้คู่กับการมี passion มีหัวใจที่รุกรบ เพราะความรู้เราอาจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ แต่ passion หรือหัวใจที่รุกรบต้องเกิดจากหัวใจ และถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญในการเป็นข้าราชการที่ถือเป็นหัวใจของการปฏิบัติหน้าที่ราชการ คือ ต้องมีระเบียบวินัย ไม่ทิ้งงาน เป็นพลเมืองที่ดี ดำรงตนให้เป็นที่นับถือของประชาชน มีความเป็นกลางทางการเมือง มีวินัยต่อผู้บังคับบัญชาและต่อตนเอง รู้จักการยับยั้งชั่งใจ รู้จักการคิด นำเสนอ การแสดงออกที่เหมาะสม 

“ข้าราชการใหม่ทุกท่าน คือ ความหวังของประเทศชาติและของพี่ ๆ ชาวมหาดไทยทุกคน จึงขอให้ได้มุ่งมั่นตั้งใจปฏิบัติราชการ ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มกำลัง สร้างความภาคภูมิใจให้กับครอบครัว แม้บางท่านอาจจะไม่ได้อยู่ในลักษณะงานที่ให้บริการกับพี่น้องประชาชนโดยตรง แต่ก็เป็นส่วนสำคัญที่เกื้อหนุนให้ผู้ที่ทำงานบริการพี่น้องประชาชนสามารถทำหน้าที่ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และขอให้ข้าราชการใหม่ทุกท่าน ยึดมั่นตั้งมั่นในการที่จะเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นผู้มีคุณธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต มีความอดทนในการที่จะทำหน้าที่ของข้าราชการที่ดี “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน“ นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ในช่วงการบรรยายพิเศษ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ให้โจทย์จำลองสถานการณ์ โดยให้หาวิธีการแก้ไขปัญหาจากการให้บริการประชาชนที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนกระทบต่อชื่อเสียงองค์กร โดยมีผู้เข้ารับการศึกษาอบรมได้นำเสนอแนวทางที่น่าสนใจ คือ ต้องนำปัญหาที่เกิดขึ้นไปศึกษาหาแนวทางเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีก และนายสุทธิพงษ์ฯ ได้ coaching เสริมเติมเต็มแนวทางว่า ผู้บังคับบัญชาในองค์กรควรรีบแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อให้เรามีข้อมูลที่จะชี้แจงต่อประชาชน เพราะปัญหาในลักษณะนี้เราจะพบว่าจุดอ่อนคือ "การสื่อสารของผู้มาติดต่อกับผู้ที่รับเรื่อง" บางครั้งอาจจะมีสื่อสารกันคลาดเคลื่อน หรือไม่มีการชี้ชัดลงไปว่าสิ่งใดทำได้  สิ่งใดทำไม่ได้ ปล่อยให้เรื่องค้างคาจนเป็นที่มาของความล่าช้า พร้อมเน้นย้ำว่า "ทุกขั้นตอนของการทำงาน "การสื่อสาร" เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ “พระธรรมราชานุวัตร” ขึ้นเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ “พระพรหมวชิโรดม”

เมื่อวันที่  8 พฤษภาคม 2567    เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ความว่า